<<    >>

คู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๘

ปัจจยสังคหวิภาค

หน้า ๑

คู่มือการศึกษา

ปัจจยสังคหวิภาค

พระอภิธัมมัตถสังคหะ

ปริจเฉทที่ ๘

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส


ความเบื้องต้น


มหาปัฏฐาน เป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์ เป็นคัมภีร์ที่ว่า ด้วยปัจจัยแห่งปรมัตถธรรม เป็นคัมภีร์ที่ลึกซึ้งมาก ยากแก่การแสดง และยากที่จะ เข้าใจด้วย

พระอนุรุทธาจารย์ เป็นผู้รจนาพระอภิธรรมมัตถสังคหะเป็น ๙ ปริจเฉท ได้รวบรวมมหาปัฏฐานมาแสดงโดยย่อในปริจเฉทที่ ๘ และให้ชื่อว่า ปัจจยสังคหวิภาค
ปัจจัย
แปลว่า สิ่งที่อุปการะ เกื้อกูล อุดหนุน จุนเจือ ช่วยเหลือ ให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดขึ้น
สังคหะ แปลว่า รวบรวมโดยย่อ วิภาค แปลว่า ส่วน
ดังนั้นปัจจยสังคหวิภาค จึงแปลรวมเป็นใจความว่า ส่วนที่รวบรวม กล่าวโดยย่อถึงสิ่งอุปการะช่วยเหลือให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดขึ้น
ปัจจยุบบันนธรรม คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัย ตัวอย่างเช่น หว่านเมล็ด ข้าวเปลือกลงในนา จึงเกิดเป็น
ต้นข้าวขึ้น เมล็ดข้าวเปลือกนั่นแหละเป็นปัจจัย อุปการะช่วยเหลือให้ต้นข้าวเกิดขึ้น ต้นข้าวที่เกิดจากเมล็ดข้าวนั้นเรียกว่า ปัจจยุบบันน และเพราะว่าเมล็ดข้าวเป็นปัจจัย ต้นข้าวเป็นปัจจยุบบันน จึงเลยตีความหมาย โดยอนุโลม เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ สั้นๆ ว่าปัจจัยนั้น คือ เหตุ ปัจจยุบบันนนี้ คือ ผล


หน้า ๒

ก่อนที่จะดำเนินความตาม ปัจจยาการ คือ อาการของปัจจัยนั้น พระอนุรุทธาจารย์ ผู้รจนาพระอภิธัมมัตถสังคหะ ได้ประพันธ์คาถาแสดงคำปฏิญญาของท่านไว้เป็นคาถาที่ ๑ ว่า


๑. เยสํ สงฺขตธมฺมานํ เย ธมฺมา ปจฺจยา ยถา
ตํ วิภาคมิเหทานิ ปวกฺขามิ ยถารหํ ฯ


แปลความว่า บัดนี้ข้าพเจ้า (พระอนุรุทธาจารย์) จักแสดงถึง ปัจจัยธรรมทั้งปวง ที่ช่วย อุปการะ ปัจจยุบบันนธรรมทั้งหลาย โดยจำแนกตามอาการต่าง ๆ ด้วยอำนาจ แห่งเหตุ และด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ เป็นต้น ในปัจจยสังคหะนี้ตามสมควร
ปัจจัยธรรมทั้งปวง คือ ธรรมที่เป็นปัจจัยนั้น หมายถึงธรรมทั้งปวงที่เป็น สังขตธรรม อสังขตธรรม ตลอดจนบัญญัติธรรมด้วย
ปัจจยุบบันนธรรมทั้งหลาย คือ ธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งปัจจัยนั้น หมายถึงธรรมทั้งหลายเฉพาะที่เป็นสังขตะเท่านั้น สังขตธรรมทั้งหลายก็ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป ซึ่งล้วนแต่เป็นธรรมที่มีสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น


ปัจจยสังคหวิภาค แสดงธรรม ๒ นัย


ปัจจยสังคหวิภาคนี้ แสดงธรรม ๒ ส่วนด้วยกัน คือ ปฏิจจสมุปปาทนัย ส่วนหนึ่ง และปัฏฐานนัย (คือ
ปัจจัย ๒๔) อีกส่วนหนึ่ง ดังมีคาถาที่ ๒ แสดงว่า


๒. เทฺว ปฏิจฺจสมุปฺปาท- ปฏฺฐานนยเภทิโน
วุตฺตา ตตฺถ นยา โหนฺติ เยหิ ปจฺจยสงฺคโห ฯ


แปลความว่า ปัจจยสังคหะนี้ แสดงธรรมตามที่ตั้งอยู่แล้วนั้นสองนัย ซึ่งต่างกันโดยปฏิจจ สมุปปาทนัย และปัฏฐานนัย


ปฏิจจสมุปปาทนัย


ปฏิจฺจ (อาศัย) + สํ (พร้อม) + อุปฺปาท (เกิด) = ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม มี ความหมายว่า เป็นธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย จึงทำให้ต้องวน อยู่ในสังสารวัฏฏ ลำดับของ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอยู่โดยไม่ขาดสายนั้น เรียกว่า สังสาระ


หน้า ๓

การแสดงปฏิจจสมุปปาท ก็เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงของสภาวธรรมว่า เป็นไปเพราะเหตุเพราะปัจจัย จะได้มีใครมาดลบันดาลให้เป็นไปก็หาไม่ ทั้งนี้เพื่อ จะได้ละความเห็นผิด มี อัตตา สักกายทิฏฐิ เป็นต้น
ปฏิจจสมุปปาท เป็นภูมิอารมณ์ของวิปัสสนาด้วย จัดเป็นหมวดหนึ่งใน วิปัสสนาภูมิทั้ง ๖ ซึ่งได้แก่
๑. ขันธ์ ๕ ๒. อายตนะ ๑๒ ๓. ธาตุ ๑๘
๔. อินทรีย์ ๒๒ ๕. ปฏิจจสมุปปาท ๑๒ ๖. อริยสัจ ๔


ลักขณาทิจตุกะของปฏิจจสมุปปาท


ปฏิจจสมุปปาท มีลักษณะ รสะ ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐาน ซึ่งรวมเรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

ชรามรณาทีนํ ธมฺมานํ ปจฺจยลกฺขโณ มีอุปการะแก่ปัจจยุบบันนธรรม ทั้งหลาย เช่น ชรา มรณะ
เป็นต้น เป็นลักษณะ
ทุกฺขานุพนฺธน รโส มีการทำให้สัตว์ทั้งหลายเกิดในวัฏฏสงสารเนือง ๆ เป็นกิจ
กมฺมคฺค ปจฺจุปฏฺฐาโน เป็นทางเวียนว่ายในวัฏฏสงสารที่น่ากลัว หรือเป็น
ทางเดินที่ไม่ถูกต้อง คือ คดเคี้ยว และเป็นทางที่ ตรงกันข้ามกับทางไปพระนิพพาน เป็นอาการปรากฏ
อาสว ปทฏฺฐาโน มี อาสวะ เป็นเหตุใกล้


ลักขณาทิจตุกะของปฏิจจสมุปปาทที่กล่าวนี้ กล่าวเป็นส่วนรวม ยังไม่ได้แยก กล่าวเป็นองค์ ๆ ซึ่ง
ปฏิจจสมุปปาทธรรม มี ๑๒ องค์
ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๑๒ องค์นี้ บางทีก็เรียกว่า ภวจักร มีความหมายว่า หมุนเวียนไปยังภพต่าง ๆ อันได้แก่ ภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิซึ่งเรียกว่า วัฏฏสงสาร สังสาร วัฏฏ วัฏฏทุกข์ สังสารทุกข์ เป็นต้น


หน้า ๔

การอุปการะของปัจจัยธรรมต่อปัจจยุบบันนธรรม ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท ซึ่งมี ๑๒ องค์นั้น มีบาลีแสดงว่า

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ
สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส อายตนะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
ผสฺสปจฺจยา เวทนา ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานปจฺจยา ภโว อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
ภวปจฺจยา ชาติ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
ชาติปจฺจยา ชรามรณํ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสก ปริเทว ทุกฺข
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติฯ (ส่วน) โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ
ย่อมเกิดตามขึ้นมาด้วย


ปฏิจจสมุปปาท มี ๗ นัย


ปฏิจจสมุปปาทธรรมนี้ กล่าวโดย อุทเทสมาติกา คือ หัวข้อที่เป็นแม่บทนั้น มี ๗ บท หรือ ๗ นัย ดังมีคาถาที่๓ แสดงว่า


๓. ปฐเมหิ นเย ตตฺถ เวทิยํ อุปลกฺขณํ
ติยทธํ ทฺวาทสงฺคานิ วิสาการ ติสนฺธิ จ
จตุสงฺเขปํ ติวฏฺฏํ เทฺว มูลานีติ สตฺตธา ฯ


แปลความว่า ( ก็นัย ๒ นัย คือ ปฏิจจสมุปปาทนัย และ ปัฏฐานนัย นั้น ) นัยแรกมีเครื่อง หมายที่พึงรู้โดยอาการ ๗ อย่าง คือ อัทธา ๓, องค์ ๑๒, อาการ ๒๐, สนธิ ๓, สังเขป ๔, วัฏฏะ ๓ และ มูล ๒
หมายความว่า ปฏิจจสมุปปาทธรรม นี้ยังจำแนกออกได้อีกเป็น ๗ นัย ได้แก่
๑. ตโย อทฺธา กาล ๓  

๒. ทฺวาทสงฺคานิ องค์ ๑๒
๓. วีสตาการา อาการ ๒๐

๔. ติสนฺธิ เงื่อน ๓
๕. จตุสงฺเขปา สังเขป ๔  

๖. ตีณิ วฏฺฏานิ วัฏฏะ ๓
๗. เทฺวมูลานิ มูล ๒


หน้า ๕

มีรายละเอียดดังภาพต่อไปนี้


ปฏิจจสมุปปาทธรรม

นัยที่ ๑
ตโย อทฺธา
จัดตามกาล ๓

นัยที่ ๒
ทฺวาทสงฺคานิ
องค์ ๑๒

นัยที่ ๓
วีสตาการา
จัดตามอาการ ๑0

นัยที่ ๔
ติสนฺธิ
เงื่อน ๓

นัยที่ ๕
จตุสงฺเขปา
สังเขป ๔

นัยที่ ๖
ตีณิ วฏฺฏานิ 
วัฏฏะ ๓

นัยที่ ๗
เทฺวมูลานิ
มูล ๒

 

 

อดีต
เหตุ

ปัจจุบัน
ผล

ปัจจุบัน
เหตุ

อนาคต
ผล

 

 

 

 

อดีต

อวิชชา

 

 

 

กิเลสวัฏ

อวิชชา

อดีต

สังขาร

 

 

*

กัมมวัฏ

 

 

 

 

 

 

 

เงื่อนหนึ่ง

 

 

 

ปัจจุบัน

วิญญาณ

 

 

*

วิปากวัฏ

 

ปัจจุบัน

นามรูป

 

 

 

วิปากวัฏ

 

ปัจจุบัน

สฬายตนะ

 

 

 

วิปากวัฏ

 

ปัจจุบัน

ผัสสะ

 

 

 

วิปากวัฏ

 

ปัจจุบัน

เวทนา

 

 

*

วิปากวัฏ

 

 

 

 

 

 

 

เงื่อนหนึ่ง

 

 

 

ปัจจุบัน

ตัณหา

 

 

*

กิเลสวัฏ

ตัณหา

ปัจจุบัน

อุปาทาน

 

 

 

กิเลสวัฏ

 

ปัจจุบัน

ภพ

 

 

*

กัมมวัฏ, วิปากวัฏ

 

 

 

 

 

 

 

เงื่อนหนึ่ง

 

 

 

อนาคต

ชาติ

 

 

 

 

*

วิปากวัฏ

 

อนาคต

ชรามรณะ

 

 

 

 

 

วิปากวัฏ

 

 

โสก ปริเทว ทุกฺข โทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ ฯ

หมายเหตุ ภพ จำแนกได้อีกเป็น ๒ คือ
กัมมภพ เป็น กัมมวัฏ
อุปปัตติภพ เป็น วิปากวัฏ


หน้า ๖

มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. ตโย อทฺธา คือ กาล ๓ นั้นแสดงว่า อวิชชา และสังขารรวม ๒ องค์ จัดเป็น อดีตอัทธา ชาติ และ
ชรามรณะ รวม ๒ องค์เป็น อนาคตอัทธา ส่วนใน ท่ามกลาง รวม ๘ องค์ที่เหลือนั้นเป็นปัจจุบันอัทธา
๒. ทฺวาทสงฺคานิ คือ องค์ ๑๒ นั้นได้แก่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และชรามรณะ
ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ และ อุปายาสะ นั้นไม่นับว่าเป็นองค์ ของปฏิจจสมุปปาทด้วย เพราะธรรม ๕ ประการนี้เป็นผลของชาติ กล่าวคือ เมื่อมี การเกิดเป็นชาติขึ้นมาแล้ว ย่อมมีทุกข์มีโศกเป็นประจำ ซึ่งเป็นแต่เพียงผลของชาติ ไม่ใช่เหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดวัฏฏะ จึงไม่นับเป็นองค์ด้วย
๓. วีสตาการา คือ อาการ ๒๐ นั้นได้แก่
ก. ธรรมที่เป็นเหตุในอดีต ๕ ประการ คือ ๑.อวิชชา, ๒.สังขาร, ๓.ตัณหา, ๔. อุปาทาน, ๕.ภพ
ข. ธรรมที่เป็นผลในปัจจุบัน ๕ ประการ คือ ๑.วิญญาณ, ๒.นามรูป, ๓. สฬายตนะ, ๔.ผัสสะ, ๕.เวทนา
ค. ธรรมที่เป็นเหตุในปัจจุบัน ๕ ประการคือ ๑.ตัณหา, ๒.อุปาทาน, ๓.ภพ, ๔.อวิชชา, ๕.สังขาร
ง. ธรรมที่เป็นผลในอนาคต ๕ ประการ คือ ๑.วิญญาณ, ๒.นามรูป, ๓. สฬายตนะ, ๔. ผัสสะ, ๕.เวทนา
๔. ติสนฺธิ คือ เงื่อน ๓ นั้นได้แก่ สังขารต่อกับวิญญาณเงื่อนหนึ่ง เวทนา ต่อกับตัณหาเงื่อนหนึ่ง และภพต่อกับชาติอีกเงื่อนหนึ่ง
๕. จตุสงฺเขปา คือ สังเขป ๔ ได้แก่
ก. อวิชชา สังขาร รวม ๒ องค์เป็นสังเขปหนึ่ง
ข. วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา รวม ๕ องค์เป็นสังเขปหนึ่ง
ค. ตัณหา อุปาทาน ภพ รวม ๓ องค์เป็นสังเขปหนึ่ง
ง. ชาติ ชรามรณะ รวม ๒ องค์เป็นอีกสังเขปหนึ่ง


หน้า ๗

๖. ตีณิ วฏฺฏานิ คือ วัฏฏะ ๓ นั้นได้แก่
ก. อวิชชา ตัณหา อุปาทาน รวม ๓ องค์เป็นกิเลสวัฏฏ
ข. สังขาร ภพ (เฉพาะกัมมภพ) รวม ๒ องค์ เป็นกัมมวัฏฏ
ค. วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ภพ (เฉพาะอุปปัตติภพ) ชาติ ชรา มรณะ เหล่านี้เป็นวิปากวัฏ
๗. เทฺวมูลานิ คือ มูล ๒ นั้นได้แก่ อวิชชา และตัณหา
มีคำอธิบายต่อไปนี้ คือ


ปฏิจจสมุปปาทธรรมนัยที่ ๑ ตโยอัทธา


อัทธา คือกาลเวลาอันยาวนาน ไม่มีที่สิ้นสุดแห่งปฏิจจสมุปปาทธรรมนั้น จำแนกออกเป็น ๓ กาล กาลใดได้ปฏิจจสมุปปาทธรรมองค์ใดบ้างนั้น มีคาถาที่ ๔ และที่ ๕ แสดงว่า


๔. ตตฺถาวิชฺชา จ สงฺขารา อตีตชฺชาติ วุจฺจเร
อทฺธา อนาคโต ชาติ ชรา จ มรณมฺปิ จ ฯ


แปลความว่า ในอัทธา ๓ นั้น อวิชชาและสังขาร ชื่อว่าอดีตอัทธา ชาติและชรามรณะ ชื่อว่า อนาคตอัทธา


๕. ปจฺจุปนฺโน อทฺธา นาม มชฺฌฏฺฐาว เสสกา
ทฺวาทสงฺคนฺตุเต ธมฺมา เยนิฏฺทิฏฺฐ ติยิทฺธิกา ฯ


แปลความว่า ธรรมที่เหลือท่ามกลาง ๘ องค์ ชื่อว่า ปัจจุบันอัทธา ส่วนธรรมที่ประกอบ ด้วยอัทธาทั้ง ๓ นั้น จัดเป็นองค์ ๑๒ องค์

 
คาถาทั้ง ๒ นี้มีหมายความว่า อัทธานั้นมี ๓ ได้แก่ อดีตอัทธา ปัจจุบันอัทธา และอนาคต อัทธา
๑. อดีตอัทธา หรือ อดีตกาล หมายถึง กาลเวลาที่ล่วงไปแล้ว จะเป็นกาลที่ ล่วงไปแล้วในภพก่อนก็ตาม ในภพนี้ก็ตาม เรียกว่า อดีตทั้งนั้น อดีตอัทธาแห่ง ปฏิจจสมุปปาทนี้ได้แก่ อวิชชา และสังขาร
สัตว์ทั้งหลาย (เว้นพระอรหันต์) ย่อมมีโมหะนอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดาน เป็นประจำด้วยอำนาจแห่งโมหะจึงปิดบังไม่ให้เห็นโทษในการทำบาปอกุสล และ ปิดบังไม่ให้เห็นวัฏฏทุกข์ในการทำกุสลชนิดที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ที่เรียกว่า วัฏฏกุศล คือ โลกียกุศล โมหะนี้ก็คือ อวิชชา นี่เอง


หน้า ๘

การทำอกุสลก็ดี การบำเพ็ญเพียงวัฏฏกุสลก็ดี ย่อมสำเร็จได้ด้วย เจตนา คือ ความจงใจกระทำ เจตนาที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความจงใจกระทำที่เรียกว่า บุพพเจตนา นี่แหละ คือ สังขารเป็นตัวปรุงแต่งให้จงใจกระทำกรรมสำเร็จเป็นบาปเป็น บุญ
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้ชื่อว่า อวิชชา และสังขาร เป็นอดีตอัทธา
๒. ปัจจุบันอัทธา หรือ ปัจจุบันกาล หมายถึงกาลเวลาที่กำลังดำรงคง อยู่ในเวลานี้ ปรากฏอยู่ในขณะนี้ กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ได้แก่ ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๘ องค์ที่อยู่ในท่ามกลาง คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน และภพ
เมื่อมีอวิชชา คือ โมหะนอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดานเป็นประจำ และมีสังขาร คือ เจตนาเป็นแรงสำคัญปรุงแต่งให้จงใจกระทำกรรม อันเป็นกุสลและอกุสลนั้น จะกระทำกรรมเหล่านั้นได้เพราะมี วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน และภพ ๘ องค์นี้ ถ้าไม่มีธรรม ๘ องค์นี้แล้ว การกระทำต่าง ๆ เหล่านั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย ด้วยเหตุว่าธรรม ๘ องค์นี้กำลังมีอยู่ในขณะนี้นั้น จึงกระทำกรรมได้ดังนี้ จึงได้ชื่อว่า ธรรม ๘ องค์นี้เป็นปัจจุบัน
๓. อนาคตอัทธา หรืออนาคตกาล หมายถึงกาลเวลาที่ยังไม่มาถึง แต่จะมี มาข้างหน้า ปฏิจจสมุปปาทธรรมที่จะมีมาข้างหน้านั้น ได้แก่ ชาติ และชรา มรณะ
เมื่อลงได้กระทำกรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุสลกรรมหรืออกุสลกรรมที่เรียกว่า กัมมภพแล้วย่อมจะบังเกิดผลในอนาคต กล่าวคือ เมื่อตายจากภพนี้แล้วก็ไปปฏิสนธิ ในภพใหม่ ถ้าทำกรรมชั่วก็ปฏิสนธิเป็นสัตว์ในอบาย ถ้าประกอบกรรมดี ก็ปฏิสนธิ เป็นมนุษย์ เทวดา พรหม ตามควรแก่กรรมที่ได้บำเพ็ญมา การได้ปฏิสนธิในภพ ใหม่นี่แหละเรียกว่า ชาติ หรือ อุปปัตติภพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อได้ทำ กัมมภพแล้ว ย่อมได้อุปปัตติภพคือชาติ เมื่อมีชาติก็จะต้องมีชรามรณะเป็นสิ่งที่แน่นอน ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า ชาติและชรา มรณะเป็นอนาคตอัทธา
อัทธาทั้ง ๓ นี้ เมื่อรวมองค์แห่งปฏิจจสมุปปาทธรรมก็ได้ ๑๒ องค์ธรรม ทั้ง ๑๒ องค์นี้แหละที่เรียกว่า
ทฺวาทสงฺคานิ ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้


หน้า ๙

ปฏิจจสมุปปาทธรรมนัยที่ ๒ ทวาทสังคานิ

ทวาทสังคานิ คือ องค์ ๑๒ มีอวิชชาเป็นต้น ชรามรณะเป็นที่สุด แต่ถ้ากล่าว โดยความเป็นปัจจัยแล้ว ก็มีเพียง ๑๑ ปัจจัย เพราะชรามรณะซึ่งเป็นองค์ที่ ๑๒ นั้น ไม่นับว่าเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาทนี้ ด้วยว่า การที่จะปรากฏปฏิสนธิวิญญาณขึ้นก็เพราะมีสังขาร คือ เจตนาในการกระทำกรรม
มีข้อที่ควรกล่าวในที่นี้อีกประการหนึ่งก็คือ ตามบาลีแสดงว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ซึ่งแปลกันว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารนั้น ในทางธรรม หมายความว่า สังขารปรากฏขึ้นก็เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย อันเป็นการกล่าวถึง ผล (คือสังขาร) ก่อน แล้วจึงแสดง เหตุ (คืออวิชชา) ที่อุปการะให้เกิดผลนั้น ก็แสดงเช่นนี้ ก็เพราะถือว่า ผลเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายกว่าเหตุ จึงกล่าวถึงผลก่อน แล้วจึงย้อนกลับ ไปแสดงถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดผลนั้น


องค์ที่ ๑ อวิชชา

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร  

คือ สังขารอันเป็นปัจจยุบบันนธรรมจะ ปรากฏขึ้น ก็เพราะมีอวิชชาอัน
เป็นปัจจัยธรรมนั้นเป็นสาเหตุ จึงเลยพูดกันสั้น ๆ ว่าอวิชชาเป็นเหตุ สังขารเป็นผล
อวิชชาที่เป็นสาเหตุให้เกิดสังขารนั้น มีลักขณาทิจตุกะดังนี้

อญาณลกฺขณา มีความไม่รู้หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อปัญญา เป็นลักษณะ
สมฺโมหนรสา ทำให้สัมปยุตตธรรม และผู้ที่โมหะกำลังเกิดอยู่นั้น มีความหลง ความมืดมน เป็นกิจ
ฉาทนปจฺจุปฏฺฐานา ปกปิดสภาวะที่มีอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ เป็นผล
อาสวปทฏฺฐานา มีอาสวะ เป็นเหตุใกล้


อวิชชา นี้องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก คือความไม่รู้นั่นเอง ไม่รู้ในที่นี้หมาย เฉพาะไม่รู้ธรรม ๘ ประการ
อันได้แก่ ไม่รู้อริยสัจ ๔, ไม่รู้อดีต ๑, ไม่รู้อนาคต ๑, ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต ๑ และไม่รู้ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๑
เพราะความไม่รู้ คือ โมหะ หรืออวิชชานี่เอง เป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่อุปการะ ช่วยเหลือให้เกิดสังขาร ให้เกิดมีการปรุงแต่งขึ้น ดังนั้นจึงกล่าวว่า อวิชชาเป็นปัจจัย สังขารเป็นปัจจยุบบันน สังขารอันเป็นปัจจยุบบันนของอวิชชานี้จัดได้เป็นสังขาร ๓ คือ อบุญญาภิสังขาร บุญญาภิสังขาร และ อาเนญชาภิสังขาร


หน้า ๑0

๑. อบุญญาภิสังขาร จงใจปรุงแต่งให้เป็นบาป องค์ธรรมได้แก่ เจตนาใน อกุสลจิต ๑๒ เมื่อเจตนาปรุงแต่งให้เกิดบาปเช่นนี้ ก็เป็นทางที่จะนำไปให้ปฏิสนธิ ในอบายภูมิ เจตนาทำบาปอันจะส่งผลให้ปฏิสนธิในอบายภูมินี้ เห็นได้ชัดว่าเป็น ด้วยอำนาจแห่งโมหะ คือ อวิชชาโดยตรงทีเดียว
๒. บุญญาภิสังขาร จงใจปรุงแต่งให้เป็นบุญ องค์ธรรมได้แก่ เจตนาใน มหากุสล ๘ และเจตนาในรูปาวจรกุสลจิต ๕ รวมเป็นเจตนา ๑๓ เมื่อเจตนาปรุง แต่งให้เกิดกุสลกรรมเช่นนี้ ก็เป็นทางที่จะให้ได้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็น รูปพรหม ตามควรแก่กรรมนั้น ๆ เจตนาทำกุสลอย่างนี้ก็นับว่าดีมากอยู่ แต่ว่า ยังไม่ถึงดีที่สุด เพราะว่ายังไม่พ้นทุกข์ จะต้องกลับมาวนเวียนในสังสารวัฏฏอีก กุสลที่ประเสริฐสุด คือ โลกุตตรกุสลอันจะทำให้พ้นทุกข์ได้เด็ดขาด ไม่ต้องกลับมา วนเวียนในสังสารวัฏฏอีกเลยก็มี แต่ไม่มีเจตนาปรุงแต่งให้กุสลอันประเสริฐสุดนั้น เกิดขึ้น จึงได้ชื่อว่า ยังมีอวิชชาอยู่ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เพราะไม่รู้ว่ากุสลอันยิ่งกว่า นั้นก็มี จึงเจตนาทำเพียงมหากุสลกรรมและรูปาวจรกุสลกรรมเท่านั้น
๓. อาเนญชาภิสังขาร จงใจปรุงแต่งให้เป็นบุญชนิดที่ไม่หวั่นไหว คือตั้ง อยู่ในอุเบกขาพรหมวิหารได้นานเหลือเกิน องค์ธรรมได้แก่ เจตนาในอรูปาวจร กุสลจิต ๔ เมื่อเจตนาปรุงแต่งให้เกิดกุสลกรรมถึงปานนี้ ก็ส่งผลให้ไปปฏิสนธิเป็น อรูปพรหม เสวยบรมสุขอยู่นานช้า ถึงกระนั้น ก็ได้ชื่อว่า ยังไม่พ้นไปจากอวิชชา ตามนัยที่กล่าวแล้วในข้อ ๒ นั้น
อีกนัยหนึ่งสังขารอันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของอวิชชานี้ได้แก่ สังขาร ๓ คือ
ก. กายสังขาร คือ เจตนาที่ปรุงแต่งกายทุจจริต และกายสุจริตให้เป็นผล สำเร็จลง องค์ธรรมได้แก่
อกุสลเจตนา ๑๒ และ มหากุสลเจตนา ๘ ที่เกี่ยวกับ ทางกาย
ข. วจีสังขาร คือ เจตนาที่ปรุงแต่งวจีทุจจริตและวจีสุจริตให้เป็นผลสำเร็จลง องค์ธรรมได้แก่ อกุสลเจตนา ๑๒ และมหากุสลเจตนา ๘ ที่เกี่ยวกับทางวาจา
ค. จิตตสังขาร คือ เจตนาที่ปรุงแต่งมโนทุจจริต และมโนสุจริตให้เป็น ผลสำเร็จลง องค์ธรรมได้แก่
อกุสลเจตนา ๑๒ และโลกียกุสลเจตนา ๑๗ ที่เกี่ยว กับทางใจ
รวมสังขาร ๓ ก็ดี หรือจะว่าสังขารทั้ง ๖ ดังกล่าวแล้วนี้ก็ดี ก็ได้แก่ เจตนา ๒๙ หรือ กรรม ๒๙ นั่นเอง


หน้า ๑๑

โดยเฉพาะ โลกุตตรกุสลเจตนา นั้นได้ชื่อว่า เป็นบุญก็จริง แต่ไม่จัดเป็น บุญญาภิสังขาร หรืออาเนญชาภิสังขาร เพราะโลกุตตรกุสลนั้นไม่มีหน้าที่ทำให้เกิด ภพเกิดชาติอันเป็นวัฏฏะ แต่มีหน้าที่ทำลายภพทำลายชาติอันเป็นการตัดวัฏฏะ จึงไม่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปปาทนี้ อนึ่งตามนัยแห่ง พระสุตตันตปิฎก ก็แสดงสังขาร ๓ ไว้อีกนัยหนึ่ง คือ
กายสังขาร ธรรมชาติที่ปรุงแต่งกาย ได้แก่ อัสสาสะ และปัสสาสะ
วจีสังขาร ธรรมชาติที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตก วิจาร
จิตตสังขาร ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต ได้แก่ สัญญา เวทนา หรืออีกนัย หนึ่งว่าได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง
(เว้น วิตก วิจาร)
สรุปความในบท อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารนี้ได้ว่า อวิชชาที่เป็นปัจจัยให้เกิด สังขารนั้น ได้แก่ โมหะ สังขารอันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของอวิชชานั้น ได้แก่ เจตนา ๒๙ หรือกรรม ๒๙
เพราะไม่รู้ว่าธรรมที่ดับสิ้นแห่งทุกข์นั้นมี คือ ยังมีโมหะมีอวิชชาอยู่ จึงเป็น ปัจจัยให้กระทำกรรม ๒๙ อันจะต้องวนเวียนอยู่ในสังสารทุกข์ ไม่พ้นทุกข์ไปได้


ปัจจัย ๒๔ ที่เกี่ยวแก่อวิชชา

ในบท อวิชชา เป็นปัจจัยแก่สังขารนี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้ว ก็เป็นไปด้วยอำนาจแห่งปัจจัยดังต่อไปนี้
ก. อวิชชาเป็นปัจจัยแก่อบุญญาภิสังขาร ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๑๕ ปัจจัย คือ
๑.เหตุปัจจัย ๒.อารัมมณปัจจัย ๓.อธิปติปัจจัย
๔.อนันตรปัจจัย ๕.สมนันตรปัจจัย ๖.สหชาตปัจจัย
๗.อัญญมัญญปัจจัย ๘.สหชาตนิสสยปัจจัย ๙.ปกตูปนิสสยปัจจัย
๑๐.อาเสวนปัจจัย ๑๑.สัมปยุตตปัจจัย ๑๒.อัตถิปัจจัย
๑๓.นัตถิปัจจัย ๑๔.วิคตปัจจัย ๑๕.อวิคตปัจจัย
ข. อวิชชา เป็นปัจจัยแก่ บุญญาภิสังขาร ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๒ คือ
๑.อารัมมณปัจจัย ๒.ปกตูปนิสสยปัจจัย
ค. อวิชชา เป็นปัจจัยแก่ อาเนญชาภิสังขาร ก็ด้วยอำนาจแห่ง ปกตูปนิสสย ปัจจัย ปัจจัยเดียวเท่านั้นเอง


หน้า ๑๒

อธิบาย

ก. อวิชชา เป็นปัจจัยแก่อบุญญาภิสังขาร ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๑๕ ปัจจัย นั้น กล่าวเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ว่า โมหเจตสิกเป็นปัจจัยแก่อกุสลจิตนั้นเป็น ได้ ๑๕ ปัจจัย แต่ละปัจจัยมีความหมายดังนี้
๑. เหตุปัจจัย กล่าวถึงเหตุ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิกนั้น ในที่นี้ โมหะ เป็นเหตุปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบเป็นเหตุปัจจยุบบันน
๒. อารัมมณปัจจัย กล่าวถึงอารมณ์เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิกนั้น คือ เมื่อนึกถึงสิ่งที่ตนชอบใจติดใจก็ดี ที่ไม่ชอบใจ ที่เกลียด ที่กลัวก็ดี ที่สงสัยที่ฟุ้งซ่าน ก็ดี เหล่านี้เป็นอารมณ์ที่มีสาเหตุมาจากโมหะทั้งนั้น อารมณ์เหล่านี้แหละเป็น อารัมมณปัจจัย ก่อให้เกิดอกุสลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบนี่แหละเป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
๓. อธิปติปัจจัย กล่าวถึงอารมณ์ที่เป็นใหญ่ที่มีกำลังมาก หรือที่เอาใจใส่มาก เป็นพิเศษ เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิก คือ อารมณ์ที่มีกำลังมากเป็นพิเศษนั้น เป็นอธิปติปัจจัย ก่อให้เกิดอกุสลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบ เป็นอธิปติปัจจยุบบันน
๔. อนันตรปัจจัย กล่าวถึงจิตที่เกิดติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น ที่มาเกี่ยว กับโมหเจตสิก ก็เพราะเหตุว่า โมหเจตสิกต้องเกิดพร้อมกับอกุสลจิต กล่าวโดย หน้าที่การงาน อกุสลจิตก็เป็นชวนจิต ชวนจิตนี้โดยปกติเกิดติดต่อกัน ๗ ดวง หรือ ๗ ขณะจิต ดังนั้นโมหเจตสิกที่ในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๑ ก็เป็นอนันตรปัจจัย โมหะ ในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๒ ก็เป็นอนันตรปัจจยุบบันน โมหะในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๒ เป็นอนันตรปัจจัย โมหะในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๓ ก็เป็นอนันตรปัจจยุบบันน เป็นตามลำดับกันจนถึงโมหะในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๖ เป็นอนันตรปัจจัย โมหะใน อกุสลจิตดวงที่ ๗ ก็เป็นอนันตรปัจจยุบบัน
๕. สมนันตรปัจจัย เป็นปัจจัยที่เน้นถึงอนันตรปัจจัยว่า การที่เกิดติดต่อกัน โดยไม่มีระหว่างคั่นนั้น เกิดติดต่อกันตามลำดับ ไม่ข้ามลำดับ อันมีความหมาย เช่นเดียวกับอนันตรปัจจัยนั่นเอง เป็นแต่ย้ำความให้กระชับแน่นแฟ้นขึ้นอีกเท่านั้น
๖. สหชาตปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่เกิดพร้อมกัน ในที่นี้โมหเจตสิกย่อมต้อง เกิดพร้อมกับอกุสลจิตและเจตสิกที่ประกอบ ดังนั้นโมหเจตสิกนี้ก็เป็นสหชาตปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบ ซึ่งเกิดพร้อมกับโมหเจตสิกนั้นเป็นสหชาตปัจจยุบบัน
๗. อัญญมัญญปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่อุปการะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ใน ที่นี้ โมหเจตสิกก็อุปการะช่วยเหลืออกุสลจิตและเจตสิกที่ประกอบให้เกิดขึ้น อกุสล จิตและเจตสิกที่ประกอบ ก็อุปการะช่วยเหลือแก่โมหเจตสิกให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ต่างฝ่ายต่างอุปการะแก่กันและกัน ดังนั้น โมหเจตสิกนี้จึงเป็นอัญญมัญญ ปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบนั้นเป็นอัญญมัญญปัจจยุบบัน


หน้า ๑๓

๘. นิสสยปัจจัย กล่าวถึงธรรมอันเป็นที่อาศัย ในที่นี้โมหเจตสิกเป็นที่อาศัย ของอกุสลจิตและเจตสิกที่ประกอบ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า อกุสลจิตและเจตสิกที่ ประกอบนี่แหละที่อาศัยโมหเจตสิก จึงปรากฏเกิดขึ้นได้ ดังนั้นในโมหเจตสิก จึงเป็นนิสสยปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบก็เป็นนิสสยปัจจยุบบัน
๙. อุปนิสสยปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่อาศัย อย่างแรงกล้า อย่างมั่นคง ในที่นี้ โมหเจตสิกเป็นที่อาศัยของอกุศลจิตและเจตสิกที่ประกอบอย่างแรงกล้า กล่าวอีกนัย หนึ่งว่า อกุสลจิตและเจตสิกที่ประกอบได้อาศัยโมหเจตสิกอย่างมั่นคง จึงปรากฏเกิด ขึ้นได้ ดังนั้น โมหเจตสิกจึงเป็นอุปนิสสยปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ และ เจตสิกที่ ประกอบก็เป็นอุปนิสสยปัจจยุบบัน
๑๐. อาเสวนปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่เสพอารมณ์หลายขณะ อันหมายถึงชวน จิตโดยเฉพาะ เพราะในวิถีหนึ่ง ๆ ชวนจิตย่อมเกิดติดต่อกันโดยปกติ ๗ ขณะจิต ดังนั้นเจตนาในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๑ จึงเป็นอาเสวนปัจจัย เจตนาที่ในอกุสล ชวนจิตดวงที่ ๒ ก็เป็นอาเสวนปัจจยุบบัน เจตนาที่ในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๒ เป็นอาเสวนปัจจัย เจตนาที่ในอกุสลชวนจิต ดวงที่ ๓ เป็นอาเสวนปัจจยุบบันน เป็นดังนี้ไปตามลำดับ จนถึงเจตนาที่ในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๖ เป็นอาเสวนปัจจัย เจตนาที่ในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๗ เป็นอาเสวนปัจจยุบบัน
๑๑. สัมปยุตตปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่ประกอบกัน โมหเจตสิกย่อมประกอบ กับอกุสลจิตและเจตสิกที่ประกอบดังนั้น โมหเจตสิกจึงเป็นสัมปยุตตปัจจัย อกุสล จิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบ ก็เป็นสัมปยุตตปัจจยุบบัน
๑๒. อัตถิปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่กำลังมีอยู่นั้นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงว่า โมหเจตสิกยังมีอยู่ ยังไม่ได้ดับไป นั่นแหละเป็นอัตถิปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ และ เจตสิกที่ประกอบนั้นก็เป็นอัตถิปัจจยุบบันน
๑๓. นัตถิปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่ไม่มีแล้ว ดับไปแล้ว จึงจะเป็นปัจจัยได้ ในที่นี้หมายถึงว่า โมหเจตสิก
ที่ในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๑ ดับไปแล้วไม่มีแล้ว จึงเป็น นัตถิปัจจัย ให้เกิดโมหเจตสิกที่ในอกุสลชวนจิตดวงที่ ๒ นั้นได้ โมหเจตสิกในที่ อกุสลชวนจิตดวงที่ ๒ นี้แหละเรียกว่า นัตถิปัจจยุบบันน ซึ่งมีความหมายเป็น ไปในทำนองเดียวกันกับ อนันตรปัจจัย (ข้อ ๔) และอาเสวนปัจจัย (ข้อ ๑๐) ที่ กล่าวข้างต้น


หน้า ๑๔

๑๔. วิคตปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่ปราศไปแล้ว คือดับไปแล้ว เป็นปัจจัย มี ความหมายเช่นเดียวกับธรรมที่ไม่มีแล้วดับไปแล้ว ดังที่กล่าวในข้อ ๑๓ นัตถิปัจจัย นั่นเอง
๑๕. อวิคตปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่ยังไม่ปราศไป เป็นปัจจัย ธรรมที่ยังไม่ ปราศไป ก็คือธรรมที่ยังมีอยู่ ยังไม่ดับไป จึงมีความหมายเช่นเดียวกับที่กล่าวในข้อ ๑๒ อัตถิปัจจัยนั้น
ข. อวิชชาเป็นปัจจัยแก่บุญญาภิสังขาร ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๒ ปัจจัย คือ อารัมมณปัจจัย
ปกตูปนิสสยปัจจัย แต่ละปัจจัยมีความหมายดังต่อไปนี้
๑. อารัมมณปัจจัย กล่าวถึงอารมณ์ เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิก ในบทนี้ หมายถึง ด้วยอำนาจแห่งโมหะจึงมีอารมณ์ติดใจ ชอบใจ มนุษย์สมบัติ เทวสมบัติ และรูปพรหมสมบัติ จึงประกอบมหากุสลกรรม เพื่อให้สมปรารถนาในมนุษย์สมบัติ และเทวสมบัติ และเพียรบำเพ็ญภาวนารูปาวจรกุสลกรรม เพื่อให้สมปรารถนาใน รูปพรหมสมบัติ ดังนี้จึงได้ชื่อว่า โมหเป็นอารัมมณปัจจัย จิตที่เป็นมหากุสล รูปาวจรกุสล และเจตสิกที่ประกอบนั้นก็เป็นอารัมมณปัจจยุบบัน
๒. ปกตูปนิสสยปัจจัย กล่าวถึงธรรมที่เป็นปัจจัยนั้น เป็นที่อาศัยอย่างแรง กล้า หรือเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมากแก่ปัจจยุบบันนธรรม ในบทนี้จึงมีความหมายว่า โมหะนี่แหละเป็นปัจจัย เป็นที่อาศัยอย่างแรงกล้า เป็นที่อาศัยที่มีกำลังมาก ช่วย อุปการะเกื้อกูลให้ ประกอบกรรมทำเพียงแค่มหากุสล และรูปาวจรกุสลเท่านั้น ดังนี้โมหะจึงได้ชื่อว่า เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย จิตมหากุสลและรูปาวจรกุสลพร้อมกับ เจตสิกที่ประกอบนั้นเป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบัน
ค. อวิชชาเป็นปัจจัยแก่อาเนญชาภิสังขารด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสย ปัจจัยเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้าง ต้นนี้ คือมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้อรูปพรหมสมบัติ จึงได้บำเพ็ญเพียร ประกอบอรูปาวจรกุสลกรรม เพราะความปรารถนาในอรูปพรหมสมบัติเช่นนี้ได้ชื่อ ว่า ยังมีโมหะอยู่ ดังนั้นโมหะ ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย อรูปาวจรกุสลจิตและเจตสิก ที่ประกอบเป็น ปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน


หน้า ๑๕

ข้อความเพิ่มเติมที่เกี่ยวแก่อวิชชา

มีข้อความบางประการที่เกี่ยวแก่อวิชชา ซึ่งเป็นข้อที่ควรจะทราบไว้ด้วยดัง ต่อไปนี้ คือ  


๑. อวิชชา อันได้แก่ โมหเจตสิกนี้ มีสภาพหรือมีลักษณะแต่อย่างเดียว คือ ไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริงของธรรมทั้งปวง ถึงกระนั้นก็อาจจะกล่าวได้ตามสิ่งที่ ไม่รู้นั้นว่า อวิชชามีหลายอย่าง เป็นต้นว่า
อวิชชา มี ๒ อย่าง คือ ไม่รู้ในข้อปฏิบัติที่ผิด ๑ และไม่รู้ในข้อปฏิบัติที่ถูก ๑ หรือไม่รู้ธรรมที่เป็นสังขาร ๑ และไม่รู้ธรรมที่เป็นวิสังขาร ๑
ถ้าจะนับว่า อวิชชา มี ๓ ก็หมายถึงว่า ไม่รู้ความจริงในเวทนาทั้ง ๓ มี สุขเวทนา เป็นต้น จึงทำให้เกิดมีความวิปลาสขึ้น
ถ้าจะนับว่าอวิชชา มี ๔ ก็เพราะไม่รู้อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ มีทุกขสัจจ เป็นต้น
ถ้าจะนับว่า อวิชชา มี ๕ ก็เพราะไม่รู้ความจริงแห่งทุกข์โทษภัยที่เป็นไปใน คติทั้ง ๕ (นิรยคติ เปตคติ
ดิรัจฉานคติ มนุสสคติ เทวคติ) ซึ่งยังต้องวนเวียนอยู่ใน กองทุกข์
ถ้าจะนับ อวิชชามี ๖ ก็เพราะไม่รู้ความจริงในอารมณ์ ๖ ในวิญญาณทั้ง ๖ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

 
๒. อวิชชากับพระอรหันต์มีปัญหาว่าการกระทำใด ๆ ของพระอรหันต์นั้น เป็นกิริยาคือ ไม่เป็นบุญและไม่เป็นบาป เพราะพระอรหันต์ทำลายอวิชชาคือ โมหะ ได้โดยสิ้นเชิงแล้ว เป็นอันว่า สังขารทั้ง ๓ ที่เป็นบุญและเป็นบาปนั้น ย่อมถูก ทำลายไปด้วย ดังนี้ก็หมายความว่า นอกจากพระอรหันต์ไม่ทำบาปแล้ว บุญต่าง ๆ เช่น ทาน สีล ภาวนา ก็ไม่กระทำด้วยเช่นนั้นหรือ
ความจริงพระอรหันต์ทั้งหลายก็บำเพ็ญ ทาน สีล ภาวนา อยู่เป็นนิจ ที่พระ อรหันต์กระทำไปนั้นไม่จัดว่าเป็น บุญญาภิสังขาร หรือ อาเนญชาภิสังขาร อันเป็น ผลของอวิชชาตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาทธรรมนี้ เพราะการกระทำของพระอรหันต์ นั้นเป็นกิริยาจิต ไม่มีการให้ผลในวัฏฏสงสารอีกต่อไป จึงได้ชื่อว่า พระอรหันต์ ท่านบำเพ็ญธรรมจนสิ้นบาปและหมดทั้งบุญด้วย ส่วนผู้ที่ยังมีบุญมีบาปอยู่ ผู้นั้นจะ ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏไม่มีที่สิ้นสุด

 
๓. อวิชชา กับ อริยสัจจ
อวิชชา เป็นทุกขสัจจ เกิดพร้อมกับทุกขสัจจ กระทำทุกขสัจจให้เป็นอารมณ์ ได้ ทั้งปกปิดไม่ให้เห็นทุกขสัจจด้วย
อวิชชา ไม่ใช่สมุทยสัจจ จะสงเคราะห์เป็นสมุทยสัจจก็ไม่ได้ แต่อวิชชานี้เกิด พร้อมกับสมุทยสัจจ
กระทำสมุทยสัจจให้เป็นอารมณ์ได้ และปกปิดไม่ให้เห็น สมุทยสัจจด้วย
อวิชชา ไม่ใช่นิโรธสัจจ สงเคราะห์เป็นนิโรธสัจจก็ไม่ได้ เกิดพร้อมกับนิโรธ สัจจก็ไม่ได้ กระทำนิโรธสัจจให้เป็นอารมณ์ก็ไม่ได้ แต่สามารถปกปิดไม่ให้เห็น นิโรธสัจจ
อวิชชา ไม่ใช่มัคคสัจจ สงเคราะห์เป็นมัคคสัจจไม่ได้ เกิดพร้อมกับมัคคสัจจ ไม่ได้ กระทำมัคคสัจจให้เป็นอารมณ์ก็ไม่ได้ แต่ปกปิดไม่ให้เห็นมัคคสัจจได้


หน้า ๑๖

องค์ที่ ๒ สังขาร

สังขาร เป็นปัจจัยแก่ วิญญาณ  

คือ วิญญาณจะปรากฏเกิดขึ้นได้ก็เพราะ มีสังขารเป็นปัจจัย ลักขณาทิจตุกะ
ของสังขาร มีดังนี้

อภิสงฺขรณ ลกฺขณา มีการปรุงแต่ง เป็นลักษณะ
อายูหน รสา มีการพยายามให้ปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้น หรือ พยายามให้ผล คือรูปขันธ์นาม
ขันธ์เกิดขึ้นเป็นกิจ
เจตนา ปจฺจุปฏฺฐานา จงใจทำให้เกิดความสำเร็จ เป็นผล
อวิชฺชา ปทฏฺฐานา มี อวิชชา เป็นเหตุใกล้


สังขารที่กล่าวแล้วในบทอวิชชานั้น เป็นสังขารที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของ อวิชชา ซึ่งได้แก่ เจตนา ๒๙ หรือ กรรม ๒๙
ส่วนสังขารที่กล่าวถึงในบทนี้ เป็นสังขารที่เป็นปัจจัยธรรม อุปการะช่วยเหลือ ให้เกิดวิญญาณนั้น ก็ได้แก่ เจตนา ๒๙ หรือ กรรม ๒๙ เหมือนกัน
วิญญาณ ที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของสังขารนี้ มีแสดงเป็น ๒ นัย คือ อภิธัมมภาชนิยนัย ตามนัยแห่ง
พระอภิธรรม ๑ และ สุตตันตภาชนิยนัย ตาม นัยแห่งพระสูตร ๑
ตามนัยแห่งพระอภิธรมนั้น วิญญาณที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของสังขาร ได้แก่ จิตทั้งหมด (และเจตสิกที่ประกอบกับจิตนั้น ๆ ด้วย) เพราะจิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยมีสังขารเป็นปัจจัย คือต้องมีสิ่งปรุงแต่ง
ตามนัยแห่งพระสูตรนั้น วิญญาณที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของสังขาร ก็ได้แก่ โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ คือ อกุสลวิบากจิต ๗, อเหตุกกุสลวิบากจิต ๘, มหา วิบากจิต ๘ และ มหัคคตวิบากจิต ๙ นั้น
โลกียวิบากวิญญาณ ๓๒ อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของสังขารนี้ ยังจำแนก ได้เป็น ๒ จำพวก คือ
วิญญาณที่เกิดในปฏิสนธิกาล มีชื่อว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวงนั้นพวกหนึ่ง
ปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙ ดวงนี้ก็อยู่ในจำนวนโลกียวิบากวิญญาณ ๓๒ นั่นเอง
วิญญาณที่เกิดในปวัตติกาล มีชื่อว่า ปวัตติวิญญาณ ได้แก่ โลกียวิบากจิต ๓๒ อีกพวกหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ แต่ทำภวังคกิจ และกิจอื่น ๆ


หน้า ๑๗

อบุญญาภิสังขาร

๑. อบุญญาภิสังขาร เฉพาะเจตนาในอกุสลจิต ๑๑ ดวง (เว้นอุทธัจจเจตนา) เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปฏิสนธิ
วิญญาณเป็นปัจจยุบบันนธรรมในปฏิสนธิกาล คือ อุเบกขาสันตีรณอกุสลวิบาก ๑ ดวง ให้ปฏิสนธิในอบายภูมิทั้ง ๔ เป็นพวกทุคคติ อเหตุกบุคคล ซึ่งมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า ทุคคติบุคคล
๒. อบุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาในอกุสลจิตทั้ง ๑๒ ดวง เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปวัตติวิญญาณเป็น
ปัจจยุบบันนธรรมในปวัตติกาล คือ อกุสลวิบากจิต ๗ ดวง ให้ได้เห็น(จักขุวิญญาณ), ให้ได้ฟัง(โสตวิญญาณ), ให้ได้กลิ่น (ฆานวิญญาณ), ให้ได้รส(ชิวหาวิญญาณ), ให้ได้การสัมผัสถูกต้อง(กายวิญญาณ), ให้มีการรับ อารมณ์(สัมปฏิจฉันนะ), ให้มีการไต่สวนอารมณ์(สันตีรณ), และการรับอารมณ์ต่อ จากชวนะ(ตทาลัมพนะ) ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ตลอดจนการรักษาภพรักษาชาตินั้น (ภวังคจิต) ด้วย


บุญญาภิสังขาร

๑. บุญญาภิสังขาร ได้แก่เจตนาในมหากุสลชนิดที่เป็นทวิเหตุกโอมกุกกัฏฐะ และทวิเหตุกโอมโกมกะ เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุบบันน ธรรมในปฏิสนธิกาล คือ อุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก ๑ ดวง ให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ และเทวดาชั้นต่ำ มีความพิกลพิการ บ้า ใบ้ หนวก บอด เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็น พวกสุคติอเหตุกบุคคล
๒. บุญญาภิสังขาร ได้แก่เจตนาในมหากุสล ชนิดที่เป็นติเหตุกโอมกุกกัฏฐะ ติเหตุกโอมโกมกะ
ทวิเหตุกอุกกัฏฐุกกัฏฐะ และทวิเหตุกอุกกัฏโฐมกะ เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ เป็นปัจจยุบบันนธรรมในปฏิสนธิกาล คือ มหาวิบากญาณวิปปยุตต ๔ ดวง ให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์และเทวดาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มาแต่กำเนิด ซึ่งเรียกว่าเป็นพวกทวิเหตุกบุคคล
๓. บุญญาภิสังขาร ได้แก่เจตนาในมหากุสลชนิดที่เป็นติเหตุกอุกกัฏฐุกกัฏฐะ และติเหตุกอุกกัฏโฐมกะ เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุบบันน ธรรมในปฏิสนธิกาล คือ มหาวิบากญาณสัมปยุตต ๔ ดวง ให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ และเทวดาที่ประกอบด้วยปัญญามาแต่กำเนิด ซึ่งเรียกว่าเป็นพวก ติเหตุกบุคคล


หน้า ๑๘

๔. บุญญาภิสังขาร ทั้ง ๓ ข้อนี้ซึ่งได้แก่เจตนาในมหากุสลทั้ง ๘ เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปวัตติวิญญาณเป็นปัจจยุบบันนธรรมในปวัตติกาล คือ
ก. อเหตุกกุสลวิบาก ๘ ดวง ให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ถูกต้อง การรับอารมณ์ การไต่สวนอารมณ์ และการรับอารมณ์ต่อจากชวนะ เหล่านี้ ล้วนแต่ที่ดีทั้งนั้น
ข. มหาวิบาก ๘ ดวง ทำกิจรับอารมณ์ต่อจากชวนะ คือทำตทาลัมพนกิจ
ค. มหาวิบาก ๘ ดวง และอุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก ๑ ดวง รวม ๙ ดวง ทำหน้าที่รักษาภพรักษาชาตินั้น ๆ (ภวังคจิต) กับทำหน้าที่จุติกิจด้วยเจตนาในมหากุสลจิต ๘ ดวง ที่จำแนกเป็น ติเหตุกอุกัฏฐุกกัฏฐะ, ติเหตุกอุก กัฏโฐมกะ, ติเหตุกโอมกุกกัฏฐะ, ติเหตุกโอมโกมกะ, ทวิเหตุกอุกัฏฐุกกัฏฐะ, ทวิเหตุกอุกกัฏโฐมกะ, ทวิเหตุกโอมกุกกัฏฐะ และทวิเหตุกโอมโกมกะ รวม ๘ อย่างนี้ ได้กล่าวแล้วในปริจเฉทที่ ๕ หมวดที่ ๓ กัมมจตุกะ ตอนที่ตั้งแห่งวิบากจิต (ปากฐาน) นั้นแล้ว จึงไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก
๕. บุญญาภิสังขาร ได้แก่เจตนาในรูปาวจรกุสลจิต ๕ ดวง เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณเป็น
ปัจจยุบบันธรรมในปฏิสนธิกาล คือ รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง ในปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในรูปภูมิ ซึ่งเรียกว่าเป็นพวกติเหตุกบุคคลเหมือนกัน
๖. บุญญาภิสังขาร ได้แก่เจตนาในรูปาวจรกุสลจิต ๕ ดวง เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปวัตติวิญญาณเป็น
ปัจจยุบบันนธรรมในปวัตติกาล คือการรักษาภพชาตินั้น ๆ (ภวังคจิต) ตลอดจนทำหน้าที่จุติกิจด้วย ส่วนอเหตุกกุสลวิบากจิต ๕ ดวง ให้ได้ เห็น(จักขุวิญญาณ), ให้ได้ยิน(โสตวิญญาณ), มีการรับอารมณ์(สัมปฏิจฉันนะ) และ การไต่สวนอารมณ์(สันตีรณะ) ล้วนแต่ที่ดีนั้นเป็นกามวิบาก


อาเนญชาภิสังขาร

๑. อาเนญชาภิสังขาร ได้แก่เจตนาในอรูปาวจรกุสลจิต ๔ ดวง เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณเป็นปัจจยุบบันนธรรมในปฏิสนธิกาล คือ อรูปาวจร วิบากจิต ๔ ให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิ ซึ่งเรียกว่าเป็นจำพวกติเหตุกบุคคล
๒. อาเนญชาภิสังขาร ได้แก่เจตนาในอรูปาวจรกุสลจิต ๔ ดวง เป็นปัจจัยธรรม ให้เกิดปวัตติวิญญาณเป็นปัจจยุบบันนธรรมในปวัตติกาล คือ อรูปาวจรวิบาก จิต ๔ ทำหน้าที่ภวังคกิจ รักษาภพรักษาชาตินั้น ๆ และทำหน้าที่จุติกิจอีกด้วย


หน้า ๑๙

ในบทสังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณนี้ มีข้อที่ควรสังเกตอยู่ว่า
สังขาร ๓ ที่เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ จำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ สังขาร ๓ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณนั้น ได้แก่ เจตนา ๒๘ เท่านั้น โดยต้องเว้น อุทธัจจเจตนาเสีย ๑ เพราะอุทธัจจเจตนาไม่สามารถส่งผลให้เป็นปฏิสนธิได้
ส่วนสังขาร ๓ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดปวัตติวิญญาณนั้น ได้แก่ เจตนาทั้ง ๒๙ ดวง
เหตุที่อุทธัจจเจตนาไม่สามารถให้ผลเป็นปฏิสนธิได้นั้น ได้กล่าวไว้ในปริจเฉท ที่ ๕ หมวดที่ ๓ กัมมจตุกะ ตอนที่ตั้งแห่งวิบากจิต (ปากฐาน) นั้นแล้ว
วิญญาณที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของสังขาร ก็จำแนกได้เป็น ๒ จำพวก คือ ปฏิสนธิวิญญาณ ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑๙ และปวัตติวิญญาณ ได้แก่ โลกียวิบากวิญญาณ ๓๒
โลกียวิบากวิญญาณ ๓๒ นั้น เกิดได้ในปวัตติกาลอย่างเดียว มี ๑๓ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐,
สัมปฏิจฉันนจิต ๒ และ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ส่วนปฏิสนธิ วิญญาณ ๑๙ นั้น นอกจากทำปฏิสนธิกิจในปฏิสนธิกาลโดยตรงแล้ว ในปวัตติกาล ก็ยังเกิดจิต ๑๙ ดวงนี้ได้ แต่ว่าเกิดขึ้นมาทำกิจอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่ปฏิสนธิกิจ


ปัจจัย ๒๔ ที่เกี่ยวแก่สังขาร

ในบทสังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณนี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้วก็เป็นไป ได้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยเพียง ๒ ปัจจัย คือ
๑. ปกตูปนิสสยปัจจัย และ ๒. นานักขณิกกัมมปัจจัย
ความหมายแห่งปกตูปนิสสยปัจจัย นั้นได้กล่าวแล้วในบทก่อน ในบทนี้ก็มีนัย เป็นทำนองเดียวกันนั้นเอง จึงไม่กล่าวซ้ำอีก
ส่วน นานักขณิกกัมมปัจจัย หมายถึงกรรมหรือสังขาร คือเจตนาที่เกิดต่าง ขณะกัน (คือเจตนาที่ดับไปแล้วนั้น) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามและรูปที่เกิด จากกรรมนั้น ๆ ดังนั้นในที่นี้จึงได้แก่ สังขาร (เจตนา) เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย วิญญาณ (วิบากวิญญาณ ๓๒) เป็นนานักขณิกกัมมปัจจยุบบันน

 

แสดงปฏิสนธิวิญญาณโดยนัยต่าง ๆ

ปฏิสนธิวิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิต ซึ่งมีจำนวน ๑๙ ดวงนี้ มีการแสดงโดยนัย ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
กล่าวโดย นัยแห่ง มิสสกะ และสุทธะ แล้วก็มี ๒ คือ
๑. รูปมิสสกวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณที่มีรูปเกิดพร้อมด้วยนั้นมี ๑๕ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณะ ๒
มหาวิบาก ๘ และรูปาวจรวิบาก ๕


หน้า ๒0

๒. รูปอามิสสกวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณที่ไม่มีรูปเกิดพร้อมด้วยนั้นมี ๔ ดวง ได้แก่ อรูปาวจรวิบาก ๔ เพราะไม่มีรูปเกิดมาปะปนด้วย จึงได้ชื่อว่า สุทธะ
กล่าวโดยนัยแห่งภูมิ ก็มี ๓ คือ
๑. กามวิญญาณ หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณในกามภูมิ มีจำนวน ๑๐ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณ ๒ และมหาวิบาก ๘
๒. รูปวิญญาณ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณในรูปภูมิ มีจำนวน ๕ ดวง ได้แก่ รูปาวจรวิบาก ๕
๓. อรูปวิญญาณ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณในอรูปภูมิ มีจำนวน ๔ ดวง ได้แก่ อรูปาวจรวิบาก ๔

 
กล่าวโดย นัยแห่งกำเนิด ก็มี ๔ คือ
๑. อัณฑชวิญญาณ คือ ปฏิสนธิวิญญาณในไข่ มีจำนวน ๑๐ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณะ ๒ และมหาวิบาก ๘
๒. ชลาพุชวิญญาณ คือ ปฏิสนธิวิญญาณในครรภ์มารดา มีจำนวน ๑๐ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณะ ๒ และมหาวิบาก ๘
๓. สังเสทชวิญญาณ คือ ปฏิสนธิวิญญาณในที่เปียกชื้น มีจำนวน ๑๐ ดวง อุเบกขาสันตีรณะ ๒ และ
มหาวิบาก ๘
๔. โอปปาติกวิญญาณ คือ ปฏิสนธิวิญญาณที่ไม่ได้อาศัยที่เกิดเหมือน ๓ อย่างข้างต้นนั้น แต่เกิดโดยอาการที่ผุดหรือโผล่ขึ้นมาเต็มที่เลยทีเดียว มีจำนวน ๑๙ ดวง คือ ปฏิสนธิวิญญาณทั้ง ๑๙ อันได้แก่ อุเบกขาสันตีรณ ๒, มหาวิบาก ๘ และ มหัคคตวิบาก ๙ นั่นเอง


หน้า ๒๑

กล่าวโดย นัยแห่งคติ ก็มี ๕ คือ
๑. เทวคติวิญญาณ หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณในเทวภูมิ ๖, ในรูปภูมิ ๑๕ และในอรูปภูมิ ๔ นั้น มีจำนวน ๑๘ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก ๑, มหาวิบาก ๘ และ มหัคคตวิบาก ๙
๒. มนุสสคติวิญญาณ หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณในมนุสสภูมิ มีจำนวน ๙ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก ๑ และ มหาวิบาก ๘

๓. ดิรัจฉานคติวิญญาณ
๔. เปตคติวิญญาณ
๕. นิรยคติวิญญาณ

ทั้ง ๓ นี้มีปฏิสนธิวิญญาณ ๑ ดวง ได้แก่
อุเบกขาสันตีรณอกุสลวิบากดวงเดียวเท่านั้น

กล่าวโดย นัย แห่งวิญญาณฐีติ คือภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณนั้น ก็มี ๗ ได้แก่
๑. นานัตตกายนานัตตสัญญีวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณในภูมิที่มีรูปร่าง ต่างกันและปฏิสนธิจิตก็ต่างกันอันได้แก่ ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ ๗ นั้น มีปฏิสนธิ วิญญาณ ๙ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก ๑ และมหาวิบาก ๘
คำว่า นานัตตะ นี้บางทีก็ใช้อย่าง ทีฆะ ว่า นานาตตะ
๒. นานัตตกายเอกัตตสัญญีวิญญาณ
ปฏิสนธิวิญญาณในภูมิที่มีรูปร่าง ต่างกัน แต่มีปฏิสนธิวิญญาณอย่างเดียวกัน อันได้แก่ ปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ และ ในปฐมฌานภูมิ ๓ รวม ๗ ภูมิด้วยกัน
ปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ มี ปฏิสนธิวิญญาณ ๑ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบาก ๑
ปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ ๓ มี ปฏิสนธิวิญญาณ ๑ ดวง คือ รูปาวจรปฐม ฌานวิบาก ๑
๓. เอกัตตกายนานัตตสัญญีวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณในภูมิที่มีรูปร่าง เหมือนกันแต่มีปฏิสนธิวิญญาณต่างกัน อันได้แก่ ปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิ ๓ มี ปฏิสนธิวิญญาณ ๒ ดวง คือ รูปาวจรทุติยฌานวิบาก ๑ และรูปาวจรตติยฌานวิบาก ๑
๔. เอกัตตกายเอกัตตสัญญีวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณในภูมิที่มีรูปร่าง เหมือนกัน และมีปฏิสนธิวิญญาณก็อย่างเดียวกัน อันได้แก่ ปฏิสนธิในตติยฌานภูมิ ๓, เวหัปผลาภูมิ ๑ และสุทธาวาสภูมิ ๕ รวม ๙ ภูมิ มีปฏิสนธิวิญญาณ ๒ ดวง คือ
ปฏิสนธิใน ตติยฌานภูมิ ๓ มีปฏิสนธิวิญญาณ ๑ ดวง คือ รูปาวจรจตุตถ ฌานวิบาก ๑
ปฏิสนธิในเวหัปผลาภูมิ ๑ และสุทธาวาสภูมิ ๕ นั้น มีปฏิสนธิวิญญาณ ๑ ดวง คือ รูปาวจรปัญจมฌานวิบาก ๑


หน้า ๒๒

๕. อากาสานัญจายตนวิญญาณ ปฏิสนธิในอากาสานัญจายตนภูมิ มี ปฏิสนธิวิญญาณ ๑ ดวง คือ อากาสานัญจายตนวิบาก ๑
๖. วิญญาณัญจายตนวิญญาณ ปฏิสนธิในวิญญาณัญจายตนภูมิ มีปฏิสนธิ วิญญาณ ๑ ดวง คือ วิญญาณัญจายตนวิบาก ๑
๗. อากิญจัญญายตนวิญญาณ ปฏิสนธิในอากิญจัญญายตนภูมิ มีปฏิสนธิ วิญญาณ ๑ ดวง คือ อากิญจัญญายตนวิบาก ๑
ตามนัยแห่งวิญญาณฐีตินี้ ไม่ได้กล่าวถึง อสัญญสัตตภูมิ และเนวสัญญานา สัญญายตนภูมิ เพราะว่า
อสัญญสัตตภูมิเป็นภูมิของสัตว์ที่ไม่มีปฏิสนธิวิญญาณ ส่วนเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ แม้จะเป็นภูมิของสัตว์ที่มีปฏิสนธิวิญญาณก็จริง แต่ว่าวิญญาณนั้นไม่ปรากฏชัด จะว่ามีก็ไม่ใช่จะว่าไม่มีก็ไม่เชิง ด้วยเหตุนี้จึงไม่จัด เข้าในวิญญาณฐีติ ๗ นี้ด้วย
กล่าวโดย นัยแห่ง สัตตาวาสภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๙ ภูมิด้วยกัน
ในจำนวน ๙ ภูมินี้มีอยู่ภูมิ ๑ ซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ของ อสัญญสัตตผู้ไม่มีวิญญาณ ซึ่งไม่ต้องกล่าวในที่นี้ด้วย คงจะกล่าวแต่เพียง ๘ ภูมิซึ่ง เป็นภูมิที่อาศัยอยู่ของสัตว์ที่มีวิญญาณ ดังต่อไปนี้
๑. นานัตตกายภูมิ หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณในภูมิที่มีรูปร่างต่าง ๆ กัน มี ๑๔ ภูมิ คือ กามภูมิ ๑๑ และปฐมฌานภูมิ ๓
๒. เอกัตตกายภูมิ หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณในภูมิที่มีรูปร่างเหมือน ๆ กัน มี ๑๒ ภูมิ คือ ทุติยฌานภูมิ , ตติยฌานภูมิ ๓, เวหัปผลาภูมิ ๑ และสุทธาวาส ภูมิ ๕
๓. นานัตตสัญญีภูมิ หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณในภูมิที่มีปฏิสนธิจิตต่างกัน มี ๑๐ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗ และ ทุติยฌานภูมิ ๓
๔. เอกัตตสัญญีภูมิ หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณในภูมิที่มีปฏิสนธิจิตอย่าง เดียวกันมี ๑๖ ภูมิคือ อบายภูมิ ๔, ปฐมฌานภูมิ ๓, ตติยฌานภูมิ ๓, เวหัปผลา ภูมิ ๑ และสุทธาวาสภูมิ ๕
๕. อากาสานัญจายตนภูมิ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณในอากาสานัญจายตน ภูมิ ๑ ภูมิ


หน้า ๒๓

๖. วิญญาณัญจายตนภูมิ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณในวิญญาณัญจายตนภูมิ ๑ ภูมิ
๗. อากิญจัญญายตนภูมิ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณในอากิญจัญญายตนภูมิ ๑ ภูมิ
๘. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมมิ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณในเนวสัญญานา สัญญายตนภูมิ ๑ ภูมิ
กล่าวโดย นัยแห่งภพ ก็มี ๙ ภพ ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า


องค์ที่ ๓ วิญญาณ

วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป คือนามรูปจะปรากฏขึ้นได้ ก็เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย ลักขณาทิจตุกะของวิญญาณ คือ

วิชานน ลกฺขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
ปุพฺพงฺคม รสํ เป็นประธานแก่เจตสิกและกัมมชรูป เป็นกิจ
ปฏิสนฺธิ ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการสืบต่อระหว่างภพเก่ากับภพใหม่ เป็นผล
สงฺขาร ปทฏฺฐานํ มีสังขาร (๓) เป็นเหตุใกล้
(วา)วตฺถารมฺมณ ปทฏฺฐานํ (หรือ)มีวัตถุ(๖) กับอารมณ์(๖) เป็นเหตุใกล้

ในบทก่อนกล่าวว่า วิญญาณอันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของสังขารนั้น จำแนก ได้เป็น ๒ ประเภท คือ
ก. ปฏิสนธิวิญญาณ ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑๙
ข. ปวัตติวิญญาณ ได้แก่ โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒
ในบทนี้ก็กล่าวได้ว่า วิญญาณอันเป็นปัจจัยธรรม คือเป็นสิ่งอุปการะช่วยเหลือ ให้เกิดนามรูปนั้น ก็จำแนกได้เป็น ๒ ประเภทเหมือนกัน คือ
ก. วิปากวิญญาณ ได้แก่ โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ ดวง วิปากวิญญาณนี้ เป็นเหตุใกล้ (อาสนฺนการณํ)
ข. กัมมวิญญาณ
ได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ และโลกียกุสลจิต ๑๗ ที่สหรคตกับ อกุสลเจตนากรรมและโลกียกุสลเจตนากรรมในอดีตภพ กล่าวสั้น ๆ ก็ว่า กัมม วิญญาณก็คือกรรม ๒๙ นั่นเอง กัมมวิญญาณนี้เป็นเหตุไกล (ทูรการณํ)


หน้า ๒๔

ส่วนนามรูป อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของวิญญาณ นั้นมีความหมายดังนี้
นาม ในบทนี้หมายถึง เจตสิก เท่านั้น
ก. ตามนัยแห่งพระอภิธรรม ซึ่งได้กล่าวแล้วในบทก่อนว่า วิญญาณได้แก่ จิต ทั้งหมด ดังนั้นในบทนี้ นามคือ เจตสิก ก็ได้แก่ เจตสิกทั้ง ๕๒ ดวง ซึ่งประกอบ กับจิตทั้งหมดนั้นตามควรแก่ที่จะประกอบได้
ข. ตามนัยแห่งพระสูตร ซึ่งในบทก่อนว่า วิญญาณ ได้แก่โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ ดังนั้นในบทนี้ นามคือเจตสิกก็ได้แก่ เจตสิกเพียง ๓๕ ดวง ที่ประกอบกับ โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ เท่านั้น
นาม คือ เจตสิก ที่ประกอบกับปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙ ก็เรียกว่า ปฏิสนธินาม (ปฏิสนธิเจตสิก) เจตสิกที่เกิดในปฏิสนธิกาลนี้ อาศัยกัมมวิญญาณในอดีตภพ และ ปฏิสนธิวิญญาณในปัจจุบันภพ เป็นปัจจัย
นาม คือ เจตสิก ที่ประกอบกับปวัตติวิญญาณ ๓๒ ก็เรียกว่า ปวัตตินาม (ปวัตติเจตสิก) เจตสิกที่เกิดในปวัตติกาลนี้ อาศัยปวัตติวิปากวิญญาณแต่อย่างเดียว เป็นปัจจัย
ส่วน รูป ในบทนี้ หมายถึงรูปภายในสัตว์ทั้ง ๒๘ รูป กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า หมายเฉพาะกัมมชรูปโดยตรง และจิตตชรูปโดยอ้อมเท่านั้น
กัมมชรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ ๑๕ (เว้นอรูปปฏิสนธิวิญญาณ ๔) นั้นเรียกว่า ปฏิสนธิรูป กัมมชรูปที่เกิดในปฏิสนธิกาลนี้ อาศัยกัมมวิญญาณใน อดีตภพ และปฏิสนธิวิญญาณในปัจจุบันภพ เป็นปัจจัย
ปวัตติกัมมชรูป ที่เกิดจากกัมมวิญญาณ ๒๕ (เว้นอรูปกัมมวิญญาณ ๔) นั้น อย่างหนึ่ง กับจิตตชรูปที่เกิดจากปวัตติวิญญาณ ๑๘ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และอรูปวิปากวิญญาณ ๔) อีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่างนี้เรียกว่า ปวัตติรูป กัมมชรูป ที่เกิดในปวัตติกาลนี้อาศัยกัมมวิญญาณในอดีตภพแต่อย่างเดียวเป็นปัจจัย ส่วน จิตตชรูปที่เกิดขึ้นในปฏิสนธิกาลนั้นไม่มี มีแต่เกิดขึ้นในปวัตติกาล โดยอาศัยปวัตติ วิปากวิญญาณเป็นปัจจัย
รวมความว่า รูปในปฏิสนธิกาล มีแต่กัมมชรูปอย่างเดียว รูปในปวัตติกาล มีได้ทั้งกัมมชรูป และจิตตชรูป
วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูปนี้ จำแนกความเป็นปัจจัยได้เป็น ๓ ประการ คือ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม วิญญาณเป็นปัจจัยแก่รูป และวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป


หน้า ๒๕

วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม

วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม หมายเฉพาะว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่เจตสิก แต่ อย่างเดียว ไม่เกี่ยวแก่รูปด้วย
๑. กัมมวิญญาณ ได้แก่ อรูปาวจรกุสลจิต ๔ ดวงที่สหรคตด้วยรูปวิราค เจตนาในอดีตภพ เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธินาม คือ เจตสิก ๓๐ ดวงที่ประกอบกับ ปฏิสนธิวิญญาณในจตุโวการภูมิ ๔ ในปฏิสนธิกาล
๒. วิปากวิญญาณ ได้แก่ อรูปาวจรปฏิสนธิวิญญาณ ๔ ดวง ในปัจจุบันภพ เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธินาม คือเจตสิก ๓๐ ดวง ที่ประกอบกับปฏิสนธิจิตใน จตุโวการภูมิ ๔ ในปฏิสนธิกาล
๓. วิปากวิญญาณ ได้แก่ อรูปาวจรวิปากวิญญาณ ๔ ดวง คือ ภวังคจิตเป็น ปัจจัยแก่ปวัตตินาม คือ
เจตสิก ๓๐ ดวงที่ประกอบกับภวังคจิตในจตุโวการภูมิ ๔ ในปวัตติกาล


วิญญาณเป็นปัจจัยแก่รูป

วิญญาณเป็นปัจจัยแก่รูป หมายเฉพาะว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่รูปแต่อย่าง เดียว ไม่เกี่ยวแก่นามด้วย
วิญญาณในที่นี้หมายถึง กัมมวิญญาณ อันได้แก่ รูปาวจรปัญจมฌานกุสลจิต ที่สหรคตด้วยเจตนาในสัญญาวิราคภาวนาในอดีตภพ เป็นปัจจัยแก่กัมมชรูปในเอกโวการภูมิ คือ อสัญญสัตตภูมิ ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล


วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป

วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป หมายความว่า วิญญาณนั้นอุปการะช่วยเหลือ ให้เกิดทั้งนาม คือ เจตสิก
ทั้งรูปคือกัมมชรูปและจิตตชรูปด้วย
๑. กัมมวิญญาณ ได้แก่ อกุสลจิต ๑๑ มหากุสลจิต ๘ และ รูปาวจรกุสล จิต ๕ รวมเป็น ๒๔ ดวง ที่สหรคตด้วยเจตนาในอดีตภพ เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธินาม และปฏิสนธิรูปในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ในปฏิสนธิกาล
ปฏิสนธินาม คือ เจตสิก ๓๕ ดวง ที่ประกอบกับปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวง
ปฏิสนธิรูป คือ กัมมชรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวงนั้น


หน้า ๒๖

๒. วิปากวิญญาณ ได้แก่ ปฏิสนธิวิญญาณ ๑๕ ดวง ในปัจจุบันภพ เป็น ปัจจัยแก่ปฏิสนธินาม คือเจตสิก ๓๕ และกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตนั้น ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ในปฏิสนธิกาล
๓. วิปากวิญญาณ ได้แก่ ภวังคจิต ๑๕ ดวง เป็นปัจจัยแก่ปวัตตินาม คือ เจตสิก ๓๕ และปวัตติรูป คือ จิตตชรูป ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ในปวัตติกาล
๔. วิปากวิญญาณ ได้แก่ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ และโสมนัสสันตีรณจิต ๑ เป็นปัจจัยแก่ ปวัตตินาม คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๑ และปวัตติรูป คือจิตตชรูป ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ในปวัตติกาล
๕. วิปากวิญญาณ ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ เป็นปัจจัยแก่ ปวัตตินาม คือสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ในปวัตติกาล


ปัจจัย ๒๔ เกี่ยวแก่วิญญาณ

ในบทวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูปนี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้ว ก็เป็นไป ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ
ก. วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม คือ เจตสิกแต่อย่างเดียว (ในจตุโวการภูมิ) นั้น ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๙ ปัจจัย คือ
๑.สหชาตปัจจัย ๒.อัญญมัญญปัจจัย ๓.นิสสยปัจจัย
๔.วิปากปัจจัย ๕.อาหารปัจจัย ๖.อินทรียปัจจัย
๗.สัมปยุตตปัจจัย ๘.อัตถิปัจจัย ๙.อวิคตปัจจัย
ข. วิญญาณเป็นปัจจัยแก่รูป คือ กัมมชรูปแต่อย่างเดียว(ในเอกโวการภูมิ) นั้น ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๔ ปัจจัย คือ
๑. วิปากปัจจัย ๒. วิปปยุตตปัจจัย
๓. นัตถิปัจจัย ๔. วิคติปัจจัย
ค. วิญญาณเป็นปัจจัยทั้งนามทั้งรูป (ในปัญจโวการภูมิ) ก็ด้วยอำนาจแห่ง ปัจจัย ๙ ปัจจัย ซึ่งเหมือนกับข้อ ก. เว้นแต่หมายเลข ๗ สัมปยุตตปัจจัย เปลี่ยน เป็นวิปปยุตตปัจจัย ปัจจัยเดียวเท่านั้น ส่วนอีก ๘ ปัจจัยนั้นเหมือนกันทุกปัจจัย


หน้า ๒๗

ความหมายแห่งปัจจัยเหล่านี้ ปัจจัยใดที่ซ้ำในบทก่อนที่ได้แสดงความหมายมา แล้วก็จะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก จะกล่าวถึงความหมายเฉพาะปัจจัยที่ไม่ซ้ำกับบทก่อน คือ
๑. วิปากปัจจัย กล่าวถึงวิบากนามขันธ์ ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กัน และกัน ทั้งช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดพร้อมกับตนนั้นด้วย ในที่นี้ก็ได้แก่ วิญญาณ (คือจิต) เป็นวิปากปัจจัย นาม(คือเจตสิก) และรูปที่เกิดพร้อมกับวิญญาณนั้น เป็นวิปากปัจจยุบบัน
๒. อาหารปัจจัย กล่าวถึง อาหารทั้ง ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามรูป ที่เกิดพร้อมกันนั้น ในที่นี้ได้แก่ วิญญาณ(คือจิต) เป็นอาหารปัจจัย นาม(คือเจตสิก) และรูปที่เกิดพร้อมกับจิตนั้นเป็นอาหารปัจจยุบบัน
๓. อินทรียปัจจัย กล่าวถึง ปสาทรูป ๕ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ปัญจ วิญญาณอย่างหนึ่ง รูปชีวิตินทรียเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่อุปาทินนกรูปอย่างหนึ่ง และนามอินทรียเป็นปัจจัย ช่วยอุปการะแก่นามรูปที่เกิดพร้อมกับตนนั้นอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นในที่นี้ วิญญาณ(คือจิต) จึงเป็นอินทรียปัจจัย นามรูปเป็นอินทรีย ปัจจยุบบัน
๔. วิปปยุตตปัจจัย หมายถึงธรรมที่ไม่ได้ประกอบกันด้วยลักษณะ ๔ อย่าง คือ เอกุปปาทะ เอกนิโรธะ
เอกาลัมพนะ และเอกวัตถุกะ ดังนั้นในที่นี้ วิญญาณ (คือจิต) เป็นวิปปยุตตปัจจัย รูปที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น (หรือแม้แต่เกิดก่อน) ก็เป็น วิปปยุตตปัจจยุบบัน


องค์ที่ ๔ นามรูป

นามรูป เป็นปัจจัยแก่ สฬายตนะ คือ อายตนะภายใน ๖ จะปรากฏขึ้นได้ก็ เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย
นามในบทนี้ คือ เจตสิก มีลักขณาทิจตุกะดังนี้

นมนลกฺขณํ มีการน้อมไปสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ
สมฺปโยครสํ มีการประกอบกับวิญญาณ และประกอบกันเอง โดยอาการที่เกิดพร้อมกันเป็นต้น เป็นกิจ อวินิพฺโภคปจฺจุปฏฺฐานํ มีการไม่แยกกันกับจิต เป็นผล
วิญฺญาณปทฏฺฐานํ มีวิญญาณ เป็นเหตุใกล้


หน้า ๒๘

รูปในที่นี้ คือ กัมมชรูป(โดยตรง) จิตตชรูป(โดยอ้อม) ลักขณาทิจตุกะ ของ รูปมีดังนี้

รุปฺปนลกฺขณํ มีการสลาย แตกดับ เป็นลักษณะ แตกดับไปด้วย อำนาจปัจจัย
วิกิรณรสํ มีการแยกออกจากกัน(กับจิต)ได้ เป็นกิจ
อพฺยากตาปจฺจุปฏฺฐานํ มีความเป็นอพยากตธรรม (ในที่นี้หมายถึงความ ไม่รู้อารมณ์) เป็นผล
วิญฺญาณปทฏฺฐานํ มีวิญญาณ เป็นเหตุใกล้

นาม คือ เจตสิก ที่เป็นปัจจัยแก่อายตนะนั้น ได้แก่ เจตสิก ๓๕ ที่ประกอบ กับโลกียวิปากจิต ๓๒ เท่านั้น
รูป ที่เป็นปัจจัยแก่อายตนะนั้น ก็ได้แก่ กัมมชรูป เท่านั้น
อายตนะที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของนามรูปนั้นได้แก่ สฬายตนะ คือ อายตนะภายใน ๖ ที่มีชื่อว่า
อัชฌัตติกายตนะ มีจักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ และ มนายตนะ
อายตนะ มีความหมายว่า เป็นเครื่องต่อ เป็นบ่อเกิดแห่งจิตและเจตสิก เป็นเครื่องต่อเป็นบ่อเกิดแห่งวิถีจิต
นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ ดังนี้
๑. เพราะเหตุว่ามี กัมมชรูป คือ จักขุปสาท จึงปรากฏ จักขวายตนะ
๒. เพราะเหตุว่ามี กัมมชรูป คือ โสตปสาท จึงปรากฏ โสตายตนะ
๓. เพราะเหตุว่ามี กัมมชรูป คือ ฆานปสาท จึงปรากฏ ฆานายตนะ
๔. เพราะเหตุว่ามี กัมมชรูป คือ ชิวหาปสาท จึงปรากฏ ชิวหายตนะ
๕. เพราะเหตุว่ามี กัมมชรูป คือ กายปสาท จึงปรากฏ กายายตนะ
๖. เพราะเหตุว่ามี กัมมชรูป เจตสิก ๓๕ (ที่ประกอบกับโลกียวิปากวิญญาณ ๓๒) จึงปรากฏ มนายตนะ
โดยเฉพาะ มนายตนะนี้ มีวาทะ เป็น ๒ นัย คือ
ก. อรรถกถาจารย์ และฎีกาจารย์บางท่าน กล่าวว่า มนายตนะนี้ได้แก่ โลกีย วิปากจิต ๓๒
ข. ภาสาฎีกาจารย์บางท่านกล่าวว่า มนายตนะนี้ได้แก่ ภวังคจิต ๑๙ เท่านั้น โดยอ้างว่า ภวังคจิต เป็นตัว
มโนทวาร ช่วยอุปการะให้ ผัสสะ และเวทนาเกิดขึ้น ซึ่งตรงกับพุทธภาษิตที่ว่า  

มนญฺจ ปฏิจฺจ ธมฺเม จ อุปฺปชฺชติ มโนวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส ผสฺสปจฺจยา เวทนา ฯลฯ ซึ่งแปลความว่า มโนวิญญาณ ย่อมปรากฏขึ้นได้
เพราะอาศัย มโนทวาร กับ ธัมมารมณ์ เมื่อธรรมทั้ง ๓ นี้ ประชุมร่วมกันแล้วเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา ฯลฯ


หน้า ๒๙

อนึ่ง มีข้อสังเกตอยู่ว่า ในบทก่อนกล่าวว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป คือ โลกียวิปากวิญญาณทำให้เกิดเจตสิก และกัมมชรูป
ในบทนี้กล่าวว่า นามรูปเป็นปัจจัยแก่ สฬายตนะ คือ นามอันได้แก่เจตสิก ทำให้เกิดมนายตนะ อันได้แก่ โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ และ กัมมชรูปทำให้เกิด ปัญจายตนะ (อายตนะ ๕) นี่ก็คือ ปสาทรูป ๕ นั่นเอง
รวมกล่าวอย่างสั้น ๆ ก็ได้ความว่า บทก่อนกล่าวว่า จิตทำให้เกิดเจตสิก แต่ บทนี้กลับกล่าวว่า เจตสิกทำให้เกิดจิต จึงทำให้เป็นที่น่าสงสัยอยู่
ข้อนี้มีอธิบายว่า การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเช่นนี้ ก็ด้วยอำนาจแห่ง สหชาตปัจจัย คือ ความเกิดพร้อมกัน เกิดร่วมกันของธรรมเหล่านั้นประการหนึ่ง และด้วยอาศัยอำนาจแห่ง อัญญมัญญปัจจัย คือ ความอาศัยซึ่งกันและกันของ ธรรมเหล่านั้นอีกประการหนึ่ง
กล่าวคือ นาม คือเจตสิกกับมนายตนะ คือโลกียวิปากวิญญาณนั้นเกิดพร้อม กันเกิดร่วมกัน ดังนั้นจะว่าเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตเกิดร่วมกับจิต หรือจะว่าจิตเกิด พร้อมกับเจตสิกเกิดร่วมกับเจตสิก ก็ได้ทั้ง ๒ อย่าง นี่กล่าวโดยอำนาจแห่ง สหชาตปัจจัย
กล่าวโดยอำนาจแห่งอัญญมัญญปัจจัย จิตกับเจตสิกที่เกิดพร้อมกันเกิดร่วมกัน นั้นต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน อุปการะหรืออุดหนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้นจะว่าเจตสิก อุดหนุนอุปการะจิต หรือว่าจิตอุปการะอุดหนุนเจตสิกก็ได้ทั้ง ๒ อย่างอีกเหมือนกัน
ส่วนรูปนั้น ปสาทรูป ๕ และปัญจายตนะ คือ อายตนะทั้ง ๕ ก็เป็นรูปอัน เดียวกันนั่นเอง แต่เมื่อกล่าวโดยสมุฏฐาน ก็เรียกว่า กัมมชรูป และเมื่อกล่าวโดย ความเป็นเครื่องต่ออันเป็นบ่อเกิดแห่งวิถีจิต ก็เรียกว่า อายตนะ เมื่อมีปสาทรูปจึง จะเป็นเครื่องต่อก่อให้เกิดจิต เจตสิก และวิถีจิตได้


หน้า ๓0

ปัจจัย ๒๔ เกี่ยวแก่นามรูป

ในบท นามรูป เป็นปัจจัยแก่ สฬายตนะนี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้ว ก็มี รายละเอียดที่จะกล่าวได้เป็นหลายรายการด้วยกัน จึงขอกล่าวรวบยอดเป็นส่วนรวม ทั้งหมดว่า นามรูปที่อุปการะช่วยเหลือแก่ สฬายตนะนั้นด้วย
อำนาจแห่งปัจจัย ๑๖ ปัจจัย คือ
๑.เหตุปัจจัย ๒.สหชาตปัจจัย ๓.อัญญมัญญปัจจัย
๔.นิสสยปัจจัย ๕.ปุเรชาตปัจจัย ๖.ปัจฉาชาตปัจจัย
๗.กัมมปัจจัย ๘.วิปากปัจจัย ๙.อาหารปัจจัย
๑๐.อินทรียปัจจัย ๑๑.ฌานปัจจัย ๑๒.มัคคปัจจัย
๑๓.สัมปยุตตปัจจัย ๑๔.วิปปยุตตปัจจัย ๑๕.อัตถิปัจจัย
๑๖.อวิคตปัจจัย
ในจำนวน ๑๖ ปัจจัยนี้ ปัจจัยใดที่ได้เคยแสดงความหมายแล้วในบทก่อน ก็จะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก จะกล่าวถึงความหมายเฉพาะปัจจัยที่ไม่ซ้ำกับบทก่อน คือ
๑. ปุเรชาตปัจจัย กล่าวถึงรูปธรรมที่เกิดก่อน อุปการะช่วยเหลือให้เกิดนาม ธรรมอันมีความหมายว่า วัตถุ ๖ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่วิญญาณธาตุ ๗ ใน ปวัตติกาล(วัตถุปุเรชาตปัจจัย) นั้นอย่างหนึ่ง
อารมณ์ ๕ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ ปัญจวิญญาณวิถี (อารัมมณปุเรชาต ปัจจัย) อีกหนึ่ง
ทั้ง ๒ อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่ง ปุเรชาตปัจจัย
๒. ปัจฉาชาตปัจจัย กล่าวถึง นามธรรม คือ จิตเจตสิกที่เกิดภายหลังเป็น ปัจจัยช่วยอุปการะแก่รูปธรรมที่เกิดก่อน
ตัวอย่างในบทนี้เช่น จักขุวิญญาณ และเจตสิก ๗ ดวง อันเป็นนามที่เกิด ภายหลังนี่แหละ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ จักขุปสาทรูป(จักขวายตนะ) ที่เกิดก่อน ให้ตั้งอยู่ได้ด้วยดีตลอดไป
๓. กัมมปัจจัย กล่าวถึง
ก. เจตนาที่เกิดร่วมพร้อมกัน เป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่นามรูปที่เกิดพร้อมกับเจตนานั้น ซึ่งเรียกว่า สหชาตกัมมปัจจัยอย่างหนึ่ง กล่าว โดยหน้าที่การงานเรียกสังวิธานกิจ
ข. เจตนาที่เกิดต่างขณะกัน (คือดับไปแล้วนั้น) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ นามรูป ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกรรม(คือเจตนาที่ดับไปแล้ว)นั้น ซึ่งเรียกว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย อีกอย่างหนึ่ง กล่าวโดยหน้าที่การงานเรียกพีชนิธานกิจ
ทั้ง ๒ อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่งกัมมปัจจัย


หน้า ๓๑

๔. ฌานปัจจัย กล่าวถึงองค์ฌาน ๕ (คือ เจตสิก ๕ ดวง อันได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามและรูปที่เกิดพร้อมกับตน
ตัวอย่างในบทนี้ก็หมายถึง องค์ฌาน ๕ ที่ในปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่ ปฏิสนธิจิต เจตสิก และกัมมชรูป นี่กล่าวถึงในปฏิสนธิกาล ส่วนใน ปวัตติกาลก็หมายถึง องค์ฌาน ๕ ที่ในวิบากจิตเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่วิบากจิต เจตสิกและจิตตชรูป
๕. มัคคปัจจัย กล่าวถึง องค์มัคค ๙ (คือเจตสิก ๙ ดวง อันได้แก่ ปัญญา วิตก สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ วิริยะ สติ เอกัคคตา และทิฐิ) เป็น ปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามและรูปที่เกิดพร้อมกับตน
ตัวอย่างในบทนี้ ก็หมายถึง องค์มัคคที่ในสเหตุกปฏิสนธิจิต ๑๗ ที่ใน ปฏิสนธิกาล เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่สเหตุกปฏิสนธิจิต ๑๗ เจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป
ส่วนในปวัตติกาล องค์มัคคที่ในสเหตุกวิบากจิต ๑๗ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ แก่สเหตุกวิบากจิต ๑๗ เจตสิกที่ประกอบ และจิตตชรูป


องค์ที่ ๕ สฬายตนะ

สฬายตนะ เป็นปัจจัยแก่ ผัสสะ  

คือ ผัสสะ จะปรากฏขึ้นได้ก็เพราะมี สฬายตนะเป็นปัจจัย ลักขณาทิจตุกะ
ของสฬายตนะ มีดังนี้

อายตน ลกฺขณํ มีการกระทบ หรือมีการทำให้วัฏฏสงสาร ยืนยาวไม่มีที่สิ้นสุด เป็นลักษณะ
ทสฺสน รสํ มีการยึดอารมณ์ของตน ๆ เป็นกิจ
(วา) ทสฺสนาทิ รสํ (หรือ) มีการเห็นเป็นต้น เป็นกิจ
วตฺถุตฺตรภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความเป็นวัตถุเป็นทวารของวิญญาณธาตุ ๗ ตามควรแก่อารมณ์ เป็นผล
นามรูป ปทฏฺฐานํ มีเจตสิกและกัมมชรูป เป็นเหตุใกล้

ในบทก่อน อัชฌัตติกายตนะ ๖ คือ อายตนะภายใน ๖ ที่เป็นปัจจยุบบันน ธรรมของนามรูปนั้น ได้แก่ จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ และมนายตนะ


หน้า ๓๒

ในบทนี้ สฬายตนะที่เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ก็ได้แก่ อัชฌัตติกายตนะ ๖ ที่กล่าวแล้วนี่เอง
ผัสสะ ที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของสฬายตนะ ก็คือ ผัสสะ ๖ อันได้แก่
๑. จักขุสัมผัสสะ จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี จักขวายตนะ เป็นปัจจัย
๒. โสตสัมผัสสะ จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี โสตายตนะ เป็นปัจจัย
๓. ฆานสัมผัสสะ จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี ฆานายตนะ เป็นปัจจัย
๔. ชิวหาสัมผัสสะ จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี ชิวหายตนะ เป็นปัจจัย
๕. กายสัมผัสสะ จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี กายายตนะ เป็นปัจจัย
๖. มโนสัมผัสสะ จะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะมี มนายตนะ เป็นปัจจัย
ผัสสะทั้ง ๖ ในที่นี้ ได้แก่ ผัสสเจตสิกที่ในโลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ เท่านั้น แต่หมายเลข ๑ ถึง ๕ เป็นผัสสะ
ในทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ตามลำดับ ส่วนหมายเลข ๖ มโนสัมผัสสะ ได้แก่ ผัสสะในโลกียวิปากวิญญาณ ๒๒ ที่เหลือ
ธรรมชาติที่กระทบอารมณ์นั่นแหละ คือ ผัสสะ แต่ไม่ได้หมายความเพียงว่า ของสองสิ่งกระทบกันเท่านั้น หากหมายถึงว่า ต้องมีธรรม ๓ ประการมาประชุม ร่วมพร้อมกันจึงจะเรียกว่าผัสสะ ธรรม ๓ ประการคือ อารมณ์ ๑
วัตถุ ๑
ธรรม ๒ ประการนี้กระทบกันและทำให้เกิด วิญญาณ อีก ๑ ด้วย ไม่ใช่ว่ากระทบกันเฉย ๆ ดังมีบาลีใน
นิทานวัคคสังยุตตพระบาลี ว่า

จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จอุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส
โสตญฺจ ปฏิจฺจ สทฺเท จอุปฺปชฺชติ โสตวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส
ฆานญฺจ ปฏิจฺจ คนฺเธ จอุปฺปชฺชติ ฆานวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส
ชิวฺหญฺจ ปฏิจฺจ รเส จอุปฺปชฺชติ ชิวฺหาวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส
กายญฺจ ปฏิจฺจ โผฏฺฐพฺเพ จอุปฺปชฺชติ กายวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส
มนญฺจ ปฏิจฺจ ธมฺเม จอุปฺปชฺชติ มโนวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส

ซึ่งแปลความว่า
จักขุวิญญาณย่อมปรากฏขึ้นได้เพราะอาศัย จักขุปสาท กระทบกับรูปารมณ์ การประชุมร่วมพร้อมกันระหว่าง จักขุปสาท รูปารมณ์ และ จักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
โสตวิญญาณย่อมปรากฏขึ้นได้เพราะอาศัย โสตปสาท กระทบกับสัททารมณ์ การประชุมร่วมพร้อมกันระหว่าง โสตปสาท สัททารมณ์ และ โสตวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
ฆานวิญญาณย่อมปรากฏขึ้นได้เพราะอาศัย ฆานปสาท กระทบกับคันธารมณ์ การประชุมร่วมพร้อมกันระหว่าง ฆานปสาท คันธารมณ์ และ ฆานวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
ชิวหาวิญญาณย่อมปรากฏขึ้นได้เพราะอาศัย ชิวหาปสาท กระทบกับรสารมณ์ การประชุมร่วมพร้อมกันระหว่าง ชิวหาปสาท รสารมณ์ และ ชิวหาวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
กายวิญญาณย่อมปรากฏขึ้นได้เพราะอาศัย กายปสาท กระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ การประชุมร่วมพร้อมกันระหว่าง กายปสาท โผฏฐัพพารมณ์ และ กายวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
มโนวิญญาณย่อมปรากฏขึ้นได้เพราะอาศัยภวังคจิตกระทบกับธัมมารมณ์ การ ประชุมร่วมพร้อมกันระหว่าง ภวังคจิต ธัมมารมณ์ และมโนวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้ แหละชื่อว่า ผัสสะ


หน้า ๓๓

สฬายตนะ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะนี้ เมื่อกล่าวโดยภูมิคือ กามภูมิ รูปภูมิ และ อรูปภูมิแล้วได้ดังนี้
ในกามภูมิ ๑๑ มีอัชฌัตติกายตนะได้ครบทั้ง ๖ ผัสสะก็ย่อมเกิดได้ครบทั้ง ๖ เหมือนกัน
ในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑) มีอัชฌัตติกายตนะเพียง ๓ คือ จักขวายตนะ โสตายตนะ และมนายตนะ เท่านี้ จึงได้ผัสสะเพียง ๓ เท่ากันคือ จักขุสัมผัสสะ โสตสัมผัสสะ และมโนสัมผัสสะ
ในรูปภูมิอีก ๑ คือ อสัญญสัตตภูมิ ไม่มีอัชฌัตติกายตนะแม้แต่สักอย่างเดียว ดังนั้น ผัสสะทั้ง ๖ จึงไม่เกิดมีในรูปภูมินี้เลย
ในอรูปภูมิ ๔ มี อัชฌัตติกายตนะ เพียง ๑ คือ มนายตนะ จึงมีผัสสะเพียง ๑ คือ มโนสัมผัสสะ เท่ากัน

 

ปัจจัย ๒๔ เกี่ยวแก่สฬายตนะ

ในบทสฬายตนะเป็นปัจจัยแก่ผัสสะนี้ มีปัจจัย ๒๔ เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
ก. จักขวายตนะ เป็นปัจจัยแก่ จักขุสัมผัสสะ ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๖ ปัจจัย คือ
๑. นิสสยปัจจัย ๒. ปุเรชาตปัจจัย ๓. อินทรียปัจจัย
๔. วิปปยุตตปัจจัย ๕. อัตถิปัจจัย ๖. อวิคตปัจจัย
ข. โสตายตนะ เป็นปัจจัยแก่ โสตสัมผัสสะ
ค. ฆานายตนะ เป็นปัจจัยแก่ ฆานสัมผัสสะ
ง. ชิวหายตนะ เป็นปัจจัยแก่ ชิวหาสัมผัสสะ
จ. กายายตนะ เป็นปัจจัยแก่ กายสัมผัสสะ
ทั้ง ๔ นี้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๖ ปัจจัย เท่ากันและเหมือนกันกับข้อ ก. ทุกประการ
ฉ. มนายตนะ เป็นปัจจัยแก่มโนสัมผัสสะ ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๙ ปัจจัย คือ
๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย ๓. นิสสยปัจจัย
๔. วิปากปัจจัย ๕. อาหารปัจจัย ๖. อินทรียปัจจัย
๗. สัมปยุตตปัจจัย ๘. อัตถิปัจจัย ๙. อวิคตปัจจัย
ในบรรดาปัจจัยเหล่านี้ ล้วนแต่ได้อธิบายความหมายแล้วในบทก่อน ๆ ทั้งนั้น จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำในบทนี้อีก


หน้า ๓๔

องค์ที่ ๖ ผัสสะ

ผัสสะ เป็นปัจจัยแก่ เวทนา  

คือ เวทนาจะปรากฏขึ้นได้ก็เพราะมีผัสสะเป็น ปัจจัย ผัสสะมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

ผุสนลกฺขโณ มีการกระทบอารมณ์ เป็นลักษณะ
สงฺฆฏฺฏนรโส มีการประสานจิตกับอารมณ์ เป็นกิจ
สงฺคติปจฺจุปฏฺฐาโน มีการประชุมร่วมพร้อมกันระหว่างวัตถุ อารมณ์และ วิญญาณ เป็นผล
สฬายตนปทฏฺฐาโน มีอัชฌัตติกายตนะ ๖ เป็นเหตุใกล้

ในบทก่อน ผัสสะ ที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของสฬายตนะนั้น ได้แก่ ผัสสะ ๖ มีจักขุสัมผัสสะ เป็นต้น มีมโนสัมผัสสะ เป็นที่สุด
ในบทนี้ ผัสสะ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ก็ได้แก่ ผัสสะ ๖ นั่นเอง
เวทนาที่ เป็นปัจจยุบันนธรรมของผัสสะ ก็ได้แก่ เวทนา ๖ คือ
๑. เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ จักขุสัมผัสสะ เป็นปัจจัยได้ชื่อว่า จักขุสัมผัสสชาเวทนา
๒. เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ โสตสัมผัสสะ เป็นปัจจัยได้ชื่อว่า โสตสัมผัสสชาเวทนา
๓. เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ ฆานสัมผัสสะ เป็นปัจจัยได้ชื่อว่า ฆานสัมผัสสชาเวทนา
๔. เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ ชิวหาสัมผัสสะ เป็นปัจจัยได้ชื่อว่า ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา
๕. เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ กายสัมผัสสะ เป็นปัจจัยได้ชื่อว่า กายสัมผัสสชาเวทนา
๖. เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ มโนสัมผัสสะ เป็นปัจจัยได้ชื่อว่า มโนสัมผัสสชาเวทนา
ธรรมชาติใดที่เสวยอารมณ์ ธรรมชาตินั่นแหละชื่อว่า เวทนา คือความรู้สึกใน อารมณ์นั้น
ความรู้สึกในอารมณ์ หรือการเสวยอารมณ์ที่ชื่อว่า เวทนานี้ กล่าวโดยลักษณะ แห่งการเสวยอารมณ์ ก็มี ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา
กล่าวโดยประเภทแห่งอินทรีย์ คือโดยความเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ ก็มี ๕ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา


หน้า ๓๕

กล่าวโดยอาศัยทวาร คือ อาศัยทางที่ให้เกิดเวทนาตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท ที่กำลังกล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ ก็มี ๖ คือ เวทนาที่เกิดทางจักขุ ทางโสตะ ทางฆานะ ทางชิวหา ทางกาย และทางใจ
เวทนาที่เกิดทางจักขุที่เรียกว่า จักขุสัมผัสสชาเวทนา เกิดทางโสตที่เรียกว่า โสตสัมผัสสชาเวทนา เกิดทางฆานะ
ที่เรียกว่า ฆานสัมผัสสชาเวทนา และเกิดทาง ชิวหาที่เรียกว่า ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา รวม ๔ ทางนี้เป็นอุเบกขาเวทนาแต่อย่างเดียว
เวทนาที่เกิดทางกายที่เรียกว่า กายสัมผัสสชาเวทนานั้น เป็นสุขเวทนา หรือ ทุกขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่างนี้เท่านั้น คือถ้ากายได้สัมผัสถูกต้องกับ อิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดี ก็เป็นสุขเวทนา แต่เมื่อกายได้สัมผัส
ถูกต้องกับ อนิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นทุกขเวทนา
ส่วนเวทนาที่เกิดทางใจที่เรียกว่า มโนสัมผัสสชาเวทนานั้น เมื่อได้เสวย อารมณ์ที่ดีที่เรียกว่า อิฏฐารมณ์ ก็มีความชื่นชมยินดีทางใจ เป็นโสมนัสเวทนา แต่ถ้าได้เสวยอารมณ์ที่ไม่ดีที่เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ทางธรรมถือว่ามีความอาพาธ ทางใจ จึงได้ชื่อว่า เป็นโทมนัสเวทนา หากว่าได้เสวยอารมณ์ที่เป็นปานกลางที่เรียกว่า มัชฌัตตารมณ์ ก็มีความเฉย ๆ ไม่ถึงกับเกิดความชื่นชมยินดี จึงได้ชื่อว่า เป็นอุเบกขาเวทนา
เวทนาทั้ง ๖ ที่กล่าวในบทนี้ หมายเฉพาะเวทนาที่ประกอบกับโลกียวิปาก วิญญาณ ๓๒ เท่านั้น โดยถือสืบเนื่องมาจากวิปากวิญญาณ คือจิตที่เป็นปัจจยุบ บันนของสังขาร โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ นี้ ก็มีเวทนาที่เกิดร่วมได้ด้วยเพียง ๔ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา และ อุเบกขาเวทนาเท่านี้ ไม่มีโทมนัส เวทนา ด้วยผัสสะกับเวทนาต่างก็เป็นเจตสิกเหมือนกัน และประกอบกับจิตร่วมกันพร้อม กัน ถึงกระนั้นต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันได้ด้วยอำนาจแห่งสหชาตปัจจัย และ อัญญมัญญปัจจัย ทำนองเดียวกับจิตและเจตสิก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบท นามรูป เป็นปัจจัยแก่สฬายตนะนั้น


ปัจจัย ๒๔ เกี่ยวแก่ผัสสะ

ในบทผัสสะ เป็นปัจจัยแก่เวทนานี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้ว ก็เป็นไปได้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๘ คือ
๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย ๓. นิสสยปัจจัย
๔. วิปากปัจจัย ๕. อาหารปัจจัย ๖. สัมปยุตตปัจจัย
๗. อัตถิปัจจัย ๘. อวิคตปัจจัย


หน้า ๓๖

องค์ที่ ๗ เวทนา

เวทนา เป็นปัจจัยแก่ ตัณหา คือ ตัณหาจะปรากฏเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมี เวทนาเป็นปัจจัย เวทนา มี
ลักขณาทิจตุกะดังนี้

อนุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ เป็นลักษณะ
วิสยรสสมฺโภครสา มีการเสวยรสของอารมณ์ เป็นกิจ
สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีความสุขและทุกข์ เป็นผล
ผสฺสปทฏฺฐานา มีผัสสะ เป็นเหตุใกล้

ในบทก่อน เวทนาที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของผัสสะนั้น ได้แก่ เวทนา ๖ มี จักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น มีมโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่สุด
ในบทนี้ เวทนาที่เป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้เกิดตัณหานี้ ก็ได้แก่ เวทนา ๖ นั้นเอง
ตัณหาที่เกิดขึ้น เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย คือ ตัณหาที่เป็นปัจจยุบบันนธรรม ของเวทนานั้น ได้แก่ โลภเจตสิก ดวงเดียวเท่านั้น และเป็นปัจจัยให้เกิดปัจจยุบบันนธรรมดังนี้
เมื่อมีสุขเวทนาอยู่ ก็มีความติดใจในสุขนั้น และมีความปรารถนามีความ ประสงค์จะให้คงเป็นสุขอยู่อย่างนั้นตลอดไป หรือให้สุขยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ดังนี้จึง ได้ชื่อว่า สุขเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ข้อนี้เห็นได้ง่าย เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อม เกลียดทุกข์ ประสงค์สุขด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อมีทุกขเวทนาอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้ คือมีความปรารถนา มีความ ประสงค์จะให้ทุกข์นั้นหายไปหมดไปสิ้นไป แล้วมีความปรารถนาให้เกิดมีความสุข ต่อไป ดังนี้ จึงได้ชื่อว่า ทุกขเวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
เมื่อมีอุเบกขาเวทนาอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้ ด้วยคิดว่า แม้จะไม่ถึงกับ มีความสุขก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้รับความทุกข์ดังที่เป็นอยู่เช่นนี้ก็ดีอยู่แล้ว จึงปรารถนา จะไม่ให้มีความทุกข์มาเบียดเบียน ประสงค์ให้คงเป็นอุเบกขาอยู่เช่นนี้เรื่อยๆ ตลอด ไป ยิ่งถึงกับมีความสุขด้วยก็ยิ่งดีมาก ดังนี้จึงได้ชื่อว่า อุเบกขาเวทนา เป็นปัจจัยให้ เกิดตัณหา


หน้า ๓๗

ตัณหานี้ มีแสดงไว้เป็นหลายนัย เช่น
๑. กล่าวโดยอารมณ์ ตัณหาก็คือความยินดีติดใจอยากได้ ซึ่งอารมณ์ทั้ง ๖ อันได้แก่
รูปตัณหา ยินดีติดใจอยากได้ รูปารมณ์
สัททตัณหา ยินดีติดใจอยากได้ สัททารมณ์
คันธตัณหา ยินดีติดใจอยากได้ คันธารมณ์
รสตัณหา ยินดีติดใจอยากได้ รสารมณ์
โผฏฐัพพตัณหา ยินดีติดใจอยากได้ โผฏฐัพพารมณ์
ธัมมตัณหา ยินดีติดใจอยากได้ ธัมมารมณ์
๒. กล่าวโดยอาการที่เป็นไป คือเมื่อมีความยินดีติดใจอยากได้ในอารมณ์ ๖ นั้นแล้วก็มีอาการที่เป็นไป ๓ อย่างที่เรียกว่า กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา มีอาการเป็นไปดังนี้
ก. กามตัณหา เป็นความยินดีติดใจในอารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวกับกามคุณอารมณ์ ทั้ง ๕ แต่ไม่ประกอบด้วย สัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ
ข. ภวตัณหา เป็นความยินดีติดใจในอารมณ์ ๖ ที่ประกอบด้วยความเห็น ดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งด้วย คือ
(๑) ติดใจในกามภพ การได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา
(๒) ติดใจในรูปภพ การได้เกิดเป็นรูปพรหม
(๓) ติดใจในอรูปภพ การได้เกิดเป็นอรูปพรหม
(๔) ติดใจในฌานสมาบัติ การได้รูปฌาน อรูปฌาน
(๕) ติดใจในตัวตน คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีตัวตน และตัวตนนี้ไม่สูญหายไป ไหน ถึงจะตายก็ตายแต่ร่างกาย ตัวตนที่เป็นมนุษย์ก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์อีก ตัวตนที่ เป็นสัตว์อย่างใด ก็จะไปเกิดเป็นสัตว์อย่างนั้นอีก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเห็นว่า เที่ยงอันเป็นความเห็นผิดที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ (ข้อ ข. นี้มีมาใน สุตตันตมหาวัคค อรรถกถา)
ค. วิภวตัณหา เป็นความยินดีติดใจในอารมณ์ ๖ ที่ประกอบด้วย อุจเฉททิฏฐิ คือ ติดใจในความเห็นที่ว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีตัวมีตนอยู่ แต่ว่าตัวตนนั้นไม่ สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ตลอดไป ย่อมต้องสูญต้องสิ้นไปทั้งหมด ตลอดจนการกระทำทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ก็สูญหายไปสิ้นเช่นเดียวกัน แม้ผู้ที่มีความเห็นว่า พระนิพพานมีตัวมีตน แล้วปรารถนาพระนิพพานเช่นนั้น ความปรารถนาเช่นนี้ก็ได้ชื่อว่า วิภวตัณหา
รวมความในข้อ ๒ นี้ได้ว่า อาการที่เป็นไปในตัณหา ๓ ก็ได้แก่ พวกหนึ่ง มีอุจเฉททิฏฐิเห็นว่าสูญ พวกหนึ่งมี
สัสสตทิฏฐิเห็นว่าเที่ยง ส่วนอีกพวกหนึ่งติดใจ อยากได้โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าเป็นสิ่งที่สูญหรือเที่ยงแต่อย่างใด ๆ เลย


หน้า ๓๘

๓. กล่าวโดยพิสดาร เป็นการกล่าวอย่างกว้างขวางนั้น ตัณหานี้มีถึง ๑๐๘ คือ อารมณ์ของตัณหามี ๖ และอาการที่เป็นไปของตัณหามี ๓ จึงเป็นตัณหา (๖x๓) ๑๘ ตัณหา ๑๘ นี้มีทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ภายใน ๑๘ ภายนอก ๑๘ ก็เป็น ๓๖ ตัณหา ๓๖ นี้มีได้ทั้ง ๓ กาล คือในอดีตกาล ๓๖ มีในปัจจุบันกาล ๓๖ และจะมีในอนาคตกาลอีก ๓๖ จึงเป็นตัณหา ๑๐๘ ด้วยกัน
เวทนา เป็นปัจจัยแก่ ตัณหานี้ เป็นได้เฉพาะแก่ผู้ที่มีกิเลสอยู่เท่านั้น ส่วนผู้ที่ สิ้นอาสวะกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วนั้น เวทนาก็หาเป็นปัจจัยแก่ตัณหาไม่
อนึ่ง ในมัชฌิมปัณณาสก์อรรถกถาแสดง ความยินดีติดใจในการเจริญสมถะ และวิปัสสนา ก็เรียกว่า ธัมมตัณหาได้เหมือนกัน ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ว่า ธมฺมราเคน ธมฺมนนฺทิยาติ ปททฺวเยหิ สมถวิปสฺสนาสุ ฉนฺทราโค วุตฺโต ซึ่งแปลความว่า พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวถึงความยินดีติดใจในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยบท ๒
บทว่า ธัมมราคะ ธัมมนันทิ ซึ่ง หมายความว่า ฉันทะ ราคะ ที่เกิดขึ้นในสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา ชื่อว่า ธัมมตัณหา


ปัจจัย ๒๔ เกี่ยวแก่ เวทนา

ในบท เวทนา เป็นปัจจัยแก่ตัณหานี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้ว ก็เป็นไป ได้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยปัจจัยเดียวเท่านั้น ปัจจัยนั้น คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย


องค์ที่ ๘ ตัณหา

ตัณหา เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน คือ อุปาทานจะปรากฏเกิดขึ้นได้ก็เพราะมี ตัณหาเป็นปัจจัย ตัณหามี
ลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

เหตุลกฺขณา เป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง เป็นลักษณะ
อภินนฺทนรสา มีความยินดี ติดใจในอารมณ์ ภูมิ ภพ เป็นกิจ
อติตฺตภาวปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่อิ่มในอารมณ์ต่าง ๆ เป็นผล
เวทนาปทฏฺฐานา มีเวทนา เป็นเหตุใกล้

ในบทก่อน ตัณหาที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของเวทนานั้น ได้แก่ ตัณหา ๓ หรือ ๖ หรือ ๑๐๘


หน้า ๓๙

ในบทนี้ ตัณหาที่เป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้เกิดอุปาทานนั้น ก็ได้แก่ ตัณหา ๓ หรือ ๖ หรือ ๑๐๘ นั่นเอง
อุปาทาน ที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของตัณหานี้ ได้แก่ อุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน มีอธิบายโดยย่อ ดังต่อไปนี้
๑. กามุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในวัตถุกามทั้ง ๖ มี รูปารมณ์ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก
๒. ทิฏฐุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในการเห็นผิด มีนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓, มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ และ อันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่นอกจาก สีลัพพตทิฏฐิ และสักกายทิฏฐิ
๓. สีลัพพตุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในการปฏิบัติที่ผิด มีการปฏิบัติเยี่ยงโค และเยี่ยงสุนัข เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ สีลัพพตทิฏฐิ
๔. อัตตวาทุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในขันธ์ ๕ ของตน และทั้งของผู้อื่น ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา องค์ธรรมได้แก่ สักกายทิฏฐิ
ในข้อ ๑ กามุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในวัตถุกามทั้ง ๖ นั้น เลยเรียกกันว่า กามุปาทาน ๖ ได้แก่
รูปกามุปาทาน, สัททกามุปาทาน, คันธกามุปาทาน, รสกามุ ปาทาน, โผฏฐัพพกามุปาทาน และธัมมกามุปาทาน
ในข้อ ๒ ทิฏฐุปาทาน ความติดใจยึดมั่นในความเห็นผิดนั้น
ก. นิยตมิจฉาทิฏฐิ หรือบางทีก็เรียกว่า มิจฉัตตนิยตะ นั้นมี ๓ ได้แก่
(๑) อเหตุกทิฏฐิ มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่นั้น ไม่ได้อาศัย เนื่องมาจากเหตุแต่อย่างใด(ไม่เชื่อเหตุ, อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒)
(๒) นัตถิกทิฏฐิ มีความเห็นว่า การที่สัตว์ทั้งหลายกระทำอะไร ๆ ก็ตาม ผลที่จะได้รับนั้นย่อมไม่มี (ไม่เชื่อผล, อุจเฉททิฏฐิ ๗)
(๓) อกริยทิฏฐิ มีความเห็นว่า การที่สัตว์ทั้งหลายกระทำกิจการต่าง ๆ นั้น ไม่สำเร็จเป็นบุญหรือเป็นบาปแต่อย่างใดทั้งสิ้น(ไม่เชื่อทั้งเหตุทั้งผล,สัสสตทิฏฐิ ๔)
ข. มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ซึ่งจำแนกเป็นสาขาใหญ่ได้ ๒ สาขา คือ ปุพพันต กัปปิกทิฏฐิ ๑๘ และ
อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔


หน้า ๔0

ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ไม่เชื่อเหตุในอดีต มี ๑๘ คือ
(๑) สัสสตทิฏฐิ ๔ เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยง (อกริยทิฏฐิ)
(๒) เอกัจจสัสสตเอกัจจอสัสสตทิฏฐิ ๔ เห็นว่าอัตตาและโลกบางอย่าง เที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง
(๓) อันตานันติกทิฏฐิ ๔ เห็นว่าโลกมีที่สุด และไม่มีที่สุด
(๔) อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔ ความเห็นซัดส่ายไม่ตายตัว จะว่าใช่ก็ไม่เชิง จะว่าไม่ใช่ก็ไม่เชิง
(๕) อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒ เห็นว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ ไม่มีเหตุ (อเหตุกทิฏฐิ)
อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ไม่เชื่อผลในอนาคต มี ๔๔ คือ
(๑) สัญญีวาททิฏฐิ ๑๖ เห็นว่าอัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วมีสัญญา
(๒) อสัญญีวาททิฏฐิ ๘ เห็นว่าอัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วไม่มีสัญญา
(๓) เนวสัญญีนาสัญญีวาททิฏฐิ ๘ เห็นว่าอัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วมี สัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่เชิง
(๔) อุทเฉททิฏฐิ ๗ เห็นว่าตายแล้วสูญ (นัตถิกทิฏฐิ)
(๕) ทิฏฐธัมมนิพพานวาททิฏฐิ ๕ เห็นว่าพระนิพพานมีในปัจจุบัน (คือ ๑.ว่ากามคุณ ๕ เป็นพระนิพพาน, ๒.ว่าปฐมฌาน, ๓.ว่าทุติยฌาน, ๔.ว่าตติยฌาน, ๕.ว่าจตุตถฌาน เป็นพระนิพพาน)


หน้า ๔๑

ค. อันตัคคาหิกทิฏฐิ มีความเห็นที่ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมซึ่งตรงกันข้ามกับ กัมมัสสกตาปัญญา ที่รู้เห็นว่าสัตว์มีกรรมเป็นสมบัติของตน อันตัคคาหิกทิฏฐิมี ๑๐ ได้แก่
(๑) นตฺถิ ทินฺนํเห็นว่าการทำบุญไม่ได้รับผลแต่อย่างใด
(๒) นตฺถิ ยิฏฺฐํ เห็นว่าการบูชาต่าง ๆ ไม่ได้รับผลแต่อย่างใด
(๓) นตฺถิ หุตํ เห็นว่าการเชื้อเชิญต้อนรับต่าง ๆ ไม่ได้ผล
(๔) นตฺถิ สุกตทุกฺกตานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก เห็นว่าการทำดีและทำชั่ว ไม่ได้รับผลทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่อย่างใด
(๕) นตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่าโลกนี้ไม่มี (ผู้ที่จะมาเกิด ไม่มี)
(๖) นตฺถิ ปโรโลโก เห็นว่าโลกหน้าไม่มี (ผู้ที่จะไปเกิด ไม่มี)
(๗) นตฺถิ มาตา เห็นว่าการทำดีทำชั่วต่อมารดา ไม่ได้รับผลในภายหน้า (๘) นตฺถิ ปิตา เห็นว่าการทำดีทำชั่วต่อบิดาไม่ได้รับผลในภายหน้า
(๙) นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา เห็นว่าสัตว์นรก เปรต เทวดา พรหมนั้น ไม่มี
(๑๐) นตฺถิ โลเก สมฺณพฺรหฺมณา สมฺมาปฏิปนฺนา เห็นว่า สมณพราหมณ์ ที่ปฏิบัติชอบในโลกนี้ไม่มี
ในข้อ ๓ สีลัพพตุปาทาน ที่ประพฤติปฏิบัติเยี่ยงโคเยี่ยงสุนัขเป็นต้นนั้น ก็ เพราะมีความเห็นผิดโดยสำคัญไปว่า การที่เราเป็นลูกหนี้ ไม่มีเงินและไม่สามารถ ที่จะหาเงินไปใช้หนี้ได้ แต่ถ้ายอมมอบตัวเราให้เจ้าหนี้ใช้การงานแทน ก็ย่อมปลดเปลื้องหนี้สินได้ ข้อนี้ฉันใด การที่เราได้กระทำบาปกรรมไว้มากมาย ถ้ายอมตัว กระทำการให้ได้รับความลำบาก เช่นเดียวกับสัตว์ดิรัจฉาน ก็คงจะเปลื้องปลดบาป กรรมได้ฉันนั้น มีความเห็นผิดเช่นนี้ จึงทำตนให้ได้รับความลำบากเยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข ใช้หนี้เสียแต่ในชาตินี้ ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
ในข้อ ๔ อัตตวาทุปาทาน ติดใจยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน ก็คือยึดมั่นใน สักกายทิฏฐินั่นเอง ซึ่งจำแนกรายละเอียดไปตามขันธ์ ๕ จึงเป็นสักกายทิฏฐิ ๒๐ ดังต่อไปนี้
(๑) รูปขันธ์ เห็นว่า รูปเป็นตน ตนเป็นรูป รูปอยู่ในตน ตนอยู่ในรูป
(๒) เวทนาขันธ์ เห็นว่า เวทนาเป็นตน ตนเป็นเวทนา เวทนามีอยู่ในตน ตนมีอยู่ในเวทนา
(๓) สัญญาขันธ์ เห็นว่า สัญญาเป็นตน ตนเป็นสัญญา สัญญามีอยู่ในตน ตนมีอยู่ในสัญญา
(๔) สังขารขันธ์ เห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นตน ตนเป็นสังขาร สังขารทั้ง หลายมีอยู่ในตน ตนมีอยู่ในสังขาร
(๕) วิญญาณขันธ์ เห็นว่าวิญญาณเป็นตน ตนเป็นวิญญาณ วิญญาณมีอยู่ใน ตน ตนมีอยู่ในวิญญาณ
บุคคลทั่วไป ยกเว้นพระอริยเจ้าแล้ว ย่อมมีสักกายทิฏฐิด้วยกันทั้งนั้น จึงว่า สักกายทิฏฐินี้เป็นทิฏฐิสามัญ มีแก่บุคคลทั่วไปทั่วหน้ากัน และก็สักกายทิฏฐินี่ แหละที่ เป็นพืชพันธ์ของมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย


หน้า ๔๒

ความแตกต่างกันระหว่างตัณหากับอุปาทาน

ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ว่า เอตฺถ จ ทุพฺพลตณฺหา นาม พลวติ อุปาทานานํ แปลความว่า ในที่นี้ตัณหาที่มีกำลังน้อยเรียกว่า ตัณหา ตัณหาที่มีกำลังมาก เรียกว่า อุปาทาน
อีกนัยหนึ่งว่า ปริเยสนทุกฺขมูลํ ตณฺหา อารกฺขมูลํ อุปาทานํ อยเมเตสํ วิเสโส

แปลความว่า ตัณหามีทุกข์ในการแสวงหาเป็นมูล อุปาทานมีทุกข์ในการ ระวังรักษาเป็นมูล
ตัณหา คือ ความพอใจในอารมณ์ที่ตนได้พบครั้งแรก อุปาทาน คือความติดใจ ในอารมณ์ที่ตนได้พบนั้นไม่หาย ครุ่นคิดอยู่เสมอ
ตัณหา คือ ความอยากได้ในอารมณ์ที่ตนยังไม่ได้ อุปาทาน คือ ความยึดมั่น ในอารมณ์ที่ตนได้มาแล้ว โดยไม่ยอมปล่อยวาง
จึงได้มีข้ออุปมาไว้ว่า ตัณหา เหมือนต้นไม้ที่ยังเล็ก ๆ อยู่ ถอนทิ้งได้ง่าย อุปาทาน เหมือนต้นไม้ที่ใหญ่โตแล้ว ย่อมยากแก่การถอน เพราะรากแก้วยึดมั่นเสียแล้ว
อัปปิจฉตาคุณ คือ มีความปรารถนาน้อย ที่เรียกกันว่า ไม่มีความอยากใหญ่ เป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหา ทำให้ตัณหามีกำลังลดน้อยถอยลง
สันตุฏฐิคุณ คือ ความมีสันโดษ ก็เป็นปฏิปักษ์แก่อุปาทาน สันโดษ หรือ สันตุฏฐี ได้แก่ มีความพอใจเท่าที่ตนมีอยู่ พอใจแสวงหาตามควรแก่กำลัง และ พอใจแสวงหาโดยสุจริต เพียงแต่มีสันโดษเท่านี้ ก็เป็นคุณแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก


ปัจจัย ๒๔ เกี่ยวแก่ตัณหา

ในบท ตัณหา เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้ว ก็เป็น ไปได้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยดังต่อไปนี้
ก. ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ กามุปาทาน ด้วยอำนาจแห่งอุปนิสสยปัจจัย ปัจจัย เดียวเท่านั้น
ข. ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน นั้น ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๗ ปัจจัย คือ
๑. เหตุปัจจัย ๒. สหชาตปัจจัย ๓. อัญญมัญญปัจจัย
๔. นิสสยปัจจัย ๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. อัตถิปัจจัย
๗. อวิคตปัจจัย


องค์ที่ ๙ อุปาทาน

อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ

คือภพจะปรากฏเกิดมีขึ้นได้ก็เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย อุปาทาน มี
ลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

คหณลกฺขณํ มีการยึดไว้ เป็นลักษณะ
อมุญฺจนรสํ มีการไม่ปล่อย เป็นกิจ
ตณฺหาทพฺหตฺตทิฏฺฐิปจฺจุปฏฺฐานํ มีตัณหาที่มีกำลังอย่างมั่นคง และมีความเห็นผิด เป็นผล
ตณฺหาปทฏฺฐานํ มีตัณหา เป็นเหตุใกล้


หน้า ๔๓

ในบทก่อนอุปาทานที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของตัณหานั้น ได้แก่ อุปาทาน ๔
ในบทนี้ อุปาทานที่เป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้เกิดภพ ก็ได้แก่ อุปาทาน ๔ นั้นเหมือนกัน
ภพ อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของอุปาทานนี้ ได้แก่ ภพ ๒ คือ กัมมภพ และอุปปัตติภพ
กัมมภพ การปรุงแต่งที่ทำให้เกิดปัจจยุบบันนธรรมขึ้นนั้น ได้แก่ กรรม ๒๙ หรือ เจตนา ๒๙ คือ อกุสลเจตนา ๑๒ และโลกียกุสลเจตนา ๑๗ กล่าวอย่าง ธรรมดาสามัญ กัมมภพ ก็คือการทำบาปและการบำเพ็ญบุญนั่นเอง
อุปปัตติภพ หมายถึง ปัจจยุบบันนธรรมที่เกิดปรากฏขึ้นในภพนั้น ๆ โดย อาศัยกัมมภพเป็นปัจจัย ดังนั้น
อุปปัตติภพ ได้แก่ โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ เจตสิก ๓๕ กัมมชรูป ๑๘ หรือ ๒๐ กล่าวอย่างธรรมดาสามัญ ก็คือ เมื่อได้ทำกรรม (กัมมภพ) แล้วก็มาได้รับผล (อุปปัตติภพ) โดยเกิดเป็นสัตว์ใน ๓๑ ภูมิ ตามควร แก่กรรม พร้อมทั้งมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัสถูกต้อง และการนึกคิด ตามควรแก่อัตภาพของตนในภพทั้ง ๒ คือ กัมมภพ และอุปปัตติภพนี้ ก็ยังเป็นเหตุผลแก่กันและกันได้ อีกด้วย คือกล่าวโดย กัมมภพเป็นเหตุ อุปปัตติภพเป็นผล ก็มีความหมายว่า เพราะได้ กระทำกรรมดีและกรรมชั่ว คือ มีกัมมภพมาก่อน จึงปรากฏผลได้เกิดมามีขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๔ หรือขันธ์ ๑ ตามควรแก่กรรมนั้น ๆ การได้เกิดมามีขันธ์นี่แหละ คือ อุปปัตติภพ
กล่าวโดย อุปปัตติภพเป็นเหตุ กัมมภพเป็นผล ก็มีความหมายว่า เมื่อได้ เกิดมามีขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๔ คือมีอุปปัตติภพเป็นเหตุ จึงปรากฏผลให้มีกัมมภพ คือ การกระทำกรรมดีกรรมชั่วทั้งหลายทั้งทางกาย วาจา ใจ ถ้าไม่มีอุปปัตติภพแล้ว กัมมภพก็ไม่ปรากฏ
อนึ่ง สังขารที่เป็นปัจจยุบบันธรรมของอวิชชา กับกัมมภพที่เป็นปัจจยุบ บันนธรรมของอุปาทานนี้ กล่าวโดยองค์ธรรมแล้ว ก็ได้แก่ เจตนา ๒๙ เหมือนกัน ถึงกระนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่ คือ
เมื่อกล่าวโดย ตโยอัทธา คือ กาล ๓ แล้ว เจตนา ๒๙ ที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ซึ่งเป็นปัจจัยให้อุปาทานขันธ์
ปรากฏเกิดขึ้นในปัจจุบันภพนี้นั้น ชื่อว่า สังขาร
เจตนา ๒๙ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันภพนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยให้อุปาทานขันธ์ปรากฏ เกิดขึ้นในอนาคตภพนั้น ชื่อว่ากัมมภพ
บุพพเจตนา ที่เกิดขึ้นก่อนการกระทำ กุสล อกุสล นั้น ชื่อว่า สังขาร
มุญจเจตนา ที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังกระทำกุสล อกุสลอยู่นั้น ชื่อว่า กัมมภพ


หน้า ๔๔

ปัจจัย ๒๔ ที่เกี่ยวแก่อุปาทาน

ในบท อุปาทาน เป็นปัจจัยแก่ภพนี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้วก็เป็นไปได้ ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ
ก. กามุปาทาน เป็นปัจจัยแก่ภพ ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๗ ปัจจัย คือ
๑. เหตุปัจจัย ๒. สหชาตปัจจัย ๓. อัญญมัญญปัจจัย
๔. นิสสยปัจจัย ๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. อัตถิปัจจัย
๗. อวิคตปัจจัย
ข. ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน เป็นปัจจัยแก่ภพ ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๗ ปัจจัยตาม
สมควร คือ
๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย ๓. นิสสยปัจจัย
๔. มัคคปัจจัย ๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. อัตถิปัจจัย
๗. อวิคตปัจจัย


องค์ที่ ๑๐ ภพ

ภพ เป็นปัจจัยแก่ ชาติ

คือ ชาติจะปรากฏเกิดมีขึ้นมาได้ เพราะมีภพเป็นปัจจัยภพมีลักขณาทิจตุกะดังนี้ 


ลักขณาทิจตุกะของกัมมภพ

กมฺมลกฺขโณ มีความเป็นกรรม เป็นลักษณะ
ภาวนรโส มีการทำให้เกิด เป็นกิจ
กุสลากุสลปจฺจุปฏฺฐาโน มีความเป็นกุสล อกุสล เป็นอาการปรากฏ
อุปาทานปทฏฺฐาโน มีอุปาทาน เป็นเหตุใกล้


ลักขณาทิจตุกะของอุปปัตติภพ

กมฺมผลลกฺขโณ มีความเป็นผลของกรรม เป็นลักษณะ
ภวนรโส มีการเกิดขึ้น เป็นกิจ
อพฺยากตปจฺจุปฏฺฐาโน มีความเป็นอพยากตธรรม เป็นอาการปรากฏ
อุปาทานปทฏฺฐาโน มีอุปาทาน เป็นเหตุใกล้


หน้า ๔๕

ในบทก่อน ภพที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของอุปาทานนั้น ได้แก่ ภพทั้ง ๒ คือ ทั้งกัมมภพและอุปปัตติภพ
ในบทนี้ ภพที่เป็นปัจจัยแก่ชาตินั้น ได้แก่กัมมภพแต่อย่างเดียวเท่านั้น เพราะ กัมมภพเป็นผู้ปรุงแต่งให้ปรากฏ
อุปปัตติภพคือชาติขึ้น อุปปัตติภพคือชาตินั้นเป็นแต่ เพียงผลที่ปรากฏขึ้นโดยอาศัยกัมมภพ ดังที่ได้กล่าวแล้วในบทก่อน
ชาติ อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของภพนั้น ได้แก่ การเกิดขึ้นในภพใหม่ เป็น ครั้งแรกของโลกียวิปากวิญญาณ เจตสิกและกัมมชรูป นี่ก็คืออุปปัตติภพใน ๓๑ ภูมิ โดยมีขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๔ หรือขันธ์ ๑ ดังมีวจนัตถะ ว่า
ชนนํ ชาติ การเกิดขึ้นของขันธ์ ชื่อว่า ชาติ
ชายนฺติ ปาตุภวนฺติ ธมฺมา เอตายาติ ชาติ สังขารธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ เกิดขึ้น โดยอาศัยธรรมชาติใด ธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งการปรากฏขึ้นของสังขาร ธรรมนั้นชื่อว่า ชาติ
กล่าวโดยรูป นาม แล้ว ชาติก็มี ๒ คือ นามชาติ เป็นการเกิดขึ้นของ วิบาก นามขันธ์ ๔ และ รูปชาติ เป็นการเกิดขึ้นของกัมมชรูป
กล่าวโดยกาล ชาติก็มี ๓ คือ
ก. ปฏิสนธิชาติ ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑๙ เจตสิก ๓๕ และกัมมชรูปที่ปรากฏ เกิดขึ้นในปฏิสนธิกาล หมายถึง การเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภพใหม่ของสัตว์ทั้งหลาย ที่ตายจากภพเก่า
ข. สันตติชาติ ได้แก่ การสืบต่อของจิต เจตสิก รูปทั้งหมดในปวัตติกาล หมายถึงว่านามและรูปของสัตว์นั้น ๆ ที่เกิดขึ้นจากปฏิสนธิกาลเป็นต้นมาจนกระทั่ง ตลอดชีวิต
ค. ขณิกชาติ ได้แก่ การเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ๆ ของ จิต เจตสิก รูปทั้งหมดซึ่ง จิตและเจตสิก มี ๓ อนุขณะ รูปมี ๕๑ อนุขณะ
แต่ว่าชาติในบทนี้ หมายเฉพาะปฏิสนธิชาติ ข้อ ก. อย่างเดียวเท่านั้น


หน้า ๔๖

ตามที่กล่าวมานี้ สรุปแล้วได้ความว่า ชาตินั้นคือ อุปปัตติภพ ซึ่งจะปรากฏ เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีกัมมภพ
เป็นปัจจัย ถ้าไม่มีกัมมภพเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแล้ว อุปปัตติภพ คือชาติ ก็จะปรากฏขึ้นไม่ได้
ภพ ซึ่งหมายเฉพาะอุปปัตติภพนั้น จำแนกได้เป็น ๙ ภพ คือ จำแนกโดยภูมิ เป็น ๓ ภพ จำแนกโดยขันธ์
เป็น ๓ ภพและจำแนกโดยสัญญาเป็น ๓ ภพ เหมือน กัน มีรายละเอียดดังนี้
จำแนกโดยภูมิ เป็น ๓ ภพ คือ
๑. กามภพ คือสัตว์ที่เกิดในกามภูมิ มี ๑๑ ภูมิ
๒. รูปภพ คือสัตว์ที่เกิดในรูปภูมิ มี ๑๖ ภูมิ
๓. อรูปภพ คือสัตว์ที่เกิดในอรูปภูมิ มี ๔ ภูมิ
จำแนกโดยขันธ์ เป็น ๓ ภพ คือ
๔. ปัญจโวการภพ คือสัตว์ที่เกิดมาโดยมีขันธ์ครบทั้ง ๕ ขันธ์ ได้แก่ สัตว์ ในกามภูมิ ๑๑ และในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตต)
๕. จตุโวการภพ คือสัตว์ที่เกิดมาโดยมีขันธ์ ๔ ขันธ์ (เว้นรูปขันธ์) ได้แก่ สัตว์ใน อรูปภูมิ ๔ ภูมิ
๖. เอกโวการภพ คือสัตว์ที่เกิดมาโดยมีรูปขันธ์เพียงขันธ์เดียว ได้แก่ สัตว์ใน อสัญญสัตตภูมิ ๑
จำแนกโดยสัญญา เป็น ๓ ภพ คือ
๗. สัญญีภพ คือสัตว์ที่มีนามขันธ์ หมายถึงว่า สัตว์นั้นมีจิตและเจตสิก ได้แก่ สัตว์ในกามภูมิ ๑๑, ในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตต) และในอรูปภูมิ ๓ (เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)
๘. อสัญญีภพ คือ สัตว์ที่ไม่มีนามขันธ์ หมายถึงว่า สัตว์นั้นไม่มีจิต และ เจตสิก ได้แก่สัตว์ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ ภูมิ
๙. เนวสัญญีนาสัญญีภพ คือสัตว์ที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาที่ละเอียด อ่อนเหลือเกิน จนเกือบจะไม่รู้สึกว่ามี หมายถึงว่าเป็นสัตว์ที่จะนับว่าไม่มีนามขันธ์ ก็ไม่ใช่ จะว่ามีนามขันธ์ก็ไม่เชิง ได้แก่ สัตว์ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ๑ ภูมิ


หน้า ๔๗

ปัจจัย ๒๔ เกี่ยวแก่ภพ

ในบท ภพเป็นปัจจัยแก่ชาตินี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้ว ก็เป็นไปได้ด้วย อำนาจแห่งปัจจัย ๒ ปัจจัยเท่านั้น คือ อุปนิสสยปัจจัย กับ กัมมปัจจัย


องค์ที่ ๑๑ ชาติ

ชาติ เป็นปัจจัยแก่ ชรามรณะ

คือ ชรามรณะจะปรากฏเกิดขึ้นได้ก็เพราะ มีชาติเป็นปัจจัย ชาติมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

ตตฺถ ตตฺถ ภเว ปฐมาภินิพฺพตฺติ ลกฺขณา มีการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภพนั้น ๆ เป็นลักษณะ
นิยฺยาตน รสา มีการเป็นไปคล้ายกับว่ามอบขันธ์ ๕ ที่มีขอบเขต
ในภพหนึ่ง ๆ ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นกิจ
อติตฺตภวโต อิธ อุมฺมชฺชน ปจฺจุปฏฺฐานามีการผุดขึ้นในภพนี้จากภพก่อน เป็นอาการปรากฏ
(วา)ทุกฺขวิจิตฺตตฺตา ปจฺจุปฏฺฐานา (หรือ)มีสภาพที่เต็มไปด้วยทุกข์ เป็นผลปรากฏ
อุปจิต นามรูป ปทฏฺฐานา มี รูป นาม ที่เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นเหตุใกล้

ในบทก่อน ชาติที่เป็นปัจจยุบบันนธรรมของภพนั้น ได้แก่ ปฏิสนธิชาติ คือ ปฏิสนธิจิต ๑๙ เจตสิก ๓๕ และกัมมชรูปที่เกิดขึ้นในปฏิสนธิกาล หรือรวมเรียก สั้น ๆ ว่า วิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป
ในบทนี้ ชาติที่เป็นปัจจัยแก่ชรามรณะนั้น ก็ได้แก่ วิบากนามขันธ์ ๔ และ กัมมชรูป เหมือนกันนั่นเอง
ชรา อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของชาตินั้น ได้แก่ความเก่าแก่เสื่อมโทรมของ วิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป หมายความว่า เมื่อวิบากนามขันธ์ ๔ และ กัมมชรูปเหล่านี้ปรากฏเกิดขึ้นเป็นชาติแล้ว ย่อมมีขณะที่ตั้งอยู่ ซึ่งเรียกว่า ฐีติขณะ ฐีติขณะของวิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป นี่แหละที่เรียกว่า ชรา
มรณะ อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของชาตินั้น ได้แก่อาการที่กำลังดับไปของ วิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป หมายความว่า เมื่อวิบากนามขันธ์ ๔ และ กัมมชรูปเหล่านี้ปรากฏเกิดขึ้นเป็นชาติแล้ว ก็ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ฐีติขณะ ต่อจากนั้นย่อมมีขณะที่ดับไป ซึ่งเรียกว่าภังคขณะ ภังคขณะของวิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูปนี่แหละที่เรียกว่ามรณะ
กล่าวอีกนัยหนึ่งตามธรรมดาสามัญก็ว่า นับแต่ที่สัตว์เกิดมาจนกระทั่งถึงตาย เรียกว่า ชรา ขณะที่กำลังตาย เรียกว่า มรณะ


หน้า ๔๘

อายุของมนุษย์ในสมัยพุทธกาล ตามปกติธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ก็ประมาณ ๑๐๐ ปี คือมีความชราอยู่ ๑๐๐ ปี
ใน ๑๐๐ ปีนี้จัดเป็น ๑๐ วัย หรือ ๑๐ ระยะ ระยะละ ๑๐ ปี ดังนี้
๑. มันททสกะ วัยอ่อน นับแต่แรกเกิดถึง ๑๐ ขวบ ยังเป็นทารกอยู่ เพิ่ง สอนนั่ง สอนยืน สอนเดิน สอนพูดเล่นดิน กินฝุ่นไปตามประสาทารก
๒. ขิฑฑาทสกะ วัยสนุก นับแต่อายุ ๑๐ ปี ถึง ๒๐ ปี ชอบสนุกเฮฮา ร่าเริง สนุกที่ไหนไปที่นั่น กำลังกิน
กำลังนอน กินมาก นอนมาก เล่นมาก
๓. วัณณทสกะ วัยงาม นับแต่อายุ ๒๐ ปี ถึง ๓๐ ปี กำลังหนุ่ม กำลังสาว รักสวยรักงาม ยินดีอยู่กับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี เพลิดเพลินอยู่กับ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิดเพลิน ไม่นึกถึงความทุกข์ยากลำบากทั้งปวง
๔. พลทสกะ วัยมีกำลัง นับแต่อายุ ๓๐ ปี ถึง ๔๐ ปี กำลังเข้มแข็งและ ขันแข็งในการงานที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวให้เป็นหลักฐาน คิดถึงการงานมากกว่าความ สนุกสนานเพลิดเพลิน
๕. ปัญญาทสกะ วัยมีปัญญา นับแต่อายุ ๔๐ ปี ถึง ๕๐ ปี มีสติรอบคอบ กำลังมีปัญญาเฉียบแหลม รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักคุณ รู้จักโทษ
๖. หานิทสกะ วัยเสื่อม นับแต่อายุ ๕๐ ปีถึง ๖๐ ปี ทั้งกำลังกายและกำลัง ปัญญาความคิด เริ่มลดน้อยถอยลงเสื่อมลง อ่อนทั้งแรง อ่อนทั้งใจ
๗. ปัพภารมสกะ วัยชรา นับแต่อายุ ๖๐ ปี ถึง ๗๐ ปี ร่วงโรยมากเข้า ตาก็มักจะฝ้าฟางไม่ใคร่เห็น หูก็ชักจะตึงจะหนวกไม่ใคร่ได้ยิน ความจำก็เริ่มจะผิด ๆ พลาด ๆ ไปบ้างแล้ว
๘. วังกทสกะ วัยหลังโกง นับแต่อายุ ๗๐ ปีถึง ๘๐ ปี มีหลังอันค่อมลงมา ไปไหนมาไหนก็ต้องใช้ไม้เท้าช่วยค้ำช่วยจุนไป อย่างที่เรียกว่า "เท้า ๓ ขา ตา ๒ ชั้น ฟันนอกปาก" ทนทรมานแบกสังขารร่างกายด้วยความยากลำบาก
๙. โมมูหทสกะ วัยหลง นับแต่อายุ ๘๐ ปีถึง ๙๐ ปี ความทรงจำเลอะเลือน หลง ๆ ลืม ๆ พูดผิด ๆ พลาด ๆ ลืมหน้าลืมหลัง กินแล้วว่ายังไม่ได้กิน


หน้า ๔๙

๑๐. สยนทสกะ วัยนอน นับแต่อายุ ๙๐ ปีถึง ๑๐๐ ปี ถึงกับลุกไม่ไหวแล้ว รับแขกในที่นอน นอนกินนอนถ่าย นอนรอความตายเท่านั้นเอง
อีกนัยหนึ่ง เปรียบเทียบมนุษย์ว่าเหมือนกับสัตว์ดิรัจฉาน ๔ จำพวก ซึ่งเป็น คติที่น่าคิดอยู่ เปรียบไว้ว่า
ตอนเด็ก อุปมาเหมือน หมู มีแต่กินกับนอน กินมาก นอนมาก
ตอนกลาง อุปมาเหมือน โค ต้องทำงานวันยังค่ำ คร่ำเคร่งในการยังชีพ
ตอนแก่ อุปมาเหมือน สุนัข ต้องเฝ้าบ้าน เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน
ตอนหง่อม อุปมาเหมือน ลิง อันเป็นที่ชวนหัว และยั่วเย้าของลูกหลาน


ปัจจัย ๒๔ เกี่ยวแก่ชาติ

ในบท ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะนี้ เมื่อกล่าวโดยปัจจัย ๒๔ แล้วตาม อภิ ธัมมภาชนิยนัย (ตามนัยแห่งพระอภิธรรม) กล่าวว่า การที่ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรา มรณะนั้นไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๒๔ แต่ประการใด ๆ เลย เพราะชรา ก็ได้แก่ ฐีติขณะของชาติ และมรณะก็ได้แก่ภังคขณะของชาติ เช่นเดียวกัน
ส่วนตาม สุตตันตภาชนิยนัย (ตามนัยแห่งพระสูตร) ชาติเป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่ชรามรณะนั้น ก็ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๒๔ เพียงปัจจัยเดียว คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย


องค์ที่ ๑๒ ชรา มรณะ

ชรา มรณะ ที่เป็นองค์ที่ ๑๒ นี้ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดปัจจยุบบันนธรรมตาม นัยแห่งปฏิจจสมุปปาทนี้ ที่ไม่เป็นปัจจัยเพราะเหตุใดนั้น จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า ตอนนี้จะกล่าวถึงลักขณาทิจตุกะของชรา และมรณะก่อน

 
ชรา มีลักขณาทิจตุกะดังนี้

ขนฺธปริปากลกฺขณา มีความแก่ความเสื่อมของขันธ์ ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันภพ เป็นลักษณะ
มรณูปนยนรสา มีการนำเข้าไปใกล้ความตาย เป็นกิจ
โยพฺพนฺนวินาสปจฺจุปฏฺฐานา มีการทำลายวัยที่ดี เป็นอาการปรากฏ
ปริปจฺจมานรูปปทฏฺฐานา มีรูปที่กำลังแก่ เป็นเหตุใกล้


หน้า ๕0

มรณะ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

จุติลกฺขณํ มีการเคลื่อนย้ายจากภพที่ปรากฏอยู่ เป็นลักษณะ
วิโยครสํ มีการจากสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งปวง บรรดาที่เคยพบเห็นกันในภพนี้ เป็นกิจ
คติวิปฺปลาสปจฺจุปฏฺฐานํ มีการย้ายที่อยู่จากภพเก่า เป็นอาการปรากฏ
ปริภิชฺชมานนามรูปปทฏฺฐานํ มีนามรูปที่กำลังดับ เป็นเหตุใกล้


ในบทก่อน ชรา อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของชาตินั้น ได้แก่ ความเก่าแก่ เสื่อมโทรมของวิบากนามขันธ์ ๔ และ กัมมชรูป
มรณะ อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของชาตินั้น ได้แก่ อาการที่กำลังดับไปของ วิบาก นามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป
ในบทนี้ ชรา มรณะ ก็ได้แก่ ความเก่าแก่เสื่อมโทรมและอาการที่กำลังดับไป ของวิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป เหมือนกับบทก่อนนั่นเอง
ชรา มรณะ อันเป็นปัจจยุบบันนธรรมของชาตินี้ เมื่อมีชาติคือความเกิดขึ้น แล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องชรา และมรณะเป็นที่สุด แต่ถ้าชาติ คือการเกิดขึ้น ไม่ปรากฏขึ้นแล้ว ชรา มรณะ ก็จะปรากฏไม่ได้
ชรา นับว่ามี ๒ คือ รูปชรา และนามชรา
รูปชรา หมายถึง ความชราของรูปที่เกิดขึ้นตามวัย โดยมีอาการปรากฏให้เห็น ด้วยนัยน์ตา เช่น ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว หลังโกง เป็นต้น อย่างนี้ชื่อว่า วโย วุทธิชรา ซึ่งเป็นบัญญัติ เป็นความชราที่ปรากฏชัด (ปากฏชรา) เป็นความชรา ที่เปิดเผย คือไม่ปกปิด (อัปปฏิจฉันนชรา)
อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า ปรมัตถชรา หรือ ขณิกชรา ซึ่งได้แก่ ฐีติขณะของรูป เป็นความชราที่ปกปิด ไม่เปิดเผย (ปฏิจฉันนชรา) เป็นความชราที่ไม่ปรากฏ คือ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยนัยน์ตา (อปากฏชรา)
รูปชรานี้ยังจำแนกออกได้เป็น ๒ คือ อภิกฺกมชรา แก่ขึ้น และ ปฏิกฺกมชรา แก่ลง
ผู้ที่อยู่ในวัยที่ ๑ มันททสกวัย วัยอ่อน จนถึงวัยที่ ๔ พลทสกวัย วัยที่มีกำลัง นั้นเรียกว่า อภิกฺกมชรา คือ
กำลังแก่ขึ้น
ส่วนผู้ที่เลยวัยที่ ๔ พลทสกวัยไปแล้วนั้นเรียกว่า ปฏิกฺกมชรา คือกำลังแก่ลง
นามชรา ได้แก่ ฐีติขณะของนามธรรม คือ ปรมัตถชรา หรือ ขณิกชรา หรือ ปฏิจฉันนชรา นั่นเอง เป็นความชราที่มองด้วยนัยน์ตาไม่เห็น


หน้า ๕๑

มรณะ ก็นับว่ามี ๒ คือ รูปมรณะ และนามมรณะ
รูปมรณะ หมายถึง ความดับไปของรูป ที่เรียกว่าภังคขณะ ซึ่งในที่นี้หมายถึง สมมติมรณะ ที่เรียกกันว่า
คนตาย สัตว์ตาย เป็นต้น นั้นด้วย
นามมรณะ ก็คือความดับไปของนามขันธ์ ๔ เรียกว่า ภังคขณะ
สรุปอย่างย่อที่สุดก็ว่า
อุปาทขณะ ของวิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป ชื่อว่า ชาติ
ฐีติขณะ ของวิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป ชื่อว่า ชรา
ภังคขณะ ของวิบากนามขันธ์ ๔ และกัมมชรูป ชื่อว่า มรณะ
อนึ่ง คำว่า มรณะ หรือ ตาย นี้ มีคำที่ใช้ในความหมายนี้หลายคำด้วยกันเป็นต้นว่า
จุติ ตาย
จวนตา การเคลื่อนไป
เภโท การทำลายไป
อันตรธาน การสูญไป
มัจจุ ความตาย
กาลกิริยา การทำกาละ
ขันธานัง เภโท ความแตกแห่งขันธ์
กเลวรัสส นิกเขโป การทอดทิ้งสรีระร่างกาย
ชีวิตินทริยยัสส อุปัจเฉโท การขาดไปซึ่งชีวิตินทรีย


องค์ ๑๒ มี ๑๑ ปัจจัย

ตามที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๑๒ องค์ จะเห็นได้ว่า ปฏิจจสมุปปาทธรรม องค์ที่ ๑ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้เกิด
องค์ที่ ๒ และองค์ที่ ๒ ก็เป็นปัจจัยแก่องค์ที่ ๓ เป็นดังนี้ไปตามลำดับ จนถึงองค์ที่ ๑๑ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้เกิด
องค์ที่ ๑๒ ส่วนองค์ที่ ๑๒ คือ ชรา มรณะ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดองค์ใดองค์หนึ่งใน ๑๒ องค์นี้ ดังนั้น ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๑๒ องค์ จึงเป็นปัจจัยได้เพียง ๑๑ ปัจจัย เท่านั้น


หน้า ๕๒

เมื่อมี มรณะ คือ จุติแล้ว ย่อมมีปฏิสนธิเกิดสืบต่อตามติดมา โดยไม่มี ระหว่างคั่น ถ้ากล่าวตามนัยแห่งปัฏฐาน คือ ตามแนวของปัจจัย ๒๔ แล้ว ก็ด้วย อำนาจแห่งอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย เป็นต้น แต่ตามนัย แห่งปฏิจจสมุปปาทนี้ ไม่ถือว่า มรณะ คือ จุตินี้เป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้เกิด ปฏิสนธิวิญญาณ เพราะปฏิสนธิวิญญาณ
จะปรากฏเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความอุปการะ ช่วยเหลือแห่งสังขาร ๓ คือ เจตนาในการกระทำกุสลกรรมและอกุสลกรรม ถ้าไม่มี สังขาร ๓ เป็นปัจจัยแล้ว ก็จะไม่มีปฏิสนธิวิญญาณเกิดสืบต่อ ต่อไปอีกเลย


โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ไม่นับเป็นองค์

โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ และอุปายาสะ ๕ ประการนี้ ไม่นับเป็น องค์แห่งปฏิจจสมุปปาท เพราะว่าธรรมเหล่านี้เป็นเพียงผลของชาติเท่านั้น ชรา มรณะก็เป็นแต่เพียงผลของชาติเช่นเดียวกัน แต่นับว่าเป็นองค์แห่งปฏิจจสมุปปาท ด้วย ก็ด้วยเหตุว่าเมื่อมีชาติ คือความเกิดปรากฏขึ้นมาแล้ว จะไม่มีความแก่ความ เสื่อมโทรม และความตายติดตามมาด้วยนั้นไม่มีเลย เมื่อมีชาติก็ต้องมีชรามีมรณะ เป็นของแน่นอน แต่ว่าเมื่อมีชาติแล้ว อาจไม่มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ และอุปายาสะเลยก็ได้ เช่น พรหมบุคคล เป็นต้น เพราะธรรม ๕ ประการนี้ย่อม ต้องเกิดพร้อมกับโทสจิต พรหมบุคคลข่มโทสจิตได้ ไม่เกิดโทสจิตเลย ดังนั้นจึง ไม่มีโสกะ ความเศร้าโศก, ปริเทวะ ความบ่นพร่ำรำพัน, ทุกขะ ความทุกข์กาย, โทมนัสสะ ความเสียใจ และ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ แต่อย่างใดเลย


โสกะ

ลักขณาทิจตุกะของโสกะ คือ

อนฺโตนิชฺฌาณลกฺขโณ มีการเผาอยู่ภายใน หรือมีความเดือดร้อนใจ เป็นลักษณะ
เจโตปรินิชฺฌายนรโส ทำให้จิตเต็มไปด้วยความเดือดร้อน เป็นกิจ
อนุโสจนปจฺจุปฏฺฐาโน มีความโศกเศร้าอยู่เนือง ๆ เนื่องจากความพิบัติ ที่ตนประสบอยู่นั้นเป็นอาการปรากฏ
โทสจิตฺตุปฺปาทปทฏฺฐาโน มีโทสจิตตุปปาท เป็นเหตุใกล้


หน้า ๕๓

โสกะ คือความโศกเศร้านี้ องค์ธรรมได้แก่ โทมนัสเวทนาที่ประกอบกับโทสะ อันเกิดจาก พยสนะ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างนี้ คือ
๑. ญาติพยสนะ ความพิบัติไปแห่งญาติ หมายถึงมิตรสหายด้วย
๒. โภคพยสนะ ความพิบัติไปแห่งทรัพย์สมบัติ ตลอดจนยศศักดิ์ด้วย
๓. โรคพยสนะ ถูกโรคภัยเบียดเบียน
๔. สีลพยสนะ ความเสียสีล สีลที่รักษาอยู่นั้นขาดไป
๕. ทิฏฐิพยสนะ ความเห็นที่ถูกต้องนั้นพิบัติไป มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ทำให้สูญเสียสัมมาทิฏฐิไป


ปริเทวะ

ปริเทวะ คือการร่ำไห้พิไรรำพัน องค์ธรรมได้แก่ จิตตชวิปัลลาสสัททะที่เกิด ขึ้นโดย มีการร้องไห้บ่นพร่ำรำพัน เพราะอาศัย พยสนะ ๕ นั้นเป็นเหตุ ลักขณาทิจ ตุกะของปริเทวะ คือ

ลาลปฺปนลกฺขโณ มีการพิลาปรำพัน เป็นลักษณะ
คุณโทสปริกิตฺตนรโส มีการพร่ำถึงคุณและโทษ เป็นกิจ
สมฺภมปจฺจุปฏฺฐาโน มีจิตวุ่นวาย ไม่ตั้งมั่น เป็นอาการปรากฏ
โทสจิตฺตชมหาภูตปทฏฺฐาโน มีมหาภูตรูป ที่เกิดจากโทสจิต เป็นเหตุใกล้


ทุกขะ

ธรรมชาติใดที่ทำลายความสุขกาย ธรรมชาตินั้นชื่อว่า ทุกข สัตว์ทั้งหลายย่อม อดทนได้ยากต่อเวทนาใด เวทนานั้นชื่อว่า ทุกข เวทนาที่อดทนได้ยาก ฉะนั้นจึงชื่อ ว่า ทุกข ได้แก่ กายิกทุกขเวทนา คือ ทุกข์กาย ลักขณาทิจตุกะของทุกข์ คือ

กายปีฬนลกฺขณํ มีการเบียดเบียนร่างกาย เป็นลักษณะ
ทุปฺปญฺญานํโทมนสฺสกรณ รสํ มีการทำให้โกรธ เสียใจ กลุ้มใจ กลัว เกิด ขึ้นแก่ผู้ที่มีปัญญาน้อย เป็นกิจ
กายิกาพาธปจฺจุปฏฺฐานํ มีความป่วยทางกาย เป็นอาการปรากฏ
กายปสาทปทฏฺฐานํ มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้


หน้า ๕๔

ความทุกข์กายนี้ นอกจากเบียดเบียนร่างกายแล้ว ยังสามารถเบียดเบียนจิตใจ อีกด้วย กล่าวคือ เมื่อร่างกายไม่สบายแล้ว ก็ย่อมจะทำให้กลุ้มใจ เสียใจ ไปด้วย ดังนั้นจึงจัดว่าทุกข์กายนี้เป็นทุกข์พิเศษ ซึ่งจำแนกได้เป็น ๗ คือ
๑. ทุกฺขทุกฺข ได้แก่ กายิกทุกขเวทนาและเจตสิกทุกขเวทนาที่เรียกว่า ทุกขทุกข เพราะเมื่อว่าโดยสภาพ ก็มีสภาพเป็นทุกข์ ว่าโดยชื่อ ก็มีชื่อเป็นทุกข์
กายิกทุกขเวทนา ได้แก่ ทุกขสหคตกายวิญญาณ ๑ เจตสิก ๗
เจตสิกทุกขเวทนา ได้แก่ โทมนัสสสหคตจิต ๒ เจตสิก ๒๒
๒. วิปริณามทุกฺข ได้แก่ กายิกสุขเวทนา และเจตสิกสุขเวทนา ที่เรียกว่า วิปริณามทุกข์ เพราะสภาพของสุขทั้ง ๒ นี้ จะต้องวิปริตแปรปรวนไป เมื่อแปร ปรวนไปแล้วก็เป็นเหตุให้ กายิกทุกข์ และเจตสิกทุกข์เกิดขึ้น
กายิกสุขเวทนา ได้แก่ สุขสหคตกายวิญญาณ ๑ เจตสิก ๗
เจตสิกสุขเวทนา ได้แก่ โสมนัสสสหคตจิต ๖๒ เจตสิก ๔๗
๓. สงฺขารทุกฺข ได้แก่ อุเบกขาเวทนา และจิต เจตสิก รูป ที่เว้นจาก ทุกขทุกข์ และวิปริณามทุกข์ ซึ่งกล่าวแล้วในข้อ ๑ และ ๒ นั้น ที่เรียกว่าสังขาร ทุกข์ เพราะถูกเบียดเบียนโดยความเกิดดับอยู่เป็นนิจ
๔. ปฏิจฺฉนฺนทุกฺข หรือ อปากฏทุกฺข ได้แก่ความทุกข์ที่ปกปิด หรือความ ทุกข์ที่ไม่ปรากฏอาการให้ผู้อื่นเห็นได้ เช่น ปวดท้อง ปวดฟัน ปวดหู ปวดศีรษะ หรือความไม่สบายใจ อันเกิดจาก ราคะ โทสะ เป็นต้น ความทุกข์เหล่านี้ผู้อื่นไม่สามารถจะรู้ได้ นอกจากจะสอบถามหรือเจ้าตัวจะบอกเล่าให้ทราบ
๕. อปฺปฏิจฺฉนฺนทุกฺข หรือ ปากฏทุกฺข ได้แก่ความทุกข์ที่ไม่ปกปิด คือ เปิดเผย หรือเป็นความทุกข์ที่
ปรากฏอาการให้ผู้อื่นเห็นได้โดยไม่ต้องสอบถาม ไม่ ต้องให้เจ้าตัวบอกเล่าก็รู้ เช่น ความเจ็บปวดที่เกิดจากบาดแผล ถูกตีถูกฟัน แขนขาด ขาขาด เป็นง่อย เหล่านี้เป็นต้น
๖. ปริยายทุกฺข ได้แก่ วิปริณามทุกข์ และสังขารทุกข์ที่กล่าวแล้วในข้อ ๒ และ ๓ นั่นเอง ที่เรียกว่า ทุกข์โดยปริยายนั้น ก็เพราะทุกข์เหล่านี้ไม่ใช่เป็นตัวทุกข์ โดยตรง แต่เป็นที่เกิดแห่งทุกข์ต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง
๗. นิปฺปริยายทุกฺข ไม่ใช่ทุกข์โดยปริยาย แต่เป็นตัวทุกข์โดยตรงทีเดียว อัน ได้แก่ ทุกขทุกข์ โทมนัสทุกข์ และ อุปายาสะ
อีกนัยหนึ่งจำแนกว่าทุกข์กายนี้มี ๙ โดยนับแยก กายิกทุกข์ และเจตสิกทุกข์ ออกไปว่าเป็น ๒ จึงเป็นทุกข์กาย ๙ ประการ


หน้า ๕๕

ในทุกข์กาย ๗ ประการนี้ ข้อ ๑ ทุกขทุกข์, ข้อ ๒ วิปริณามทุกข์ ข้อ ๓ สังขารทุกข์ และข้อ ๖ ปริยายทุกข์นั้น ถ้าจะกล่าวอย่างสามัญให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ว่า
ทุกขทุกข์ ได้แก่ ธรรมที่เกิดพร้อมกับ ทุกขเวทนา
วิปริณามทุกข์ ได้แก่ ธรรมที่เกิดพร้อมกับ สุขเวทนา
สังขารทุกข์ ได้แก่ ธรรมที่เกิดพร้อมกับ อุเบกขาเวทนา
ปริยายทุกข์ ได้แก่ ธรรมที่เกิดพร้อมกับ สุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา ซึ่งจะต้องวิปริตผันแปรกลับไปเป็นทุกข์อีก

โทมนัสสะ

ทุมนสฺสภาโว โทมนสฺสํ สภาพที่เป็นเหตุให้ใจคอไม่ดี ชื่อว่า โทมนัส ได้แก่ เจตสิกทุกข์ คือ ทุกข์ใจ

 

ลักขณาทิจตุกะของโทมนัส มีดังนี้

จิตฺตปีฬน ลกขณํ มีการเบียดเบียนใจ เป็นลักษณะ
มโนวิฆาตน รสํ มีการทรมานใจ เป็นกิจ
มานสํพฺยาธิ ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความไม่สบายใจ เป็นอาการปรากฏ
หทยวตฺถุ ปทฏฺฐานํ มีหทยวัตถุ เป็นเหตุใกล้

เหตุที่ทำให้เกิดโทมนัสนั้นมีหลายประการ แต่ส่วนมากย่อมเนื่องมาจาก อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ได้ประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ และ ปิเยหิ วิปฺปโยโค พลัดพราก จากสิ่งที่ชอบใจ


อุปายาสะ

ภุโส อายาสนํ อุปายาโส ความลำบากใจเป็นอย่างยิ่ง ชื่อว่า อุปายาสะ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยพยสนะ ๕ นั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ลักขณา ทิจตุกะของอุปายาสะ คือ

จิตฺตปริทหน ลกฺขโณ มีการเผาจิตอย่างหนัก เป็นลักษณะ
นิตฺถุนน รโส มีการทอดถอนใจ เป็นกิจ (หมดอาลัยตายอยาก)
วิสาท ปจฺจุปฏฺฐาโน มีกายและใจขาดกำลังลง เป็นอาการปรากฏ
หทยวตฺถุ ปทฏฺฐาโน มีหทยวัตถุ เป็นเหตุใกล้

อุปายาสะ ความลำบากใจเป็นอย่างยิ่งนี้ บางทีก็ว่า ความคับแค้นใจซึ่งมีความ โศกเศร้าที่เผาหัวใจอย่างท้วมท้นจนแห้งผาก น้ำตาตกในร้องให้ไม่ออก นั่งขรึม ซึมไป ไม่พูดจา เพราะไม่รู้ว่าจะพูดหรือปรับทุกข์อย่างใด จึงจะสมกับความคับแค้น ใจที่ตนได้รับนั้น เป็นเหตุให้ร่างกายซูบซีดผ่ายผอม เป็นอันตรายแก่กายและใจเป็นที่สุด


หน้า ๕๖

ข้ออุปมา โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะ

เพื่อให้เห็นความแตกต่างกันในระหว่าง โสกะ ปริเทวะ และ อุปายาสะ จึงมี ข้ออุปมาว่า
น้ำมันที่อยู่ในกะทะ ซึ่งตั้งอยู่บนเตาไฟที่ร้อนจัดจนน้ำมันเดือด ความเดือด ของน้ำมันนี้ อุปมาดัง โสกะ
เดือดพล่านจนล้นปากกะทะออกมา อุปมาดังปริเทวะ คือความเศร้าโศกนั้น เพิ่มพูลมากขึ้น จนล้นออกมาทางปากถึงกับบ่นพร่ำรำพันไปพลาง ร้องไห้ไปพลาง
น้ำมันที่เดือดพล่านจนล้นปากกะทะออกมานั้น กลับไม่ล้น เพราะงวดแห้งลง ไปจนล้นออกไม่ได้ มีแต่จะแห้งไปจนถึงกับไหม้ไปเลยนั้น อุปมาดัง อุปายาสะ


นัยแห่งการเทศนา

ปฏิจจสมุปปาทธรรม ๑๒ องค์นี้ พระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็น ๔ นัย ดังปรากฏใน สังยุตตนิกาย ว่า
๑. อนุโลมเทศนา หรือ อาทิปริโยสาน อนุโลมเทศนา แสดงแต่เบื้องต้น จนถึงที่สุด คือตั้งแต่ อวิชชา
เป็นลำดับไปจนถึง ชรา มรณะ
๒. มัชฌปริโยสาน อนุโลมเทศนา หรือ มัชฌโตปัฏฐายปริโย สานปวัตต เทศนา แสดงแต่ท่ามกลาง ไปจนถึงที่สุด คือ ตั้งแต่เวทนาตามลำดับไปจนถึงชรา มรณะ
๓. ปฏิโลมเทศนา หรือ ปริโยสานอาทิปฏิโลมเทศนา แสดงแต่เบื้องปลาย สุด ย้อนทวนมาหาต้น คือ ตั้งแต่ชรามรณะทวนกลับมาถึงอวิชชา
๔. มัชฌอาทิปฏิโลมเทศนา หรือ มัชฌโตปัฏฐายอาทิปวัตตเทศนา แสดง แต่ท่ามกลางย้อนทวนมาหาต้น คือ ตั้งแต่ตัณหาทวนกลับมาถึงอวิชชา
ข้อ ๑ อนุโลมเทศนานั้น ส่วนมากแสดงแก่สัตว์ที่มีกำเนิดเป็น ชลาพุชะ และอัณฑชะ (คือ คัพภเสยยกกำเนิด) ซึ่งเป็นสัตว์ที่โดยปกติมีทุกข์มากกว่าสุข เพื่อให้รู้ว่าที่ได้รับผลเช่นนั้นเนื่องมาจากอะไรเป็นสาเหตุ จะได้ไม่หลงโทษว่าพระอินทร์ พระพรหม หรือพระเจ้าเป็นผู้บรรดาลให้เป็นไป จึงแสดงถึงผลก่อน เพื่อให้รู้ ว่าที่ปรากฏผลเช่นนั้นเนื่องมาจากเหตุอะไร เช่น สังขาร ๓ อันเป็นผลปรากฏขึ้นมา ก็เพราะมีอวิชชาเป็นต้นเหตุ ถ้าไม่มีอวิชชาเป็นต้นเหตุแล้ว จะปรากฏผลให้มีสังขาร ๓ ขึ้นมาไม่ได้เลย ในทำนองเดียวกัน วิญญาณอันเป็นผลปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะมี สังขาร ๓ เป็นต้นเหตุ ตามลำดับมาจนที่สุด ชรา มรณะ อันเป็นผลนั้น ก็ปรากฏ ขึ้นมาเพราะมีชาติเป็นต้นเหตุ ถ้าไม่เกิดมีชาติขึ้นมา ก็ไม่มีผลให้มีการแก่และการ ตายข้อนี้แสดงผล


หน้า ๕๗

ข้อ ๒ มัชฌปริโยสานอนุโลมเทสนานั้น ส่วนมากแสดงแก่ สัตว์ที่เป็นโอป ปาติกกำเนิด (มีเทวดาและพรหม เป็นต้น) ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีทุกข์น้อย มีความสุข สบายเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ใคร่เชื่อผล(นัตถิกทิฏฐิ) ไม่เชื่อว่า ตายแล้วจะต้องเกิด ในภายหน้าอีก เป็นผู้ที่มีวิภวตัณหา(อุจเฉททิฏฐิ) ข้อนี้แสดงเพื่อให้แจ้งในอนาคต
ข้อ ๓ ปฏิโลมเทสนานั้น ส่วนมากแสดงแก่สัตว์ที่ยึดมั่นในสัสสตทิฏฐิ ที่ เห็นว่าสัตว์และโลกเที่ยง (ภวตัณหา) เป็นจำพวกที่ไม่เชื่อเหตุ (อเหตุกทิฏฐิ) ข้อนี้ แสดงถึงเหตุก่อน เพื่อให้เห็นธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ตามลำดับ คือมี ชรา มรณะก็เพราะมีชาติ มีชาติก็เพราะได้ทำกัมมภพ มีกัมมภพก็เพราะยึดมั่นในอุปา ทาน ฯลฯ ฯลฯ ข้อนี้แสดงเหตุ
ข้อ ๔ มัชฌอาทิปฏิโลมเทสนานั้น ส่วนมากแสดงแก่สัตว์ที่ยึดมั่นว่า สัตว์ โลกและกรรมต่าง ๆ นั้น เมื่อตายแล้วก็สูญหมด (อุจเฉททิฏฐิ) ซึ่งไม่เชื่อทั้งเหตุ ทั้งผล (อกริยทิฏฐิ) จึงแสดงให้เห็นว่าสัตว์จะดำรงคงอยู่ได้ด้วย อาหาร อาหารต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยตัณหาเป็นเหตุให้เกิด ตัณหาจะปรากฏขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยเวทนา เป็นเหตุ เวทนาก็อาศัยผัสสะเป็นเหตุ ฯลฯ ฯลฯ ข้อนี้แสดงเพื่อให้แจ้งในอดีต

 

ปฏิจจสมุปปาทธรรม นัยที่ ๓ วีสตาการา

มีคาถาที่ ๖ แสดงว่า


๖. อตีเต เหตโว ปญฺจ อิทานิ ผลปญฺจกํ
อิทานิ เหตโว ปญฺจ
อายตํ ผลปญฺจกํ ฯ


แปลความว่า อาการ ๒๐ แห่งปฏิจจสมุปปาท คือ อดีตเหตุ ๕, ปัจจุบันผล ๕, ปัจจุบัน เหตุ ๕ และอนาคตผล ๕ มีความหมายว่า อาการ ๒๐ นั้นได้แก่ สภาพความเป็นไปของปฏิจจสมุปปาท นั่นเอง จึงจำแนกไปตามเหตุตามผลแห่งกาลทั้ง ๓ จึงจัดได้เป็น ๔ พวก ๆ ละ ๕ รวมเป็นอาการ ๒๐ คือ
๑. อดีตเหตุ ๕ ได้แก่ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้ปรากฏ
ปัจจุบันผล ๕
๒. ปัจจุบันผล ๕ ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา


หน้า ๕๘

๓. ปัจจุบันเหตุ ๕ ได้แก่ ตัณหา อุปาทาน ภพ อวิชชา และสังขาร ธรรม ๕ ประการนี้เป็นปัจจัยให้ปรากฏอนาคตผล ๕
๔. อนาคตผล ๕ ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา
อาการที่เป็นไปในกาลเวลาที่ล่วงไปแล้วซึ่งเรียกว่า อดีตเหตุนั้นมี ๕ ประการ ได้แก่ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ(คือกัมมภพ)ที่นับ ตัณหา อุปาทาน ภพ รวมเข้ากับอวิชชา สังขารด้วยนั้น ก็เพราะว่า ธรรม ๕ ประการ นี้เกี่ยวเนื่องกัน ไม่เว้นจากกันไปได้เลย กล่าวคือ เมื่อมีอวิชชา สังขาร เกิดขึ้นแล้ว ที่จะไม่มีตัณหา อุปาทาน กัมมภพ เกิดรวมด้วยนั้นเป็นไม่มี ในทำนองเดียวกัน ตัณหา อุปาทาน กัมมภพ ปรากฏเกิดขึ้นในขณะใด ขณะนั้นย่อมจะต้องมี อวิชชา สังขาร เกิดร่วม ด้วยเสมอไป รวมความว่า เพราะในอดีต มีอวิชชาอยู่ จึงได้กระทำกรรม อันเป็น เหตุให้ได้รับผลในปัจจุบัน
ผลที่ได้รับในปัจจุบันนี้ก็ได้แก่วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนารวม ๕ ประการ ไม่นับ ชาติ ชรา มรณะ รวมเข้าด้วยก็เพราะเหตุว่า ชาติ ชรา มรณะ เป็นแต่เพียงอาการของ วิญญาณ นามรูป เท่านั้นเอง ไม่มีองค์ธรรมโดยเฉพาะ จึงไม่นับรวมเข้าด้วย รวมความว่า เพราะในอดีตกาลได้ก่อเหตุขึ้นไว้ จึงมาได้รับผล เป็นรูปเป็นนามในปัจจุบันนี้
วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อันเป็นผลในปัจจุบันนี้นี่เอง เป็นตัวการที่ก่อให้มี ตัณหา อุปาทาน
กัมมภพ อวิชชา และสังขารขึ้นอีก เพราะว่า ได้ก่อเหตุโดยกระทำกรรมขึ้นอีกดังนี้ จึงเรียกว่า ตัณหา อุปาทาน กัมมภพ
อวิชชา สังขาร รวม ๕ ประการนี้เป็นปัจจุบันเหตุ เมื่อได้ก่อให้เกิดปัจจุบันเหตุเช่นนี้แล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับผลต่อไปในอนาคต ผลที่จะได้รับต่อไปในภายหน้านั้นจึง ได้ชื่อว่า อนาคตผล
เมื่อรู้ผลปัจจุบัน และละเหตุปัจจุบันได้โดยสิ้นเชิงแล้ว ผลในอนาคตก็ไม่มี เมื่อนั้นจึงเรียกว่า สิ้นเหตุสิ้นปัจจัย พ้นจากอาการ ๒๐ แห่งปฏิจจสมุปปาทธรรม นี้ได้


ปฏิจจสมุปปาทธรรม นัยที่ ๔ ติสันธิ

มีคาถาที่ ๗ แสดงว่า

๗. วีสาการา ติสนฺธี จ สงฺเขปา จตุโร สิยุํ
อวิชฺชา ตณฺหุปาทานา เกฺลสวฏฺฏนฺติ เวทิยา ฯ

แปลความว่า อาการ ๒๐, สนธิ ๓, สังเขป ๔ พึงมีด้วยประการฉะนี้ อวิชชา ตัณหา และ อุปาทาน พึงทราบว่าเป็นกิเลสวัฏฏ


หน้า ๕๙

หมายความว่า ในอาการ ๒๐ นั้นได้กล่าวมาแล้ว ส่วนสังเขป ๔ และกิเลส วัฏฏ จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า บัดนี้จะได้กล่าวถึงติสันธิ คือ สนธิ ๓ หรือเงื่อน ๓
สนธิ คือความสัมพันธ์สืบต่อระหว่างเหตุกับผล และระหว่างผลกับเหตุ อีก นัยหนึ่ง สนธิ คือ เงื่อนต่อ เป็นเงื่อนที่เหตุกับผล และผลกับเหตุต่อกันที่ตรงนั้น ซึ่งเป็นเงื่อนต่อของอาการ ๒๐ หรือของกาล ๓ ที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง ความ สัมพันธ์สืบต่อหรือเงื่อนต่อนี้ มี ๓ เงื่อน คือ
๑. สังขาร กับ วิญญาณ เป็นสนธิ ๑ คือ ระหว่างสังขารอันเป็นอดีตเหตุ กับวิญญาณ อันเป็นปัจจุบันผลต่อกัน ซึ่งเรียกว่า เหตุผลสัมพันธ์
๒. เวทนา กับ ตัณหา เป็นสนธิ ๑ คือ ระหว่างเวทนาอันเป็นปัจจุบันผล กับตัณหา อันเป็นปัจจุบันเหตุต่อกัน ซึ่งเรียกว่า ผลเหตุสัมพันธ์
๓. ภพ กับ ชาติ เป็นสนธิ ๑ คือ ระหว่างภพอันเป็นปัจจุบันเหตุ กับชาติ อันเป็นอนาคตผลต่อกัน ซึ่งเรียกว่า เหตุผลสัมพันธ์


ปฏิจจสมุปปาทธรรม นัยที่ ๕ จตุสังเขปา

สังเขป ๔ สังเขป แปลว่าโดยย่อ ย่อเอาเค้าความ ย่อเอาแต่ใจความ เมื่อย่อ เอาแต่เค้าความแห่ง
ปฏิจจสมุปปาททั้ง ๑๒ องค์ ก็ได้เพียง สังเขป ๔ คือ
๑. อดีตเหตุสังเขป มี ๒ คือ อวิชชา และสังขาร
๒. ปัจจุบันผลสังเขป มี ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และ เวทนา
๓. ปัจจุบันเหตุสังเขป มี ๓ คือ ตัณหา อุปาทาน และภพ
๔. อนาคตผลสังเขป มี ๒ คือ ชาติ และ ชรามรณะ


ปฏิจจสมุปปาทธรรม นัยที่ ๖ ตีณิ วัฏฏานิ

มีคาถาที่ ๘ แสดงว่า


๘. กมฺมภโว ตุ สงฺขารา กมฺมวฏฺฏนฺติ ทสฺสิตา
อุปฺปตฺติ ปาวเสสา วิปากวฏฺฏสญฺญิตา
อวิชฺชา ปน ตณฺหา จ เทวฺมูลานีติ ชายเร ฯ


แปลความว่า กัมมภพและสังขาร ท่านแสดงว่า เป็นกัมมวัฏฏ อุปปัตติภพก็ดี ธรรมที่เหลือ อยู่ทั้งหลายก็ดี ย่อมรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นวิปากวัฏฏ ส่วนอวิชชาและตัณหา พึงทราบ ว่าเป็นมูลทั้ง ๒


หน้า ๖0

มีความหมายว่า วัฏฏะ คือ สภาพที่วนเวียน ความวนเวียนในปฏิจจสมุปปาท นี้ จัดได้เป็น ๓ วัฏฏ คือ
๑. กิเลสวัฏฏ คือ วนเวียนในเครื่องเศร้าหมองเร่าร้อน ได้แก่ อวิชชา ตัณหา และ อุปาทาน เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นเหตุให้ทำกรรม
๒. กัมมวัฏฏ คือ วนเวียนในการกระทำตามอำนาจของกิเลส มี ๒ ได้แก่ (กัมม)ภพ และสังขาร อันหมายถึงตัวเจตนา ซึ่งเมื่อได้กระทำกรรมแล้ว ย่อมเป็น เหตุให้เกิดวิบาก คือได้ผลของกรรมที่ได้กระทำนั้น
๓. วิปากวัฏฏ คือ วนเวียนในวิบากที่เป็นผลของกรรม ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา (อุปปัตติ) ภพ ชาติ และชรามรณะ อันเป็นสิ่งที่ ก่อให้เกิดกิเลสต่อไปอีก หมุนวนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด


ปฏิจจสมุปปาทธรรม นัยที่ ๗ เทวมูลานิ

มูล คือ ที่ตั้งหรือต้นเหตุแห่งวัฏฏ ซึ่งทำให้หมุนเวียนอยู่ในวัฏฏทุกข์ อัน ได้แก่ ภพทั้ง ๓ (กามภพ รูปภพ และอรูปภพ) นั้นไม่มีที่สิ้นสุด มูลนี้มี ๒ ได้แก่ อวิชชา และตัณหา
อวิชชา คือ ความไม่รู้ เป็น อดีตมูล เป็นที่ตั้งหรือเป็นเค้ามูลให้เกิดสังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ
ผัสสะ จึงถึงเวทนา
ตัณหา คือ ความทะยานอยาก เป็น ปัจจุบันมูล เป็นที่ตั้ง หรือเป็นเค้ามูล ให้เกิด อุปาทาน กัมมภพ ชาติ จนถึง ชรามรณะ


หน้า ๖๑

ภวจักร

ภวจักร เขียนแบบบาลีเป็น ภวจกฺก แปลว่าหมุนวนไปในภพต่าง ๆ ซึ่งเป็น ความหมายเดียวกับ ปฏิจจสมุปปาท ที่ว่าวนเวียนในสังสารวัฏฏ
ปฏิจจสมุปปาทธรรมนี้ เมื่อกล่าวตามนัยที่เรียกว่า ภวจักร ก็จำแนกได้เป็น ๒ คือ
๑. ปุพฺพนฺตภวจกฺก เป็นภวจักรแรก นับแต่อดีตเหตุ จนถึงปัจจุบันผล ซึ่ง ได้แก่ ปฏิจจสมุปปาท ๗ องค์ คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และ เวทนา ใน ๗ องค์นี้ อวิชชาเป็นต้นเหตุหรือเป็นที่ตั้งนำให้ถึงเวทนา
๒. อปรนฺตภวจกฺก เป็นภวจักรหลัง นับแต่ปัจจุบันเหตุถึงอนาคตผล ซึ่ง ได้แก่ ปฏิจจสมุปปาท ๕ องค์ คือ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และชรามรณะ ใน ๕ องค์นี้ ตัณหา เป็นต้นเหตุ หรือเป็นที่ตั้ง นำให้ถึง ชรามรณะ
บุพพันตภวจักร ที่กล่าวว่าได้แก่ปฏิจจสมุปปาท ๗ องค์นั้น หมายเฉพาะ องค์ที่ปรากฏออกหน้า ซึ่งในขณะที่ ๗
องค์ คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และ เวทนา นี้หมุนวนอยู่นั้น ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ
ชรา มรณะ อีก ๕ องค์ก็หมุนตามไปด้วยเหมือนกัน
อปรันตภวจักร ที่กล่าวว่าได้แก่ปฏิจจสมุปปาท ๕ องค์นั้น ก็ทำนองเดียวกัน คือมุ่งหมายแสดงเฉพาะองค์ ที่ปรากฏออกหน้า ซึ่งในขณะที่ ๕ องค์ คือ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และชรามรณะ นี้หมุนวนอยู่นั้น อวิชชา สังขาร
วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และ เวทนา อีก ๗ องค์นี้ก็หมุนตามไปด้วย
เมื่อพิจารณาองค์ปฏิจจสมุปปาทตามนัยแห่ง บุพพันตภวจักร และ อปรันต ภวจักร ที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็จะเห็นได้ว่า
ก. อวิชชา สังขาร และตัณหา อุปาทาน กัมมภพ ที่เกิดมีปรากฏขึ้นในภพ ก่อนนั้น สงเคราะห์เป็น
บุพพันตภวจักร
ข. ตัณหา อุปาทาน กัมมภพ และ อวิชชา สังขาร ที่เกิดมีปรากฏอยู่ในภพนี้ นั้น สงเคราะห์เป็นอปรันตภวจักร
ค. วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา และ ชาติ ชรามรณะ อัน ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายตั้งแต่เริ่มเกิด จนกระทั่งตายในภพนี้นั้น สงเคราะห์เป็น บุพพันตภวจักร
ง. ชาติ ชรามรณะ และวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ที่จะเกิด ปรากฏขึ้นใหม่ในภพข้างหน้า อันได้แก่ สัตว์ทั้งหลายที่จะเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ต่อไปข้างหน้านั้น สงเคราะห์เป็น อปรันตภวจักร ทั้งนี้ก็มีความหมายว่า เป็นการหมุนวนเกิดขึ้นสืบเนื่องกันระหว่างภพก่อนกับ ภพนี้ และภพนี้กับภพหน้า อันเป็นการหมุนวนอยู่ในวัฏฏสงสาร วัฏฏทุกข์นั่นเอง


หน้า ๖๒

เท่าที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็พอจะทำให้เห็นได้แล้วว่า การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน สังสารวัฏฏ ไม่ใช่เป็นการเกิดขึ้นของสัตว์บุคคลใด แต่เป็นการเกิดขึ้นติดต่อกัน ของขันธ์ ธาตุ อายตนะ อันได้แก่ ปฏิจจสมุปปาทธรรมนั่นเอง ในอัฏฐสาลินี อรรถกถา แสดงไว้ว่า
"การเกิดขึ้นและเป็นไปโดยติดต่อกันอย่างไม่ขาดสายแห่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เหล่านี้แหละ
เรียกว่า สังสาระ"


การสะดุดหยุดลงแห่งวัฏฏะ และ สมุฏฐานของอวิชชา

การหมุนวนแห่ง สังสารวัฏฏะจะสะดุดหยุดลง และความเจริญอยู่ของอวิชชา นั้น มีคาถาที่ ๙ แสดงว่า


๙. เตสเมว จ มูลานํ นิโรเธน นิรุชฺฌติ
ชรามรณมุจฺฉาย ปีฬิตานมภิณฺหโส
อาสวานํ สมุปฺปาทา อวิชฺชา จ ปวตฺตติ ฯ


แปลความว่า วัฏฏะจะหยุดการหมุนวนก็เพราะความดับแห่งมูลทั้ง ๒ นั้น
อนึ่ง อวิชชา จะเจริญอยู่ได้ ก็เพราะความบังเกิดขึ้นแห่ง อาสวะทั้งหลายของ เหล่าสัตว์ ผู้สยบด้วยชรามรณะบีบคั้นอยู่เป็นนิจ
มีอธิบายด้วยการอุปมาว่า ต้นไม้ทั้งหลายที่เจริญงอกงามอยู่ได้ ก็ด้วยอาศัยราก แก้ว ถ้าทำลายรากแก้วเสียแล้ว ต้นไม้นั้นจะเหี่ยวแห้งลง และในที่สุดก็ตายไปอย่าง แน่นอน สัตว์ทั้งหลาย คือ รูปนามนี้ที่เจริญอยู่ในสังสารวัฏฏโดยไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ก็ เพราะอำนาจแห่งอวิชชา และตัณหา ต่อเมื่อใดอวิชชา และตัณหา อันเป็นมูลทั้ง ๒ นี้ถูกทำลายให้สูญไปได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว ความเจริญของรูปนามอันได้แก่ ความเวียน ว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อนั้น
เมื่อกล่าวถึง สมุฏฐานของอวิชชา อวิชชาจะเจริญอยู่ได้ก็เพราะความบังเกิด ขึ้นแห่งอาสวะทั้งหลาย ซึ่งมีความหมายชัดอยู่แล้วว่า สมุฏฐานของอวิชชา ก็คือ อาสวะทั้ง ๔ อันได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ และอวิชชาสวะ นั่นเอง
ก็เมื่อ อาสวะ เป็นปัจจัยให้เกิด อวิชชาแล้ว ธรรมใดเล่าที่เป็นสาเหตุให้เกิด อาสวะ
มีคำแก้ว่า อาสวะนั้นย่อมมีอยู่ใน ตัณหา อุปาทาน กัมมภพ เป็นประจำ ตาม ควรแก่ที่จะมีได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้ ตัณหา อุปาทาน กุสล อกุสล กัมมภพ ที่เกิดขึ้นนั่นแหละ เป็นสาเหตุแห่ง อาสวะ


หน้า ๖๓

การที่อวิชชาเกิดขึ้นหรือปรากฏขึ้น ก็เพราะอาศัยการเกิดขึ้นแห่งอาสวะนั้น เป็นปัจจัยเช่นนี้แล้ว เหตุใดจึงยกเอาอวิชชาขึ้นกล่าวไว้เป็นเหตุแรกในปฏิจจสมุปปาทนี้
ปฏิจจสมุปปาทนี้เป็นตัววัฏฏะติดต่อกันเป็นวงกลม อันว่าวงกลมนั้นจะกล่าว อ้าง ว่าตรงไหนเป็นต้นเป็นปลายไม่ได้ แต่ที่ยกเอาอวิชชาขึ้นกล่าวก่อนธรรมองค์ อื่นนั้น ไม่ใช่อวิชชาเป็นต้นของวัฏฏะ หรือเป็นองค์ที่เกิดก่อน หากเป็นเพราะ อวิชชานี้เป็นตัวประธาน เป็นตัวสำคัญ เป็นรากเง้าเค้ามูลที่ก่อให้เกิดมี วัฏฏะ คือ การหมุนวนเป็นวงกลมขึ้น ถ้าไม่มีอวิชชา อันเป็นตัวสำคัญนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปฏิจจสมุปปาทอีก ๑๑ องค์ ก็จะไม่ปรากฏเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้น จึงได้มีคาถาที่ ๑ซึ่งเป็นคาถาสุดท้ายแห่งปฏิจจสมุปปาทนัยว่า


๐. วฏฺฏมาพนฺธมิจฺเจว เตภูมกมนาทิกํ
ปฏิจฺจสมุปฺปาโทติ ปฏฺฐเปสิ มหามุนิ ฯ


แปลความว่า สมเด็จพระมหามุนี ทรงแสดงว่า วัฏฏะอันหาเบื้องต้นมิได้ ซึ่งเป็นไปในภูมิ ทั้ง ๓ มีอาการเกี่ยวพันกันอย่างไม่ขาดสาย ดังที่บรรยายมาฉะนี้ว่า ปฏิจจสมุปปาท


------------------------------


จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคคติย่อมหวังได้
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปฏิกงฺขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติย่อมหวังได้

รู้อะไรก็ไม่สู้เท่ารู้ตัว ไม่พันพัวอกุสลพ้นอบาย


หน้า ๖๔

 

ปัฏฐานนัย

ปัฏฐานนัย คือ ปัจจัย ๒๔ เป็นนัยที่ ๒ แห่งปัจจยสังคหวิภาค ดังมีคาถาที่ ๑๑ แสดงว่า


๑๑. ทุติเย ปน นยสฺมึ เหตุอารมฺมณาทโย
วิคตาวิคโตสานา จตุวีสติ ปจฺจยา ฯ


แปลความว่า ส่วนในทุติยนัย (ปัฏฐาน นัยที่ ๒) นั้นแสดงปัจจัย ๒๔ มีเหตุมีปัจจัย และ อารัมมณปัจจัย
เป็นต้น มีวิคตปัจจัย และอวิคตปัจจัย เป็นปริโยสาน
หมายความว่า นัยที่ ๒ คือ ปัฏฐาน หรือ มหาปัฏฐาน ได้แก่ ฐานะที่เป็นไป ทั่วไปในปัจจุบันธรรม ตลอดทั้ง ๓๑ ภูมิอันยิ่งใหญ่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและ กันไม่มีที่สิ้นสุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นปัจจัย ๒๔ คือ
๑. เหตุปจฺจโย คือ เหตุปัจจัย หมายถึงว่า เหตุ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและ เจตสิก
๒. อารมฺมณปจฺจโย คือ อารัมมณปัจจัย หมายถึงอารมณ์ ๖ เป็นปัจจัยให้ เกิดจิตและเจตสิก
๓. อธิปติปจฺจโย คือ อธิปติปัจจัย หมายถึงความเป็นอธิบดี เป็นปัจจัยให้ เกิดจิตและเจตสิก
๔. อนนฺตรปจฺจโย คือ อนันตรปัจจัย หมายถึงความเกิดติดต่อกันของจิต โดยไม่มีระหว่างคั่น
๕. สมนนฺตรปจฺจโย คือ สมนันตรปัจจัย หมายถึง ความเกิดติดต่อกันตาม ลำดับแห่งจิตโดยไม่มีระหว่างคั่น
๖. สหชาตปจฺจโย คือ สหชาตปัจจัย หมายถึงความที่เกิดพร้อมกัน เกิดร่วม กัน
๗. อญฺญมญฺญปจฺจโย คือ อัญญมัญญปัจจัย หมายถึงความอุปการะซึ่งกัน และกัน
๘. นิสฺสยปจฺจโย คือ นิสสยปัจจัย หมายถึงความเป็นที่อาศัยให้เกิดขึ้น
๙. อุปนิสฺสยปจฺจโย คือ อุปนิสสยปัจจัย หมายถึง ความเป็นที่อาศัยที่มี กำลังมาก
๑๐. ปุเรชาตปจฺจโย คือ ปุเรชาตปัจจัย หมายถึง ความที่เกิดก่อนนั้นช่วย อุปการะแก่ธรรมที่เกิดทีหลัง
๑๑. ปจฺฉาชาตปจฺจโย ปัจฉาชาตปัจจัย หมายถึง ความที่เกิดที่หลังช่วย อุปการะแก่ธรรมที่เกิดก่อน


หน้า ๖๕

๑๒. อาเสวนปจฺจโย คือ อาเสวนปัจจัย หมายถึง ความเสพบ่อย ๆ โดยการเกิดหลายครั้ง
๑๓. กมฺมปจฺจโย คือ กัมมปัจจัย หมายถึง ความจงใจกระทำเพื่อให้กิจ ต่าง ๆ สำเร็จลง
๑๔. วิปากปจฺจโย คือ วิปากปัจจัย หมายถึง ผลของกรรม
๑๕. อาหารปจฺจโย คือ อาหารปัจจัย หมายถึงอาหารทั้ง ๔ เป็นปัจจัยให้เกิด นามและรูป
๑๖. อินฺทริยปจฺจโย คือ อินทรียปัจจัย หมายถึง ความเป็นใหญ่ เป็นผู้ครอง เป็นปัจจัยให้เกิดนามและรูป
๑๗. ฌานปจฺจโย คือ ฌานปัจจัย หมายถึง ความเพ่งอารมณ์หรือการเผา ปฏิปักษ์ธรรม
๑๘. มคฺคปจฺจโย คือ มัคคปัจจัย หมายถึง หนทางทั้งทางชั่วและทางชอบ เป็นปัจจัยให้สู่ ทุคคติ สุคติ
และนิพพาน
๑๙. สมฺปยุตฺตปจฺจโย คือ สัมปยุตตปัจจัย หมายถึง ธรรมที่ประกอบเข้ากัน ได้ อันได้แก่ จิตกับเจตสิก
๒๐. วิปฺปยุตฺตปจฺจโย คือ วิปปยุตตปัจจัย หมายถึงธรรมที่ประกอบเข้ากัน ไม่ได้ อันได้แก่ รูป กับนาม
๒๑. อตฺถิปจฺจโย คือ อัตถิปัจจัย หมายถึง ความที่ยังมีอยู่ จึงเป็นปัจจัยให้ เกิดนามและรูปได้
๒๒. นตฺถิปจฺจโย คือ นัตถิปัจจัย หมายถึง ความที่ไม่มีแล้ว จึงจะเป็นปัจจัย ให้เกิดนามได้
๒๓. วิคตปจฺจโย คือ วิคตปัจจัย หมายถึง ความที่ปราศจากไปแล้วนั้น จึงเป็นปัจจัยให้เกิดนามได้
๒๔. อวิคตปจฺจโย คือ อวิคตปัจจัย หมายถึง ความที่ยังไม่ปราศจากไป จึง เป็นปัจจัยให้เกิดนามและรูปได้

ปัจจัย ๒๔ จัดได้เป็น ๖ หมวด

ปัจจัยธรรม ๒๔ นี่แหละเป็น ปัฏฐานนัย คือนัยที่ ๒ แห่งปัจจยสังคหวิภาค และปัจจัย ๒๔ นี้ยังจัดเข้ากันเป็นพวก ๆ เป็นหมวด ๆ ได้ ๖ พวกหรือ ๖ หมวด ดังมีคาถาที่ ๑๒ และ ๑๓ แสดงว่า


หน้า ๖๖

๑๒. ฉธา นามนฺตุ นามสฺส ปญฺจธา นามรูปินํ
เอกธา ปุน รูปสฺส รูปํ นามสฺส เจกธา ฯ


แปลความว่า นามย่อมเป็นปัจจัยแก่นาม ๖ ปัจจัย นามเป็นปัจจัยแก่นามรูป ๕ ปัจจัย นาม เป็นปัจจัยแก่รูป ๑ ปัจจัย รูปย่อมเป็นปัจจัยแก่นาม ๑ ปัจจัย


๑๓. ปญฺญตฺตินามรูปานิ นามสฺส ทุวิธา ทฺวยํ
ทฺวยสฺส นวธา เจติ ฉพฺพิธา ปจฺจยา กถํ ฯ


แปลความว่า บัญญัติและนามรูป ย่อมเป็นปัจจัยแก่นาม ๒ ปัจจัย และนามรูปทั้ง ๒ เป็น ปัจจัยแก่นามรูปทั้ง ๒ นั้น ๙ ปัจจัย ปัจจัย ๖ หมวด ตั้งอยู่แล้วด้วยอาการดังได้ บรรยายมาฉะนี้
มีความหมายว่า ปัจจัย ๒๔ นี้ จัดได้เป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ ๖ หมวด คือ


๑. นาม

เป็นปัจจัยแก่ นาม ๖ ปัจจัย (อนันตร, สมนันตร, นัตถิ, วิคต, อาเสวน, สัมปยุตต)

๒. นาม

เป็นปัจจัยแก่ นามรูป ๕ ปัจจัย(เหตุ, ฌาน, มัคค, กัมม, วิบาก)

๓. นาม

เป็นปัจจัยแก่ รูป ๑ ปัจจัย (ปัจฉาชาต)

๔. รูป

เป็นปัจจัยแก่ นาม ๑ ปัจจัย (ปุเรชาต)

บัญญัติ 
๕. นาม
รูป

เป็นปัจจัยแก่ นาม ๒ ปัจจัย (อารัมมณ, อุปนิสสย)

๖. นามรูป

เป็นปัจจัยแก่ นามรูป ๙ ปัจจัย (อธิปติ, สหชาต, อัญญมัญญ, นิสสย, อาหาร,
อินทรีย, วิปปยุตต, อัตถิ, อวิคต)

 

ข้อกำหนดแห่งปัจจัยแต่ละปัจจัย

ปัจจัย ๒๔ ซึ่งแบ่งเป็น ๖ หมวดนั้น แต่ละหมวดแต่ละปัจจัย มีความหมาย ดังต่อไปนี้


หมวดที่ ๑ นามเป็นปัจจัยแก่นาม ๖ ปัจจัย

๑๔. จิตฺตเจตสิกา ธมฺมา นิรุจฺธาหิ อนนฺตรํ
ปจฺจุปนฺนาน นามานํ จตุธา โหนฺติ ปจฺจยา
ทฺวานนฺตร นตฺถิ ตาย อโถ วิคตตาย จ ฯ

แปลความตามคาถานี้ ก็ได้เป็นหลักเกณฑ์ เป็นข้อกำหนด เป็นข้อจำกัดความ หมายแห่งปัจจัย คือ


หน้า ๖๗

ข้อกำหนดข้อที่ ๑ ธรรม คือจิตและเจตสิกทั้งหลายที่ดับไปแล้ว โดยไม่มี ระหว่างคั่น เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นใหม่ติดต่อกัน อัน เป็นปัจจุบัน ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ๔ คือ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย นัตถิปัจจัย และ วิคตปัจจัย


๑๕. ปุริมา ชวนานิ อาเสวนเสน ตุ
ปจฺฉิมานํ ชวนานํ อญฺโญญฺญํ สหชาตกา ฯ


ข้อกำหนดข้อที่ ๒ ส่วนชวนจิตในขณะก่อน ย่อมเป็นปัจจัยช่วยอุปการะ แก่ชวนจิตในขณะหลัง ด้วยอำนาจแห่ง อาเสวนปัจจัย


๑๖. จิตฺตเจตสิกา ธมฺมา สมฺปยุตฺเตน ปจฺจยา
อิตินามํ นามสฺสเสว ฉธา ภวติ ปจฺจโย


ข้อกำหนดข้อที่ ๓ ธรรม คือจิตและเจตสิกทั้งหลายที่ประกอบร่วมกัน ย่อม เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กันและกันด้วยสามารถแห่ง สัมปยุตตปัจจัย
นามธรรมย่อมเป็นปัจจัยแก่นามธรรมอย่างเดียวโดย ๖ ปัจจัย ดังที่กล่าวมา แล้วนี้


สัมปยุตต กับ วิปปยุตต

ธรรมที่จะเรียกว่าเป็น สัมปยุตต นั้น จะต้องประกอบกันด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ เอกุปปาทะ เอกนิโรธะ เอกาลัมพนะ และเอกวัตถุกะ มิฉะนั้นแล้วจะ เรียกว่าเป็นสัมปยุตต ไม่ได้
๑. นามขันธ์ ๔ อันได้แก่ จิต เจตสิก นั้นเป็นสัมปยุตต เพราะประกอบกัน ด้วยอาการครบลักษณะทั้ง ๔
๒. นามขันธ์ ๔ กับนิพพาน นามขันธ์ ๔ กับรูป เป็นวิปปยุตตอย่างเดียว
๓. รูปกับรูป รูปกับนิพพาน ไม่เรียกว่าเป็น สัมปยุตตหรือวิปปยุตต
๔. ระหว่าง กุสลธรรม อกุสลธรรม อพยากตธรรม ที่เป็นจิต เจตสิก ซึ่งกัน และกัน เป็นวิปปยุตต ชื่อว่า
ชาติวิปปยุตต
๕. ระหว่าง นามขันธ์ ๔ ที่เกิดในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ซึ่งกันและกันเป็น วิปปยุตต ชื่อว่า ภูมิวิปปยุตต


หน้า ๖๘

๖. ระหว่าง นามขันธ์ ๔ ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ซึ่งกันและกันเป็น วิปปยุตต ชื่อว่า กาลวิปปยุตต
๗. ระหว่าง นามขันธ์ ๔ ที่เกิดอยู่ภายในตัวเรา และภายนอกตัวเรา ซึ่งกัน และกัน เป็นวิปปยุตต ชื่อว่า สันตานวิปปยุตต


หมวดที่ ๒ นามเป็นปัจจัยแก่นามรูป ๕ ปัจจัย

๑๗. เหตุชฺฌานงฺคมคฺคงฺค เหตฺวาทิ ปจฺจเยน ตุ
สเหตนามรูปานํ สหชาตาตุ เจตนา ฯ

ข้อกำหนดที่ ๔ ส่วน เหตุ (๖) องค์ฌาน (๕) และองค์มัคค (๙) ทั้งหลาย นี้ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามและรูป ที่เกิดพร้อมกับตน ด้วยอำนาจแห่งเหตุ ปัจจัย เป็นต้น (คือ เหตุปัจจัย ฌานปัจจัย และมัคคปัจจัย ตามลำดับ)


๑๘. สเหตนามรูปานํ นานากฺขณิก เจตนา
กมฺเมนา ภินิพฺพตฺตานํ กมฺมโต เยว ปจฺจโย ฯ


ข้อกำหนดข้อที่ ๕ ก. เจตนาที่เกิดร่วมพร้อมกัน เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ แก่นามรูปที่เกิดพร้อมกันอย่างหนึ่ง (ซึ่งเรียกว่าสหชาตกัมมปัจจัย) และ
ข. เจตนาที่เกิดต่างขณะกัน (คือ เจตนาที่ดับไปแล้วนั้น) เป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่นามรูป (ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกรรม หรือ เจตนาที่ดับไปแล้วนั้น) อีกอย่าง หนึ่ง (ซึ่งเรียกว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย)
ทั้ง ๒ อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่ง กัมมปัจจัย


๑๙. วิปากขนฺธา อญฺญมญฺญ สเหต นาม รูปินํ
วิปากปจฺจเยนาติ นามรูปสฺส ปญฺจธา ฯ


ข้อกำหนดที่ ๖ วิบากขันธ์ทั้งหลาย (วิบากนามขันธ์ ๔) เป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่กันและกัน และช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดพร้อมกันกับตน ด้วยอำนาจ แห่ง วิปากปัจจัย
นามย่อมเป็นปัจจัยแก่นามรูป โดยปัจจัย ๕ ปัจจัย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้


หน้า ๖๙

หมวดที่ ๓ นามเป็นปัจจัยแก่รูป ๑ ปัจจัย

๐. จิตฺตเจตสิกา ธมฺมา ปุเรชาตสฺสิ มสฺส ตุ
กายสฺส ปจฺฉาชาเตน อิติ รูปสฺส เอกธา ฯ

ข้อกำหนดข้อที่ ๗ ธรรม คือ จิตเจตสิกทั้งหลาย ที่เกิดภายหลัง เป็นปัจจัย ช่วยอุปการะแก่ รูปกายที่
เกิดก่อน ด้วยอำนาจแห่ง ปัจฉาชาตปัจจัย
นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม ปัจจัยเดียวเท่านี้เอง


หมวดที่ ๔ รูปเป็นปัจจัยแก่นาม ๑ ปัจจัย

๒๑. สตฺต วิญฺญาณ ธาตูนํ ฉวตฺถูนิ ปวตฺติยํ
ปญฺจ วิญฺญาณ วีถิยา ปญฺเจวาลมฺพนานิ จ
ปุเรชาต วเสเนติ รูปํ นามสฺส เอกธา ฯ

ข้อกำหนดที่ ๘ ก. วัตถุ ๖ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ วิญญาณธาตุ ๗ ใน ปวัตติกาล อย่างหนึ่ง
(วัตถุปุเรชาตปัจจัย)
ข. อารมณ์ ๕ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ ปัญจวิญญาณวิถี อีกอย่างหนึ่ง (อารัมมณปุเรชาตปัจจัย)
ทั้ง ๒ อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่ง ปุเรชาตปัจจัย
รูปธรรม เป็นปัจจัยแก่นามธรรมเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น


หมวดที่ ๕ บัญญัติ นาม รูป เป็นปัจจัยแก่นาม ๒ ปัจจัย

๒๒. ฉฬาลมฺพน วเสนุ ปนิสฺสย วเสน จ
ปญฺญตฺติ นาม รูปานิ ทฺวิธา นามสฺส ปจฺจยา ฯ

ข้อกำหนดที่ ๙ บัญญัติ นาม รูป เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นาม โดยปัจจัย ๒ ปัจจัย คือ
ก. ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ ๖ เรียกว่า อารัมมณปัจจัย


หน้า ๗0

ข. ด้วยอำนาจแห่งความเป็นที่อาศัยอย่างแรงกล้า เรียกว่า อุปนิสสยปัจจัย
บัญญัติธรรม นามธรรม รูปธรรม ทั้ง ๓ นี้ เป็นปัจจัยแก่นามธรรม ๒ ปัจจัยเท่านี้เอง
ข.๑ ถ้าอารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นกระทำให้เอาใจใส่เป็นพิเศษ ก็เรียก ว่า อารัมมณูปนิสสยปัจจัย
ข.๒ จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ โดยเป็นที่อาศัย อย่างแรงกล้า ให้เกิดจิตเจตสิกที่เกิดขึ้นใหม่ โดยไม่มีระหว่างคั่นนั่นแหละ ได้ชื่อว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย
ข.๓ อกุสลธรรม มีราคะ เป็นต้น กุสลธรรม มีสัทธา เป็นต้น ความสุขกาย ความทุกข์กาย บุคคล อาหาร อากาศ (อุตุ) เสนาสนะ เหล่านี้เป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่ธรรมทั้งหลาย มีกุสลธรรม เป็นต้น ซึ่งเกิดอยู่ทั้งภายในและภายนอก พอสมควรก็ดี และกรรมซึ่งมีกำลังอย่างแรงกล้า เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่วิบาก นามขันธ์ก็ดี ชื่อว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย ทั้ง ๓ นี้ด้วยอำนาจแห่ง อุปนิสสยปัจจัย


หมวดที่ ๖ นามรูปเป็นปัจจัยแก่ นามรูป ๙ ปัจจัย

๒๓. นวธา นามรูปานิ เตสํ โหนฺติ ยถารหํ
อาธิปจฺจ สหชาต อญฺโญญฺญ นิสฺสเย หิ จ
อาหารินฺทฺริยวิปฺป ยุตฺตตฺถยาวิคเต หิ จ ฯ

แปลความว่า นามรูปย่อมเป็นปัจจัยแก่นามรูป โดยปัจจัย ๙ ตามสมควร คือ อธิปติปัจจัย สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย อาหารปัจจัย อินทรีย ปัจจัย วิปปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย และ อวิคตปัจจัย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้อกำหนดที่ ๑๐ ก. อารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พึงกระทำให้เอาใจใส่ เป็นพิเศษ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามนั้น ชื่อว่า อารัมมณาธิปติปัจจัย อย่างหนึ่ง
ข. อธิบดีทั้ง ๔ มี ฉันทาธิปติเป็นต้น ที่เกิดพร้อมกัน เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ แก่นามรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนนั้นชื่อว่า สหชาตาธิปติปัจจัย อีกอย่างหนึ่ง
ทั้ง ๒ อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่ง อธิปติปัจจัย

หน้า ๗๑

ข้อกำหนดข้อที่ ๑๑ ก. จิตและเจตสิก เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กันและกัน ทั้งช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนด้วยนั้น อย่างหนึ่ง
ข. มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กันและกัน ทั้งช่วยอุปการะแก่ อุปาทายรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนด้วยนั้นอย่างหนึ่ง
ค. ในปฏิสนธิขณะ หทยวัตถุและวิบากนามขันธ์ ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ แก่กันและกันนั้น อีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๓ อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่ง สหชาตปัจจัย
ข้อกำหนดที่ ๑๒
ก. จิตและเจตสิกเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กันและกัน อีก อย่างหนึ่ง
ข. มหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กันและกัน อย่างหนึ่ง
ค. ในปฏิสนธิขณะ หทยวัตถุและวิบากนามขันธ์ ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ แก่กันและกัน อีกอย่างหนึ่ง
ทั้ง ๓ อย่างนี้ ด้วยอำนาจแห่ง อัญญมัญญปัจจัย
ข้อกำหนดที่ ๑๓
ก. จิตเจตสิก เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กันและกัน ทั้ง ช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดพร้อมกันกับตน และมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่กันและกัน ทั้งช่วยอุปการะแก่อุปาทายรูป ทั้งนี้เรียกชื่อว่า สหชาต นิสสยปัจจัย เพราะเป็นที่อิงอาศัยด้วยความที่เกิดพร้อมกัน
ข. วัตถุรูป ๖ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่วิญญาณธาตุ ๗ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย เพราะวัตถุ ๖ อันเป็นที่อิงอาศัยให้เกิดวิญญาณธาตุ ๗ นั้น เกิดก่อนจิต
ค. หมายเฉพาะ หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิต (ในมรณาสันนวิถี) ไป ๑๗ ขณะ เป็นที่อิงอาศัยแก่จิตที่เหลืออีก ๑๖ ขณะนั้น ในขณะที่เอา หทยวัตถุ เป็นอารมณ์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย
ทั้ง ก. ข. ค. นี้ด้วยอำนาจแห่ง นิสสยปัจจัย
ข้อกำหนดข้อที่ ๑๔ ก. อาหารที่พึงกระทำให้เป็นคำ (กพฬีการาหาร) เป็น ปัจจัยช่วยอุปการะแก่รูปกายที่ชื่อว่า รูปอาหารปัจจัย อย่างหนึ่ง
ข. นามอาหารทั้ง ๓ มี ผัสสาหาร เป็นต้น เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามรูป ที่เกิดพร้อมกันนั้น ชื่อว่า
นามอาหารปัจจัย อีกอย่างหนึ่ง
ทั้ง ๒ อย่างนี้ ด้วยอำนาจแห่ง อาหารปัจจัย


หน้า ๗๒

ข้อกำหนดข้อที่ ๑๕ ก. ปสาทรูปทั้ง ๕ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ ปัญจ วิญญาณ อย่างหนึ่ง (มีชื่อว่า ปุเรชาตินทรียปัจจัย บ้างก็เรียกว่า วัตถุปุเรชาตินทรีย ปัจจัย)
ข. รูปชีวิตินทรีย เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ อุปาทินนกรูป(กัมมชรูป) อย่าง หนึ่ง (มีชื่อว่า รูปชีวิตินทรียปัจจัย)
ค. นามอินทรีย องค์ธรรม ๘ (คือ ชีวิตินทรีย มนินทรีย เวทนา สัทธา วิริยะ สติ เอกัคคตา และปัญญา) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามรูปที่เกิดพร้อมกัน กับตน อีกอย่างหนึ่ง (มีชื่อว่า สหชาตินทรียปัจจัย)
ทั้ง ๓ อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่ง อินทริยปัจจัย
ข้อกำหนดข้อที่ ๑๖
ก. ในปฏิสนธิขณะ หทยวัตถุ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ แก่ วิบากนามขันธ์ ๔ และจิตเจตสิก เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดพร้อมกัน กับตนนั้น ชื่อว่า สหชาตวิปปยุตตปัจจัย อย่างหนึ่ง
ข. เจตสิกที่เกิดภายหลัง เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ รูปที่เกิดก่อนนั้น ชื่อว่า ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย อย่างหนึ่ง
ค. ในปวัตติกาล วัตถุรูป ๖ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่วิญญาณธาตุ ๗ นั้น ชื่อว่าปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย อีกอย่างหนึ่ง
ทั้ง ๓ อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่ง วิปปยุตตปัจจัย
อนึ่ง ปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัยนี้ ยังแยกได้อีกเป็น ๒ คือ วัตถุปุเรชาตวิปป ยุตตปัจจัย และวัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย เมื่อแยกดังนี้ วิปปยุตตปัจจัย ก็มี ๔ ได้แก่ สหชาตวิปปยุตตปัจจัย วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย
วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย และ ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย
ข้อกำหนดข้อที่ ๑๗ จิต เจตสิก กับ รูป ยังคงมีอยู่โดยความเป็น สหชาต ก็ดี, ปุเรชาต (วัตถุปุเรชาต อารัมมณปุเรชาต) ก็ดี, ปัจฉาชาต ก็ดี, กพฬีการาหาร ก็ดี, รูปชีวิตินทรีย ก็ดี, เหล่านี้เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กันและกัน เพราะความที่ ยังคงมีอยู่นั้น ด้วยอำนาจแห่ง อัตถิปัจจัย
ข้อกำหนดข้อที่ ๑๘
จิต เจตสิก กับรูป ยังไม่ปราศจากกันไป เป็นปัจจัยช่วย อุปการะแก่กันและกัน เพราะความที่ยังไม่ปราศจากกันไปนั้น ด้วยอำนาจแห่ง อวิคตปัจจัย
อวิคตปัจจัยนี้ มีนัยเป็นทำนองเดียวกันกับ อัตถิปัจจัย ทุกประการ


หน้า ๗๓

อัตถิปัจจัย มี ๕ อย่าง

๒๔. สหชาตํ ปุเรชาตํ ปจฺฉาชาตญฺจ สพฺพถา
กวฬิงฺกาโร อาหาโร รูปชีวิต มิจฺจยํ ฯ

แปลความว่า อัตถิปัจจัย มี ๕ อย่าง คือ สหชาต, ปุเรชาต, ปัจฉาชาต, กพฬีการาหาร, และรูปชีวิตินทรีย
มีอธิบายว่า เพราะความที่ยังคงมีอยู่ จึงเป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้เกิดมี เกิด เป็นขึ้น ซึ่งจำแนกออกได้เป็น ๕ อย่าง คือ
๑. สหชาตัตถิปัจจัย รูปนามที่เกิดพร้อมกันร่วมกันนั้น ยังคงมีอยู่จึงเป็นปัจจัย
๒. ปุเรชาตัตถิปัจจัย รูปที่เกิดก่อนนั้น ยังคงมีอยู่ จึงเป็นปัจจัย
๓. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย นามที่เกิดทีหลัง แต่ยังไม่ทันดับไป คือยังคงมีอยู่นั้น เป็นปัจจัย
๔. อาหารัตถิปัจจัย หมายเฉพาะกพฬีการาหาร ซึ่งเป็นรูปอาหารอย่างเดียว และยังคงมีอยู่เป็นปัจจัย
ส่วนผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และ วิญญาณาหาร รวมอีก ๓ อย่าง ซึ่ง เป็นนามอาหารนั้น ไม่นับเข้าใน อาหารัตถิปัจจัยนี้ด้วย
๕. อินทริยัตถิปัจจัย หมายเฉพาะรูปชีวิตินทรียแต่อย่างเดียว ซึ่งยังคงมีอยู่ เป็นปัจจัย
ส่วนนามอินทรีย องค์ธรรม ๘ ไม่นับเข้าในอินทริยัตถิปัจจัยด้วย

อัตถิปัจจัย มี ๖ อย่าง

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า อัตถิปัจจัย มี ๖ อย่าง โดยแยกข้อ ๒ ปุเรชาตัตถิปัจจัย ออกเป็น ๒ คือ
วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๑ และ อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย อีก ๑

อวิคตปัจจัย ก็มี ๕ หรือ ๖ อย่าง

อวิคตปัจจัย ซึ่งมีความหมายเป็นทำนองเดียวกันกับ อัตถิปัจจัยนั้น ก็จำแนก ได้เป็น ๕ ปัจจัย หรือ ๖ ปัจจัย อย่างเดียวกันกับอัตถิปัจจัยนั้นเหมือนกัน คือ
๑. สหชาตอวิคตปัจจัย ๒. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย ๓. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย
๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย ๕. อาหารอวิคตปัจจัย ๖. อินทรียอวิคตปัจจัย


หน้า ๗๔

ปัจจัยที่ ๔๗

ปัจจัย ๒๔ นี่แหละ บางปัจจัยก็ยังแยกได้เป็นอีกหลายอย่างหลายปัจจัย คือ
๑. อธิปติปัจจัย แยกได้เป็น ๒ คือ อารัมมณาธิปติปัจจัย และสหชาตาธิปติ ปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๑๐
๒. นิสสยปัจจัย แยกได้เป็น ๓ คือ สหชาตนิสสยปัจจัย วัตถุปุเรชาตนิสสย ปัจจัย และ วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๑๓
๓. อุปนิสสยปัจจัย แยกได้เป็น ๓ คือ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย อนันตรูปนิสสยปัจจัย และ ปกตูปนิสสยปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๙
๔. ปุเรชาตปัจจัย แยกได้เป็น ๒ คือ วัตถุปุเรชาตปัจจัย และ อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๘
๕. กัมมปัจจัย แยกได้เป็น ๒ คือ สหชาตกัมมปัจจัย และ นานักขณิกกัมมปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๕
๖. อาหารปัจจัย แยกได้เป็น ๒ คือ รูปอาหารปัจจัย และนามอาหารปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๑๔
๗. อินทริยปัจจัย แยกได้เป็น ๓ คือ ปุเรชาตินทริยปัจจัย รูปชีวิตินทรียปัจจัย และ สหชาตินทริยปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๑๕
๘. วิปปยุตตปัจจัย แยกได้เป็น ๔ คือ สหชาตวิปปยุตตปัจจัย วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย อารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย และ ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๑๖
๙. อัตถิปัจจัย แยกได้เป็น ๖ คือ สหชาตัตถิปัจจัย วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย อาหารัตถิปัจจัย และ อินทริยัตถิ ปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๑๗
๑๐. อวิคตปัจจัย แยกได้เป็น ๖ คือ สหชาตอวิคตปัจจัย วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย อารัมมณปุเรชาต
อวิคตปัจจัย ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย อาหารอวิคตปัจจัย และ อินทริยอวิคตปัจจัย ตามข้อกำหนดข้อที่ ๑๘


หน้า ๗๕

เมื่อนับจำนวนปัจจัยตามที่แยกนี้ด้วยแล้ว ก็เป็นปัจจัยโดยพิสดาร ๔๗ ปัจจัย นับดังนี้

๑. เหตุปัจจัย
๒. อารัมมณปัจจัย

 

๓. สหชาตาธิปติปัจจัย
๔. อารัมมณาธิปติปัจจัย

อธิปติปัจจัย

๕. อนันตรปัจจัย
๖. สมนันตรปัจจัย
๗. สหชาตปัจจัย
๘. อัญญมัญญปัจจัย

 

๙. สหชาตนิสสยปัจจัย
๑๐. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย
๑๑. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย

นิสสยปัจจัย

๑๒. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย
๑๓. อนันตรูปนิสสยปัจจัย
๑๔. ปกตูปนิสสยปัจจัย

อุปนิสสยปัจจัย

๑๕. วัตถุปุเรชาตปัจจัย
๑๖. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย

ปุเรชาตปัจจัย

๑๗. ปัจฉาชาตปัจจัย
๑๘. อาเสวนปัจจัย

 

๑๙. สหชาตกัมมปัจจัย
๒๐. นานักขณิกกัมมปัจจัย

กัมมปัจจัย

๒๑. วิปากปัจจัย

 

๒๒. รูปอาหารปัจจัย
๒๓. นามอาหารปัจจัย

อาหารปัจจัย


หน้า ๗๖

๒๔. สหชาตินทริยปัจจัย
๒๕. ปุเรชาตินทริยปัจจัย
๒๖. รูปชีวิตินทรียปัจจัย

อินทริยปัจจัย

๒๗. ฌานปัจจัย
๒๘. มัคคปัจจัย
๒๙. สัมปยุตตปัจจัย

 

๓๐. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย
๓๑. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย
๓๒. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย
๓๓. ปัจฉาชาตวิปปยุตปัจจัย

วิปปยุตตปัจจัย

๓๔. สหชาตัตถิปัจจัย
๓๕. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย
๓๖. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย
๓๗. ปัจฉาตัตถิปัจจัย
๓๘. อาหารัตถิปัจจัย
๓๙. อินทริยัตถิปัจจัย

อัตถิปัจจัย

๔๐. นัตถิปัจจัย
๔๑. วิคตปัจจัย

 

๔๒. สหชาตอวิคตปัจจัย
๔๓. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย
๔๔. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย
๔๕. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย
๔๖. อาหารอวิคตปัจจัย
๔๗. อินทริยอวิคตปัจจัย

อวิคติปัจจัย

 

ความหมายแต่ละปัจจัย

ปัจจัยเหล่านี้แต่ละปัจจัยมีความหมายประการใด จะได้กล่าวโดยย่อพอให้สม กับแนวแห่งพระอภิธัมมัตถสังคหะ อันเป็นการรวบรวมแสดงพระอภิธรรมโดยย่อ พอให้หลักที่จะศึกษาโดยพิสดารต่อไป ไม่ใช่การแสดงโดยพิสดารตามนัย
แห่งคัมภีร์มหาปัฏฐาน ในพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งแสดงอย่างถี่ถ้วนกว้างขวางมาก


หน้า ๗๗

๑. เหตุปัจจัย

เหตุ แปลว่า เค้ามูล หรือ สิ่งที่ทำให้เกิดผล นอกจากนี้ยังแปลว่า ข้อความ เรื่องราว เรื่องต้น เรื่องที่เกิดขึ้น เครื่องก่อเรื่อง ก็ได้ เหตุมี ๔ อย่าง คือ
ก. เหตุเหตุ ได้แก่ เหตุ ๖ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ
ข. ปจฺจยเหตุ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ อันเป็นเหตุในการเรียกชื่อของ รูปขันธ์
ค. อุตฺตมเหตุ ได้แก่ กุสลกรรม และอกุสลกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดกุสล วิบาก และอกุสลวิบาก
ง. สาธารณเหตุ ได้แก่ อวิชชา อันเป็นเหตุให้เกิดสังขารธรรมทั่วทั้งหมด (ขันธ์ ๕)
๑. เหตุ ในเหตุปัจจัยนี้หมายถึง เหตุ ๖ อันได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ
๒. ประเภท เหตุปัจจัยอยู่ในประเภทนามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน
๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรม และปัจจยุบบันนธรรม นั้นเกิดขึ้นในจิตดวงเดียวกัน
๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังอยู่ในระหว่าง อุปาทะ ฐีติ ภังคะ คือ ยังไม่ทันดับไป
๕. สัตติ คือ อำนาจ เหตุปัจจัยนี้มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ
ชนกสัตติ มีอำนาจช่วยอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดขึ้นได้
อุปถัมภกสัตติ มีอำนาจช่วยอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรมตั้งอยู่ได้
๖. องค์ธรรม มี ๓ อย่างคือองค์ธรรมของปัจจัย องค์ธรรมของปัจจยุบบันน และองค์ธรรมของปัจจนิก (ปัจจนิก หมายความว่าธรรมที่ไม่ใช่ผล คือไม่ใช่ปัจจยุบบันน)
ปัจจัยธรรม ได้แก่ เหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ
ปัจจยุบบันนธรรม ได้แก่ สเหตุกจิต ๗๑, เจตสิก ๕๒ (เว้นโมหเจตสิกที่ใน โมหมูลจิต ๒), สเหตุกจิตตชรูป และสเหตุกปฏิสนธิกัมมชรูป
ปัจจนิกธรรม ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘, อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้นฉันทะ), โมหเจตสิกที่ในโมหมูลจิต ๒,
อเหตุกจิตตชรูป, อเหตุกปฏิสนธิกัมมชรูป, พาหิรรูป, อาหารรูป, อุตุชรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป และ ปวัตติกัมมชรูป


หน้า ๗๘

๗. ความหมายโดยย่อ เหตุปัจจัยมี ๗ วาระ
(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ อันเป็นกุสลเหตุ นั้นเป็นเหตุปัจจัย กุสลจิต ๒๑ กับเจตสิกที่ประกอบ เป็นเหตุปัจจยุบบันน
(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ อันเป็น กุสลเหตุ ๓ นั้น เป็นเหตุปัจจัย
กุสลจิตตชรูปเป็นเหตุปัจจยุบบันน
(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย กุสลเหตุ ๓ เป็นเหตุปัจจัย กุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ กุสลจิต ๒๑ กับเจตสิกที่ประกอบด้วย และกุสลจิตตชรูป ด้วย เป็นเหตุปัจจยุบบันน
(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อันเป็นอกุสลเหตุ ๓ นั้นเป็นเหตุปัจจัยอกุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ กับ เจตสิกที่ประกอบ เป็นเหตุปัจจยุบบันน
(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลเหตุ ๓ นั้น เป็นเหตุปัจจัย อกุสล จิตตชรูป เป็นเหตุปัจจยุบบันน
(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย อกุสลเหตุ ๓ เป็นเหตุ ปัจจัย อกุสลนามขันธ์ ๔ ด้วย อกุสลจิตตชรูปด้วย เป็นเหตุปัจจยุบบันน
(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ อัน เป็นอพยากตเหตุ ๓ เป็นเหตุปัจจัย สเหตุกวิบากจิต ๒๑, สเหตุกกิริยาจิต ๑๗, สเหตุกวิบากจิตตชรูป, สเหตุกกิริยาจิตตชรูป, สเหตุกปฏิสนธิกัมมชรูป เป็นเหตุ ปัจจยุบบันน (ถ้าเป็นในจตุโวการภูมิ ปัจจยุบบันนธรรม ก็ต้องเว้นรูป)
อนึ่งเมื่อกล่าวถึงจิต จะต้องแสดงเจตสิกที่ประกอบด้วยเสมอไป แต่ในที่นี้บาง แห่งไม่ได้แสดงเจตสิกด้วย เพราะอยากจะตัดให้สั้นเข้า และเห็นว่าย่อมจะเข้าใจกัน อยู่โดยทั่วไปแล้วว่า เมื่อมีจิต ก็ต้องมีเจตสิกประกอบอย่างแน่นอน ดังนั้นแม้ในบท ต่อ ๆ ไป จะกล่าวถึงจิตเฉย ๆ ก็ขอให้นึกเห็นถึงเจตสิกที่ประกอบด้วยเสมอไป
๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๑๒ ปัจจัย คือ
๑. เหตุปัจจัย ๒.สหชาตาธิปติปัจจัย ๓. สหชาตปัจจัย
๔. อัญญมัญญปัจจัย ๕.สหชาตนิสสยปัจจัย ๖. วิปากปัจจัย
๗. สหชาตินทริยปัจจัย ๘.มัคคปัจจัย ๙. สัมปยุตตปัจจัย
๑๐.สหชาตวิปปยุตตปัจจัย ๑๑.สหชาตัตถิปัจจัย ๑๒.สหชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๗๙

๒. อารัมมณปัจจัย

๑. อารมณ์ หมายถึงอารมณ์ทั้ง ๖ อันได้แก่รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์
อารมณ์ทั้ง ๖ นี้ ได้กล่าวโดยละเอียดพอควรแล้วในปริจเฉทที่ ๓ จึงจะไม่ กล่าวซ้ำในที่นี้อีก ขอให้ทบทวนดูที่ปริจเฉท ๓ นั้น
๒. ประเภท บัญญัติ นาม รูป เป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน
๓. ชาติ เป็นอารัมมณชาติ หมายความว่าปัจจัยธรรมนั้นได้แก่อารมณ์ นั่นเอง
๔. กาล เป็นได้ทั้ง อดีตกาล อนาคต ปัจจุบัน และกาลวิมุตติ
๕. สัตติ มีอำนาจทั้ง ๒ อย่าง คือ ชนกสัตติ และ อุปถัมภกสัตติ
๖. องค์ธรรม
องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ อารมณ์ ๖ คือ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูป ๒๘ ที่เป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต
และนิพพาน บัญญัติ ที่เป็นกาลวิมุตติ
องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒
องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ รูปทั้งหมด คือ จิตตชรูป, ปฏิสนธิกัมมชรูป, พาหิรรูป, อาหารชรูป, อุตุชรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป, ปวัตติกัมมชรูป
๗. ความหมายโดยย่อ อารัมมณปัจจัย มี ๙ วาระ
(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้ ทาน รักษาศีล เจริญกุสลฌาน
กุสลอภิญญา หรือมัคคจิต เหล่านี้เป็นต้น อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ นี่แหละ เป็นอารัมมณปัจจัย กุสลนามขันธ์ ๔ ที่นึกถึงหรือที่พิจารณา กุสลธรรมนั้น ๆ เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล นึกถึงโลกียกุสล ๑๗ ที่ได้บำเพ็ญมาแล้วก็อาจ เกิด ราคะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ หรือโทมนัสขึ้นได้ โลกียกุสลจิต ๑๗ นั่นแหละ เป็นอารัมมณปัจจัย อกุสลจิตที่เกิดขึ้นเป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลได้แก่กุสลจิต ๒๑ เป็นอารัมมณปัจจัย อพยากตะ ได้แก่ ตทาลัมพนะ ๑๑, กามกิริยา ๑๐(เว้นปัญจทวาราวัชชนจิต ๑), วิญญาณัญจายตนะวิบาก ๑ กิริยา ๑, เนวสัญญานาสัญญายตนะวิบาก ๑
กิริยา ๑, กิริยาอภิญญา ๑ เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน


หน้า ๘0

กุสลกามชวนจิต เป็นอารัมมณปัจจัย ให้เกิดตทาลัมพนะ ๑๑ เป็นอารัมมณ ปัจจยุบบันน
อรหัตตมัคคจิต เป็นอารัมมณปัจจัย ให้เกิดมหากิริยาจิต (ในปัจจเวกขณะ) เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
พระอรหันต์ พิจารณากุสลต่าง ๆ ที่เคยทำไว้แต่ก่อน ๆ ก็ดี พิจารณากุสลโดย ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ดี ธรรมต่าง ๆ เหล่านี้หน่วงมาเป็นอารมณ์นั้น เป็นอารัมมณปัจจัย มหากิริยาจิต ที่พิจารณาธรรมเหล่านั้นเป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
พระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา พิจารณากุสลจิตที่เกิดแล้วแก่ตนและผู้อื่น และที่ จะเกิดต่อไปภายหน้า กุสลเหล่านี้เป็นอารัมมณปัจจัย กิริยาอภิญญาจิตที่พิจารณา กุสลเหล่านั้น เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
อากาสานัญจายตนกุสลจิต ที่เกิดมาแล้วในภพนี้หรือภพก่อน เป็นอารัมมณ ปัจจัย วิญญาณัญจายตนวิบากหรือ วิญญาณัญจายตนกิริยา เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
อากิญจัญญายตนกุสลจิต ที่เกิดมาแล้วในภพนี้หรือภพก่อน เป็นอารัมมณ ปัจจัย เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากหรือ เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาเป็น อารัมมณปัจจยุบบันน
กุสลจิต เป็นอารัมมณปัจจัย มโนทวาราวัชชนจิต เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลที่ตนได้กระทำมาแล้วนั้นเป็นอารัมมณ ปัจจัย ก็สามารถทำให้เกิดอกุสลจิต โลภ โกรธ หลง เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน ขึ้นได้
(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล อกุสล ๑๒ เป็นปัจจัยให้เกิดมหากุสล หรือ อภิญญากุสลได้ เป็นต้นว่า
พระเสกขบุคคล พิจารณาอกุสลที่ละได้แล้วและอกุสลที่ยังคงเหลืออกุสล นี่ แหละเป็น อารัมมณปัจจัย มหากุสลที่พิจารณาอกุสลจิตเหล่านั้น เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
พระเสกขบุคคลและปุถุชน พิจารณาอกุสลโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อกุสลนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย มหากุสลที่พิจารณาอกุสลนั้น เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน
พระเสกขบุคคลและปุถุชน ผู้ได้อภิญญาเจโตปริยญาณ พิจารณารู้อกุสลจิตที่ เกิดขึ้นในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งของตนเองและของผู้อื่น อกุสลนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย อภิญญากุสลจิต เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน


หน้า ๘๑

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นอารัมมณ ปัจจัย อพยากตะ ได้แก่ ตทาลัมพนะ ๑๑, กามกิริยาจิต ๑๐ (เว้นปัญจทวาราวัชชน จิต ๑) และ อภิญญากิริยาจิต ๑ เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน เช่น พระอรหันต์พิจารณากิเลสที่ละแล้วก็ดี ที่เคยเกิดมาแต่ก่อน ๆ ก็ดี กิเลสเหล่า นั้นเป็นอารัมมณปัจจัย
กิริยาจิตที่พิจารณากิเลสนั้น ๆ เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

พระอรหันต์ พิจารณาอกุสลจิต ๑๒ ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งของตน และของผู้อื่นเป็นอารัมมณปัจจัย อภิญญากิริยาจิตที่รู้อกุสลนั้น ๆ เป็นอารัมมณ ปัจจยุบบันน

อกุสลจิต ๑๒ ที่เป็นอารมณ์ของอภิญญากิริยาจิตนั้น เป็นอารัมมณปัจจัย อภิญญากิริยาจิต ๑ อาวัชชนจิต ๑ (คือมโนทวาราวัชชนจิต) ที่พิจารณาอกุสลจิต นั้น เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

 

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อพยากตะที่เป็นอารัมมณปัจจัย ได้แก่ วิบากจิต ๓๖, กิริยาจิต ๒๐, รูป ๒๘ และนิพพาน อพยากตะที่เป็นอารัมมณ ปัจจยุบบันนนั้นได้แก่ กามวิบาก ๒๓, กามกิริยา ๑๑, วิญญาณัญจายตนกิริยา ๑, เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยา ๑, อภิญญากิริยา ๑ และ ผลจิต ๔ เช่น อรหัตตผลจิตก็ดี นิพพานก็ดี เป็นอารัมมณปัจจัย มหากิริยาจิตที่พิจารณา อรหัตตผลจิต หรือพิจารณานิพพาน โดยปัจจเวกขณะ เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

นิพพานที่เป็นอารมณ์ของผลจิต เป็นอารัมมณปัจจัย ผลจิต ๔ ดวง มโน ทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

วัตถุรูปทั้ง ๖, อารมณ์ทั้ง ๖, โลกียวิบากจิต ๓๒, กิริยาจิต ๒๐ ทั้งของตน และของผู้อื่น เป็นอารัมมณปัจจัย มหากิริยาจิตของพระอรหันต์ที่พิจารณาอารมณ์ เหล่านั้น โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

รูป เสียง วิบากจิต ๓๖ กิริยาจิต ๒๐ ที่เป็นอารมณ์ของอภิญญาจิต เป็น อารัมมณปัจจัย อภิญญากิริยา ๑ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น ของพระอรหันต์ที่รู้ อารมณ์เหล่านั้น เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

อากาสานัญจายตนกิริยา และอากิญจัญญายตนกิริยา เป็นอารัมมณปัจจัย วิญญาณัญจายตนกิริยา และเนวสัญญานาสัญญายตนกิริยา เป็นอารัมมณปัจจยุบ บันน (ตามลำดับ)


หน้า ๘๒

ปัญจารมณ์ เป็นอารัมมณปัจจัย ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ เป็น อารัมมณปัจจยุบ บันน

วิบากจิต ๓๖, กิริยาจิต ๒๐, รูป ๒๘ นี้เป็นไปในกาลทั้ง ๓ ทั้งของตนและ ของผู้อื่น เป็นอารัมมณปัจจัย มโนทวาราวัชชนจิต เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

(๘) อพยากตะ เป็นปัจจัยแก่ กุสล วิบากจิต ๓๕ (เว้นอรหัตตผล) กิริยาจิต ๒๐, รูป ๒๘, นิพพานเป็นอารัมมณปัจจัย มหากุสล ๘ มัคคจิต ๔ และอภิญญา กุสล ๑ เป็น อารัมมณปัจจยุบบันน เช่น ผลเบื้องต่ำ ๓ ก็ดี นิพพาน ก็ดี เป็นอารัมมณปัจจัย มหากุสลจิตของพระ เสกขบุคคล ที่พิจารณา(ปัจจเวกขณะ) อารมณ์เหล่านั้น เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

นิพพาน เป็นอารัมมณปัจจัย โคตรภู หรือโวทาน คือ มหากุสลญาณ สัมปยุตตก็ดี มัคคจิต ๔ ทีกำลังเกิดขึ้นนั้นก็ดี เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

วัตถุ ๖, อารมณ์ ๖, โลกียวิบากจิต ๓๒, กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือของผู้อื่นในกาลทั้ง ๓ เป็นอารัมมณปัจจัย มหากุสลที่พิจารณาอารมณ์นั้น ๆ เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน

พระเสกขบุคคลและปุถุชนพิจารณารูป เสียง วิบากจิต กิริยาจิต ด้วยอภิญญา กุสล อารมณ์เหล่านี้เป็นอารัมมณปัจจัย อภิญญากุสลจิตที่รู้เห็นอารมณ์เหล่านั้นเป็น อารัมมณปัจจยุบบันน

 

(๙) อพยากตะ เป็นปัจจัยแก่ อกุสล, วัตถุ ๖, อารมณ์ ๖, โลกียวิบากจิต ๓๒, กิริยาจิต ๒๐, รูป ๒๘ ของตนเองและของผู้อื่นในกาลทั้ง ๓ เหล่านี้เป็น อารมณ์เมื่อใด เมื่อนั้นก็เป็นอารัมมณปัจจัย ทำให้อกุสลจิตมีโลภะเป็นต้น เกิดขึ้นได้ อกุสลจิตที่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์เหล่านั้น เป็นอารัมมณปัจจยุบบันน


๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. อารัมมณปัจจัย ๒. อารัมมณาธิปติปัจจัย

๓. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๘๓

 

๓. อธิปติปัจจัย

อธิปติปัจจัยนี้ จำแนกออกได้เป็น ๒ คือ

ก. อารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พึงกระทำให้เอาใจใส่เป็นพิเศษ ช่วย อุปการะแก่นามนั้น ชื่อว่า
อารัมมณาธิปติปัจจัย

ข. อธิบดีทั้ง ๔ มี ฉันทาธิปติ เป็นต้น เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามรูป ที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับตนนั้น ชื่อว่า สหชาตาธิปติปัจจัย

อารัมมณาธิปติปัจจัย

๑. อารมณ์ ต้องเป็นอารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเอาใจใส่เป็นพิเศษด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เอาใจใส่อย่างธรรมดา

๒. ประเภท นามรูป เป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็น อารัมมณชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นได้แก่ อารมณ์นั้น เอง (แต่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษด้วย)

๔. กาล เป็นได้ทั้ง อดีต อนาคต ปัจจุบัน และ กาลวิมุตติ

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ นิปผันนรูป๑๘ ที่เป็นอิฏฐารมณ์, จิต ๘๔ (เว้นโทสจิต ๒ โมหจิต ๒ ทุกขกายวิญญาณ ๑), เจตสิก ๔๗ (เว้นโทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา) และ นิพพาน

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ,มหากุสล ๘, มหากิริยา ญาณสัมปยุตต ๔, โลกุตตรจิต ๘, เจตสิก ๔๕ (เว้น โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา อัปปมัญญา ๒)

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ และรูปทั้งหมดที่ ไม่เป็นอิฏฐารมณ์

๗. ความหมายโดยย่อ อารัมมณาธิปติปัจจัย มี ๗ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว อันได้แก่ กุสลจิต ๒๐ (เว้นอรหัตตมัคค) ซึ่งทำให้ซาบซึ้งตรึงใจเป็นพิเศษก็ดี ฌานที่ได้ที่ถึงแล้ว อันได้แก่ มหัคคตกุสลจิต ๙ ก็ดี โคตรภูและโวทาน อันได้แก่ มหากุสลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ก็ดี และมัคคจิตเบื้องต่ำ ๓ อันเกิดขึ้นแล้วแก่พระเสกขบุคคลก็ดี ธรรมเหล่านี้เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย มหากุสลจิตที่พิจารณาธรรมนั้น ๆ เป็น อารัมมณาธิปติปัจจยุบบัน


หน้า ๘๔

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล กุสลที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว อันได้แก่ โลกียกุสล ๑๗ เมื่อนึกถึงกุสลเหล่านี้ โดยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ก็เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย อาจทำให้เกิด ราคะ ทิฏฐิได้ ราคะ ทิฏฐิ คือ อกุสลจิตที่เกิดขึ้นโดยอารมณ์เหล่านี้ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสล คือ อรหัตตมัคค ๑ เป็นอารัมมณา ธิปติปัจจัย มหากิริยาจิต (ในปัจจเวกขณวิถี) ที่พิจารณาอรหัตตมัคคนั้น เป็นอารัมม ณาธิปติปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล ผู้ที่เพลิดเพลินต่อราคะ ต่อทิฏฐิ โดยความ เอาใจใส่เป็นพิเศษ อันได้แก่ โลภจิต ๘ ดวงนั้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ทำให้ เกิด ราคะ ทิฏฐิขึ้นอีก ราคะ ทิฏฐิ อันได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ที่เกิดขึ้นอีกนี่แหละ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๕) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อรหัตตผลจิตก็ดี นิพพานก็ดี เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย มหากิริยาจิต (ในปัจจเวกขณวิถี) ที่พิจารณาอรหัตตผลจิต ก็ดี พิจารณานิพพานก็ดี เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๖) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล ผลจิตเบื้องต่ำ ๓ ก็ดี นิพพานก็ดี เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย มหากุสลจิตของพระเสกขบุคคล ๓ ที่พิจารณา(ปัจจเวกขณะ) ผลจิตก็ดี นิพพานก็ดี เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน นิพพาน เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย โคตรภูของติเหตุกปุถุชน โวทานของพระ เสกขบุคคล ๓ อันได้แก่ มหากุสลญาณสัมปยุตต ๔ และ มัคคจิต ๔ ของมัคค บุคคล ๔ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล เอาใจใส่เป็นพิเศษในวัตถุ ๖, กามอารมณ์ ๕, โลกียวิบาก ๓๑ (เว้นทุกขสหคตกายวิญญาณ ๑) และกิริยาจิต ๒๐ เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย เกิดความเพลิดเพลิน มี ราคะ ทิฏฐิ อันได้แก่ โลภจิต ๘ ขึ้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๖. อารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๘๕

สหชาตาธิปติปัจจัย

๑. อธิปติ ได้แก่ ฉันทาธิปติ วิริยาธิปติ จิตตาธิปติ และวิมังสาธิปติ

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมและปัจจยุบบันนธรรม เกิดร่วมในจิตดวงเดียวกัน

๔. กาล เป็นได้เฉพาะในกาลที่เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และ อุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก ปัญญาเจตสิกที่ใน สาธิปติชวน ๕๒ (คือ ชวนจิต ๕๕ เว้น หสิตุปปาทจิต ๑ โมหมูลจิต ๒ จึงเหลือ ๕๒) และจิตเฉพาะสาธิปติชวนจิต ๕๒

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ สาธิปติชวนจิต ๕๒, เจตสิก ๕๐ (เว้นวิจิ กิจฉาเจตสิก ๑ และเว้นฉันทะ วิริยะ ปัญญา ในขณะที่เป็นอธิบดี ๑) จิตตชรูปที่ เกิดด้วยสาธิปติชวนจิต ๕๒ นั้น

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ กามจิต ๕๔ ที่ไม่ได้เกิดร่วมกับอธิบดี, องค์ ธรรมของอธิบดี เฉพาะองค์ที่กำลังเป็นอธิบดี, มหัคคตวิบาก ๙, จิตตชรูปที่ไม่ได้ เกิดร่วมกับอธิบดี, กัมมชรูป, อุตุชรูป, อาหารชรูป

๗. ความหมายโดยย่อ สหชาตาธิปติปัจจัย มี ๗ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลอธิบดี ๔ องค์ใดองค์หนึ่งในมหากุสล ๘ มหัคคตกุสล ๙ มัคคจิต ๔ เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย นามขันธ์ทั้งหลายที่สัมปยุตต ด้วยกุสลอธิบดีนั้น อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตาธิปติปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลอธิบดี ๔ องค์ใดองค์หนึ่งในกุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย กุสลสาธิปติจิตตชรูป เป็นสหชาตาธิปติปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย กุสลอธิบดี ๔ องค์ใดองค์ หนึ่งในกุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย กุสลจิต ๒๑ ด้วย และกุสลสาธิปติ จิตตชรูปด้วย เป็นสหชาตาธิปติปัจจยุบบันน


หน้า ๘๖

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อธิบดี ๓ (เว้นวิมังสาธิปติ) องค์ใดองค์หนึ่ง ในโลภมูล ๘ โทสมูล ๒ เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย นามขันธ์ทั้งหลายที่สัมปยุตต ด้วยอกุสลอธิบดีนั้น อันได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ เป็นสหชาตาธิปติ ปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลอธิบดี ๓ องค์ใดองค์หนึ่งในอกุสล จิต ๑๐ เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย จิตตชรูปที่เกิดร่วมด้วยอกุสลจิต ๑๐ ดวงนั้น เป็น สหชาตาธิปติปัจจยุบบันน

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย อกุสลอธิบดี ๓ องค์ใด องค์หนึ่งในอกุสลจิต ๑๐ เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย อกุสลจิต ๑๐ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และอกุสลสาธิปติจิตตชรูปด้วย เป็นสหชาตาธิปติปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อธิบดี ๔ องค์ใดองค์หนึ่งที่ในสเหตุก กิริยาจิต ๑๗, ที่ในผลจิต ๔ เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย สเหตุกกิริยาจิต ๑๗ ผลจิต ๔ และ อพยากตสาธิปติจิตตชรูป เป็นสหชาตาธิปติปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๑๓ ปัจจัย คือ

๑. สหชาตาธิปติปัจจัย ๒. เหตุปัจจัย

๓. สหชาตปัจจัย ๔. อัญญมัญญปัจจัย

๕. สหชาตนิสสยปัจจัย ๖. วิปากปัจจัย

๗. นามอาหารปัจจัย ๘. สหชาตินทริยปัจจัย

๙. มัคคปัจจัย ๑๐. สัมปยุตตปัจจัย

๑๑. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย ๑๒. สหชาตัตถิปัจจัย

๑๓. สหชาตอวิคตปัจจัย


๔. อนันตรปัจจัย

๑. อนันตร หมายถึงว่า ไม่มีระหว่างคั่น

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอนันตรชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นช่วยอุปการะให้ปัจจ ยุบบันนธรรมเกิดโดยไม่มีระหว่างคั่น


หน้า ๘๗

๔. กาล เป็นอดีตกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นต้องดับไปเสียก่อน จึง จะช่วยอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดได้

๕. สัตติ เป็นชนกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดก่อน (เว้นจุติจิต ของพระอรหันต์)

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง รวมทั้ง จุติจิตของพระอรหันต์ด้วยองค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ รูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ อนันตรปัจจัยนี้เกี่ยวแก่วิถีจิตเป็นอย่างมาก ถ้าได้ นึกถึงวิถีจิตมาพิจารณาร่วมพร้อมกับปัจจัยนี้ด้วย ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจได้เป็น อย่างดี ปัจจัยนี้มี ๗ วาระ คือ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล โลกียกุสลชวนะ ๑๗ ดวงที่เกิดก่อน (เว้นชวนะ ดวงสุดท้าย)เป็นอนันตรปัจจัย กุสลชวนะที่เกิดทีหลัง(เว้นชวนะดวงแรก) อันได้แก่ กุสลชวนะ ๒๑ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน มีรายละเอียด เช่น

มหากุสล ๘ เป็นอนันตรปัจจัย มหากุสล ๘ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

มหากุสล ๔ เป็นอนันตรปัจจัย มัคคจิต ๔ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

มหากุสล ๔ เป็นอนันตรปัจจัย มหัคคตกุสล ๙ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

มหัคคตกุสล ๙ เป็นอนันตรปัจจัย มหัคคตกุสล ๙ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลชวนะ ๒๑ ดวงสุดท้ายเป็นอนันตร ปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑, มหัคคตวิบาก ๙, ผลจิต ๔ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน มีรายละเอียด เช่น

มหากุสล ๘ เป็นอนันตรปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑ ภวังคจิต ๑๙ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

มหัคคตกุสล ๙ เป็นอนันตรปัจจัย ติเหตุกภวังคจิต ๑๓ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

มัคคจิต ๔ เป็นอนันตรปัจจัย ผลจิต ๔ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

อนุโลมญาณ ๓ เป็นอนันตรปัจจัย ผลสมาบัติ ๓ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

เนวสัญญาฯกุสล ๑ เป็นอนันตรปัจจัย อนาคามิผล ๑ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

(๓) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลชวนะ ๑๒ ที่เกิดก่อน(เว้นดวงสุดท้าย) เป็นอนันตรปัจจัย อกุสลชวนะ ๑๒ ที่เกิดทีหลัง (เว้นดวงแรก) เป็นอนันตรปัจจยุบบันน


หน้า ๘๘

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลชวนะ ๑๒ ดวงสุดท้าย เป็น อนันตรปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑, มหัคคตวิบาก ๙, ภวังคจิต ๑๙ เป็น อนันตรปัจจยุบบันน

(๕) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ (เว้นจุติจิตของพระ อรหันต์) กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดก่อน ๆ เป็นอนันตรปัจจัย วิบากจิต ๓๖, กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดทีหลังนั้นเป็นอนันตรปัจจยุบบันน

(๖) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นอนันตรปัจจัย ชวนะดวงที่ ๑ ของมหากุสลจิต ๘ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นอนันตรปัจจัย ชวนะดวงที่ ๑ ของอกุสลจิต ๑๒ เป็นอนันตรปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๗ ปัจจัย คือ

๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย

๓. อนันตรรูปนิสสยปัจจัย ๔. อาเสวนปัจจัย

๕. นานักขณิกกัมมปัจจัย ๖. นัตถิปัจจัย

๗. วิคตปัจจัย


๕. สมนันตรปัจจัย

สมนันตรปัจจัยนี้กับอนันตรปัจจัยที่กล่าวมาแล้วนั้น ต่างกันที่พยัญชนะ คือ ตัวอักษรเท่านั้น ส่วนอรรถ คือเนื้อความหรือความหมายของปัจจัยทั้ง ๒ นี้เหมือน กันทุกประการ ไม่มีผิดแผกแตกต่างกันเลย ดังที่ใน ปัฏฐานอรรถกถา แสดงไว้ว่า

ธรรมใดเรียกว่า อนันตรปัจจัย ธรรมนั้นแลเรียกว่า สมนันตรปัจจัย คือ ในที่นี้ว่าโดยแท้จริงแล้ว ต่างกันแต่เพียงพยัญชนะเท่านั้น เช่นเดียวกับคำว่า อุปจยะ สันตติ และคำว่า อธิวจนทุกะ นิรุตติทุกะ เป็นต้น ซึ่งว่าโดยเนื้อความแล้วไม่มี แตกต่างกันเลย


หน้า ๘๙

ที่แสดง อนันตรปัจจัยแล้ว ยังแสดงสมนันตรปัจจัยอีก ก็เพื่อจะย้ำให้หนัก แน่นว่า จิตที่เกิดก่อนต้องดับไปเสียก่อน แล้วจึงจะเกิดจิตดวงทีหลังได้ เป็นดังนี้ติด ต่อกันไปโดยไม่ขาดสาย จะได้ตระหนักแน่ว่าจิตนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ตลอดไปจนถึงเวลาตาย จึงจะดับไปครั้งหนึ่ง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว จิตเกิดดับอยู่ไม่วาย ถึงแม้เวลาตาย คือ จุติจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็ยังมีปฏิสนธิจิตมาสืบต่อไม่ขาดสายลงไปได้เลย ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจแห่ง อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย นี้เอง

เมื่อ สมนันตรปัจจัย มีความหมายเช่นเดียวกับอนันตรปัจจัยทุกประการ ก็ไม่ จำเป็นที่จะต้องกล่าวข้อความ หรืออรรถาธิบายซ้ำในที่นี้อีก


๖. สหชาตปัจจัย

๑. สหชาต หมายความว่า เกิดพร้อมกัน

๒. ประเภท นามรูปเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมเกิดพร้อมกับปัจจยุบบันนธรรม และช่วยอุดหนุนปัจจยุบบันนธรรมนั้นด้วย

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังอยู่ในระหว่าง อุปาทะ ฐีติ ภังคะ คือยังไม่ทันดับไป

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และ อุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ทั้งในปฏิสนธิกาลและ ในปวัตติกาล, มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔ ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติ กาล, หทยวัตถุกับปัญจโวการปฏิสนธิ ๑๕ ดวง เจตสิก ๓๕

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒, มหาภูตรูปกับอุปา ทายรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔, หทยวัตถุกับปัญจโวการปฏิสนธิ ๑๕ เจตสิก ๓๕

องค์ธรรมของปัจจนิก ไม่มี เพราะปัจจัยนี้ไม่มีธรรมที่ไม่ใช่ผล

๗. ความหมายโดยย่อ สหชาตปัจจัยนี้ มี ๙ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลจิต ๒๑ คือ กุสลนามขันธ์ ๔ แล้วแต่จะยก เอาขันธ์ใดว่าเป็นปัจจัย ขันธ์นั้นก็เป็นสหชาตปัจจัย กุสลจิต ๒๑ คือ กุสลนามขันธ์ ที่เหลือ ก็เป็นสหชาตปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตปัจจัย จิตตชรูปที่ เกิดด้วยกุสลจิตนั้น ก็เป็นสหชาตปัจจยุบบันน


หน้า ๙0

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย กุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาต ปัจจัย กุสลจิต ๒๑ ด้วยจิตตชรูปที่เกิดด้วยกุสลจิตนั้นด้วยเป็นสหชาตปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ๔ แล้ว แต่จะยกเอาขันธ์ใดว่าเป็นปัจจัย ขันธ์นั้นก็เป็นสหชาตปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ที่เหลือ ก็เป็นสหชาตปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลจิต ๑๒ เป็นสหชาตปัจจัย จิตต ชรูปที่เกิดด้วยอกุสลจิตนั้น ก็เป็นสหชาตปัจจยุบบันน

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย อกุสลจิต ๑๒ เป็นสห ชาตปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ ด้วย จิตตชรูปที่เกิดด้วยอกุสลจิตนั้นด้วย เป็นสหชาตปัจจ ยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ คือ วิบากนามขันธ์ ๔, กิริยาจิต ๒๐ คือ กิริยานามขันธ์ ๔ เป็นสหชาตปัจจัย วิบากจิต ๓๖ คือ วิบาก นามขันธ์ ๔, กิริยาจิต ๒๐ คือ กิริยานามขันธ์ ๔, วิบากจิตตชรูป
กิริยาจิตตชรูป ตามสมควร เป็นสหชาตปัจจยุบบันน

มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔แล้วแต่จะยกเอารูปใดว่าเป็นสหชาตปัจจัย รูปที่เหลือก็เป็น
สหชาตปัจจยุบบันน

มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔ เป็นสหชาตปัจจัย อุปาทายรูปที่อาศัยเกิด กับมหาภูตรูปนั้น เป็นสหชาตปัจจยุบบันน

(๘) กุสลด้วยอพยากตะด้วยเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลจิต ๒๑ คือ กุสล นามขันธ์ ๔ ด้วย และมหาภูตรูปที่เกิดจากกุสลจิตนั้นด้วยเป็นสหชาตปัจจัย กุสล จิตตชมหาภูตรูปที่เหลือ และกุสลจิตตชอุปาทายรูป เป็นสหชาตปัจจยุบบันน

(๙) อกุสลด้วยอพยากตะด้วย เป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ๔ ด้วย และ อกุสลจิตตชมหาภูตรูปด้วย เป็นสหชาตปัจจัย อกุสล จิตตชมหาภูตรูปที่เหลือ และอกุสลจิตตชอุปาทายรูป เป็นสหชาตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย

๓. สหชาตนิสสยปัจจัย ๔. วิปากปัจจัย

๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. สหชาตัตถิปัจจัย ๘. สหชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๙๑

๗. อัญญมัญญปัจจัย

๑. อัญญมัญญ หมายความว่า ต่างต้องอาศัยพึ่งพิงอิงกันจึงเกิดได้ จึงตั้งอยู่ ได้ เปรียบเหมือนไม้ ๓ อันตั้งอิงพิงกันไว้

๒. ประเภท นามรูปเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ คือ ปัจจัยธรรมและปัจจยุบบันนธรรม นั้นเกิดร่วม พร้อมกัน

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน คือ ปัจจัยธรรมยังไม่ได้ดับไป

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ นามขันธ์ ๔ คือ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒, มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔

ปัญจโวการปฏิสนธินามขันธ์ ๔ กับ ปฏิสนธิหทยวัตถุ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ นามขันธ์ ๔ คือ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒, มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔

ปัญจโวการปฏิสนธินามขันธ์ ๔ กับ ปฏิสนธิหทยวัตถุ

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ อุปาทายรูป ๒๓ (เว้น หทยวัตถุ)

๗. ความหมายโดยย่อ อัญญมัญญปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลจิต ๒๑ คือ กุสลนามขันธ์ ๔ แล้วแต่จะยก เอาขันธ์ใดว่าเป็นปัจจัย ขันธ์นั้นก็เป็นอัญญมัญญปัจจัย กุสลจิต ๒๑ คือ กุสลนาม ขันธ์ที่เหลือ ก็เป็นอัญญมัญญปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ๔ แล้ว แต่จะยกเอาขันธ์ใดว่าเป็นปัจจัยขันธ์นั้นก็เป็นอัญญมัญญปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ที่เหลือ ก็เป็นอัญญมัญญปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ คือ วิบากนามขันธ์ ๔, กิริยาจิต ๒๐ คือ กิริยานามขันธ์ ๔ แล้วแต่จะยกเอาขันธ์ใดเป็นอัญญมัญญปัจจัย วิบากจิต ๓๖ คือ วิบากนามขันธ์ที่เหลือ กิริยาจิต ๒๐ คือกิริยานามขันธ์ที่เหลือ ก็เป็นอัญญมัญญปัจจยุบบันน ตามลำดับ


หน้า ๙๒

วิบากนามขันธ์ ๔ คือ ปฏิสนธิจิต ๑๕ (เว้นอรูปปฏิสนธิ ๔) ในปฏิสนธิ ขณะ กับ หทยวัตถุ แล้วแต่จะยกจิต หรือหทยวัตถุเป็นอัญญมัญญปัจจัย จิตหรือ หทยวัตถุที่เหลือก็เป็นอัญญมัญญปัจจยุบบันน

มหาภูตรูป ๔ ที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔ แล้วแต่จะยกเอารูปใดเป็นอัญญ มัญญปัจจัย รูปที่เหลือในสมุฏฐานนั้น ก็เป็นอัญญมัญญปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. อัญญมัญญปัจจัย ๒. สหชาตปัจจัย

๓. สหชาตนิสสยปัจจัย ๔. วิปากปัจจัย

๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. สหชาตัตถิปัจจัย ๘. สหชาตอวิคตปัจจัย


๘. นิสสยปัจจัย

นิสสยปัจจัย จำแนกออกได้เป็น ๓ คือ

ก. ปัจจัยธรรมนั้น ช่วยอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดขึ้นพร้อมกับตนด้วย และ ปัจจัยธรรมนั้นเป็นที่อิงอาศัยให้ปัจจยุบบันนธรรมตั้งมั่นอยู่ด้วย อย่างนี้ชื่อว่า สหชาตนิสสยปัจจัย

ข. ปัจจัยธรรม คือวัตถุที่เกิดก่อนปัจจยุบบันนธรรม และยังไม่ทันดับไปนั้น ได้ช่วยอุปการะ โดยเป็นที่อิงอาศัยให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดขึ้นด้วยให้ตั้งมั่นอยู่ด้วย อย่างนี้ชื่อว่า วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

ค. ปัจจัยธรรม หมายเฉพาะ หทยวัตถุ (อย่างเดียว) ที่เกิดก่อนปัจจยุบบันน ธรรม และยังไม่ทันดับไปนั้นเป็นอารมณ์ด้วย ช่วยอุปการะโดยเป็นที่อิงอาศัยให้ ปัจจยุบบันนธรรมเกิดขึ้นด้วย ให้ตั้งมั่นอยู่ด้วย อย่างนี้ชื่อว่า วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย

เพื่อให้เห็นความแตกต่างกันระหว่าง ๓ ปัจจัยนี้ จึงขอกล่าวอีกนัยหนึ่ง ตาม ลักษณะของปัจจัย คือ

๑. สหชาตนิสสยปัจจัย มีลักษณะ ๒ ประการ

ก. สหชาต หมายความว่า ปัจจัยธรรมกับปัจจยุบบันนธรรมนั้นเกิดพร้อมกัน

ข. นิสสย หมายความว่า ปัจจัยธรรมเป็นที่อาศัย เป็นที่อิงอาศัยแห่งปัจจยุบบันนธรรม โดยอาการตั้งมั่นด้วย


หน้า ๙๓

๒. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย มี ลักษณะ ๓ ประการ

ก. วัตถุ หมายความว่า เป็นที่ตั้งของปัจจยุบบันนธรรม อันได้แก่ วัตถุ ๖ มีจักขุวัตถุ เป็นต้น หทยวัตถุเป็นที่สุด

ข. ปุเรชาต หมายความว่า ปัจจัยธรรม(คือวัตถุ ๖) นั้นเกิดก่อนปัจจยุบบันน ธรรมด้วย

ค. นิสสย หมายความว่า ปัจจัยธรรม (คือวัตถุ ๖) นั้นเป็นที่อาศัยเป็นที่อิง อาศัยแห่งปัจจยุบบันนธรรม โดยอาการตั้งมั่นด้วย

๓. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย มีลักษณะ ๔ ประการ

ก. วัตถุ หมายความว่า เป็นที่ตั้งของปัจจยุบบันนธรรม ในที่นี้ได้แก่ หทยวัตถุ โดยเฉพาะ

ข. อารัมมณ หมายความว่า ปัจจัยธรรม (คือ หทยวัตถุ) นั้นเป็นอารมณ์ของ ปัจจยุบบันนธรรมด้วย

ค. ปุเรชาต หมายความว่า ปัจจัยธรรม (คือหทยวัตถุ) นั้นเกิดก่อนปัจจยุบ บันนธรรมด้วย

ง. นิสสย หมายความว่า ปัจจัยธรรม (คือ หทยวัตถุ) เป็นที่อาศัย เป็นที่อิง อาศัยแห่งปัจจยุบบันนธรรม โดยอาการตั้งมั่นด้วย


สหชาตนิสสยปัจจัย

๑. สหชาตนิสสย หมายความว่า เป็นที่อิงอาศัยกัน เพราะความที่เกิดพร้อม กัน

๒. ประเภท นามรูป เป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ อุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรม

๗. ความหมายโดยย่อ

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้

เหมือนกับสหชาตปัจจัยทุกประการ


หน้า ๙๔

วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

๑. วัตถุปุเรชาต หมายความว่า วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นวัตถุปุเรชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมซึ่งช่วยอุปการะแก่ ปัจจยุบบันนธรรมนั้น โดยการที่เป็นที่ตั้งด้วย และโดยการที่เกิดก่อนด้วย

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน หมายความว่า แม้ปัจจัยธรรมจะเกิดก่อน แต่ก็ยัง ไม่ทันดับไป คือ ยังอยู่ในระหว่างฐีติขณะ ยังไม่ทันถึงภังคขณะ

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และ อุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ วัตถุ ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ ที่เกิดก่อนปัจจยุบบันน

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔) ทั้งที่แน่นอน และไม่แน่นอน ในปัญจโวการภูมิ ที่เป็นปวัตติกาล

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวาราวัชชน จิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑) รวมจิต ๔๖ ดวง ทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอน ปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ และรูปทั้งหมด

ที่ว่าทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอนนั้น เรื่องนี้ได้แสดงไว้ในปริจเฉทที่ ๓ ตอน วัตถุสังคหะแล้ว แต่เพื่อทบทวนความจำ จึงขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีกว่า

(๑) ปัจจยุบบันนธรรมที่แน่นอน ได้แก่ โทสมูลจิต ๒, อเหตุกจิต ๑๗ (เว้น มโนทวาราวัชชนจิต ๑), มหาวิบาก ๘, รูปาวจรจิต ๑๕ และโสดาปัตติมัคคจิต ๑ รวมจิต ๔๓ ดวง นี้ต้องอาศัยวัตถุเกิดอย่างแน่นอน

(๒) ปัจจยุบบันนธรรม ที่ไม่แน่นอน ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวาราวัชชนจิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปกุสลจิต ๔, อรูปกิริยาจิต ๔ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑) รวมจิต ๔๒ ดวงนี้ ถ้าเกิดในปัญจโวการภูมิ ก็ต้องอาศัยวัตถุเกิด ถ้าเกิดในจตุโวการภูมิไม่ต้องอาศัยวัตถุ ก็เกิดได้

(๓) ปัจจนิกธรรมที่แน่นอน ได้แก่ อรูปวิบากจิต ๔ และรูปทั้งหมด ซึ่งเกิด ขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ จึงเป็นปัจจนิกธรรมที่แน่นอน


หน้า ๙๕

(๔) ปัจจนิกธรรมที่ไม่แน่นอน ก็คือ จิต ๔๒ ดวง ตามข้อ (๒) นั่นเอง ซึ่งจิต ๔๒ ดวง นี้เกิดในปัญจโวการภูมิ ก็เป็นปัจจยุบบันนธรรม ถ้าเกิดในจตุโว การภูมิ ก็เป็นปัจจนิกธรรมไป จึงว่าไม่แน่นอน

๗. ความหมายโดยย่อ วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ คือ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน เป็นวัตถุปุเรชาต นิสสยปัจจัย วิบากจิต ๓๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔), กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดที่หลังวัตถุ ๖ นั้น เป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน เช่น วัตถุ ๕ มีจักขุวัตถุเป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น เป็นวัตถุ ปุเรชาตนิสสยปัจจัย วิบากจิต ๒๒ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐, อรูปวิบาก ๔) เป็น วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดอยู่ก่อน เวลาที่จะออกจากนิโรธสมาบัตินั้น เป็นวัตถุปุเรชาต นิสสยปัจจัย อนาคามิผลจิต ๑
อรหัตตผลจิต ๑ ที่เกิดขึ้นในขณะออกจากนิโรธ สมาบัตินั้น เป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

วัตถุ ๖ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็นวัตถุ ปุเรชาตนิสสยปัจจัย จิตที่เกิดพร้อมกับวัตถุ ๖ ที่เหลือ ๑๖ ขณะ อันได้แก่ โลกีย วิบากจิต ๒๘(เว้นอรูปวิบาก ๔),กิริยาจิต ๒๐ เป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย กุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ ที่เกิดทีหลัง เป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย
มรณาสันนกุสลชวนะ อันได้แก่ โลกียกุสลจิต ๑๗ เป็น วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะ เป็นปัจจัยแก่อกุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย อกุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็น วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย
มรณาสันนอกุสลชวนะ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นวัตถุ ปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน


หน้า ๙๖

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย

อนึ่ง ในนิสสยปัจจัย มีการแสดงอีกนัยหนึ่ง โดยรวมสหชาตนิสสยปัจจัยกับ วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย เข้าด้วยกัน และเรียกว่า มิสสกบท มิสสกบทนี้จำแนก เป็น ๒ วาระ คือ

ก. กุสลด้วยอพยากตะด้วย เป็นปัจจัยแก่กุสล โดยอำนาจแห่งสหชาตนิสสย ปัจจัย และวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

มีความหมายว่า กุสลจิต ๒๑ คือ กุสลนามขันธ์ ๔ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งและ หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ เป็นสหชาตนิสสย และวัตถุปุเรชาตนิสสย ปัจจัย กุสลนามขันธ์ที่เหลือเป็นสหชาตนิสสยและวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

ข. อกุสลด้วย อพยากตะด้วย เป็นปัจจัยแก่อกุสล โดยอำนาจแห่งสหชาต นิสสยปัจจัยและวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

มีความหมายว่า อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ๔ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง และ หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ เป็นสหชาตนิสสยและวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย อกุสลนามขันธ์ที่เหลือ เป็นสหชาตนิสสยและวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจยุบบันน

ทั้ง ๒ วาระนี้ จะยกขันธ์เดียว หรือ ๒ ขันธ์ หรือ ๓ ขันธ์ เป็นปัจจัยก็ตาม ขันธ์ที่เหลือเท่าไรก็ตามก็เป็นปัจจยุบบันนเสมอไป


วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย

๑. วัตถารัมมณปุเรชาต หมายความว่า หทยวัตถุที่เกิดก่อน ซึ่งเป็นอารมณ์ ด้วยนั้น เป็นที่ตั้งที่อาศัยแก่จิตที่เกิดทีหลัง


หน้า ๙๗

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอารัมมณชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรม ซึ่งช่วยอุปการะแก่ ปัจจยุบบันนธรรมนั้นได้แก่ อารมณ์นั่นเอง

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังอยู่ในระหว่างฐีติ ขณะ ยังไม่ถึง ภังคขณะ

๕. สัตติ มีทั้งชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอย หลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิตที่เหลืออีก ๑๖ ขณะนั้น คือ มโนทวารา วัชชนจิต ๑, กามชวนจิต ๒๙,
ตทาลัมพนจิต ๑๑ และ อภิญญาจิต ๒ (เฉพาะ อิทธิวิธอภิญญาเท่านั้น) ขณะที่เอาหทยวัตถุเป็นอารมณ์

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙ ในเวลาที่ไม่ได้เอาหทยวัตถุเป็นอารมณ์ และรูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับ ถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ
เป็นปัจจัย จิตที่เหลืออีก ๑๖ ขณะ (เว้นกุสลชวนะ และอกุสลชวนะ) อันได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑, หสิตุปปาทจิต ๑, มหากิริยา จิต ๘, ตทาลัมพนจิต ๑๑ และ อิทธิวิธอภิญญากิริยาจิต ๑ เป็นปัจจยุบบันน

(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอย หลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็นปัจจัย มรณาสันนกุสลชวนจิต ๕ ขณะ อันได้แก่ มหากุสลจิต ๘ และอิทธิวิธอภิญญากุสลจิต ๑ เป็นปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอย หลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็นปัจจัย มรณาสันนอกุสลชวนจิต ๕ ขณะ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. วัตถารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. วัตถารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๙๘


๙. อุปนิสสยปัจจัย

อุปนิสสยปัจจัยนี้ จำแนกได้เป็น ๓ คือ

ก. อารมณ์ชนิดที่เป็นอธิบดีด้วย เป็นที่อาศัยอันมีกำลังอย่างแรงกล้าด้วย ช่วย อุปการะให้เกิด
ปัจจยุบบันนธรรมขึ้น อย่างนี้เรียกว่า อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

ข. ธรรมที่เป็นที่อาศัยอันมีกำลังอย่างแรงกล้าด้วย และช่วยอุปการะให้ปัจจ ยุบบันนธรรมเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่นด้วย อย่างนี้เรียกว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย

ค. ธรรมที่เป็นที่อาศัยมีกำลังอย่างแรงกล้า โดยอำนาจแห่งสภาพของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจแห่งอารัมมณปัจจัย และ อนันตรปัจจัยเลย อย่างนี้เรียกว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย

อนึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่ให้เกิดปัจจยุบบันนธรรมได้มากกว่าปัจจัย อื่น ๆ องค์ธรรมก็มากมายหลายอย่าง จนถึงกับได้ชื่อว่า มหาปเทสปัจจัย ดังมีบาลี ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกาแสดงว่า  

ปจฺจยมหาปเทโส เหส ยทิทํ ปกตูปนิสฺสโย  

ซึ่งแปลว่า ปกตูปนิสสยปัจจัยนี่แหละ เรียกว่า ปัจจัยมหาปเทส


อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

อารัมมณูปนิสสยปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมดเหมือน กับอารัมมณาธิปติปัจจัย

๑. อารมณ์ ต้องเป็นอารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเอาใจใส่เป็นพิเศษด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เอาใจใส่อย่างธรรมดา

๒. ประเภท นามรูป เป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอารัมมณชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นได้แก่ อารมณ์นั่น เอง (แต่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษด้วย)

๔. กาล เป็นได้ทั้ง อดีต อนาคต ปัจจุบัน และ กาลวิมุตติ

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ นิปผันนรูป ๑๘ ที่เป็นอิฏฐารมณ์, จิต ๘๔ (เว้นโทสจิต ๒ โมหจิต ๒ ทุกขกายวิญญาณ ๑), เจตสิก ๔๗ (เว้นโทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา) และ นิพพาน

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, มหากุสล ๘, มหากิริยา ญาณสัมปยุตต ๔, โลกุตตรจิต ๘, เจตสิก ๔๕ (เว้น โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา อัปปมัญญา ๒)

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ และรูปทั้งหมด ที่ไม่เป็นอิฏฐารมณ์

๗. ความหมายโดยย่อ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย มี ๗ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว อันได้แก่ กุสลจิต ๒๐ (เว้นอรหัตตมัคค) ซึ่งทำให้ซาบซึ้งตรึงใจเป็นพิเศษก็ดี ฌานที่ได้ที่ถึงแล้ว อันได้แก่ มหัคคตกุสลจิต ๙ ก็ดี โคตรภูและโวทาน อันได้แก่ มหากุสลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ก็ดี และมัคคจิตเบื้องต่ำ ๓ อันเกิดขึ้นแล้วแก่พระเสกขบุคคลก็ดี ธรรมเหล่านี้เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย มหากุสลจิตที่พิจารณาธรรมนั้น ๆ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล กุสลที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว อันได้แก่ โลกียกุสล ๑๗ เมื่อนึกถึงกุสลเหล่านี้โดยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย อาจทำให้เกิด ราคะ ทิฏฐิ ได้ ราคะ ทิฏฐิ คือ อกุสลจิตที่เกิดขึ้นโดยอารมณ์เหล่านี้ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสล คือ อรหัตตมัคค ๑ เป็นอารัมมณา ธิปติปัจจัย มหากิริยาจิต(ในปัจจเวกขณะวิถี) ที่พิจารณาอรหัตตมัคคนั้น เป็นอารัมม ณาธิปติปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล ผู้ที่เพลิดเพลินต่อราคะ ต่อทิฏฐิ โดยความเอา ใจใส่เป็นพิเศษ อันได้แก่ โลภจิต ๘ ดวงนั้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ทำให้เกิด ราคะ ทิฏฐิ ขึ้นอีก ราคะ ทิฏฐิ อันได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ที่เกิดขึ้นอีกนี่แหละ เป็น อารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๕) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อรหัตตผลจิตก็ดี นิพพานก็ดี เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย มหากิริยาจิต (ในปัจจเวกขณะวิถี) ที่พิจารณาอรหัตตผลจิตก็ดี พิจารณานิพพานก็ดี เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๖) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล ผลจิตเบื้องต่ำ ๓ ก็ดี นิพพานก็ดี เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย มหากุสลจิตของพระเสกขบุคคล ๓ ที่พิจารณา(ปัจจเวกขณะ) ผลจิตก็ดี นิพพานก็ดี เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

นิพพาน เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย โคตรภูของติเหตุกปุถุชน โวทาน ของ พระเสกขบุคคล ๓ อันได้แก่ มหากุสลญาณสัมปยุตต ๔ และมัคคจิต ๔ ของมัคค บุคคล ๔ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล เอาใจใส่เป็นพิเศษในวัตถุ ๖, กามอารมณ์ ๕, โลกียวิบาก ๓๑ (เว้นทุกขสหคตกายวิญญาณ ๑) และ กิริยาจิต ๒๐ เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย เกิดความเพลิดเพลิน มีราคะ
ทิฏฐิ อันได้แก่ โลภจิต ๘ ขึ้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๖. อารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย


อนันตรูปนิสสยปัจจัย

อนันตรูปนิสสยปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือน กับอนันตรปัจจัย

๑. อนันตร หมายถึงว่า ไม่มีระหว่างคั่น

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอนันตรชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นช่วยอุปการะให้ปัจจ ยุบบันนธรรมเกิดโดยไม่มีระหว่างคั่น

๔. กาล เป็นอดีตกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นต้องดับไปเสียก่อน จึง จะช่วยอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดได้

๕. สัตติ เป็นชนกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดก่อน (เว้นจุติจิต ของพระอรหันต์)

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง รวมทั้ง จุติจิตของพระอรหันต์ด้วย

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ รูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ อนันตรูปนิสสยปัจจัยนี้ เกี่ยวแก่วิถีจิตเป็นอย่างมาก ถ้าได้นึกถึงวิถีจิตมาพิจารณา
ร่วมพร้อมกับปัจจัยนี้ด้วย ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ ได้เป็นอย่างดี ปัจจัยนี้มี ๗ วาระ คือ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล โลกียกุสลชวนะ ๑๗ ดวงที่เกิดก่อน (เว้นชวนะ ดวงสุดท้าย) เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย กุสลชวนะที่เกิดทีหลัง(เว้นชวนะดวงแรก) อันได้แก่ กุสลชวนะ ๒๑ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน มีรายละเอียด เช่น

มหากุสล ๘ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย มหากุสล ๘ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

มหากุสล ๔ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย มัคคจิต ๔ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

มหากุสล ๔ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย มหัคคตกุสล ๙ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

มหัคคตกุสล ๙ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย มหัคคตกุสล ๙ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลชวนะ ๒๑ ดวงสุดท้ายเป็น อนันตรูป นิสสยปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑, มหัคคตวิบาก ๙, ผลจิต ๔ เป็นอนันตรูปนิสสย ปัจจยุบบันน มีรายละเอียด เช่น

มหากุสล ๘ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ตทาลัมพนะ๑๑ ภวังคจิต ๑๙ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

มหัคคตกุสล ๙ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ติเหตุกภวังคจิต ๑๓ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

มัคคจิต ๔ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ผลจิต ๔ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

อนุโลมญาณ ๓ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ผลสมาบัติ ๓ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

เนวสัญญาฯกุสล ๑ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย อนาคามิผล ๑ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

(๓) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลชวนะ ๑๒ ที่เกิดก่อน(เว้นดวงสุดท้าย) เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย อกุสลชวนะ ๑๒ ที่เกิดทีหลัง(เว้นดวงแรก) เป็นอนันต รูปนิสสยปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลชวนะ ๑๒ ดวงสุดท้าย เป็นอนันต รูปนิสสยปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑, มหัคคตวิบาก ๙, ภวังคจิต ๑๙ เป็นอนันตรูป นิสสยปัจจยุบบันน

(๕) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ (เว้นจุติจิตของพระ อรหันต์) กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดก่อน ๆ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย วิบากจิต ๓๖, กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดทีหลังนั้น เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

(๖) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นอนันตรูปนิสสย ปัจจัย ชวนะดวงที่ ๑ ของมหากุสลจิต ๘ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นอนันตรูป นิสสยปัจจัย ชวนะดวงที่ ๑ ของอกุสลจิต ๑๒ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๗ ปัจจัย คือ

๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย ๓. อนันตรูปนิสสยปัจจัย

๔. อาเสวนปัจจัย ๕. นานักขณิกกัมมปัจจัย ๖. นัตถิปัจจัย

๗. วิคตปัจจัย


หน้า ๙๙


ปกตูปนิสสยปัจจัย

๑. ปกตูปนิสสย มีความหมายว่า การอิงอาศัยที่มีกำลังอย่างแรงกล้านั้น เป็น ไปอย่างปกติตามธรรมดาของสภาพธรรมนั้น ๆ เอง

๒. ประเภท บัญญัติ นาม รูป เป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นปกตูปนิสสยชาติ ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ สุทธปกตูปนิสสยชาติ และ
มิสสกปกตูปนิสสยนานักขณิกกัมมชาติ

สุทธปกตูปนิสสยชาติ หมายความว่า จิต เจตสิก ที่เกิดก่อน ๆ และ รูป บัญญัติที่มีกำลังมาก (พลวะ)
นั้นช่วยอุปการะแก่จิต เจตสิก ที่เกิดทีหลัง

มิสสกปกตูปนิสสยนานักขณิกกัมมชาติ หมายความว่า กุสลกรรม อกุสล กรรม ที่มีกำลังมาก (เว้นมัคคเจตนา) นั้นช่วยอุปการะแก่ วิบากนามขันธ์

๔. กาล เป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต และกาลวิมุตติ

๕. สัตติ มีชนกสัตติแต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดก่อนๆ, รูป ๒๘ และบัญญัติที่เป็นชนิดที่มีกำลังมาก (บัญญัตินั้นเว้น อสุภบัญญัติ, กสิณบัญญัติ, โกฏฐาสบัญญัติ, อานาปานบัญญัติ, อากาสบัญญัติ, นามบัญญัติ เป็นต้น)

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ รูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ ปกตูปนิสสยปัจจัย มี ๙ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลจิต ๒๐ (เว้นอรหัตตมัคคจิต ๑) ที่มีกำลัง อย่างแรงกล้าเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
กุสลจิต ๒๑ ที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้น เป็น ปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน เช่น

สัทธา สีล สุตะ จาคะ ปัญญา อันได้แก่ มหากุสลจิต ๘ เป็นปกตูปนิสสย ปัจจัย กุสลจิต ๒๑ คือ การบำเพ็ญทาน สีล ภาวนา ที่เกิดขึ้นจากกุสลที่เป็นปัจจัย นั้นตามควรแก่การกระทำนั้น ๆ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

มหากุสล ที่เจริญสมถภาวนา เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ฌานจิตที่เกิดขึ้นเพราะ การเจริญภาวนานั้น เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

ฌานจิตเบื้องต่ำ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ฌานจิตเบื้องสูงไปตามลำดับ เป็น ปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

มหากุสลในอธิฏฐานวิถีที่ปรารถนาจะให้อภิญญาจิตเกิด เป็นปกตูปนิสสย ปัจจัย ปัญจมฌานกุสลจิตที่ให้อภิญญาจิตเกิดขึ้นนั้น เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

มหากุสลที่เจริญวิปัสสนาภาวนา เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย มัคคจิตที่เกิดขึ้น เพราะการเจริญภาวนานั้นเป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

มัคคจิตเบื้องต่ำ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย มัคคจิตเบื้องสูงไปตามลำดับ เป็น ปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

มัคคจิต เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ มี อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และ ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ อัน ได้แก่ ปัญญาในมหากุสล เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน


หน้า ๑๐๐


(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล โลกียกุสลจิต ๑๗ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้าเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ ที่เกิดโดยอาศัยกุสลนั้น เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน เช่น

อาศัย สัทธา สีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในโลกียกุสลจิต ๑๗ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีกำลังอย่างแรงกล้า เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้เกิดมี ราคะ ทิฏฐิ มานะ โมหะ และ โทมนัส ขึ้นได้ อกุสลจิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุดังกล่าวนี้แหละเป็นปกตูปนิสสย ปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลจิต ๒๑ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้า เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยแก่ วิบากนามขันธ์ ๔ (ตามอภิธรรมนัย) กุสลํกมฺมํ วิปากสฺสอุป นิส ย. ปจฺจเยนปจฺจโย กุสลกัมม เป็นปัจจัยแก่ กุสลกัมมชรูป (ตามสุตตันตนัย) เช่น

สัทธา สีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในกุสลจิต ๒๑ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้า เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ย่อมทำให้เกิด ทุกขกาย สุขกาย และ ผลสมาบัติ อันได้แก่ กายวิญญาณจิต ๒ ผลจิต ๔ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน และกุสลเจตนาอันแรง กล้าเป็นปัจจัย แก่กัมมชรูป (อสัญญีสัตว์)

มหากุสลเจตนา ๘ ในอดีตภพ นับถอยหลังตั้งแต่ชาติที่ ๒ เป็นต้นไป มหัคคตกุสลเจตนา ๙ ในอดีตภพ
เฉพาะชาติที่ ๒ และมัคคเจตนาในชาตินี้ เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย กุสลวิบากจิต ๒๙ คือ อเหตุกกุสลวิบากจิต ๘
มหาวิบาก ๘ มหัคคตวิบาก ๙ และผลจิต ๔ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

อรหัตตมัคคจิต ๑ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้า เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย การเข้า ฌานสมบัติ อันได้แก่ มหัคคตกิริยาจิต ๙ ก็ดี , การพิจารณาสังขารโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันได้แก่ มหากิริยา ๘ ก็ดี การบรรลุปฏิสัมภิทาญาณ
อันได้แก่ ปัญญาในมหากิริยาก็ดี และ อภิญญากิริยาจิต ๑, ก็ดี เหล่านี้เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

มัคคจิต ๔ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ผลจิต ๔ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน


หน้า ๑0

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลจิต ๑๒ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้าเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน ข้อนี้มีรายละเอียด มากมาย แต่รวมได้ความว่า

อาศัย ราคะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะ เป็นต้น อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ หรือ อกุสลกรรมบถ ๑๐ ประการที่มีกำลังอย่างแรงกล้า เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ก่อให้ เกิด ทุจจริตทางกายกรรม ๓ ทางวจีกรรม ๔ ทางมโนกรรม ๓ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ นั่นเอง เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน


(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล อกุสลจิต ๑๒ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้าเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย กุสลจิต ๒๑ เป็น ปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน เช่น มีราคะ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้า ปรารถนาภพที่ดี (ภวสมฺปตฺติ) ปรารถนา ทรัพย์สมบัติ (โภคสมฺปตฺติ) อันได้แก่ โลภมูลจิต นั่นเอง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย จึงทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อันได้แก่ มหากุสลจิต ๘ ก็ดี ยังฌาน
ให้เกิดขึ้น ยังสมาบัติให้เกิดขึ้น อันได้แก่ มหัคคตกุสลจิต ๙ ก็ดี ยังอภิญญาให้เกิดขึ้น อันได้แก่ รูปาวจรปัญจมฌานกุสลอภิญญาจิต ๑ ก็ดี ยังมัคคให้เกิดขึ้น อันได้แก่ มัคคจิต ๔ ก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่เป็น ปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน ทั้งนั้น

อาศัย โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้า ประกอบอกุสลกรรม แล้ว อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย มีความปรารถนาจะลบล้าง ผลของกรรมนั้น ๆ จึงทำทาน รักษาสีล เจริญภาวนา อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ ดังนี้ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน


(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลจิต ๑๒ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้าเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย วิบากจิต ๓๖
กิริยาจิต ๒๐ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน เช่น

บุคคลที่อาศัย โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และความปรารถนาในภวสมบัติ โภคสมบัติ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ ที่มีกำลังอย่างแรงกล้า เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ย่อมทำให้เกิดทุกขกาย สุขกายก็ดี เกิดผลจิต ๔ ก็ดี เกิด
อกุสลวิบากจิต ๗ ก็ดี เหล่านี้เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน


(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ กิริยาจิต ๒๐ และรูป ๒๘ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
วิบากจิต ๓๖ กิริยาจิต ๒๐ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบ บันน เช่น

ความสุขกาย ความทุกข์กาย อุตุ อาหาร เสนาสนะ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ช่วยอุปการะแก่ ความสุขกาย
ความทุกข์กาย ผลสมาบัติ (คือ ผลจิต ๔) เหล่านี้ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

ผลจิต ๔ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย สุขสหคตกายวิญญาณ เป็นปกตูปนิสสย ปัจจยุบบันน

พระอรหันต์ อาศัยความสุขกาย หรือทุกข์กาย ตลอดจนความเย็น ความร้อน อาหาร ที่อยู่อาศัย อันเป็นที่สบายและไม่สบาย เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ย่อมยัง สมาบัติที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ย่อมเข้าสมาบัติที่เกิดขึ้นแล้ว
อันได้แก่ มหัคคตกิริยา จิต ๙, ย่อมพิจารณาสังขาร โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันได้แก่ มหากิริยา ๘ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย


หน้า ๑0

(๘) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล วิบากจิต ๓๕ (เว้นอรหัตตผล ๑) กิริยาจิต ๒๐ รูป ๒๘ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
กุสลจิต ๒๑ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน เช่น

อาศัยความสุขกาย ทุกข์กาย อุตุ อาหาร เสนาสนะ อันเป็นที่สบายเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย สัทธา ได้แก่
สัทธาเจตสิก ๑, สีล ได้แก่ วีรตีเจตสิก ๓, สุตะ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑, จาคะ ได้แก่ อโลภเจตสิก ๑, ปัญญา ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑ ที่ในกุสลจิต ๒๑ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

อาศัยความสุขกาย ทุกข์กาย อุตุ อาหาร เสนาสนะ อันเป็นที่สบายเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยจึงทำทาน รักษาสีล เจริญภาวนา ยังฌานให้เกิดขึ้น ยังสมาบัติให้ เกิดขึ้น ยังอภิญญาให้เกิดขึ้น ยังมัคคให้เกิดขึ้น อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

(๙) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล โลกียวิบากจิต ๓๒ อาวัชชนจิต ๒ รูป ๒๘ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน

อาศัยความสุขกาย ทุกข์กาย อาศัย อุตุ อาหาร เสนาสนะ เป็นปกตูปนิสสย ปัจจัย จึงกระทำทุจจริตธรรม คือ อกุสลกรรมบถ ๑๐ มีกายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔ มโนทุจจริต ๓ อันได้แก่ อกุสล ๑๒ นั่นเอง เป็นปกตูปนิสสยปัจจยุบบันน


๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๒ ปัจจัยเท่านั้น คือ

๑. ปกตูปนิสสยปัจจัย ๒. นานักขณิกกัมมปัจจัย


หน้า ๑0

 

๑๐. ปุเรชาตปัจจัย

ปุเรชาตปัจจัยนี้ จำแนกได้เป็น ๒ คือ

ก. วัตถุที่เกิดก่อน และยังไม่ทันดับไป ได้ช่วยอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรม ได้เกิดขึ้น อย่างนี้ได้ชื่อว่า วัตถุปุเรชาตปัจจัย

ข. อารมณ์ เฉพาะแต่ที่เป็นรูปธรรม อย่างที่เรียกว่าปัจจยุบบันนนิปผันนรูป ที่เกิดก่อนและยังไม่ทันดับไป ได้ช่วยอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรมได้เกิดขึ้น อย่าง นี้เรียกว่า อารัมมณปุเรชาตปัจจัย


วัตถุปุเรชาตปัจจัย

วัตถุปุเรชาตปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมดเหมือนกับ วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัยทุกประการ

๑. วัตถุปุเรชาต หมายความว่า วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นวัตถุปุเรชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมซึ่งช่วยอุปการะแก่ ปัจจยุบบันนธรรมนั้น โดยการที่เป็นที่ตั้งด้วย และโดยการที่เกิดก่อนด้วย

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน หมายความว่า แม้ปัจจัยธรรมจะเกิดก่อน แต่ก็ยัง ไม่ทันดับไป คือ ยังอยู่ในระหว่างฐีติขณะ ยังไม่ทันถึงภังคขณะ

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ วัตถุ ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ ที่เกิดก่อนปัจจยุบบันน

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔) ทั้งที่แน่นอน และไม่แน่นอน ในปัญจโวการภูมิ ที่เป็นปวัตติกาล

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวารา วัชชนจิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑) รวมจิต ๔๖ ดวง ทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอน ปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ และรูปทั้งหมด

ที่ว่าทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอนนั้น เรื่องนี้ได้แสดงไว้ในปริจเฉทที่ ๓ ตอน วัตถุสังคหะ แล้ว แต่เพื่อทบทวนความจำ จึงขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีกว่า

(๑) ปัจจยุบบันนธรรมที่แน่นอน ได้แก่ โทสมูลจิต ๒, อเหตุกจิต ๑๗ (เว้น มโนทวาราวัชชนจิต ๑) มหาวิบาก ๘, รูปาวจรจิต ๑๕ และโสดาปัตติมัคคจิต ๑ รวมจิต ๔๓ ดวงนี้ ต้องอาศัยวัตถุเกิดอย่างแน่นอน

(๒) ปัจจยุบบันนธรรมที่ไม่แน่นอน ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวาราวัชชนจิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปกุสลจิต ๔, อรูป กิริยาจิต ๔ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑) รวมจิต ๔๒ ดวงนี้ ถ้าเกิดในปัญจโวการภูมิ ก็ต้องอาศัยวัตถุเกิด ถ้าเกิดในจตุโวการภูมิไม่ต้องอาศัยวัตถุ ก็เกิดได้

(๓) ปัจจนิกธรรมที่แน่นอน ได้แก่ อรูปวิบากจิต ๔ และ รูปทั้งหมดซึ่งเกิด ขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ จึงเป็นปัจจนิกธรรมที่แน่นอน

(๔) ปัจจนิกธรรมที่ไม่แน่นอน ก็คือ จิต ๔๒ ดวง ตามข้อ (๒) นั่นเอง ซึ่งจิต ๔๒ ดวงนี้ เกิดในปัญจโวการภูมิ ก็เป็นปัจจยุบบันนธรรม ถ้าเกิดในจตุโว การภูมิ ก็เป็นปัจจนิกธรรมไป จึงว่าไม่แน่นอน

๗. ความหมายโดยย่อ วัตถุปุเรชาตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ คือ


(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน เป็นวัตถุปุเรชาต ปัจจัย วิบากจิต ๓๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔), กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดทีหลังวัตถุ ๖ นั้น เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจยุบบันน เช่น

วัตถุ ๕ มีจักขุวัตถุ เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัย ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิตเป็นต้น เป็นวัตถุ ปุเรชาตปัจจัยวิบากจิต ๒๒ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูปวิบาก ๔) เป็นวัตถุปุเร ชาตปัจจยุบบันน หทยวัตถุ ที่เกิดอยู่ก่อนเวลาที่จะออกจากนิโรธสมาบัตินั้น เป็นวัตถุปุเรชาต ปัจจัย อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑ ที่เกิดขึ้นในขณะออกจากนิโรธสมาบัตินั้น เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจยุบบันน

วัตถุ ๖ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตปัจจัย จิตที่เกิดพร้อมกับวัตถุ ๖ ที่เหลือ ๑๖ ขณะ อันได้แก่ โลกีย วิบากจิต ๒๘ (เว้นอรูปวิบาก ๔) กิริยาจิต ๒๐ เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจยุบบันน


(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มีอาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัย กุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ ที่เกิดทีหลัง เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะเป็นวัตถุ ปุเรชาตปัจจัย
มรณาสันนกุสลชวนะ อันได้แก่ โลกียกุสลจิต ๑๗ เป็นวัตถุปุเรชาต ปัจจยุบบันน


(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัย อกุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตปัจจัย
มรณาสันนอกุสลชวนะ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นวัตถุปุเร ชาตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย


อารัมมณปุเรชาตปัจจัย

๑. อารัมมณปุเรชาต หมายความว่า อารมณ์เฉพาะที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น และเกิดก่อนปัจจยุบบันนธรรมด้วย

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอารัมมณชาติ หมายความว่า ปัจจัยนั้นได้แก่อารมณ์ และในที่นี้ หมายเฉพาะอารมณ์ที่เป็นนิปผันนรูปเท่านั้น

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า แม้อารมณ์นั้นจะเกิดก่อน แต่ก็ยัง คงมีอยู่ ยังไม่ทันดับไป คือยังอยู่ใน ฐีติขณะ จึงจะเป็นปัจจัยได้

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่เป็น นิปผันนรูป ๑๘ และยัง อยู่ในระหว่างฐีติขณะ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ กามจิต ๕๔ อภิญญาจิต ๒ เจตสิก ๕๐ (เว้นอัปปมัญญา) ที่เกิดจากปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๗๖(เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนธาตุ ๓) ที่ไม่ได้เกิดจากอารมณ์ ๖ ที่เป็นปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ และรูปทั้งหมด


หน้า ๑0

๗. ความหมายโดยย่อ อารัมมณปุเรชาตปัจจัย นี้มี ๓ วาระ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อารมณ์ ๖ คือปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย
กามวิบากจิต ๒๓ กามกิริยาจิต ๑๑ กิริยาอภิญญาจิต ๑ เจตสิก ๓๕ (เว้นวิรตี) เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน เช่น รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย

ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนธาตุ ๓ เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน

ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย มโนทวาราวัชชนจิต ๑, กามกิริยาชวนะ ๙, ตทาลัมพนะ ๑๑ เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน

พระอรหันต์พิจารณา จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏ ฐัพพะ และหทยวัตถุ โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปเหล่านี้ที่เป็นปัจจุบัน เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย มหากิริยาจิต ๘ ที่พิจารณารูปเหล่านี้ เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน

พระอรหันต์เห็นรูปด้วยทิพพจักขุ ได้ยินเสียงด้วยทิพพโสต รูปและเสียงนั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย กิริยาอภิญญาจิตของพระอรหันต์ ที่เห็นรูปนั้น ที่ได้ ยินเสียงนั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน


(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล อารมณ์ ๖ คือ ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย มหากุสล ๘, กุสลอภิญญา ๑, เจตสิก ๓๖ (เว้น อัปปมัญญา) เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน เช่น

พระเสกขบุคคลและปุถุชนทั้งหลายพิจารณา จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และหทยวัตถุ โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปเหล่านี้ที่เป็นปัจจุบัน เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย มหากุสลจิต ๘ ที่พิจารณารูป เหล่านี้เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน

พระเสกขบุคคลและปุถุชนทั้งหลาย เห็นรูปด้วยทิพพจักขุ ได้ยินเสียงด้วย ทิพพโสต รูปและเสียงนั้นเป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย กุสลอภิญญาจิตที่เห็นรูปนั้น ที่ได้ยินเสียงนั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน


หน้า ๑0

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล อารมณ์ ๖ คือ ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย
อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ เป็นอารัมมณปุเรชาต ปัจจยุบบันน เช่น

ยินดีเพลิดเพลินต่อ จักขุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และหทยวัตถุ เมื่อนึกถึงรูปเหล่านี้แล้วมี ราคะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ และโทมนัสเกิดขึ้น รูปเหล่านี้ที่เป็นปัจจยุบบันน เช่น อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ราคะ ทิฏฐิเป็นต้นที่เกิดขึ้นอันได้แก่อกุสลจิต ๑๒ นั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจยุบบันน


๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย

๕. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ๖. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย


๑๑. ปัจฉาชาตปัจจัย

เมื่อกล่าวมาถึงปัจจัยที่ ๑๑ นี้ก็จะเห็นได้ว่าคำว่า ชาตะ มีอยู่ ๓ ปัจจัย คือ สหชาตะ ปุเรชาตะ และปัจฉาชาตะนี้
อันคำว่า ชาตะ ในปัจจัย ๒๔ นี้มีความ หมายถึง ๓ อย่าง คือ

สหชาตะ ได้แก่ นาม รูป ที่เกิดอยู่ใน อุปาทะ ฐีติ ภังคะ

ปุเรชาตะ ได้แก่ รูป ที่เกิดอยู่ในฐีติขณะเท่านั้น

ปัจฉาชาตะ ได้แก่ นามที่เกิดอยู่ใน อุปาทะ และฐีติขณะ


๑. ปัจฉาชาตะ หมายความถึงนามที่เกิดทีหลัง ช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดก่อน

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นปัจฉาชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นเกิดทีหลังแล้วช่วย อุปการะแก่ปัจจยุบบันนธรรมที่เกิดก่อน

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังไม่ดับไป

๕. สัตติ มีอำนาจเป็น อุปถัมภกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔ และปฏิสนธิ จิต) เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง มีปฐมภวังคจิต เป็นต้น ที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ รูป ที่เป็นฐีติปัตตะ ที่เกิดพร้อมกับขณะทั้ง ๓ ของจิตที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูปขณะที่เกิดขึ้น (อุปาทขณะของรูป), พาหิรรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป


หน้า ๑0

๗. ความหมายโดยย่อ ปัจฉาชาตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๘ ที่เกิดทีหลังในปัญจโวการภูมิ เป็นปัจฉาชาตปัจจัย รูป ๒๘ คือ ติชกาย ได้แก่ กัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป ในรูปภูมิ, จตุชกาย ได้แก่ กัมมชรูป
จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป ในกามภูมิ ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป จึงเกิดมาพร้อม กับจิตดวงก่อน ๆ เป็นปัจฉาชาตปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ ที่เกิดทีหลังเป็นปัจฉาชาตปัจจัย รูป ๒๘ คือติชกาย จตุชกายที่กำลัง ถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ เป็นปัจฉาชาตปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากนามขันธ์ ๔ ได้แก่ วิบากจิต ๓๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔ และปฏิสนธิจิต), กิริยานามขันธ์ ๔ ได้แก่ กิริยาจิต ๒๐ เจตสิก ๓๘ ที่เกิดทีหลัง เป็นปัจฉาชาตปัจจัย เอกชกาย ได้แก่ ปฏิสนธิกัมมชรูป, ทวิชกาย ได้แก่ กัมมชรูป อุตุชรูป, ติชกาย ในปัญจโวการรูปภูมิ จตุชกาย ในกามภูมิ ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น เป็นปัจฉาชาตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๔ ปัจจัย คือ

๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ๒. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย

๓. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย


๑๒. อาเสวนปัจจัย

อาเสวนปัจจัย หมายถึง การเสพบ่อย ๆ ในวิถีหนึ่ง ๆ การเสพบ่อย ๆ แต่ละ วิถีนั้นก็มีจิตที่ทำกิจนี้ คือ ชวนจิต ๕๕ ดวงเท่านั้นเอง แต่จะต้องประกอบด้วย ลักษณะ ๓ อย่าง ดังต่อไปนี้ด้วย คือ

ก. ต้องเป็นจิตชาติเดียวกัน

ข. ต้องเกิดซ้ำกันอย่างน้อย ๔ หรือ ๕ ขณะ

ค. ต้องไม่ใช่วิบากชวนจิต ถ้าไม่ครบลักษณะทั้ง ๓ นี้ด้วยแล้ว ก็ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย

๑. อาเสวนะ หมายความว่า เสพบ่อย ๆ


หน้า ๑0

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอนันตรชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นช่วยอุปการะให้ปัจจ ยุบบันนธรรมเกิดโดยไม่มีระหว่างคั่น

๔. กาล เป็นอดีตกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นจะต้องดับไปเสียก่อน จึงจะอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดขึ้นได้

๕. สัตติ มีอำนาจอย่างเดียว คือ ชนกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ โลกียชวนจิต ๔๗ ที่เกิดก่อน ๆ (เว้นชวนะ ดวงสุดท้าย) ที่เป็นชาติเดียวกัน เจตสิก ๕๒

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ชวนจิต ๕๑ ที่เกิดหลัง ๆ(เว้นชวนดวงที่ ๑ และผลชวนจิต ๔) เจตสิก ๕๒

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ชวนจิตดวงที่ ๑ ของกามชวนจิต ๒๙, อาวัชชน จิต ๒, วิบากจิต ๓๖, เจตสิก ๕๒ และรูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ อาเสวนปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล โลกียกุสลชวนจิต ๑๗ ที่เกิดก่อน ๆ (เว้นชวนะ ดวงสุดท้าย) เป็นอาเสวนปัจจัย กุสลชวนจิต ๒๑ ที่เกิดหลัง ๆ(เว้นชวนะดวงที่ ๑) เป็นอาเสวนปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลชวนจิต ๑๒ ที่เกิดก่อน ๆ (เว้นชวนะ ดวงสุดท้าย) เป็นอาเสวนปัจจัย อกุสลชวนจิต ๑๒ ที่เกิดหลัง ๆ (เว้นชวนะดวงที่ ๑) เป็นอาเสวนปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กิริยาชวนจิต ๑๘ ที่เกิดก่อน ๆ (เว้น ชวนะดวงสุดท้าย) เป็นอาเสวนปัจจัย กิริยาชวนจิต ๑๘ ที่เกิดหลัง ๆ (เว้นชวนะ ดวงที่ ๑) เป็นอาเสวนปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๖ ปัจจัย คือ ๑. อาเสวนปัจจัย ๒. อนันตรปัจจัย ๓. สมนันตรปัจจัย ๔. อนันตรูปนิสสยปัจจัย ๕. นัตถิปัจจัย ๖. อวิคตปัจจัย


หน้า ๑0

๑๓. กัมมปัจจัย

กรรม หมายถึง การจงใจกระทำ องค์ธรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก ดังที่ อัฏฐ สาลินีอรรถกถาแสดงไว้ว่า

เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กาเยน วาจาย มนสา

ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ภิกษุทั้งหลาย เรา(ตถาคต) กล่าวว่า เจตนานั่นแหละ เป็นกรรม เมื่อมีเจตนาแล้ว บุคคลย่อมกระทำกรรมโดยทางกาย ทางวาจา และทางใจ


เจตนา ที่เป็นตัวกรรมนั้น มี กิจฺจ หรือ สตฺติ อำนาจหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

๑. เจตนา คือ ความจงใจในสัมปยุตตธรรม ที่เป็น กุสล อกุสล วิบาก กิริยา ทุก ๆ ขณะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัจจัย ช่วยอุปการะให้เกิดกุสลนามขันธ์ ๔, อกุสล นามขันธ์ ๔, วิบากนามขันธ์ ๔ และ กิริยานามขันธ์ ๔ ดังนี้เรียกตาม กิจ
หรือ สัตติ คือ อำนาจหน้าที่ว่าเป็น สังวิธานกิจ หมายความว่า จงใจปรุงแต่ง จัดแจง ให้สำเร็จกิจนั้น ๆ เรียกตามปัจจัย คือตามความอุปการะช่วยเหลือก็เป็น สหชาตกัมมปัจจัย หมายถึง เจตนาที่เกิดพร้อมในขณะเดียวกันกับสัมปยุตตธรรม คือ เกิด ในกาลปัจจุบัน


๒. เจตนา คือ ความจงใจในสัมปยุตตธรรม เฉพาะที่เป็นกุสลและอกุสลเท่านั้น ที่ดับไปแล้ว แต่อำนาจแห่งเจตนานั้นเป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้เกิดผลวิบาก และกัมมชรูปในอนาคตอย่างนี้เรียกตามกิจหรือสัตติ อำนาจหน้าที่ว่าเป็น พีชนิธานกิจ หมายความว่า ยังให้เกิดพืชพันธุ์ขึ้น เรียกตามปัจจัย คือ ตามความอุปการะ ช่วยเหลือ ว่าเป็น นานักขณิกกัมมปัจจัย หมายถึงเจตนาที่เกิดในขณะที่ต่าง ๆ กัน เกิดในกาลอนาคต ที่เป็นปฏิสนธิกาลก็ได้ ที่เป็นปวัตติกาลก็ได้

รวมได้ความว่า กัมมปัจจัยนี้ จำแนกออกได้เป็น ๒ คือ สหชาตกัมมปัจจัย และ นานักขณิกกัมมปัจจัย แต่ละปัจจัยมีความหมายสั้น ๆ ดังนี้

ก. เจตนา ที่สัมปยุตตกับสหชาตธรรม เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นาม คือ จิต เจตสิก และแก่รูป ที่เกิดพร้อมกับเจตนานั้น อย่างนี้ได้ชื่อว่า สหชาตกัมมปัจจัย

ข. เจตนาที่ต่างขณะกัน คือ เจตนานั้น หรือกรรมนั้น หรือสหชาตกัมมนั้น ได้ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามและแก่รูปที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัย อำนาจแห่งกรรมที่ดับไปแล้วนั้น อย่างนี้ได้ชื่อว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย


หน้า ๑0

สหชาตกัมมปัจจัย

๑. สหชาตกัมม หมายความว่า เจตนาที่เกิดพร้อม

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมกับปัจจยุบบันนธรรม เกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียวกัน

๔. กาล เป็นปัจจุบัน หมายความว่าทั้งปัจจัยและปัจจยุบบันน ต่างก็ยังไม่ทัน ดับไป

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิก ๘๙ ที่ในจิต ๘๙

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๑(เว้นเจตนา) จิตตชรูป ปฏิสนธิกัมมชรูป

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ เจตนาเจตสิก ๘๙ ที่ในจิต ๘๙, และพาหิรรูป, อาหารชรูป, อุตุชรูป,
อสัญญสัตตกัมมชรูป, ปวัตติกัมมชรูป

๗. ความหมายโดยย่อ สหชาตกัมมปัจจัยนี้มี ๗ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล เจตนาเจตสิก ๒๑ ที่ในกุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาต กัมมปัจจัย กุสลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๗ (เว้นเจตนา) เป็นสหชาตกัมมปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ เจตนาเจตสิก ๒๑ ที่ในกุสลจิต ๒๑ ใน ปัญจโวการภูมิ เป็นสหชาตปัจจัย จิตตชรูปที่มีกุสลนามขันธ์ ๔ เป็นสมุฏฐานนั้น เป็นสหชาตกัมมปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย เจตนาเจตสิก ๒๑ ที่ใน กุสลจิต ๒๑ ในปัญจโวการภูมิ เป็นสหชาตกัมมปัจจัย กุสลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๗ (เว้นเจตนา) ด้วย และจิตตชรูป ซึ่งมีกุสลนามขันธ์ ๔ เป็นสมุฏฐานนั้นด้วย เป็นสหชาตกัมมปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล เจตนาเจตสิก ๑๒ ที่ในอกุสลจิต ๑๒ เป็น สหชาตกัมมปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๖ (เว้นเจตนา) เป็นสหชาตกัมม ปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ เจตนาเจตสิก ๑๒ ที่ในอกุสลจิต ๑๒ ใน ปัญจโวการภูมิ เป็นสหชาตกัมมปัจจัย จิตตชรูป ซึ่งมีอกุสลนามขันธ์ ๔ เป็นสมุฏ ฐานนั้น เป็นสหชาตกัมมปัจจยุบบันน


หน้า ๑๑0

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย เจตนาเจตสิก ๑๒ ที่ใน อกุสลจิต ๑๒ ในปัญจโวการภูมิ เป็นสหชาตกัมมปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๖ (เว้นเจตนา) ด้วย และจิตตชรูป ซึ่งมีอกุสลนามขันธ์ ๔ เป็นสมุฏฐานนั้นด้วย เป็นสหชาตกัมมปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ เจตนาเจตสิกที่ในวิบากจิต ๓๖ และ ที่ในกิริยาจิต ๒๐ ในปวัตติกาล และในปฏิสนธิกาลตามสมควร เป็นสหชาตกัมมปัจจัย วิบากจิต ๓๖ กิริยาจิต ๒๐ เจตสิก ๓๗(เว้นเจตนา) วิบากจิตตชรูป กิริยาจิตตชรูป ในปวัตติกาล และปฏิสนธิกัมมชรูป ในปฏิสนธิกาล เป็นสหชาตกัมมปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๑๐ ปัจจัย คือ

๑. สหชาตกัมมปัจจัย ๒. สหชาตปัจจัย ๓. อัญญมัญญปัจจัย

๔. สหชาตนิสสยปัจจัย ๕. วิปากปัจจัย ๖. นามอาหารปัจจัย

๗. สัมปยุตตปัจจัย ๘. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย ๙. สหชาตัตถิปัจจัย

๑๐. สหชาตอวิคตปัจจัย


นานักขณิกกัมมปัจจัย

เมื่อขณะกระทำทุจจริตก็ดี สุจริตก็ดี เจตนาที่เกิดพร้อมกับอกุสลจิตหรือกุสล จิตนั้น เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ครั้นอกุสลจิตหรือกุสลจิตพร้อมด้วยเจตนานั้น ๆ ดับ ไปแล้ว เจตนานั้นก็มีสภาพกลับกลายเป็น นานักขณิกกัมมปัจจัย มีอำนาจหน้าที่ ให้บังคับผลแก่ผู้นั้นในอนาคตกาล ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งในปวัตติกาล และ ปฏิสนธิกาล

นานักขณิกกรรม ที่เป็นกุสล อกุสลนั้น มีอยู่ในสันดานด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อ ขณะที่จะส่งผลให้ปรากฏขึ้น ย่อมอาศัย กาล คติ อุปธิ และ ปโยคะ เป็นเครื่อง ประกอบด้วย คือ

ก. กาล หมายถึง คราว สมัย ในสมัยใดที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ผู้ปกครอง ประเทศปกครองด้วยความมีสีลธรรมเป็นที่ตั้ง อย่างนี้เรียกว่า กาลสัมปัตติ ถ้าเป็น ไปอย่างตรงกันข้าม ก็เรียกว่า กาลวิปัตติ

ข. คติ หมายถึงว่า ผู้ที่เกิดอยู่ในสุคติภูมิ มีมนุษย์ เทวดา พรหม ก็เรียกว่า คติสัมปัตติ ผู้ที่เกิดในทุคคติภูมิ เป็นสัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย เหล่านี้ เรียกว่า คติวิปัตติ


หน้า ๑๑๑

ค. อุปธิ หมายถึง ผู้มีอวัยวะ หรือ อายตนะ มีหู ตา เป็นต้น ครบถ้วน บริบูรณ์ เรียกว่า อุปธิสัมปัตติ ถ้าขาดตกบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ก็เรียกว่า อุปธิวิปัตติ

ง. ปโยคะ หมายถึง ความเพียร ผู้ที่เพียรชอบ ประกอบแต่กาย วาจา ใจ สุจริต เช่นนี้เรียกว่า ปโยคสัมปัตติ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็เรียกว่า ปโยควิปัตติ

ในปวัตติกาล ขณะใดเป็นผู้มีสัมปัตติ ขณะนั้นนานักขณิกกรรมกุสล ย่อมได้ โอกาสที่จะส่งผลให้ผู้นั้นได้ประสบกับอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ พร้อมทั้งได้รับกัมมช รูป อันเป็นที่น่ารักน่าปรารถนา ถ้าขณะใดมีวิปัตติ ขณะนั้นนานักขณิกกรรมที่เป็น อกุสล ย่อมได้โอกาสส่งผลให้ผู้นั้นประสบกับอนิฏฐารมณ์ พร้อมทั้งได้รับกัมมชรูป ที่ไม่น่ารักน่าปรารถนา

ส่วนในปฏิสนธิกาล สัตว์ทั้งหลายย่อมได้รับทันที ในขณะที่ปฏิสนธิ คือ อกุสลนานักขณิกกรรมก็ส่งผลให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ถ้าเป็นกุสลนานักขณิกกรรม ก็ส่งผลให้ปฏิสนธิเป็น มนุษย์ เทวดา พรหม ตามสมควรแก่กรรมของตนในอดีต

๑. นานักขณิกกรรม หมายความว่า เจตนาในขณะที่ต่างกัน

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ ในปัจจัยนี้ มีถึง ๓ ชาติ คือ

ก. อนันตรูปนิสสยปกตูปชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมกับปัจจยุบบันน ธรรมนั้นเกิดติดต่อกัน โดยไม่มีระหว่างคั่นนั้นอย่างหนึ่ง ปัจจัยธรรมนี้เป็นที่อาศัย อันมีกำลัง อย่างแรงกล้าแก่ปัจจยุบบันนธรรมอย่างหนึ่ง และปัจจัยธรรมอันเป็นที่ อาศัยอย่างแรงกล้าที่ได้ทำมาแล้วด้วยดีนั้น ช่วยอุปการะแก่ปัจจยุบบันนธรรมอีก
อย่างหนึ่ง ทั้ง ๓ นี้ ได้แก่ มัคคเจตนาที่เป็นปัจจัยให้เกิดผลจิต

ข. ปกตูปนิสสยชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมอันเป็นที่อาศัยอย่างแรงกล้า ที่ ได้ทำมาแล้วด้วยดีนั้น ช่วยอุปการะแก่ปัจจยุบบันนธรรมให้เกิดขึ้น ได้แก่ เจตนา เจตสิกที่มีกำลังมากช่วยอุปการะให้เกิดวิบากนามขันธ์ ๔

ค. นานักขณิกกัมมชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมที่เป็นอดีต คือ ที่ดับไป แล้วนั้น มีอำนาจให้เกิดปัจจยุบบันนธรรมในภายหลัง ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่มีกำลัง น้อย(ทุพละ) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กามวิบากจิตให้เกิดขึ้น และเจตสิกที่มีกำลัง มาก(พลวะ) และกำลังน้อย(ทุพละ) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กัมมชรูปให้เกิดขึ้น

๔. กาล เป็นอดีตกาล


หน้า ๑๑๒

๕. สัตติ เป็นชนกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ในอกุสลจิต ๑๒ และที่ใน กุสลจิต ๒๑ ที่เป็นอดีต คือที่ได้ดับไปแล้ว

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ วิบากจิต ๓๖ เจตสิก ๓๘ ปฏิสนธิกัมมช รูป อสัญญสัตตกัมมชรูป ปวัตติกัมมชรูป

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ กุสลจิต ๒๑ กิริยาจิต ๒๐ เจตสิก ๕๒ จิตตชรูป พาหิรรูป อาหารชรูป อุตุชรูป

๗. ความหมายโดยย่อ นานักขณิกกัมมปัจจัยนี้ มี ๒ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลเจตนา ๒๑ ในกุสลนามขันธ์ ๔ ที่เป็น อดีต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
กุสลวิบากจิต ๒๙ เจตสิก ๓๘ และกัมมชรูป เป็น นานักขณิกกัมมปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลเจตนา ๑๒ ในอกุสลนามขันธ์ ๔ ที่เป็นอดีต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย อกุสลวิบากจิต ๗ อัญญสมานาเจตสิก ๑๐ (เว้น วิริยะ ปิติ ฉันทะ) และกัมมชรูป เป็นนานักขณิกกัมมปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๗ ปัจจัย คือ

๑. นานักขณิกกัมมปัจจัย ๒. อนันตรปัจจัย

๓. สมนันตรปัจจัย ๔. อนันตรูปนิสสยปัจจัย

๕. ปกตูปนิสสยปัจจัย ๖. นัตถิปัจจัย

๗. วิคตปัจจัย


๑๔. วิปากปัจจัย

๑. วิปาก หมายความว่า ผลของกุสลกรรมและผลของอกุสลกรรม

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ คือ ปัจจัยและปัจจยุบบันน เกิดในจิตดวงเดียวกัน

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ วิบากจิต ๓๖ เจตสิก ๓๘ ในปฏิสนธิกาล และปวัตติกาล ที่ช่วย
อุปการะซึ่งกันและกัน และที่ช่วยอุปการะแก่จิตตชรูปและ ปฏิสนธิกัมมชรูป

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ วิบากจิต ๓๖ เจตสิก ๓๘ ขณะที่ไม่ได้ เป็นปัจจัย, จิตตชรูป ๑๓ (เว้นวิญญัติติรูป ๒) ที่เกิดขึ้นจากวิบากนามขันธ์เหล่านี้ ตามสมควร และปฏิสนธิกัมมชรูป

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ กุสลจิต ๒๑, อกุสลจิต ๑๒, กิริยาจิต ๒๐, เจตสิก ๕๒, จิตตชรูปที่เกิดขึ้นจาก กุสล อกุสล กิริยา นามขันธ์เหล่านี้ตาม สมควร, พาหิรรูป, อาหารชรูป, อุตุชรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป, ปวัตติกัมมชรูป


หน้า ๑๑๓

๗. ความหมายโดยย่อ วิปากปัจจัยนี้ มีวาระเดียว คือ อพยากตะเป็นปัจจัย แก่อพยากตะ

วิบากนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ วิบากจิต ๓๖ เจตสิก ๓๘ ที่เป็นปฏิสนธิกาล และปวัตติกาล แล้วแต่ว่าจะยกนามขันธ์ใดเป็นปัจจัย วิบากนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ วิบากจิต ๓๖ เจตสิก ๓๘ เฉพาะนามขันธ์ที่เหลือ, วิบากจิตตชรูป ๑๓ (เว้น วิญญัติติรูป ๒), ปฏิสนธิกัมมชรูป เป็นวิปากปัจจยุบบันน

จะยกนามขันธ์เดียวหรือ ๒ หรือ๓ เป็นปัจจัยก็ตาม นามขันธ์ที่เหลือ ๓ หรือ ๒ หรือ ๑ (ตามลำดับ) ก็เป็นปัจจยุบบันนเสมอไป ดังที่เคยได้กล่าวแล้วข้างต้น ส่วนปฏิสนธิกัมมชรูป และจิตตชรูป ในปัจจัยนี้ เป็นปัจจยุบบันนธรรม อย่างเดียวเป็นปัจจัยธรรมไม่ได้

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. วิปากปัจจัย ๒. สหชาตปัจจัย

๓. อัญญมัญญปัจจัย ๔. นิสสยปัจจัย

๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. วิปปยุตตปัจจัย

๗. สหชาตัตถิปัจจัย ๘. สหชาตอวิคตปัจจัย


๑๕. อาหารปัจจัย

อาหารปัจจัยนี้ จำแนกออกได้เป็น ๒ คือ

ก. อาหารประเภท ข้าว น้ำ นม ขนม เนย เป็นต้น ที่เรียกว่า กพฬีการาหาร คือ รูปอาหารนั้น เป็นปัจจัยช่วยอุปการะรูปกายให้เจริญเติบโตและตั้งอยู่ได้นั้น มีชื่อว่า รูปอาหารปัจจัย


หน้า ๑๑๔

ข. ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร คือ นามอาหาร ๓ นั้น เป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้ เวทนาเจตสิก ปฏิสนธิวิญญาณ และเจตสิกกับกัมมชรูป (ตามลำดับ) ให้เกิดขึ้น และตั้งอยู่ได้นั้น มีชื่อว่า นามอาหารปัจจัย


รูปอาหารปัจจัย

๑. รูปอาหาร หมายความว่า อาหารที่เป็นรูปธรรม คือ กพฬีการาหาร

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอาหารชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นได้แก่ อาหารนั่นเอง

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ พหิทธโอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ กัมมชโอชา จิตตชโอชา อุตุชโอชา อาหารชโอชา ที่อยู่ภายใน(อัชฌัตตสันตานะ) และอุตุชโอชาที่อยู่ภายนอก (พหิทธสันตานะ) คือ โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่อาหารสมุฏฐานิกรูป คือรูปที่เกิดจากอาหาร อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ จตุสมุฏฐานิกรูปที่ตั้งอยู่ในกลาปอันเดียวกันกับ ปัจจัยธรรม และที่ตั้งอยู่ในกลาปอื่น ๆ (เว้นโอชาที่อยู่ในกลาปอันเดียวกัน)

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, จิตตชรูป, ปฏิสนธิ กัมมชรูป, พาหิรรูป, อุตุชรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป, ปวัตติกัมมชรูป

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒ และพาหิรรูป


๗. ความหมายโดยย่อ รูปอาหารปัจจัย มีวาระเดียว คือ อพยากตะเป็น ปัจจัยแก่อพยากตะ

กพฬีการาหาร บ้างก็เรียก กวฬิงการาหาร คือ โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ หรืออีกนัยหนึ่ง ได้แก่ โอชาที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกเป็นรูปอาหารปัจจัย จตุสมุฏ ฐานิกรูป คือ รูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ที่ตั้งอยู่ในกลาปอันเดียวกันกับปัจจัย ธรรม และตั้งอยู่ในกลาปอื่น ๆ เป็นรูปอาหารปัจจยุบบันน

ขยายความว่า โอชาที่เป็นปัจจัยธรรมนั้น เมื่อช่วยอุปการะแก่อาหารชรูป คือ อาหารชโอชานั้น เป็นไปโดยอำนาจชนกสัตติ แต่ถ้าเป็นการช่วยอุปการะแก่ ติชรูป ที่เหลือนอกนั้น คือ กัมมชโอชา จิตตชโอชา และอุตุชโอชาแล้ว เป็นไปโดยอำนาจ อุปถัมภกสัตติ


หน้า ๑๑๕

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๓ ปัจจัย คือ

๑. รูปอาหารปัจจัย ๒. อาหารัตถิปัจจัย ๓. อาหารอวิคตปัจจัย


นามอาหารปัจจัย

๑. นามอาหาร หมายความถึง ผัสสาหาร คือ ผัสสเจตสิก, มโนสัญเจตนา หาร คือ เจตนาเจตสิก และวิญญาณาหาร คือ จิตทั้งหมด

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมกับปัจจยุบบันนธรรมนั้น เกิดพร้อมกัน

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้งชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ นามอาหาร องค์ธรรม ๓ คือ ผัสสะ เจตนา และวิญญาณ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, จิตตชรูป, ปฏิสนธิ กัมมชรูป ที่เกิดพร้อมกับปัจจัยธรรม

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ พาหิรรูป, อาหารชรูป, อุตุชรูป, อสัญญสัตต กัมมชรูป, ปวัตติกัมมชรูป


๗. ความหมายโดยย่อ นามอาหารปัจจัยนี้ มี ๗ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลนามอาหาร ๓ คือ ผัสสะ เจตนา วิญญาณ ที่ในกุสลจิต ๒๑ เป็น
นามอาหารปัจจัย กุสลสัมปยุตตขันธ์ อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เป็นนามอาหารปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลนามอาหาร ๓ ในกุสลจิต ๒๑ ใน ปัญจโวการภูมิ เป็นนามอาหารปัจจัย กุสลจิตตชรูป เป็นนามอาหารปัจจยุบบันน


หน้า ๑๑๖

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย กุสลนามอาหาร ๓ ใน กุสลจิต ๒๑ ในปัญจโวการภูมิ เป็นนามอาหารปัจจัย กุสลจิต ๒๑ ด้วย กุสล จิตตชรูปด้วย เป็นนามอาหารปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลนามอาหาร ๓ คือ ผัสสะ เจตนา วิญญาณ ที่ในอกุสลจิต ๑๒ เป็นนามอาหารปัจจัย อกุสลสัมปยุตตขันธ์ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นนามอาหารปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลนามอาหาร ๓ ในอกุสลจิต ๑๒ ในปัญจโวการภูมิ เป็น
นามอาหารปัจจัย อกุสลจิตตชรูปเป็นนามอาหารปัจจยุบบันน

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย อกุสลนามอาหาร ๓ ในอกุสลจิต ๑๒ ในปัญจโวการภูมิ เป็นนามอาหารปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ ด้วย อกุสลจิตตชรูปด้วย เป็นนามอาหารปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อพยากตะนามอาหาร ๓ คือ ผัสสะ เจตนา วิญญาณ ที่ในวิบากจิต ๓๖ ทั้งในปวัตติกาลและในปฏิสนธิกาล, ที่ในกิริยา จิต ๒๐ ในปวัตติกาลอย่างเดียวเป็นนามอาหารปัจจัย วิบากจิต ๓๖, กิริยาจิต ๒๐, วิบากจิตตชรูป, กิริยาจิตตชรูป, ปฏิสนธิกัมมชรูป เป็นนามอาหารปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๑๒ ปัจจัย คือ

๑. นามอาหารปัจจัย ๒. สหชาตาธิปติปัจจัย

๓. สหชาตปัจจัย ๔. อัญญมัญญปัจจัย

๕. สหชาตนิสสยปัจจัย ๖. สหชาตกัมมปัจจัย

๗. วิปากปัจจัย ๘. สหชาตินทริยปัจจัย

๙. สัมปยุตตปัจจัย ๑๐. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย

๑๑. สหชาตัตถิปัจจัย ๑๒. สหชาตอวิคตปัจจัย


๑๖. อินทริยปัจจัย

อินทริย คือความเป็นผู้ปกครอง ความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ซึ่งมีจำนวน ๒๒ จึงเรียกว่า อินทรีย ๒๒  

ในอินทรีย ๒๒ นั้นเป็นปัจจัยได้เพียง ๒๐ ส่วนอีก ๒ คือ อิตถินทรีย และปุริสินทรีย เป็นปัจจัยไม่ได้ เพราะธรรมที่จะเป็นปัจจัยได้ จะต้องมีอำนาจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ อย่าง คือ ชนกสัตติ ทำให้ เกิดขึ้นและอุปถัมภกสัตติ ทำให้ตั้งอยู่ได้ อันความเป็นหญิงเป็นชายนั้น ครอง ความเป็นใหญ่แห่งเพศหญิงเพศชายของตนไว้ได้ก็จริง แต่ไม่มีความสามารถในการที่ จะอุปการะช่วยเหลือให้ธรรมอื่นใดเกิดขึ้น และไม่สามารถที่จะอุปการะช่วยเหลือให้ ธรรมอื่นใดตั้งอยู่ได้ด้วย เมื่อไม่สามารถที่จะมีชนกสัตติ หรืออุปถัมภกสัตติได้เช่นนี้แล้ว ก็เป็นปัจจัยไม่ได้


หน้า ๑๑๗

อินทริยปัจจัย จำแนกออกได้เป็น ๓ คือ

ก. นามอินทริย องค์ธรรม ๘ (คือ ชีวิต จิต เวทนา สัทธา วิริยะ สติ เอกัคคตา ปัญญา) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ โดยความเป็นใหญ่แก่ นาม รูป ที่เกิดพร้อม กันกับตนนั้น ได้ชื่อว่า สหชาตินทริยปัจจัย

ข. วัตถุ ๕ (มีจักขุวัตถุ เป็นต้น) ที่เกิดก่อน (เกิดพร้อมกับอดีตภวังคดวง แรก) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ นั้น ได้ชื่อว่า ปุเรชาตินทริยปัจจัย บ้างก็เรียกว่า วัตถุปุเรชาตินทริยปัจจัย

ค. รูปชีวิตินทรีย (คือ ชีวิตรูป) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ อุปาทินนกรูป (คือ กัมมชรูป) ที่เหลือ ๙ รูป หรือ ๘ รูป ซึ่งอยู่ในกลาปเดียวกับชีวิตรูปนั้น ได้ ชื่อว่า รูปชีวิตินทริยปัจจัย


สหชาตินทริยปัจจัย

๑. สหชาตินทรีย หมายถึง นามอินทรียองค์ธรรม ๘

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้งชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ นามอินทรียองค์ธรรม ๘

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดพร้อมกับปัจจัย ธรรม และจิตตชรูป
ปฏิสนธิกัมมชรูป

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ พาหิรรูป อาหารชรูป อุตุชรูป อสัญญสัตต กัมมชรูป ปวัตติกัมมชรูป


หน้า ๑๑๘

๗. ความหมายโดยย่อ สหชาตินทริยปัจจัยนี้ มี ๗ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล นามอินทรียองค์ธรรม ๘ ที่ในกุสลจิต ๒๑ เป็น สหชาตินทริยปัจจัย
กุสลสัมปยุตตขันธ์ คือ กุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตินทริย ปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ นามอินทรีย องค์ธรรม ๘ ที่ในกุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตินทริยปัจจัย กุสลจิตตชรูป เป็นสหชาตินทริยปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย นามอินทรียองค์ธรรม ๘ ในกุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตินทรียปัจจัย กุสลจิต ๒๑ ด้วย กุสลจิตตชรูปด้วย เป็น สหชาตินทริยปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลนามอินทรียองค์ธรรม ๕ (คือ ชีวิต จิต เวทนา วิริยะ เอกัคคตา) ที่ในอกุสลจิต ๑๒ เป็นสหชาตินทริยปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ เป็นสหชาตินทริยปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลนามอินทรียองค์ธรรม๕ ที่ในอกุสล จิต ๑๒ เป็นสหชาตินทรียปัจจัย อกุสลจิตตชรูปเป็นสหชาตินทริยปัจจยุบบันน

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย อกุสลนามอินทรียองค์ ธรรม ๕ ที่ในอกุสลจิต ๑๒ เป็นสหชาตินทรียปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ ด้วย อกุสล จิตตชรูปด้วย เป็นสหชาตินทริยปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ นามอินทรียองค์ธรรม ๘ ที่ในวิบาก จิต ๓๖ กิริยาจิต ๒๐ ในปวัตติกาล และในปฏิสนธิกาลตามสมควร เป็นสหชาติน ทริยปัจจัย วิบากจิต ๓๖ กิริยาจิต ๒๐ วิบากจิตตชรูป กิริยาจิตตชรูปในปวัตติกาล และวิบากปฏิสนธิจิต ๑๙, ปฏิสนธิกัมมชรูป เป็นสหชาตินทริยปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๑๔ ปัจจัย คือ

๑. สหชาตินทริยปัจจัย ๒. เหตุปัจจัย ๓. สหชาตาธิปติปัจจัย

๔. สหชาตปัจจัย ๕. อัญญมัญญปัจจัย ๖. สหชาตนิสสยปัจจัย

๗. วิปากปัจจัย ๘. นามอาหารปัจจัย ๙. ฌานปัจจัย

๑๐. มัคคปัจจัย ๑๑. สัมปยุตตปัจจัย ๑๒. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย

๑๓. สหชาตัตถิปัจจัย ๑๔. สหชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๑๑๙

ปุเรชาตินทริยปัจจัย

๑. ปุเรชาตินทรีย หมายความว่า ธรรมที่เกิดก่อน เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ โดยความเป็นใหญ่

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นวัตถุปุเรชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมที่เกิดก่อนนั้นช่วย อุปการะแก่ปัจจยุบบันนธรรม

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ วัตถุ ๕ คือ ปสาทรูป ๕ ที่เกิดพร้อมกับ อดีตภวังคดวงแรก หรืออีกนัยหนึ่ง ฐีติปัตตปัญจวัตถุ ๔๙ ที่ยังกำลังมีอยู่กับ ภวังคจิตก่อนที่จะถึง ปัญจวิญญาณ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ สัพพจิตตสาธารณ เจตสิก ๗

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๗๙(เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐) เจตสิก ๕๒ และรูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ ปุเรชาตินทริยปัจจัย บ้างก็เรียกว่า วัตถุปุเรชาติน ทริยปัจจัยนี้มีวาระเดียว คือ อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ได้แก่ อินทรียรูป ๕ คือ จักขุนทรีย โสตินทรีย ฆานินทรีย ชิวหินทรีย กายินทรีย ที่เป็นฐีติปัตต เป็น ปุเรชาตินทริยปัจจัย ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เป็นปุเรชาตินทริยปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๖ ปัจจัย คือ

๑. ปุเรชาตินทริยปัจจัย ๒. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

๓. วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๔. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๕. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๖. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๑๒0

รูปชีวิตินทริยปัจจัย

๑. รูปชีวิตินทรีย หมายความถึง ชีวิตรูป

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นรูปชีวิตินทริยชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นได้แก่ ชีวิตรูป ซึ่งทำหน้าที่เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในการรักษารูปธรรมที่เกิดขึ้นด้วยกัน

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ ชีวิตรูป ทั้งในปฏิสนธิกาลและในปวัตติกาล

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ กัมมชรูปที่เหลือ ๙ รูป หรือ ๘ รูป ซึ่งอยู่ ในกลาปเดียวกับชีวิตรูปนั้น ๆ

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒ จิตตชรูป, พาหิรรูป, อาหารชรูป, อุตุชรูป และชีวิตรูป (ที่เป็นปัจจัย)

๗. ความหมายโดยย่อ รูปชีวิตินทรียปัจจัยนี้ มีวาระเดียว คือ อพยากตะ เป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ได้แก่ ชีวิตรูปทั้งหลาย เป็นรูปชีวิตินทริยปัจจัย กัมมชรูป ที่เหลือ ๙ รูปหรือ ๘ รูป ซึ่งอยู่ในกลาปเดียวกับชีวิตรูปนั้น ๆ เป็นรูปชีวิตินทริย ปัจจยุบบันน เช่น

จักขุทสกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ จักขุปสาทรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ รวม ๑๐ รูป ชีวิตรูป ๑ เป็นปัจจัยเสียแล้ว
อวินิพโภครูป ๘ จักขุปสาทรูป ๑ รวม ๙ รูป ที่เหลือนี้ก็เป็นปัจจยุบบันน

โดยทำนองเดียวกัน ชีวิตนวกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ และ ชีวิตรูป ๑ รวม ๙ รูป ชีวิตรูป ๑ เป็นปัจจัยเสียแล้ว อวินิพโภครูป ๘ ที่เหลือ ก็เป็นปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๓ ปัจจัย คือ

๑. รูปชีวิตินทริยปัจจัย ๒. รูปชีวิตินทริยัตถิปัจจัย

๓. รูปชีวิตินทริยอวิคตปัจจัย


หน้า ๑๒๑

๑๗. ฌานปัจจัย

๑. ฌาน มีความหมายว่า

ก. การเพ่งอารมณ์ ตามธรรมดา ตามปกติ มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นอย่างหนึ่ง การเพ่งอารมณ์ในการเจริญสมถภาวนา มีกสิณเป็นต้นนั้นอีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่าง นี้เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน

ข. การเพ่งอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา มีการเพ่งอารมณ์ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

ค. ฌานปัจจัยธรรม ที่ช่วยอุปการะแก่ปัจจยุบบันนธรรมทั้งหลายนั้น ช่วย อุปการะโดยอำนาจแห่งอารัมมณูปนิชฌาน หรือโดยอำนาจแห่งลักขณูปนิชฌาน ก็แล้วแต่กรณี

ง. สรุปความว่า ฌานปัจจัยก็ได้แก่ องค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปิติ เวทนา และเอกัคคตาทั้ง ๕ อย่างนี้นั่นเอง หมายความว่า วิตก ก็เรียกฌาน วิจาร ก็เรียกว่า ฌาน เป็นต้น วิตก ทำหน้าที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจาร ทำหน้าที่ประคองจิตให้อยู่ที่ อารมณ์นั้น ปิติ ทำหน้าที่อิ่มใจในอารมณ์นั้น เวทนา ทำหน้าที่เสวยอารมณ์นั้น และเอกัคคตา ก็ทำหน้าที่ตั้งมั่นแน่วแน่ในอารมณ์นั้น แม้จะทำหน้าที่กันคนละอย่าง แต่ก็ทำเพื่อให้สำเร็จในกิจการงานอันเดียวกัน คือ เพ่งอารมณ์อันเดียวกัน

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ องค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปิติ เวทนา เอกัคคตา ที่ในจิต ๗๙ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐)

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๗๙(เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐) เจตสิก ๕๒ จิตตชรูป ปฏิสนธิกัมมชรูป

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ เจตสิกที่ประกอบ ๗, พาหิรรูป, อาหารชรูป, อุตุชรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป, ปวัตติกัมมชรูป


หน้า ๑๒๒

๗. ความหมายโดยย่อ ฌานปัจจัยนี้ มี ๗ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล องค์ฌาน ๕ ที่ในกุสลจิต ๒๑ เป็นฌานปัจจัย กุสลสัมปยุตตนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เป็น ฌานปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ องค์ฌาน ๕ ที่ในกุสลจิต ๒๑ เป็นฌานปัจจัย กุสลจิตตชรูป เป็นฌานปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย องค์ฌาน ๕ ที่ในกุสลจิต ๒๑ เป็นฌานปัจจัย
กุสลจิต ๒๑ ด้วย กุสลจิตตชรูปด้วย เป็นฌานปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล องค์ฌาน ๕ ที่ในอกุสลจิต ๑๒ เป็นฌาน ปัจจัย อกุสลสัมปยุตตนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นฌานปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ องค์ฌาน ๕ ที่ในอกุสลจิต ๑๒ เป็นฌาน ปัจจัย อกุสลจิตตชรูป เป็นฌานปัจจยุบบันน

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย องค์ฌาน ๕ ที่ในอกุสล จิต ๑๒ เป็นฌานปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ ด้วย อกุสลจิตตชรูปด้วย เป็นฌานปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ องค์ฌาน ๕ ที่ในวิบากจิต ๒๖ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐) , ที่ในกิริยาจิต ๒๐, ในปวัตติกาลและในปฏิสนธิกาล ตามควรแก่กรณี เป็นฌานปัจจัย วิบากจิต ๒๖ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐), กิริยา จิต ๒๐ , วิปากจิตตชรูป, กิริยาจิตตชรูป, ปฏิสนธิกัมมชรูป เป็นฌานปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๑๑ ปัจจัย คือ

๑. ฌานปัจจัย ๒. สหชาตปัจจัย ๓. อัญญมัญญปัจจัย

๔. สหชาตนิสสยปัจจัย ๕. วิปากปัจจัย ๖. สหชาตินทริยปัจจัย

๗. มัคคปัจจัย ๘. สัมปยุตตปัจจัย ๙. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย

๑๐. สหชาตัตถิปัจจัย ๑๑. สหชาตอวิคตปัจจัย


๑๘. มัคคปัจจัย

มัคค คือ ธรรมที่เป็นประดุจหนทางที่นำไปสู่ ทุคคติ สุคติ และนิพพาน จัดเป็น สัมปาปกเหตุ คือเหตุที่ทำให้ถึง เปรียบเหมือนยวดยานพาหนะที่สามารถ พาผู้โดยสารให้ถึงจุดหมายนั้น ๆ ได้ ตามควรแก่ฐานะของยวดยานนั้น ๆ


หน้า ๑๒๓

ธรรมที่อุปมาดังหนทางที่นำไปสู่หรือเป็นเหตุให้ถึง ทุคคติ สุคติ และนิพพาน ที่เรียกว่ามัคคนี้ มี ๑๒ ประการ แต่ว่ามีองค์ธรรมเพียง ๙ จึงเรียกว่า องค์มัคค ๙ ได้แก่ เจตสิก ๙ ดวง คือ ปัญญา วิตก สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ วิริยะ สติ เอกัคคตา และทิฏฐิ มัคค ๑๒ มีองค์มัคค ๙ นี้ได้กล่าวโดยละเอียดพอ ประมาณ ในปริจเฉทที่ ๗ ตอนมิสสกสังคหะ เพื่อเป็นการทบทวน ขอให้กลับไปดู ที่นั่นอีกด้วย

องค์มัคค ๙ นี่แหละเป็นปัจจัย จึงเรียกมัคคปัจจัย มีอำนาจช่วยอุปการะ สหชาตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ๒ ประการ คือ


ก. ช่วยอุปการะนำสหชาตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ให้ไปสู่อารมณ์ที่เกี่ยว เนื่องกับตน ให้ทำกิจไปตามหน้าที่ของตน ๆ อย่างนี้เรียกว่า กิจธรรมดา

ข. ช่วยอุปการะนำสหชาตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้ไปสู่ ทุคคติ สุคติ และ นิพพานได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็น กิจพิเศษ เพราะเป็นกิจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสนธิ เท่านั้น

อนึ่ง องค์มัคค ๙ นี้ ต่างก็ทำหน้าที่เป็นปัจจัยและปัจจยุบบันน ซึ่งกันและกัน เอง ก็ได้เหมือนกัน

สรุปความว่า มัคคปัจจัยนี้ คือองค์มัคค ๙ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่จิตและ เจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน พร้อมด้วยจิตตชรูปและปฏิสนธิกัมมชรูป ให้เกิดขึ้นและ ให้ตั้งอยู่ได้ ด้วยอำนาจของมัคคปัจจัยที่ทำหน้าที่ในกิจพิเศษอย่างหนึ่ง และทำหน้าที่ ในกิจธรรมดาอย่างหนึ่ง

๑. มัคค หมายถึง องค์มัคค ๙

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ องค์มัคค ๙ ที่ในสเหตุกจิต ๗๑

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ สเหตุกจิต ๗๑ เจตสิก ๕๒ สเหตุกจิตตช รูป และสเหตุกปฏิสนธิกัมมชรูป

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘, อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้นฉันทะ) อเหตุกจิตตชรูป
อเหตุกปฏิสนธิกัมมชรูป พาหิรรูป อาหารชรูป อุตุชรูป อสัญญสัตตกัมมชรูป ปวัตติกัมมชรูป


หน้า ๑๒๔

๗. ความหมายโดยย่อ มัคคปัจจัยนี้ มี ๗ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล องค์มัคคที่เป็นกุสล ๘ (เว้นทิฏฐิ) เป็นมัคค ปัจจัย กุสลสัมปยุตตขันธ์ ๔ อันได้แก่กุสลจิต ๒๑ เป็นมัคคปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ องค์มัคคที่เป็นกุสล ๘ (เว้นทิฏฐิ) เป็น มัคคปัจจัย กุสลจิตตชรูป เป็นมัคคปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย องค์มัคคที่เป็นกุสล ๘ (เว้นทิฏฐิ) เป็นมัคคปัจจัยกุสลจิต ๒๑ ด้วย กุสลจิตตชรูปด้วย เป็นมัคคปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล องค์มัคคที่เป็นอกุสล ๔ คือ วิตก วิริยะ เอกัคคตา และทิฏฐิ เป็นมัคคปัจจัย อกุสลสัมปยุตตขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นมัคคปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ องค์มัคคที่เป็นอกุสล ๔ เป็นมัคคปัจจัย อกุสลจิตตชรูปเป็นมัคคปัจจยุบบันน

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย องค์มัคคที่เป็นอกุสล ๔ เป็นมัคคปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ ด้วย อกุสลจิตตชรูปด้วย เป็นมัคคปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ องค์มัคค ๙ ที่เป็นอพยากตะใน สเหตุกวิบากจิต ๒๑, สเหตุกกิริยาจิต ๑๗ ในปวัตติกาล และในปฏิสนธิกาลเป็น มัคคปัจจัย สเหตุกวิบากจิต ๒๑ สเหตุกกิริยาจิต ๑๗ สเหตุกวิบากจิตตชรูป สเหตุกกิริยาจิตตชรูป ปฏิสนธิกัมมชรูป เป็นมัคคปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๑๓ ปัจจัย คือ

๑. มัคคปัจจัย ๒. เหตุปัจจัย ๓. สหชาตาธิปติปัจจัย

๔. สหชาตปัจจัย ๕. อัญญมัญญปัจจัย ๖. สหชาตนิสสยปัจจัย

๗. วิปากปัจจัย ๘. สหชาตินทริยปัจจัย ๙. ฌานปัจจัย

๑๐. สัมปยุตตปัจจัย ๑๑. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย ๑๒. สหชาตัตถิปัจจัย

๑๓. สหชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๑๒๕

๑๙. สัมปยุตตปัจจัย

๑. สัมปยุตต หมายความว่าการประกอบกันที่พร้อมด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ เอกุปปาทะ เอกนิโรธะ เอกาลัมพนะ เอกวัตถุกะ ธรรมที่ประกอบกันพร้อม ด้วยลักษณะ ๔ ประการที่กล่าวนี้ ก็มีแต่จิตกับเจตสิกเท่านั้น นอกจากนี้ไม่มีอีกเลย

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ นามขันธ์ ๔ คือ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ แล้ว แต่จะยกขันธ์ใด จะเป็นขันธ์เดียว ๒ ขันธ์ หรือ ๓ ขันธ์ ก็ตาม เป็นปัจจัยขันธ์นั้น ก็เป็นสัมปยุตตปัจจัย

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ นามขันธ์ ๔ คือ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ เฉพาะขันธ์ที่เหลือ จะเป็น ๓ ขันธ์, ๒ ขันธ์ หรือขันธ์เดียว ตามลำดับนั้น เป็น สัมปยุตตปัจจยุบบันน

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ รูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ สัมปยุตตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๘ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นสัมปยุตตปัจจัย ขันธ์ที่เหลือนั้นก็เป็น สัมปยุตตปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นสัมปยุตตปัจจัย ขันธ์ที่เหลือนั้นก็เป็นสัมปยุตตปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ วิบากจิต ๓๖ กิริยานามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กิริยาจิต ๒๐ เจตสิก ๓๘ ในปวัตติกาลและ ในปฏิสนธิกาลนั้น ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นสัมปยุตตปัจจัย ขันธ์ที่เหลือในจิตดวงเดียว กันนั้น ก็เป็นสัมปยุตตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๗ ปัจจัย คือ

๑. สัมปยุตตปัจจัย ๒. สหชาตปัจจัย ๓. อัญญมัญญปัจจัย

๔. สหชาตนิสสยปัจจัย ๕. วิปากปัจจัย ๖. สหชาตัตถิปัจจัย

๗. สหชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๑๒๖

๒๐. วิปปยุตตปัจจัย

คำว่า วิปปยุตตในบทนี้ มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า สัมปยุตตในบท ก่อน กล่าวคือ วิปปยุตต มีความหมายว่า ไม่ประกอบกันพร้อมด้วยลักษณะ ๔ ประการ อันหมายถึงนามธรรมกับรูปธรรมโดยตรง นามธรรมกับรูปธรรมอาจเกิด ร่วมกันได้ เกิดพร้อมกันก็ได้ แต่อย่างไรเสียก็ไม่ครบลักษณะ ๔ ประการนั้นได้ เมื่อไม่ครบลักษณะ ๔ ประการนั้นก็เป็นสัมปยุตตไม่ได้ จึงเป็นวิปปยุตตไป และ วิปปยุตต ก็มี ๒ นัย คือ

ก. เป็นวิปปยุตตโดยความไม่มี เช่น ทิฏฐิวิปปยุตต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วย ทิฏฐิ จิตที่ปราศจากทิฏฐิ จิตที่ไม่มีทิฏฐิ

ญาณวิปปยุตต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จิตที่ปราศจากปัญญา จิตที่ ไม่มีปัญญา

อย่างนี้เรียกว่า อภาววิปปยุตต

ข. เป็นวิปปยุตตโดยความไม่ปนกัน ไม่ระคนกัน อย่างนี้เรียกว่า วิสังสัฏฐวิปปยุตต ได้แก่คำว่า วิปปยุตต ในวิปปยุตตปัจจัยนี้

สรุปรวมความว่า วิปปยุตตปัจจัยนี้ นามธรรมและรูปธรรมเกิดร่วมกันช่วย อุปการะกันตามสมควร โดยอำนาจแห่ง วิปปยุตตปัจจัย


วิปปยุตตปัจจัยนี้ จำแนกออกได้เป็น ๔ คือ

ก. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย มีลักษณะ ๒ ประการ คือ ปัจจัยธรรมเกิดร่วม พร้อมกันกับปัจจยุบบันนธรรมอย่างหนึ่ง แต่ว่าไม่เป็นสัมปยุตต ซึ่งกันและกันอีกอย่างหนึ่ง

ข. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย มีลักษณะ ๓ ประการ คือ ปัจจัยธรรมนั้น เป็นวัตถุอย่างหนึ่ง ปัจจัยธรรมนั้นเกิดก่อนอย่างหนึ่ง และปัจจัยธรรมนั้นเป็นวิปป ยุตตอีกอย่างหนึ่ง

ค. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย มีลักษณะ ๔ ประการ คือ ปัจจัย ธรรมนั้นเป็นวัตถุ, ปัจจัยธรรมนั้นเป็นอารมณ์, ปัจจัยธรรมนั้นเกิดก่อน และปัจจัย ธรรมนั้นเป็นวิปปยุตต

ง. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย มีลักษณะ ๒ ประการ คือ ปัจจัยธรรมนั้นเป็น นามธรรมที่เกิดทีหลังปัจจยุบบันนธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นวิปปยุตตอีกอย่างหนึ่ง

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า วิปปยุตตปัจจัยนี้ จำแนกออกเป็น ๓ โดยรวมข้อ ข. และข้อ ค. เข้าเป็น ๑ เรียกว่า ปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย ไม่แยกเป็น วัตถุปุเรชาต และวัตถารัมมณปุเรชาต


หน้า ๑๒๗

สหชาตวิปปยุตตปัจจัย

๑. สหชาตวิปปยุตต หมายความว่า เกิดพร้อมกัน แต่ไม่ประกอบอย่างระคน ปนกัน

๒. ประเภท นามรูปเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ นามขันธ์ ๔ ที่เป็นปฏิสนธิกาลและปวัตติ กาล คือ จิต ๗๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔, ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และจุติจิตของพระ อรหันต์) เจตสิก ๕๒ ในปัญจโวการภูมิ และปัญจโวการปฏิสนธินามขันธ์ ๔ คือ ปฏิสนธิจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ และ ปฏิสนธิหทยวัตถุ (ที่อุปการะแก่กันและกันได้ เฉพาะในปฏิสนธิกาล)

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิตตชรูป ปฏิสนธิกัมมชรูป และปฏิสนธิ หทยวัตถุ ที่อุปการะแก่กันและกันกับปัญจโวการปฏิสนธินามขันธ์ ๔ , ปัญจโวการ ปฏิสนธินามขันธ์ ๔ ที่อุปการะแก่กันและกันกับปฏิสนธิหทยวัตถุ

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ (เว้นปัญจโวการปฏิสนธิ นามขันธ์ ๔), พาหิรรูป,อาหารชรูป,อุตุชรูป,อสัญญสัตตกัมมชรูป,ปวัตติกัมมชรูป

๗. ความหมายโดยย่อ สหชาตวิปปยุตตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๘ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง หรือทั้ง ๔ ขันธ์เป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจัย กุสลจิตตช รูป ที่เกิดพร้อมกับกุสลนามขันธ์นั้น เป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง หรือทั้ง ๔ ขันธ์ เป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจัย อกุสลจิตตชรูปที่เกิดพร้อมกับอกุสลนามขันธ์นั้น เป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน


หน้า ๑๒๘

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ วิบากจิต ๒๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔, ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และ จุติจิตของพระอรหันต์), กิริยา นามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กิริยาจิต ๒๐, เจตสิก ๓๘, ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง หรือทั้ง ๔ ขันธ์ เป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจัย วิบากจิตตชรูป, กิริยาจิตตชรูป, ปฏิสนธิกัมมช รูป, ปฏิสนธิหทยวัตถุ เป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน และ

ปฏิสนธิหทยวัตถุ เป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจัย ปัญจโวการปฏิสนธินามขันธ์ ๔ เป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๗ ปัจจัย คือ

๑. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย ๒. สหชาตปัจจัย ๓. อัญญมัญญปัจจัย

๔. สหชาตนิสสยปัจจัย ๕. วิปากปัจจัย ๖. สหชาตัตถิปัจจัย

๗. สหชาตอวิคตปัจจัย


วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือนกับวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัยทุกประการ

๑. วัตถุปุเรชาต หมายความว่า วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นวัตถุปุเรชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมซึ่งช่วยอุปการะแก่ ปัจจยุบบันนธรรมนั้น โดยการที่เป็นที่ตั้งด้วย และโดยการที่เกิดก่อนด้วย

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน หมายความว่า แม้ปัจจัยธรรมจะเกิดก่อน แต่ก็ยัง ไม่ทันดับไป คือยังอยู่ในระหว่าง ฐีติขณะ ยังไม่ทันถึงภังคขณะ

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ วัตถุ ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ ที่เกิดก่อนปัจจยุบบันน

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔) ทั้งที่แน่นอน และไม่แน่นอน ในปัญจโวการภูมิ ที่เป็นปวัตติกาล

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวาราวัชชน จิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้น โสดาปัตติมัคคจิต ๑) รวม จิต ๔๖ ดวง ทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอน ปัญจโวการ
ปฏิสนธิจิต ๑๕ และรูปทั้งหมด

ที่ว่าทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอนนั้น เรื่องนี้ได้แสดงไว้ในปริจเฉทที่ ๓ ตอน วัตถุสังคหะแล้ว แต่เพื่อทบทวนความจำ จึงขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีกว่า

(๑) ปัจจยุบบันนธรรมที่แน่นอน ได้แก่ โทสมูลจิต ๒, อเหตุกจิต ๑๗ (เว้น มโนทวาราวัชชนจิต ๑) มหาวิบาก ๘, รูปาวจรจิต ๑๕ และโสดาปัตติมัคคจิต ๑ รวมจิต ๔๓ ดวงนี้ต้องอาศัยวัตถุเกิดอย่างแน่นอน

(๒) ปัจจยุบบันนธรรมที่ไม่แน่นอน ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวาราวัชชนจิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปกุสลจิต ๔, อรูป กิริยาจิต ๔ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑) รวมจิต ๔๒ ดวงนี้ ถ้าเกิดในปัญจโวการภูมิก็ต้องอาศัยวัตถุเกิด ถ้าเกิดในจตุโวการภูมิไม่ต้องอาศัยวัตถุ ก็เกิดได้

(๓) ปัจจนิกธรรมที่แน่นอน ได้แก่ อรูปวิบากจิต ๔ และรูปทั้งหมด ซึ่งเกิด ขึ้นได้ โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ จึงเป็นปัจจนิกธรรมที่แน่นอน

(๔) ปัจจนิกธรรมที่ไม่แน่นอน ก็คือ จิต ๔๒ ดวงตามข้อ (๒) นั่นเอง ซึ่งจิต ๔๒ ดวงนี้เกิดในปัญจโวการภูมิ ก็เป็นปัจจยุบบันนธรรม ถ้าเกิดในจตุโวการ ภูมิ ก็เป็นปัจจนิกธรรม จึงว่าไม่แน่นอน

๗. ความหมายโดยย่อ วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ คือ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน เป็นวัตถุปุเรชาต วิปปยุตตปัจจัย วิบากจิต ๓๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔),กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดทีหลังวัตถุ ๖ นั้น เป็นวัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน เช่น วัตถุ ๕ มีจักขุวัตถุเป็นต้นเป็นวัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น เป็นวัตถุ ปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย วิบากจิต ๒๒ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูปวิบาก ๔) เป็นวัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน หทยวัตถุ ที่เกิดอยู่ก่อนเวลาที่จะออกจากนิโรธสมาบัตินั้น เป็นวัตถุปุเรชาต วิปปยุตตปัจจัย อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑ ที่เกิดขึ้นในขณะออกจากนิโรธ สมาบัตินั้น เป็นวัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

วัตถุ ๖ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็นวัตถุ ปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย จิตที่เกิดพร้อมกับวัตถุ ๖ ที่เหลือ ๑๖ ขณะ อันได้แก่ โลกียวิบากจิต ๒๘ (เว้นอรูปวิบาก ๔) กิริยาจิต ๒๐ เป็นวัตถุปุเรชาตวิปปยุตต ปัจจยุบบันน

(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย กุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ ที่เกิดทีหลัง เป็น
วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะเป็นวัตถุ ปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย มรณาสันนกุสลชวนะ อันได้แก่ โลกียกุสลจิต ๑๗ เป็นวัตถุ ปุเรชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย อกุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็น
วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย มรณาสันนอกุสลชวนะ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็น วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย


วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้ง หมด เหมือนกับ
วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัยทุกประการ

๑. วัตถารัมมณปุเรชาต หมายความว่า หทยวัตถุที่เกิดก่อน ซึ่งเป็นอารมณ์ ด้วยนั้นเป็นที่ตั้งที่อาศัยแก่จิตที่เกิดทีหลัง

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอารัมมณชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรม ซึ่งช่วยอุปการะแก่ ปัจจยุบบันนธรรมนั้นได้แก่ อารมณ์นั่นเอง

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังอยู่ในระหว่าง ฐีติขณะ ยังไม่ถึง ภังคขณะ

๕. สัตติ มีทั้งชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอย หลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิตที่เหลืออีก ๑๖ ขณะนั้น คือ มโนทวารา วัชชนจิต ๑, กามชวนจิต ๒๙, ตทาลัมพนจิต ๑๑ และอภิญญาจิต ๒ (เฉพาะอิทธิ วิธอภิญญาเท่านั้น) ขณะที่เอาหทยวัตถุเป็นอารมณ์

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙ ในเวลาที่ไม่ได้เอาหทยวัตถุเป็นอารมณ์ และรูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับ ถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะเป็นปัจจัย จิตที่เหลืออีก ๑๖ ขณะ (เว้นกุสลชวนะ และอกุสลชวนะ) อันได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑, หสิตุปปาทจิต ๑, มหากิริยา จิต ๘, ตทาลัมพนจิต ๑๑ และ อิทธิวิธอภิญญากิริยาจิต ๑ เป็นปัจจยุบบันน

(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอย หลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะเป็นปัจจัย มรณาสันนกุสลชวนจิต ๕ ขณะ อันได้แก่ มหากุสลจิต ๘ และอิทธิวิธอภิญญากุสลจิต ๑ เป็นปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอย หลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะเป็นปัจจัย มรณาสันนอกุสลชวนจิต ๕ ขณะ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตปัจจัย

๗. วัตถารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. วัตถารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย


ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย

ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือนกับปัจฉาชาตปัจจัยทุกประการ

เมื่อกล่าวมาถึงปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัยนี้ ก็จะเห็นได้ว่า คำว่า ชาตะมีอยู่ ๓ ปัจจัย คือ สหชาตะ ปุเรชาตะ และปัจฉาชาตะ นี้ อันคำว่า ชาตะในปัจจัย ๒๔ นี้ มีความหมายถึง ๓ อย่าง คือ

สหชาตะ ได้แก่ นาม รูป ที่เกิดอยู่ใน อุปาทะ ฐีติ ภังคะ

ปุเรชาต ได้แก่ รูป ที่เกิดอยู่ในฐีติขณะเท่านั้น

ปัจฉาชาตะ ได้แก่ นาม ที่เกิดอยู่ในอุปาทะ และฐีติขณะ

๑. ปัจฉาชาตะ หมายความถึงนามที่เกิดทีหลัง ช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดก่อน

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นปัจฉาชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นเกิดทีหลังแล้วช่วย อุปการะแก่ปัจจยุบบันนธรรมที่เกิดก่อน

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังไม่ดับไป

๕. สัตติ มีอำนาจเป็น อุปถัมภกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔ และปฏิสนธิ จิต) เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง มีปฐมภวังคจิต เป็นต้น ที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ รูป ที่เป็น ฐีติปัตตะ ที่เกิดพร้อมกับขณะ ทั้ง ๓ ของจิตที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูปขณะที่เกิดขึ้น (อุปาทขณะของรูป), พาหิรรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป

๗. ความหมายโดยย่อ ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๘ ที่เกิดทีหลังในปัญจโวการภูมิ เป็นปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย รูป ๒๘ คือ ติชกาย ได้แก่ กัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป ในรูปภูมิ, จตุชกาย ได้แก่
กัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป ในกามภูมิ ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ เป็นปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ ที่เกิดทีหลัง เป็นปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย รูป ๒๘ คือ ติชกาย จตุชกาย ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ เป็นปัจฉาชาต วิปปยุตตปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากนามขันธ์ ๔ ได้แก่ วิบากจิต ๓๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔ และปฏิสนธิจิต), กิริยานามขันธ์ ๔ ได้แก่ กิริยาจิต ๒๐ เจตสิก ๓๘ ที่เกิดทีหลัง เป็นปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย เอกชกาย ได้แก่ ปฏิสนธิกัมมชรูป, ทวิชกาย ได้แก่ กัมมชรูป อุตุชรูป, ติชกาย ในปัญจโวการ รูปภูมิ จตุชกาย ในกามภูมิ ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น เป็นปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๔ ปัจจัย คือ

๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ๒. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย

๓. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย


๒๑. อัตถิปัจจัย

อัตถิ แปลว่า มีอยู่ ต้องเป็นธรรมที่มีอยู่ คือยังอยู่ในระหว่าง อุปาทะ ฐีติ ภังค ยังไม่ทันได้ดับไปทั้งปัจจัยธรรมและปัจจยุบบันนธรรม ความอุปการะช่วย เหลือกันด้วยความที่มีอยู่นี่แหละ เรียกว่า อัตถิปัจจัย


หน้า ๑๒๙

ธรรมที่มีอยู่ในระหว่าง อุปาทะ ฐีติ ภังคะ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป ส่วน นิพพานไม่เกี่ยว เพราะนิพพาน
ไม่มีการเกิดดับ จึงไม่มีสภาพที่เรียกว่า อุปาทะ ฐีติ ภังคะ นั้น

ในระหว่าง อุปาทะ ฐีติ ภังคะ นี้ การปรากฏแห่งอัตถิปัจจัย ย่อมปรากฏใน ฐีติขณะมากกว่าและชัดกว่าในอุปาทะขณะและภังคะขณะ

ในอำนาจหน้าที่ทั้ง ๒ คือ ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตตินั้น แม้ว่าอัตถิปัจจัย จะมีทั้ง ๒ อย่าง แต่อำนาจในการอุปการะให้ปัจจยุบบันนธรรมตั้งอยู่ได้ คือ อุป ถัมภกสัตตินั้นสำคัญมากกว่าการอุปการะให้เกิดขึ้น (ชนกสัตติ)
ฉะนั้น อุปถัมภก สัตติจึงเป็นประธานในอัตถิปัจจัยนี้


อัตถิปัจจัยนี้ จำแนกออกได้เป็น ๖ ปัจจัย คือ

๑. สหชาตัตถิปัจจัย

๒. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย

๓. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย

๔. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย

๕. อาหารัตถิปัจจัย

๖. อินทริยัตถิปัจจัย

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า อัตถิปัจจัยนี้จำแนกออกเพียง ๕ ปัจจัย คือรวมข้อ ๒ อารัมมณปุเรชาต และข้อ ๓ วัตถุปุเรชาต เข้าด้วยกันเป็นข้อเดียว เรียกว่า ปุเรชาต ไม่แยกเป็นอารมณ์ หรือวัตถุ


สหชาตัตถิปัจจัย

สหชาตัตถิปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมดเหมือนกับ สหชาตปัจจัยทุกประการ

๑. สหชาต หมายความว่า เกิดพร้อมกัน

๒. ประเภท รูปนามเป็นปัจจัย รูปนามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมเกิดพร้อมกับปัจจยุบ บันนธรรม และช่วยอุดหนุนปัจจยุบบันนธรรมนั้นด้วย

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังอยู่ในระหว่าง อุปาทะ ฐีติ ภังคะ คือ ยังไม่ทันดับไป

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล มหาภูตรูปที่เกิดด้วย
สมุฏฐานทั้ง ๔ ทั้งในปฏิสนธิกาล และใน ปวัตติกาล, หทยวัตถุกับปัญจโวการปฏิสนธิ ๑๕ ดวง เจตสิก ๓๕

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒, มหาภูตรูปกับอุปา ทายรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔, หทยวัตถุกับปัญจโวการปฏิสนธิ ๑๕ เจตสิก ๓๕

องค์ธรรมของปัจจนิก ไม่มี เพราะปัจจัยนี้ไม่มีธรรมที่ไม่ใช่ผล

๗. ความหมายโดยย่อ สหชาตัตถิปัจจัยนี้ มี ๙ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลจิต ๒๑ คือ กุสลนามขันธ์ ๔ แล้วแต่จะยก เอาขันธ์ใดว่าเป็นปัจจัย ขันธ์นั้นก็เป็นสหชาตัตถิปัจจัย กุสลจิต ๒๑ คือ กุสลนาม ขันธ์ที่เหลือ ก็เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตัตถิปัจจัย จิตตช รูปที่เกิดด้วยกุสลจิตนั้น ก็เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย กุสลจิต ๒๑ เป็นสหชา ตัตถิปัจจัย กุสลจิต ๒๑ด้วย จิตตชรูปที่เกิดด้วยกุสลจิตนั้นด้วย เป็นสหชาตัตถิปัจจ ยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ๔ แล้ว แต่จะยกเอาขันธ์ใดว่าเป็นปัจจัย ขันธ์นั้นก็เป็นสหชาตัตถิปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ที่เหลือ ก็เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลจิต ๑๒ เป็นสหชาตัตถิปัจจัย จิตต ชรูปที่เกิดด้วยอกุสลจิตนั้น ก็เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย อกุสลจิต ๑๒ เป็นสห ชาตัตถิปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ ด้วย จิตตชรูปที่เกิดด้วยอกุสลจิตนั้นด้วยเป็นสหชา ตัตถิปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ คือ วิบากนามขันธ์ ๔, กิริยาจิต ๒๐ คือ กิริยานามขันธ์ ๔ เป็นสหชาตัตถิปัจจัย วิบากจิต ๓๖ คือ วิบาก นามขันธ์ ๔, กิริยาจิต ๒๐ คือ กิริยานามขันธ์ ๔, วิบากจิตตชรูป
กิริยาจิตตชรูป ตามสมควร เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔ แล้วแต่จะยกเอารูปใดว่าเป็นสหชาตัตถิ ปัจจัย รูปที่เหลือ ก็เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔ เป็นสหชาตัตถิปัจจัย อุปาทายรูปที่อาศัย เกิดกับมหาภูตรูปนั้น เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๘) กุสลด้วยอพยากตะด้วยเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลจิต ๒๑ คือ กุสล นามขันธ์ ๔ ด้วย และมหาภูตรูปที่เกิดจากกุสลจิตนั้นด้วย เป็นสหชาตัตถิปัจจัย กุสลจิตตชมหาภูตรูปที่เหลือ และกุสลจิตตชอุปาทายรูป เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๙) อกุสลด้วยอพยากตะด้วยเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ๔ ด้วย
อกุสลจิตตชมหาภูตรูปด้วย เป็นสหชาตัตถิปัจจัย อกุสล จิตตชมหาภูตรูปที่เหลือ และอกุสลจิตตชอุปาทายรูป เป็นสหชาตัตถิปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย ๓. สหชาตนิสสยปัจจัย

๔. วิปากปัจจัย ๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. สหชาตัตถิปัจจัย ๘. สหชาตอวิคตปัจจัย


อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย

อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือนกับอารัมมณปุเรชาตปัจจัยทุกประการ

๑. อารัมมณปุเรชาต หมายความว่า อารมณ์เฉพาะที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น และเกิดก่อนปัจจยุบบันนธรรมด้วย

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอารัมมณชาติ หมายความว่า ปัจจัยนั้นได้แก่ อารมณ์ และในที่ นี้หมายเฉพาะอารมณ์ที่เป็นนิปผันนรูปเท่านั้น

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า แม้อารมณ์นั้นจะเกิดก่อน แต่ก็ยัง คงมีอยู่ ยังไม่ทันดับไป คือยังอยู่ในฐีติขณะ จึงจะเป็นปัจจัยได้

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่เป็นนิปผันนรูป ๑๘ และยังอยู่ ในระหว่างฐีติขณะ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ กามจิต ๕๔ อภิญญาจิต ๒ เจตสิก ๕๐ (เว้นอัปปมัญญา) ที่เกิดจากปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๗๖ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนธาตุ ๓) ที่ไม่ได้เกิดจากอารมณ์ ๖ ที่เป็นปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ และรูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อารมณ์ ๖ คือ ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย
กามวิบากจิต ๒๓ กามกิริยาจิต ๑๑ กิริยา อภิญญาจิต ๑ เจตสิก ๓๕ (เว้นวิรตี) เป็น
อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน เช่น

รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย
ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนธาตุ ๓ เป็นอารัมมณ ปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย มโนทวาราวัชชนจิต ๑, กามกิริยาชวนะ ๙, ตทาลัมพนะ ๑๑ เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

พระอรหันต์พิจารณา จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และหทยวัตถุ โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปเหล่านี้ที่เป็น ปัจจุบัน เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย มหากิริยาจิต ๘ ที่พิจารณารูปเหล่านี้ เป็น อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

พระอรหันต์เห็นรูปด้วยทิพพจักขุ ได้ยินเสียงด้วยทิพพโสต รูปและเสียงนั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย กิริยาอภิญญาจิตของพระอรหันต์ ที่เห็นรูปนั้น ที่ได้ ยินเสียงนั้นเป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล อารมณ์ ๖ คือ ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย
มหากุสล ๘, กุสลอภิญญา ๑ เจตสิก ๓๖ (เว้น อัปปมัญญา) เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน เช่น

พระเสกขบุคคลและปุถุชนทั้งหลายพิจารณา จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ หทยวัตถุ โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปเหล่านี้ที่เป็นปัจจุบันเป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย มหากุสลจิต ๘ ที่พิจารณารูป เหล่านี้ เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

พระเสกขบุคคลและปุถุชนทั้งหลาย เห็นรูปด้วยทิพพจักขุ ได้ยินเสียงด้วย ทิพพโสต รูปและเสียงนั้นเป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย กุสลอภิญญาจิตที่เห็นรูป นั้น ที่ได้ยินเสียงนั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล อารมณ์ ๖ คือ ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย
อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิ ปัจจยุบบันน เช่น

ยินดีเพลิดเพลินต่อ จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และหทยวัตถุ เมื่อนึกถึงรูปเหล่านี้แล้วมี ราคะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ และโทมนัสเกิดขึ้น รูปเหล่านี้ที่เป็นปัจจยุบบันน เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ราคะ ทิฏฐิ เป็นต้น ที่เกิดขึ้น อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ นั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย

๕. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ๖. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย


วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย

วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือน วัตถุปุเรชาตปัจจัยทุกประการ

๑. วัตถุปุเรชาต หมายความว่า วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นวัตถุปุเรชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมซึ่งช่วยอุปการะแก่ ปัจจยุบบันนธรรมนั้น โดยการที่เป็นที่ตั้งด้วย และโดยการที่เกิดก่อนด้วย

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน หมายความว่า แม้ปัจจัยธรรมจะเกิดก่อน แต่ก็ยัง ไม่ทันดับไป คือ ยังอยู่ในระหว่างฐีติขณะ ยังไม่ทันถึงภังคขณะ

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ วัตถุ ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ ที่เกิดก่อนปัจจยุบบันน

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔) ทั้งที่แน่นอน และไม่แน่นอนในปัญจโวการภูมิที่เป็นปวัตติกาล

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวารา วัชชนจิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑)รวมจิต ๔๖ ดวงทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอน ปัญจโวการ ปฏิสนธิจิต ๑๕ และรูปทั้งหมด

ที่ว่าทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอนนั้น เรื่องนี้ได้แสดงไว้ในปริจเฉทที่ ๓ ตอนวัตถุสังคหะแล้ว แต่เพื่อทบทวนความจำ จึงขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีก ว่า

(๑) ปัจจยุบบันนธรรมที่แน่นอน ได้แก่ โทสมูลจิต ๒, อเหตุกจิต ๑๗ (เว้น มโนทวาราวัชชนจิต ๑), มหาวิบาก ๘, รูปาวจรจิต ๑๕ และโสดาปัตติมัคคจิต ๑ รวมจิต ๔๓ ดวงนี้ ต้องอาศัยวัตถุเกิดอย่างแน่นอน

(๒) ปัจจยุบบันนธรรมที่ไม่แน่นอน ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวาราวัชชนจิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปกุสลจิต ๔, อรูปกิริยาจิต ๔ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑) รวมจิต ๔๒ ดวงนี้ ถ้าเกิดในปัญจโวการภูมิ ก็ต้องอาศัยวัตถุเกิด ถ้าเกิดในจตุโวการภูมิไม่ต้องอาศัยวัตถุ ก็เกิดได้

(๓) ปัจจนิกธรรมที่แน่นอน ได้แก่ อรูปวิบากจิต ๔ และรูปทั้งหมดซึ่งเกิด ขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ จึงเป็นปัจจนิกธรรมที่แน่นอน

(๔) ปัจจนิกธรรมที่ไม่แน่นอน ก็คือจิต ๔๒ ดวง ตามข้อ (๒) นั่นเอง ซึ่งจิต ๔๒ ดวงนี้เกิดในปัญจโวการภูมิ ก็เป็นปัจจยุบบันนธรรม ถ้าเกิดในจตุโวการ ภูมิ ก็เป็นปัจจนิกธรรมไป จึงว่าไม่แน่นอน

๗. ความหมายโดยย่อ วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ คือ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน เป็นวัตถุปุเรชาตัต ถิปัจจัย วิบากจิต ๓๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔), กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดทีหลังวัตถุ ๖ นั้น เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน เช่น

วัตถุ ๕ มีจักขุวัตถุ เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น เป็น วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย วิบากจิต ๒๒ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูปวิบาก ๔) เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดอยู่ก่อนเวลาที่จะออกจากนิโรธสมาบัตินั้นเป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑ ที่เกิดขึ้นในขณะออกจากนิโรธสมาบัติ นั้นเป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน วัตถุ ๖ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็นวัตถุ ปุเรชาตัตถิปัจจัย จิตที่เกิดพร้อมกับวัตถุ ๖ ที่เหลือ ๑๖ ขณะ อันได้แก่ โลกียวิบาก จิต ๒๘ (เว้นอรูปวิบาก ๔) กิริยาจิต ๒๐ เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย กุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กุสลจิต ๒๑ ที่เกิดทีหลัง เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย
มรณาสันนกุสลชวนะ อันได้แก่ โลกียกุสลจิต ๑๗ เป็นวัตถุ ปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย อกุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสล จิต ๑๒ เป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย
มรณาสันนอกุสลชวนะ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นวัตถุปุเร ชาตัตถิปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๑๓

ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย

ปัจฉาชาตัตถิปัจจัยมี คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือนกับ ปัจฉาชาตปัจจัย ทุกประการ

คำว่า ชาตะ มีอยู่ ๓ ปัจจัย คือ สหชาตะ ปุเรชาตะ และปัจฉาชาตะนี้ อัน คำว่า ชาตะในปัจจัย ๒๔ นี้มีความหมายถึง ๓ อย่างคือ

สหชาตะ ได้แก่ นาม รูป ที่เกิดอยู่ใน อุปาทะ ฐีติ ภังคะ

ปุเรชาตะ ได้แก่ รูป ที่เกิดอยู่ในฐีติขณะเท่านั้น

ปัจฉาชาตะ ได้แก่ นามที่เกิดอยู่ใน อุปาทะ และฐีติขณะ

๑. ปัจฉาชาตะ หมายความถึงนามที่เกิดทีหลัง ช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดก่อน

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นปัจฉาชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นเกิดทีหลัง แล้ว ช่วยอุปการะแก่
ปัจจยุบบันนธรรมที่เกิดก่อน

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังไม่ดับไป

๕. สัตติ มีอำนาจเป็นอุปถัมภกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๕(เว้นอรูปวิบาก ๔ และปฏิสนธิจิต) เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง มีปฐมภวังคจิต เป็นต้น ที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ รูป ที่เป็นฐีติปัตตะ ที่เกิดพร้อมกับขณะทั้ง ๓ ของจิตที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูปขณะที่เกิดขึ้น(อุปาท ขณะของรูป), พาหิรรูป,อสัญญสัตตกัมมชรูป

๗. ความหมายโดยย่อ ปัจฉาชาตัตถิปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๘ ที่เกิดทีหลังในปัญจโวการภูมิ เป็นปัจฉาชาตัตถิปัจจัย รูป ๒๘ คือ ติชกาย ได้แก่ กัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป ในรูปภูมิ, จตุชกาย ได้แก่ กัมมชรูป
จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป ในกามภูมิ ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมา พร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ เป็นปัจฉาชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ ที่เกิดทีหลัง เป็นปัจฉาชาตัตถิปัจจัย รูป ๒๘ คือ ติชกาย จตุชกาย ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ เป็นปัจฉาชาตัตถิปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากนามขันธ์ ๔ ได้แก่ วิบากจิต ๓๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔ และปฏิสนธิจิต), กิริยานามขันธ์ ๔ ได้แก่ กิริยาจิต ๒๐ เจตสิก ๓๘ ที่เกิดทีหลัง เป็นปัจฉาชาตัตถิปัจจัย เอกชกาย ได้แก่ ปฏิสนธิกัมมชรูป ทวิชกาย ได้แก่ กัมมชรูป อุตุชรูป, ติชกาย ในปัญจโวการ รูปภูมิ จตุชกาย ในกามภูมิ ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ ในปฏิสนธิ จิต เป็นต้น เป็นปัจฉาชาตัตถิปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๔ ปัจจัย คือ

๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ๒. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย

๓. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย


อาหารัตถิปัจจัย

อาหารัตถิปัจจัยนี้ มีคำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมดเหมือนกับ รูปอาหารปัจจัย ทุกประการ

๑. รูปอาหาร หมายความว่า อาหารที่เป็นรูปธรรม คือ กพฬีการาหาร

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอาหารชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นได้แก่ อาหาร นั่นเอง

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ พหิทธโอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ กัมมชโอชา จิตตชโอชา อุตุชโอชา อาหารชโอชา ที่อยู่ภายใน (อัชฌัตตสันตานะ) และอุตุชโอชาที่อยู่ภายนอก (พหิทธสันตานะ) คือโอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันนได้แก่ อาหารสมุฏฐานิกรูป คือรูปที่เกิดจากอาหาร

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ จตุสมุฏฐานิกรูปที่ตั้งอยู่ในกลาปอันเดียวกันกับ ปัจจัยธรรม และที่ตั้งอยู่ใน
กลาปอื่น ๆ (เว้นโอชาที่อยู่ในกลาปอันเดียวกัน)

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, จิตตชรูป, ปฏิสนธิ กัมมชรูป, พาหิรรูป, อุตุชรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป, ปวัตติกัมมชรูป

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒ และพาหิรรูป

๗. ความหมายโดยย่อ รูปอาหารปัจจัยมีวาระเดียว คือ อพยากตะเป็นปัจจัย แก่อพยากตะ กพฬีการาหาร บ้างก็เรียกกวฬิงการาหาร คือ โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ หรืออีกนัยหนึ่งได้แก่โอชาที่อยู่ทั้งภายในและภายนอก เป็นรูปอาหารปัจจัย จตุสมุฏฐานิกรูป คือ รูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ที่ตั้งอยู่ในกลาปอันเดียวกันกับปัจจัยธรรม และตั้งอยู่ในกลาปอื่น ๆ เป็นอาหารัตถิปัจจยุบบันน

ขยายความ โอชาที่เป็นปัจจัยธรรม เมื่อช่วยอุปการะแก่อาหารชรูปคือ อาหาร ชโอชานั้น เป็นไปโดยอำนาจชนกสัตติ แต่ถ้าเป็นการช่วยอุปการะแก่ ติชรูปที่เหลือ นอกนั้นคือ กัมมชโอชา จิตตชโอชา และอุตุชโอชาแล้ว เป็นไปโดยอำนาจอุปถัมภก สัตติ

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๓ ปัจจัย คือ

๑. รูปอาหารปัจจัย ๒. อาหารัตถิปัจจัย ๓. อาหารอวิคตปัจจัย


อินทริยัตถิปัจจัย

อินทริยัตถิปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือนกับ รูปชีวิตินทริยปัจจัยทุกประการ

๑. รูปชีวิตินทรีย หมายถึง ชีวิตรูป

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นรูปชีวิตินทริยชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นได้แก่ ชีวิตรูป ซึ่งทำหน้าที่เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในการรักษารูปธรรมที่เกิดขึ้นด้วยกัน

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และ อุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ ชีวิตรูป ทั้งในปฏิสนธิกาลและในปวัตติกาล

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ กัมมชรูปที่เหลือ ๙ รูป หรือ ๘ รูป ซึ่งอยู่ ในกลาปเดียวกับชีวิตรูปนั้น ๆ

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, จิตตชรูป, พาหิรรูป, อาหารชรูป, อุตุชรูป และชีวิตรูป (ที่เป็นปัจจัย)

๗. ความหมายโดยย่อ อินทริยัตถิปัจจัยนี้มีวาระเดียว คือ อพยากตะเป็น ปัจจัยแก่อพยากตะ ได้แก่ ชีวิตรูปทั้งหลาย เป็นอินทริยัตถิปัจจัย กัมมชรูปที่เหลือ ๙ รูปหรือ ๘ รูปซึ่งอยู่ในกลาปเดียวกับชีวิตรูปนั้น ๆ เป็นอินทริยัตถิปัจจยุบบันน เช่น

จักขุทสกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ จักขุปสาทรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ รวม ๑๐ รูป ชีวิตรูป ๑ เป็นปัจจัยเสียแล้ว
อวินิพโภครูป ๘ จักขุปสาทรูป ๑ รวม ๙ รูป ที่เหลือนี้ ก็เป็นปัจจยุบบันน

โดยทำนองเดียวกัน ชีวิตนวกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ และชีวิตรูป ๑ รวม ๙ รูป ชีวิตรูป ๑ เป็นปัจจัยเสียแล้ว อวินิพโภครูป ๘ ที่เหลือ ก็เป็นปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๓ ปัจจัย คือ

๑. รูปชีวิตินทริยปัจจัย ๒. รูปชีวิตินทริยัตถิปัจจัย

๓. รูปชีวิตินทริยอวิคตปัจจัย


๒๒. นัตถิปัจจัย

นัตถิ แปลว่า ไม่มี ในที่นี้หมายความว่า ปัจจัยธรรมอันได้แก่ จิตและเจตสิก นั้นไม่มีแล้ว ดับไปแล้ว จึงจะเป็นโอกาสให้จิตเจตสิกดวงต่อมาเกิดขึ้นได้ ถ้าจิต เจตสิกดวงที่เกิดอยู่ก่อนยังไม่ดับไป จิตเจตสิกดวงต่อมาก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

ความดับไปหรือความไม่มีของจิตเจตสิกที่เกิดก่อนนี่แหละเรียกว่า นัตถิปัจจัย จิตเจตสิกดวงที่เกิดต่อมานั้นเรียกว่า นัตถิปัจจยุบบันน

นัตถิปัจจัยนี้ นามเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน และเหมือนกับ อนันตร ปัจจัยทุกประการ

๑. อนันตร หมายถึง ไม่มีระหว่างคั่น

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอนันตรชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นช่วยอุปการะให้ปัจจ ยุบบันนธรรมเกิด โดยไม่มีระหว่างคั่น

๔. กาล เป็นอดีตกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นต้องดับไปเสียก่อน จึง จะช่วยอุปการะให้
ปัจจยุบบันนธรรมเกิดได้

๕. สัตติ เป็นชนกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดก่อน (เว้นจุติจิต ของพระอรหันต์)

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง รวมทั้ง จุติจิตของพระอรหันต์ด้วย

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ รูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ นัตถิปัจจัยนี้ เกี่ยวแก่วิถีจิตเป็นอย่างมาก ถ้าได้นึก ถึงวิถีจิตมาพิจารณาร่วมพร้อมกับปัจจัยนี้ด้วย ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจได้เป็นอย่าง ดี ปัจจัยนี้มี ๗ วาระ คือ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล โลกียกุสลชวนะ ๑๗ ดวงที่เกิดก่อน (เว้นชวนะ ดวงสุดท้าย) เป็นนัตถิปัจจัย กุสลชวนะที่เกิดทีหลัง(เว้นชวนะดวงแรก) อันได้แก่ กุสลชวนะ ๒๑ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน มีรายละเอียด เช่น

มหากุสล ๘ เป็นนัตถิปัจจัย มหากุสล ๘ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

มหากุสล ๔ เป็นนัตถิปัจจัย มัคคจิต ๔ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

มหากุสล ๔ เป็นนัตถิปัจจัย มหัคคตกุสล ๙ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

มหัคคตกุสล ๙ เป็นนัตถิปัจจัย มหัคคตกุสล ๙ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลชวนะ ๒๑ ดวงสุดท้ายเป็นนัตถิปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑, มหัคคตวิบาก ๙, ผลจิต ๔ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน มีรายละเอียด เช่น มหากุสล ๘ เป็นนัตถิปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑ ภวังคจิต ๑๙ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

มหัคตกุสล ๙ เป็นนัตถิปัจจัย ติเหตุกภวังคจิต ๑๓ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

มัคคจิต ๔ เป็นนัตถิปัจจัย ผลจิต ๔ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

อนุโลมญาณ ๓ เป็นนัตถิปัจจัย ผลสมาบัติ ๓ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

เนวสัญญาฯกุสล ๑ เป็นนัตถิปัจจัย อนาคามิผล ๑ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

(๓) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลชวนะ ๑๒ ที่เกิดก่อน(เว้นดวงสุดท้าย) เป็นนัตถิปัจจัย อกุสลชวนะ ๑๒ ที่เกิดทีหลัง(เว้นดวงแรก) เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลชวนะ ๑๒ ดวงสุดท้าย เป็นนัตถิ ปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑, มหัคคตวิบาก ๙, ภวังคจิต ๑๙ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

(๕) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ (เว้นจุติจิตของพระ อรหันต์) กิริยาจิต ๒๐ที่เกิดก่อน ๆ เป็นนัตถิปัจจัย วิบากจิต ๓๖, กิริยาจิต ๒๐ ที่ เกิดทีหลังนั้น เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

(๖) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นนัตถิปัจจัย ชวนะดวงที่ ๑ ของมหากุสลจิต ๘ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นนัตถิปัจจัย ชวนะดวงที่ ๑ ของอกุสลจิต ๑๒ เป็นนัตถิปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๗ ปัจจัย คือ

๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย ๓. อนันตรรูปนิสสยปัจจัย

๔. อาเสวนปัจจัย ๕. นานักขณิกกัมมปัจจัย ๖. นัตถิปัจจัย

๗. วิคตปัจจัย


๒๓. วิคตปัจจัย

วิคต แปลว่า ปราศจากไป หมายถึงดับไปแล้วนั่นเอง ปัจจัยธรรมอันได้แก่ จิตเจตสิกนั้นปราศจากไปแล้ว ดับไปแล้ว ไม่มีแล้ว ปัจจยุบบันนธรรมจึงจะเกิดขึ้น ได้ หรือจะกล่าวถึงผลก่อน ก็ว่า ปัจจยุบบันนธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปัจจัยธรรม นั้นปราศจากไปแล้ว ถ้าหากว่าปัจจัยธรรมยังไม่ปราศจากไป และปัจจยุบบันนธรรมก็เกิดขึ้น ดังนี้ไม่ชื่อว่า วิคต และเป็นวิคตปัจจัยไม่ได้ อุปมาเหมือน ความสว่างกับความมืด ถ้าแสงสว่างยังมีอยู่ ยังปรากฏอยู่ ความมืดก็จะมีอยู่ไม่ได้ ต่อเมื่อใดแสงสว่างปราศจากไปแล้วไม่มีแล้ว เมื่อนั้นจึง ปรากฏเกิดความมืดขึ้นมาได้ หรือว่าพระอาทิตย์ปราศจากไปแล้วพระจันทร์จึง ปรากฏได้

วิคตปัจจัยนี้ เหมือนกับนัตถิปัจจัยทุกประการ และด้วยเหตุที่นัตถิปัจจัย เหมือนกับอนันตรปัจจัย ดังนั้น วิคตปัจจัยจึงเหมือนอนันตรปัจจัยนั่นเอง

๑. อนันตร หมายถึงว่า ไม่มีระหว่างคั่น

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอนันตรชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นช่วยอุปการะให้ปัจจ ยุบบันนธรรมเกิด โดยไม่มีระหว่างคั่น

๔. กาล เป็นอดีตกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นต้องดับไปเสียก่อน จึง จะช่วยอุปการะให้
ปัจจยุบบันนธรรมเกิดได้

๕. สัตติ เป็นชนกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดก่อน (เว้นจุติจิต ของพระอรหันต์)

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง รวมทั้ง จุติจิตของพระอรหันต์ด้วย

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ รูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ วิคตปัจจัยนี้เกี่ยวแก่วิถีจิตเป็นอย่างมาก ถ้าได้นึกถึง วิถีจิตมาพิจารณาร่วมพร้อมกับปัจจัยนี้ด้วย ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจได้เป็นอย่างดี ปัจจัยนี้มี ๗ วาระ คือ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล โลกียกุสลชวนะ ๑๗ ดวงที่เกิดก่อน (เว้นชวนะ ดวงสุดท้าย) เป็นวิคตปัจจัย กุสลชวนะที่เกิดทีหลัง (เว้นชวนะดวงแรก) อันได้แก่ กุสลชวนะ ๒๑ เป็นวิคตปัจจยุบบันน มีรายละเอียด เช่น

มหากุสล ๘ เป็นวิคตปัจจัย มหากุสล ๘ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

มหากุสล ๔ เป็นวิคตปัจจัย มัคคจิต ๔ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

มหากุสล ๔ เป็นวิคตปัจจัย มหัคคตกุสล ๙ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

มหัคคตกุสล ๙ เป็นวิคตปัจจัย มหัคคตกุสล ๙ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลชวนะ ๒๑ ดวงสุดท้ายเป็นวิคตปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑, มหัคคตวิบาก ๙, ผลจิต ๔ เป็นวิคตปัจจยุบบันน มีรายละเอียด เช่น มหากุสล ๘ เป็นวิคตปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑ ภวังคจิต ๑๙ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

มหัคตกุสล ๙ เป็นวิคตปัจจัย ติเหตุกภวังคจิต ๑๓ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

มัคคจิต ๔ เป็นวิคตปัจจัย ผลจิต ๔ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

อนุโลมญาณ ๓ เป็นวิคตปัจจัย ผลสมาบัติ ๓ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

เนวสัญญาฯกุสล ๑ เป็นวิคตปัจจัย อนาคามิผล ๑ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

(๓) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลชวนะ ๑๒ ที่เกิดก่อน (เว้นดวงสุด ท้าย) เป็นวิคตปัจจัย อกุสลชวนะ ๑๒ ที่เกิดทีหลัง (เว้นดวงแรก) เป็นวิคตปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลชวนะ ๑๒ ดวงสุดท้าย เป็นวิคต ปัจจัย ตทาลัมพนะ ๑๑, มหัคคตวิบาก ๙, ภวังคจิต ๑๙ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

(๕) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ (เว้นจุติจิตของพระ อรหันต์) กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดก่อน ๆ เป็นวิคตปัจจัย วิบากจิต ๓๖, กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดทีหลังนั้น เป็นวิคตปัจจยุบบันน

(๖) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นวิคตปัจจัย ชวนะดวงที่ ๑ ของมหากุสลจิต ๘ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล มโนทวาราวัชชนจิต ๑ เป็นวิคตปัจจัย ชวนะดวงที่ ๑ ของอกุสลจิต ๑๒ เป็นวิคตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๗ ปัจจัย คือ

๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย ๓. อนันตรรูปนิสสยปัจจัย

๔. อาเสวนปัจจัย ๕. นานักขณิกกัมมปัจจัย ๖. นัตถิปัจจัย

๗. วิคตปัจจัย


หน้า ๑๓๑

๒๔. อวิคตปัจจัย

อวิคต แปลว่า ไม่ปราศจากไป จึงมีความหมายว่า ปัจจัยธรรมซึ่งเป็นสิ่ง อุปการะช่วยเหลือแก่
ปัจจยุบบันนธรรมนั้น ยังไม่ปราศจากไป ยังไม่ดับไป คือ ยัง คงมีอยู่ และปัจจยุบบันนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รับความอุปการะช่วยเหลือนั้น ก็ยังไม่ ปราศจากไป ยังคงมีอยู่เช่นเดียวกัน

ทั้งปัจจัยธรรมและปัจจยุบบันนธรรม ยังไม่ปราศจากไปทั้งคู่ และต่างก็ อุปการะเกื้อหนุนกัน จึงเรียกว่า อวิคตปัจจัย

อวิคตปัจจัย มีคำอธิบายและองค์ธรรมเหมือนกับอัตถิปัจจัยทุกอย่างทุกประการ ดังนั้นอวิคตปัจจัย จึงจำแนกออกได้เป็น ๖ ปัจจัย หรือ ๕ ปัจจัย นัยเดียวกับ อัตถิปัจจัย ผิดกันที่ชื่อนิดเดียว คือเปลี่ยนคำว่า อัตถิ เป็นอวิคต ดังต่อไปนี้

๑. สหชาตอวิคตปัจจัย

๒. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย

๓. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย

๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย

๕. อาหารอวิคตปัจจัย

๖. อินทริยอวิคตปัจจัย


สหชาตอวิคตปัจจัย

สหชาตอวิคตปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมดเหมือนกับ สหชาตัตถิปัจจัย ดังนั้นก็เหมือนกับสหชาตปัจจัยทุกประการ

๑. สหชาต หมายความว่า เกิดพร้อมกัน

๒. ประเภท นามรูปเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นสหชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมเกิดพร้อมกับปัจจยุบ บันนธรรม และช่วยอุดหนุนปัจจยุบบันนธรรมนั้นด้วย

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังอยู่ในระหว่าง อุปาทะ ฐีติ ภังคะ คือยังไม่ทันดับไป

๕. สัตติ มีทั้งชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ทั้งในปฏิสนธิกาลและ ในปวัตติกาล, มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔ ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติ กาล หทยวัตถุกับปัญจโวการปฏิสนธิ ๑๕ ดวง เจตสิก ๓๕

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒, มหาภูตรูปกับอุปา ทายรูป ที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔,หทยวัตถุกับปัญจโวการปฏิสนธิ ๑๕ เจตสิก ๓๕

องค์ธรรมของปัจจนิก ไม่มี เพราะปัจจัยนี้ไม่มีธรรมที่ไม่ใช่ผล

๗. ความหมายโดยย่อ สหชาตอวิคตปัจจัยนี้ มี ๙ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล กุสลจิต ๒๑ คือ กุสลนามขันธ์ ๔ แล้วแต่จะ ยกเอาขันธ์ใดว่าเป็นปัจจัย ขันธ์นั้นก็เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย กุสลจิต ๒๑ คือ กุสล นามขันธ์ที่เหลือ ก็เป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย จิตตชรูปที่เกิดด้วยกุสลจิตนั้น ก็เป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย กุสลจิต ๒๑ เป็นสหชาต อวิคตปัจจัย กุสลจิต ๒๑ ด้วย จิตตชรูปที่เกิดด้วยกุสลจิตนั้นด้วย เป็นสหชาตอวิคต ปัจจยุบบันน

(๔) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ๔ แล้ว แต่จะยกเอาขันธ์ใดว่าเป็นปัจจัย ขันธ์นั้นก็เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ที่เหลือ ก็เป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๕) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลจิต ๑๒ เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย จิตตชรูปที่เกิดด้วยอกุสลจิตนั้น ก็เป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๖) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย อกุสลจิต ๑๒ เป็น สหชาตอวิคตปัจจัย อกุสลจิต ๑๒ ด้วย จิตตชรูปที่เกิดด้วยอกุสลจิตนั้นด้วยเป็น สหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๗) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากจิต ๓๖ คือ วิบากนามขันธ์ ๔, กิริยาจิต ๒๐ คือ
กิริยานามขันธ์ ๔ เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย วิบากจิต ๓๖ คือ วิบากนามขันธ์ ๔, กิริยาจิต ๒๐ คือ
กิริยานามขันธ์ ๔, วิบากจิตตชรูป กิริยา จิตตชรูป ตามสมควรเป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔ แล้วแต่จะยกเอารูปใดว่าเป็นสหชาต อวิคตปัจจัย รูปที่เหลือ ก็เป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

มหาภูตรูปที่เกิดด้วยสมุฏฐานทั้ง ๔ เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย อุปาทายรูป ที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปนั้น เป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๘) กุสลด้วยอพยากตะด้วยเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลจิต ๒๑ คือ กุสล นามขันธ์ ๔ ด้วย และมหาภูตรูปที่เกิดจากกุสลจิตนั้นด้วย เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย กุสลจิตตชมหาภูตรูปที่เหลือ และกุสลจิตตชอุปาทายรูป เป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๙) อกุสลด้วยอพยากตะด้วยเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลจิต ๑๒ คือ อกุสลนามขันธ์ ๔ ด้วย, และอกุสลจิตตชมหาภูตรูปด้วย เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย อกุสลจิตตชมหาภูตรูปที่เหลือ และอกุสลจิตตชอุปาทายรูป เป็นสหชาตอวิคตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย ๓. สหชาตนิสสยปัจจัย

๔. วิปากปัจจัย ๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. สหชาตัตถิปัจจัย ๘. สหชาตอวิคตปัจจัย


อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย

อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือนกับ
อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ดังนั้นก็เหมือนกับอารัมมณปุเรชาตปัจจัยทุก ประการ

๑. อารัมมณปุเรชาต หมายความว่า อารมณ์เฉพาะที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น และเกิดก่อน
ปัจจยุบบันนธรรมด้วย

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอารัมมณชาติ หมายความว่า ปัจจัยนี้ได้แก่ อารมณ์ และในที่นี้ หมายเฉพาะอารมณ์ที่เป็นนิปผันนรูปเท่านั้น

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า แม้อารมณ์นั้นจะเกิดก่อน แต่ก็ยัง คงมีอยู่ ยังไม่ทันดับไป คือ ยังอยู่ใน ฐีติขณะ จึงจะเป็นปัจจัยได้

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่เป็น นิปผันนรูป ๑๘ และยัง อยู่ในระหว่างฐีติขณะ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันนได้แก่ กามจิต ๕๔ อภิญญาจิต ๒ เจตสิก ๕๐ (เว้นอัปปมัญญา) ที่เกิดจาก ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๗๖(เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนธาตุ ๓) ที่ไม่ได้เกิดจากอารมณ์ ๖ ที่เป็นปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ และรูปทั้งหมด

๗. ความหมายโดยย่อ อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัยนี้มี ๓ วาระ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อารมณ์ ๖ คือปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย
กามวิบาก ๒๓ กามกิริยาจิต ๑๑ กิริยาอภิญญา จิต ๑ เจตสิก ๓๕ (เว้นวิรตี) เป็น
อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน เช่น

รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มโนธาตุ ๓ เป็นอารัมมณ ปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย มโนทวาราวัชชน จิต ๑, กามกิริยาชวนะ ๙, ตทาลัมพนะ ๑๑ เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

พระอรหันต์พิจารณา จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และหทยวัตถุ โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปเหล่านี้ที่เป็น ปัจจุบัน เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย มหากิริยาจิต ๘ ที่พิจารณารูปเหล่านี้ เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

พระอรหันต์เห็นรูปด้วยทิพพจักขุ ได้ยินเสียงด้วยทิพพโสต รูปและเสียงนั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย กิริยาอภิญญาจิตของพระอรหันต์ ที่เห็นรูปนั้น ที่ได้ยินเสียงนั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล อารมณ์ ๖ คือ ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย
มหากุสล ๘, กุสลอภิญญา ๑ เจตสิก ๓๖ (เว้น อัปปมัญญา) เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน เช่น พระเสกขบุคคลและปุถุชนทั้งหลายพิจารณา จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
และหทยวัตถุ โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปเหล่านี้ที่เป็นปัจจุบันเป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย
มหากุสลจิต ๘ ที่พิจารณา รูปเหล่านี้ เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

พระเสกขบุคคลและปุถุชนทั้งหลาย เห็นรูปด้วยทิพพจักขุ ได้ยินเสียงด้วย ทิพพโสต รูปและเสียงนั้นเป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย กุสลอภิญญาจิตที่เห็น รูปนั้น ที่ได้ยินเสียงนั้น เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล อารมณ์ ๖ คือ ปัจจุบันนิปผันนรูป ๑๘ เป็นอารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย
อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ เป็นอารัมมณปุเรชาต อวิคตปัจจยุบบันน เช่น

ยินดีเพลิดเพลินต่อ จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และหทยวัตถุ เมื่อนึกถึงรูปเหล่านี้แล้ว มีราคะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ และโทมนัสเกิดขึ้น รูปเหล่านี้ที่เป็นปัจจยุบบันน เป็น อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย ราคะ ทิฏฐิ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นอันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ นั้น เป็น อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย

๕. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ๖. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๑๓๒

วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย

วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือนกับ วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ดังนั้นก็เหมือนกับวัตถุปุเรชาตปัจจัยทุกประการ

๑. วัตถุปุเรชาต หมายความว่า วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นวัตถุปุเรชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมซึ่งช่วยอุปการะแก่ ปัจจยุบบันนธรรมนั้น โดยการที่เป็นที่ตั้งด้วย และโดยการที่เกิดก่อนด้วย

๔. กาล เป็นกาลปัจจุบัน หมายความว่า แม้ปัจจัยธรรมจะเกิดก่อน แต่ก็ยัง ไม่ทันดับไป คือ ยังอยู่ในระหว่างฐีติขณะ ยังไม่ทันถึงภังคขณะ

๕. สัตติ มีทั้งชนกสัตติ และ อุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ วัตถุ ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ ที่เกิดก่อนปัจจยุบบันน

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ จิต ๘๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔) ทั้งที่แน่นอน และไม่แน่นอนในปัญจโวการภูมิ ที่เป็นปวัตติกาล

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวาราวัชชนจิต ๑, มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปจิต ๑๒ และ โลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑) รวมจิต ๔๖ ดวง ทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอน, ปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ และ รูปทั้งหมด

ที่ว่าทั้งที่แน่นอนและไม่แน่นอนนั้น เรื่องนี้ได้แสดงไว้ในปริจเฉทที่ ๓ ตอน วัตถุสังคหะแล้ว แต่เพื่อทบทวนความจำ จึงขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีกว่า

(๑) ปัจจยุบบันนธรรมที่แน่นอน ได้แก่ โทสมูลจิต ๒, อเหตุกจิต ๑๗ (เว้น มโนทวาราวัชชนจิต ๑), มหาวิบาก ๘, รูปาวจรจิต ๑๕ และโสดาปัตติมัคคจิต ๑ รวม ๔๓ ดวงนี้ ต้องอาศัยวัตถุเกิดอย่างแน่นอน

(๒) ปัจจยุบบันนธรรมที่ไม่แน่นอน ได้แก่ โลภมูลจิต ๘, โมหมูลจิต ๒, มโนทวาราวัชชนจิต ๑,
มหากุสลจิต ๘, มหากิริยาจิต ๘, อรูปกุสลจิต ๔, อรูป กิริยาจิต ๔ และโลกุตตรจิต ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคจิต ๑)
รวมจิต ๔๒ ดวงนี้ ถ้า เกิดในปัญจโวการภูมิ ก็ต้องอาศัยวัตถุเกิด ถ้าเกิดในจตุโวการภูมิ ไม่ต้องอาศัยวัตถุ ก็เกิดได้

(๓) ปัจจนิกธรรมที่แน่นอน ได้แก่ อรูปวิบากจิต ๔ และ รูปทั้งหมดซึ่งเกิด ขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ จึงเป็นปัจจนิกธรรมที่แน่นอน

(๔) ปัจจนิกธรรมที่ไม่แน่นอน ก็คือ จิต ๔๒ ดวง ตามข้อ (๒) นั่นเอง ซึ่ง จิต ๔๒ ดวงนี้เกิดในปัญจโวการภูมิ ก็เป็นปัจจยุบบันนธรรม ถ้าเกิดในจตุโวการ ภูมิ ก็เป็นปัจจนิกธรรมไป จึงว่าไม่แน่นอน

๗. ความหมายโดยย่อ วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ คือ

(๑) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วัตถุ ๖ ที่เกิดก่อน เป็นวัตถุปุเรชาต อวิคตปัจจัย วิบากจิต ๓๒
(เว้นอรูปวิบาก ๔), กิริยาจิต ๒๐ ที่เกิดทีหลังวัตถุ ๖ นั้น เป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน เช่น

วัตถุ ๕ มีจักขุวัตถุเป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิตเป็นต้น เป็นวัตถุ ปุเรชาตอวิคตปัจจัย วิบากจิต ๒๒ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูปวิบาก ๔) เป็น วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดอยู่ก่อนเวลาที่จะออกจากนิโรธสมาบัตินั้น เป็นวัตถุปุเรชาต อวิคตปัจจัย อนาคามิผลจิต ๑
อรหัตตผลจิต ๑ ที่เกิดขึ้นในขณะออกจากนิโรธ สมาบัตินั้น เป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

วัตถุ ๖ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็นวัตถุ ปุเรชาตอวิคตปัจจัย จิตที่เกิดพร้อมกับวัตถุ ๖ ที่เหลือ ๑๖ ขณะ อันได้แก่ โลกีย วิบากจิต ๒๘(เว้นอรูปวิบาก ๔) กิริยาจิต ๒๐ เป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๒) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย กุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ กุสล จิต ๒๑ ที่เกิดทีหลัง เป็น
วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย
มรณาสันนกุสลชวนะ อันได้แก่ โลกียกุสลจิต ๑๗ เป็น วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มี อาวัชชนจิต เป็นต้น เป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย อกุสลนามขันธ์ ๔ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

หทยวัตถุ ที่เกิดพร้อมกับจิตดวงที่นับถอยหลังจากจุติจิตไป ๑๗ ขณะ เป็น วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย
มรณาสันนอกุสลชวนะ อันได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เป็นวัตถุ ปุเรชาตอวิคตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๘ ปัจจัย คือ

๑. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย

๓. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

๕. วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย

๗. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย


ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย

ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือน กับปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ดังนั้นก็เหมือนกับปัจฉาชาตปัจจัยทุกประการ

๑. ปัจฉาชาตะ หมายความถึง นามที่เกิดทีหลังช่วยอุปการะแก่รูปที่เกิดก่อน

๒. ประเภท นามเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นปัจฉาชาตชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นเกิดทีหลังแล้วช่วย อุปการะแก่ปัจจยุบบันนธรรมที่เกิดก่อน

๔. กาล เป็นปัจจุบันกาล หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นยังไม่ดับไป

๕. สัตติ มีอำนาจเป็น อุปถัมภกสัตติ แต่อย่างเดียว

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๕ (เว้นอรูปวิบาก ๔ และปฏิสนธิ จิต) เจตสิก ๕๒ ที่เกิดทีหลัง มีปฐมภวังคจิต เป็นต้น ที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่รูปที่เป็นฐีติปัตตะที่เกิดพร้อมกับขณะทั้ง ๓ ของจิตที่เกิดก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูปขณะที่เกิดขึ้น(อุปาท ขณะของรูป), พาหิรรูป, อสัญญสัตตกัมมชรูป

๗. ความหมายโดยย่อ ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัยนี้ มี ๓ วาระ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ กุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ กุสลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๘ ที่เกิดทีหลังในปัญจโวการภูมิ เป็นปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย รูป ๒๘ คือ ติชกาย ได้แก่ กัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป ในรูปภูมิ, จตุชกาย ได้แก่ กัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป ในกามภูมิ ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อม กับจิตดวงก่อน ๆ เป็นปัจฉาชาตอวิคตปัจจยุบบันน

(๒) อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ อกุสลนามขันธ์ ๔ ได้แก่ อกุสลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ ที่เกิดทีหลัง เป็นปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย รูป ๒๘ คือ ติชกาย จตุชกาย ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ เป็นปัจฉาชาตอวิคต ปัจจยุบบันน

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ วิบากนามขันธ์ ๔ ได้แก่ วิบากจิต ๓๒ (เว้นอรูปวิบาก ๔ และปฏิสนธิจิต), กิริยานามขันธ์ ๔ ได้แก่ กิริยาจิต ๒๐ เจตสิก ๓๘ ที่เกิดทีหลัง เป็นปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย เอกชกาย ได้แก่ ปฏิสนธิกัมมชรูป, ทวิชกาย ได้แก่ กัมมชรูป อุตุชรูป, ติชกาย ในปัญจโวการ รูปภูมิ, จตุชกาย ในกามภูมิ ที่กำลังถึงฐีติขณะของรูป ซึ่งเกิดมาพร้อมกับจิตดวงก่อน ๆ มีปฏิสนธิจิต เป็นต้น เป็นปัจฉาชาตอวิคตปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๔ ปัจจัย คือ

๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ๒. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย

๓. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย


อาหารอวิคตปัจจัย

อาหารอวิคตปัจจัย คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือนกับ อาหารัตถิปัจจัย ดังนั้นก็เหมือนกับ รูปอาหารปัจจัย ทุกประการ

๑. รูปอาหาร หมายความว่า อาหารที่เป็นรูปธรรม คือ กพฬีการาหาร

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นอาหารชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นได้แก่ อาหารนั่นเอง

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้ง ชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ พหิทธโอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ กัมมชโอชา จิตตชโอชา อุตุชโอชา อาหารชโอชา ที่อยู่ภายใน (อัชฌัตตสันตานะ)
และอุตุชโอชา ที่อยู่ภายนอก (พหิทธสันตานะ) คือ โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่อาหารสมุฏฐานิกรูป คือรูปที่เกิดจากอาหาร

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ จตุสมุฏฐานิกรูปที่ตั้งอยู่ในกลาปอันเดียวกันกับ ปัจจัยธรรม และที่ตั้งอยู่ใน
กลาปอื่น ๆ (เว้นโอชาที่อยู่ในกลาปเดียวกัน)

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, จิตตชรูป, ปฏิสนธิ กัมมชรูป, พาหิรรูป, อุตุชรูป,
อสัญญสัตตกัมมชรูป, ปวัตติกัมมชรูป

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒ และพาหิรรูป

๗. ความหมายโดยย่อ อาหารอวิคตปัจจัย มีวาระเดียว คือ อพยากตะเป็น ปัจจัยแก่อพยากตะ
กพฬีการาหาร บ้างก็เรียก กวฬิงการาหาร คือโอชา ที่อยู่ใน อาหารต่าง ๆ หรืออีกนัยหนึ่งได้แก่ โอชาที่อยู่ทั้งภายในและภายนอก เป็นรูปอาหาร ปัจจัย จตุสมุฏฐานิกรูป คือ รูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ที่ตั้งอยู่ในกลาปอันเดียว กันกับปัจจัยธรรม และตั้งอยู่ในกลาปอื่น ๆ เป็นอาหารอวิคตปัจจยุบบันน

ขยายความว่า โอชาที่เป็นปัจจัยธรรมนั้น เมื่อช่วยอุปการะแก่อาหารชรูป คือ อาหารชโอชานั้นเป็นไปโดยอำนาจชนกสัตติ แต่ถ้าเป็นการช่วยอุปการะแก่ ติชรูป ที่เหลือนอกนั้น คือ กัมมชโอชา จิตตชโอชา และอุตุชโอชา แล้ว เป็นไปโดย อำนาจอุปถัมภกสัตติ

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๓ ปัจจัย คือ

๑. รูปอาหารปัจจัย ๒. อาหารัตถิปัจจัย ๓. อาหารอวิคตปัจจัย


อินทริยอวิคตปัจจัย

อินทริยอวิคตปัจจัยนี้ คำอธิบายตลอดจนองค์ธรรมต่าง ๆ ทั้งหมด เหมือน กับอินทริยัตถิปัจจัย ดังนั้นก็เหมือนกับ รูปชีวิตินทริยปัจจัย ทุกประการ

๑. รูปชีวิตินทรีย หมายความถึง ชีวิตรูป

๒. ประเภท รูปเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน

๓. ชาติ เป็นรูปชีวิตินทริยชาติ หมายความว่า ปัจจัยธรรมนั้นได้แก่ ชีวิตรูป ซึ่งทำหน้าที่เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในการรักษารูปธรรมที่เกิดขึ้นด้วยกัน

๔. กาล เป็นปัจจุบัน

๕. สัตติ มีทั้งชนกสัตติ และอุปถัมภกสัตติ

๖. องค์ธรรมของปัจจัย ได้แก่ ชีวิตรูป ทั้งในปฏิสนธิกาลและในปวัตติกาล

องค์ธรรมของปัจจยุบบันน ได้แก่ กัมมชรูปที่เหลือ ๙ รูปหรือ ๘ รูป ซึ่งอยู่ ในกลาปเดียวกับชีวิตรูปนั้น ๆ

องค์ธรรมของปัจจนิก ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, จิตตชรูป, พาหิรรูป, อาหารชรูป, อุตุชรูป และชีวิตรูป (ที่เป็นปัจจัย)

๗. ความหมายโดยย่อ อินทริยอวิคตปัจจัยนี้มีวาระเดียว คือ อพยากตะเป็น ปัจจัยแก่อพยากตะได้แก่ ชีวิตรูปทั้งหลายเป็นอินทริยอวิคตปัจจัย กัมมชรูปที่เหลือ ๙ รูปหรือ ๘ รูปซึ่งอยู่ในกลาปเดียวกับชีวิตรูปนั้น ๆ เป็นอินทริยอวิคตปัจจยุบ บันน เช่น

จักขุทสกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ จักขุปสาทรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ รวม ๑๐ รูป ชีวิตรูป ๑ เป็นปัจจัยเสียแล้ว
อวินิพโภครูป ๘ จักขุปสาทรูป ๑ รวม ๙ รูป ที่เหลือนี้ก็เป็นปัจจยุบบันน

โดยทำนองเดียวกัน ชีวิตนวกกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ และชีวิตรูป ๑ รวม ๙ รูป ชีวิตรูป ๑ เป็นปัจจัยเสียแล้ว อวินิพโภครูป ๘ ที่เหลือ ก็เป็นปัจจยุบบันน

๘. ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวม ๓ ปัจจัย คือ

๑. รูปชีวิตินทริยปัจจัย ๒. รูปชีวิตินทริยัตถิปัจจัย

๓. รูปชีวิตินทริยอวิคตปัจจัย


สรุปปัจจัยโดยนัยต่าง ๆ

ปัจจัยทั้งหมด เมื่อสรุปโดยนัยต่าง ๆ คือ ๑.จำนวน, ๒.ประเภท, ๓.ชาติ, ๔.กาล, ๕.สัตติ เป็นต้น ก็ได้ดังนี้


กล่าวโดยจำนวน

ปัจจัยทั้งหมดนั้นมีจำนวน ๒๔ ปัจจัย แต่ว่าบางปัจจัยก็ยังจำแนกได้อีกเป็น ๒ เป็น ๓ จนถึงเป็น ๖ ก็มี เมื่อนับจำนวนโดยพิสดารแล้ว ก็มีจำนวน ๔๗ ปัจจัย รายละเอียดที่หน้า ๗๕-๗๖ นั้นแล้ว

 

กล่าวโดยประเภท

ก. นามเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน มี ๗ ปัจจัย คือ
๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย ๓. อนันตรูปนิสสยปัจจัย
๔. อาเสวนปัจจัย ๕. สัมปยุตตปัจจัย ๖. นัตถิปัจจัย
๗. วิคตปัจจัย


หน้า ๑๓๓

ข. นามเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน มี ๔ ปัจจัย คือ
๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ๒. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย
๓. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย

ค. นามเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน มี ๙ ปัจจัย คือ
๑. เหตุปัจจัย ๒. สหชาตาธิปติปัจจัย ๓. สหชาตกัมมปัจจัย
๔. นานักขณิกกัมมปัจจัย ๕. วิปากปัจจัย ๖. นามอาหารปัจจัย
๗. สหชาตินทริยปัจจัย ๘. ฌานปัจจัย ๙. มัคคปัจจัย

ง. รูปเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันน มี ๖ ปัจจัย คือ
๑. รูปอาหารปัจจัย ๒. รูปชีวิตินทริยปัจจัย ๓. อาหารัตถิปัจจัย
๔. อินทริยัตถิปัจจัย ๕. อาหารอวิคตปัจจัย ๖. อินทริยอวิคตปัจจัย

จ. รูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน มี ๑๑ ปัจจัย คือ
๑. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย
๓. วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๔. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย
๕. ปุเรชาตินทริยปัจจัย ๖. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย
๗. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย ๘. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย
๙. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๑๐. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย
๑๑. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย

มีข้อสังเกตตรงนี้ว่า รูปเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันนนั้นไม่มี

ฉ. นามรูปเป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน มี ๒ ปัจจัย คือ
๑. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๒. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

มีข้อสังเกตตรงนี้ว่า นามรูปเป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันนนั้นไม่มี

ช. นามรูปเป็นปัจจัย นามรูปเป็นปัจจยุบบันน มี ๖ ปัจจัย คือ
๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย ๓. สหชาตนิสสยปัจจัย
๔. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย ๕. สหชาตัตถิปัจจัย ๖. สหชาตอวิคตปัจจัย

ซ. บัญญัติ นาม รูป เป็นปัจจัย นามเป็นปัจจยุบบันน มี ๒ ปัจจัย คือ
๑. อารัมมณปัจจัย ๒. ปกตูปนิสสยปัจจัย

มีข้อสังเกตว่า บัญญัติ นามรูป เป็นปัจจัย รูปเป็นปัจจยุบบันนนั้นไม่มี


หน้า ๑๓๔

กล่าวโดยชาติ

ในปัจจัย ๒๔ หรือโดยพิสดาร ๔๗ ปัจจัยนั้น มี ชาติ ๙ อย่าง คือ
๑. สหชาตชาติ ๒. อารัมมณชาติ ๓. อนันตรชาติ
๔. วัตถุปุเรชาตชาติ ๕. ปัจฉาชาตชาติ ๖. อาหารชาติ
๗. รูปชีวิตินทริยชาติ ๘. ปกตูปนิสสยชาติ ๙. นานักขณิกกัมมชาติ

ก. ปัจจัยที่เป็น สหชาตชาติ มี ๑๕ ปัจจัย คือ
๑. เหตุปัจจัย ๒. สหชาตาธิปติปัจจัย ๓. สหชาตปัจจัย
๔. อัญญมัญญปัจจัย ๕. สหชาตนิสสยปัจจัย ๖. สหชาตกัมมปัจจัย
๗. วิปากปัจจัย ๘. นามอาหารปัจจัย ๙. สหชาตินทริยปัจจัย
๑๐. ฌานปัจจัย ๑๑. มัคคปัจจัย ๑๒. สัมปยุตตปัจจัย
๑๓. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย ๑๔. สหชาตัตถิปัจจัย ๑๕. สหชาตอวิคตปัจจัย

ข. ปัจจัยที่เป็น อารัมมณชาติ มี ๘ ปัจจัย คือ
๑. อารัมมณปัจจัย ๒. อารัมมณาธิปติปัจจัย
๓. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๔. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย
๕. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ๖. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย
๗. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย

ค. ปัจจัยที่เป็น อนันตรชาติ มี ๖ ปัจจัย คือ
๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย ๓. อนันตรูปนิสสยปัจจัย
๔. อาเสวนปัจจัย ๕. นัตถิปัจจัย ๖. วิคตปัจจัย

ง. ปัจจัยที่เป็น วัตถุปุเรชาตชาติ มี ๖ ปัจจัย คือ
๑. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. วัตถุปุเรชาตปัจจัย
๓. ปุเรชาตินทริยปัจจัย ๔. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย
๕. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๖. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย


หน้า ๑๓๕

จ. ปัจจัยที่เป็น ปัจฉาชาตชาติ มี ๔ ปัจจัย คือ
๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ๒. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย
๓. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย

ฉ. ปัจจัยที่เป็น อาหารชาติ มี ๓ ปัจจัย คือ
๑. รูปอาหารปัจจัย ๒. อาหารัตถิปัจจัย ๓. อาหารอวิคตปัจจัย

ช. ปัจจัยที่เป็น รูปชีวิตินทริยชาติ มี ๓ ปัจจัย คือ
๑. รูปชีวิตินทริยปัจจัย ๒. อินทริยัตถิปัจจัย ๓. อินทริยอวิคตปัจจัย

ซ. ปัจจัยที่เป็น ปกตูปนิสสยชาติ มี ๒ ปัจจัย คือ
๑. สุทธปกตูนิสสยปัจจัย คือ จิต เจตสิกที่เกิดก่อน และรูป บัญญัติที่มีกำลัง มากที่อุปการะแก่ จิต เจตสิกที่เกิดทีหลังได้
๒. มิสสกปกตูปนิสสยนานักขณิกกัมมปัจจัย คือ เจตนากรรมที่มีกำลังมาก (เว้นมัคคกรรมเจตนา) ที่อุปการะแก่วิบากนามขันธ์ได้

ฌ. ปัจจัยที่เป็น นานักขณิกกัมมชาติ มี ๑ ปัจจัย คือ
นานักขณิกกัมมปัจจัย คือ เจตนากรรมที่มีกำลังน้อย อุปการะแก่กามวิบาก และเจตนากรรมที่มีกำลังมากและกำลังน้อย อุปการะแก่กัมมชรูป


กล่าวโดยกาล

ก. ปัจจัยที่เป็น ปัจจุบันกาล มี ๑๗ หรือ ๓๖ ปัจจัย คือ
๑. เหตุปัจจัย ๒. สหชาตาธิปติปัจจัย
๓. สหชาตปัจจัย ๔. อัญญมัญญปัจจัย
๕. นิสสยปัจจัย ๓ ปัจจัย ๖. ปุเรชาตปัจจัย ๒ ปัจจัย
๗. ปัจฉาชาตปัจจัย ๘. สหชาตกัมมปัจจัย
๙. วิปากปัจจัย ๑๐. อาหารปัจจัย ๒ ปัจจัย
๑๑. อินทริยปัจจัย ๓ ปัจจัย ๑๒. ฌานปัจจัย
๑๓. มัคคปัจจัย ๑๔. สัมปยุตตปัจจัย
๑๕. วิปปยุตตปัจจัย ๔ ปัจจัย ๑๖. อัตถิปัจจัย ๖ ปัจจัย
๑๗. อวิคตปัจจัย ๖ ปัจจัย


หน้า ๑๓๖

ข. ปัจจัยที่เป็น อดีตกาล มี ๗ ปัจจัย คือ
๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย ๓. อนันตรูปนิสสยปัจจัย
๔. อาเสวนปัจจัย ๕. นานักขณิกกัมมปัจจัย ๖. นัตถิปัจจัย
๗. วิคตปัจจัย

ค. ปัจจัยที่เป็น ปัจจุบัน อดีต อนาคต (ติกาลิกะ) มี ๒ ปัจจัย คือ
๑. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๒. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

ง. ปัจจัยที่เป็น ติกาลิกะ และกาลวิมุตติ มี ๒ ปัจจัย คือ
๑. อารัมมณปัจจัย ๒. ปกตูปนิสสยปัจจัย


กล่าวโดยสัตติ

ก. ปัจจัยที่มี ชนกสัตติ อย่างเดียวมี ๘ ปัจจัย คือ
๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย ๓. อนันตรูปนิสสยปัจจัย
๔. ปกตูปนิสสยปัจจัย ๕. นานักขณิกกัมมปัจจัย ๖. อาเสวนปัจจัย
๗. นัตถิปัจจัย ๘. วิคตปัจจัย

ข. ปัจจัยที่มี อุปถัมภกสัตติ อย่างเดียว มี ๔ ปัจจัย คือ
๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ๒. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย
๓. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย ๔. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย

ค. ปัจจัยที่มี ทั้ง ๒ อย่าง คือมีชนกสัตติด้วย และอุปถัมภกสัตติด้วยนั้น มี ๓๕ ปัจจัย คือ ปัจจัยที่เหลือจากข้อ ก. และข้อ ข. ทั้งหมด


กล่าวโดยจำนวนวาระ

ก. ปัจจัยที่มีปัญหาวาระเพียง บทเดียว คืออพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ นั้นมี ๘ ปัจจัย ได้แก่
๑. วิปากปัจจัย ๒. รูปอาหารปัจจัย ๓. ปุเรชาตินทริยปัจจัย
๔. รูปชีวิตินทริยปัจจัย ๕. อาหารัตถิปัจจัย ๖. อาหารอวิคตปัจจัย
๗. อินทริยัตถิปัจจัย ๘. อินทริยอวิคตปัจจัย

ข. ปัจจัยที่มีปัญหาวาระ ๒ บท คือกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะบทหนึ่ง และ อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะบทหนึ่งนั้น มีปัจจัยเดียวได้แก่ นานักขณิกกัมมปัจจัย


หน้า ๑๓๗

ค. ปัจจัยที่มี ๓ บท นั้น มี ๑๘ ปัจจัย

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล ๑, อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล ๑ และอพยากตะ เป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑
อย่างนี้ มี ๓ ปัจจัย ได้แก่
๑. อัญญมัญญปัจจัย ๒. อาเสวนปัจจัย
๓. สัมปยุตตปัจจัย

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่พยากตะ ๑, อกุสลเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑ และ อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑
อย่างนี้ มี ๕ ปัจจัย ได้แก่
๑. ปัจฉาชาตปัจจัย ๒. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย
๓. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย ๔. ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย
๕. ปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย

(๓) อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑, อพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุสล ๑ และ อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุสล ๑
อย่างนี้ มี ๑๐ ปัจจัย ได้แก่
๑. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย
๓. วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๔. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย
๕. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย ๖. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย
๗. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย ๘. อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย
๙. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๑๐. วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย

ง. ปัจจัยที่มีปัญหาวาระ ๗ บท มี ๑๔ ปัจจัย

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล ๑,แก่อพยากตะ ๑,แก่กุสลด้วยอพยากตะด้วย ๑,

อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล ๑, แก่อพยากตะ ๑, แก่อกุสลด้วยแก่อพยากตะด้วย ๑

อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑ อย่างนี้ มี ๗ ปัจจัย ได้แก่
๑. เหตุปัจจัย ๒. สหชาตาธิปติปัจจัย ๓. สหชาตกัมมปัจจัย
๔. นามอาหารปัจจัย ๕. สหชาตินทริยปัจจัย ๖. ฌานปัจจัย
๗. มัคคปัจจัย

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล ๑, แก่อพยากตะ ๑

อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล ๑ แก่อพยากตะ ๑

อพยากตะเป็นปัจจัยแก่ อพยากตะ ๑, แก่กุสล ๑,แก่อกุสล ๑

อย่างนี้ มี ๕ ปัจจัย ได้แก่
๑. อนันตรปัจจัย ๒. สมนันตรปัจจัย ๓. อนันตรูปนิสสยปัจจัย
๔. นัตถิปัจจัย ๕. วิคตปัจจัย


หน้า ๑๓๘

(๓) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล ๑, แก่อพยากตะ ๑, แก่อกุสล ๑

อกุสลเป็น ปัจจัยแก่อกุสล ๑

อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑, แก่กุสล ๑, แก่อกุสล ๑

อย่างนี้ มี ๒ ปัจจัยได้แก่
๑. อารัมมณาธิปติปัจจัย ๒. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

จ. ปัจจัยที่มีปัญหาวาระ ๙ บท มี ๖ ปัจจัย คือ

(๑) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล ๑, แก่อกุสล ๑, แก่อพยากตะ ๑,

อกุสลเป็น ปัจจัยแก่อกุสล ๑, แก่กุสล ๑, แก่อพยากตะ ๑,

อพยากตะเป็นปัจจัยแก่ อพยากตะ ๑, แก่กุสล ๑, แก่อกุสล ๑,

อย่างนี้ มี ๒ ปัจจัย ได้แก่
๑. อารัมมณปัจจัย ๒. ปกตูปนิสสยปัจจัย

(๒) กุสลเป็นปัจจัยแก่กุสล ๑, แก่อพยากตะ ๑, แก่กุสลด้วยอพยากตะด้วย ๑,

อกุสลเป็นปัจจัยแก่อกุสล ๑, แก่อพยากตะ ๑, แก่อกุสลด้วยอพยากตะด้วย ๑,

อพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑,

กุสลและอพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑,

อกุสลและอพยากตะเป็นปัจจัยแก่อพยากตะ ๑,

อย่างนี้ มี ๔ ปัจจัย ได้แก่
๑. สหชาตปัจจัย ๒. สหชาตนิสสยปัจจัย
๓. สหชาตัตถิปัจจัย ๔. สหชาตอวิคตปัจจัย


กล่าวโดยภูมิ

ก. ปัจจัยที่เป็นไปได้ใน ปัญจโวการภูมินั้น เป็นได้หมดทั้ง ๒๔ ปัจจัย หรือ ๔๗ ปัจจัย


หน้า ๑๓๙

ข. ปัจจัยที่เป็นไปได้ใน จตุโวการภูมิ นั้นเป็นได้เพียง ๒๑ ปัจจัย หรือ ๒๕ ปัจจัย คือ
๑. เหตุปัจจัย ๒. อารัมมณปัจจัย
๓. อธิปติปัจจัย ๒ ปัจจัย ๔. อนันตรปัจจัย
๕. สมนันตรปัจจัย ๖. สหชาตปัจจัย
๗. อัญญมัญญปัจจัย ๘. สหชาตนิสสยปัจจัย
๙. อุปนิสสยปัจจัย ๓ ปัจจัย ๑๐. อาเสวนปัจจัย
๑๑. กัมมปัจจัย ๒ ปัจจัย ๑๒. วิปากปัจจัย
๑๓. นามอาหารปัจจัย ๑๔. สหชาตินทริยปัจจัย
๑๕. ฌานปัจจัย ๑๖. มัคคปัจจัย
๑๗. สัมปยุตตปัจจัย ๑๘. สหชาตัตถิปัจจัย
๑๙. นัตถิปัจจัย ๒๐. วิคตปัจจัย
๒๑. สหชาตอวิคตปัจจัย


ค. ปัจจัยที่เป็นไปได้ใน เอกโวการภูมิ นั้น เป็นได้เพียง ๗ ปัจจัย คือ
๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย
๓. สหชาตนิสสยปัจจัย ๔. นานักขณิกกัมมปัจจัย
๕. รูปชีวิตินทริยปัจจัย ๖. อินทริยัตถิปัจจัย
๗. อินทริยอวิคตปัจจัย


กล่าวโดยภายในภายนอก

ปัจจัยที่เกิดได้เฉพาะภายนอก คือใน สิ่งที่ไม่มีชีวิต นั้น มี ๕ ปัจจัยเท่านั้น คือ
๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย
๓. สหชาตนิสสยปัจจัย ๔. สหชาตัตถิปัจจัย
๕. สหชาตอวิคตปัจจัย

ส่วนในภายใน คือใน สิ่งที่มีชีวิต ปัจจัยทั้งหมดสามารถจะเกิดได้ ไม่มียกเว้น


กล่าวโดยสัพพัฏฐานิกปัจจัย

สัพพัฏฐานิกปัจจัย คือ ปัจจัยที่เป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งสังขตธรรม อันได้แก่ รูปนามทั้งหมด หมายความว่า
ในสังขารโลก บรรดาสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลาย ต้องเข้าอยู่ในสัพพัฏฐานิกปัจจัยทั้งนั้น ที่จะพ้นจากสัพพัฏฐานิกปัจจัยไปนั้นไม่มีเลย สัพพัฏฐานิกปัจจัย ได้แก่ ปัจจัย ๔ ปัจจัย คือ
๑. สหชาตปัจจัย ๒. นิสสยปัจจัย
๓. อัตถิปัจจัย ๔. อวิคตปัจจัย

ส่วนปัจจัยที่เหลืออีก ๒๐ ปัจจัย ชื่อว่า อสัพพัฏฐานิกปัจจัย มีความหมาย ว่าเป็นปัจจัยที่เป็นเหตุ เป็นที่ตั้งแห่งสังขตธรรมไม่ทั่วทั้งหมด เป็นปัจจัยได้เฉพาะ แต่สังขตธรรมที่เกี่ยวข้องกับตนเท่านั้น


หน้า ๑๔0

กล่าวโดยความเป็นคู่

ปัจจัยทั้ง ๒๔ เมื่อกล่าวโดยความเป็นคู่แล้ว ก็ได้ ๕ ประเภท คือ

๑. อตฺถยุค เป็นคู่กันโดยมีเนื้อความเหมือนกัน ได้แก่ อนันตรปัจจัย กับ สมนันตรปัจจัย

๒. สทฺทยุค เป็นคู่กันโดยมีสำเนียงเหมือนกัน ได้แก่ นิสสยปัจจัย กับ อุปนิสสยปัจจัย

๓. กาลปฏิปกฺขยุค เป็นคู่กันโดยกาลที่ตรงกันข้าม ได้แก่ ปุเรชาตปัจจัย กับ ปัจฉาชาตปัจจัย

๔. อญฺโญญฺญปฏิปกฺขยุค เป็นคู่กันโดยลักษณะอาการที่แตกต่างกัน มีอยู่ ๓ คู่ คือ สัมปยุตตปัจจัยกับวิปปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัยกับนัตถิปัจจัย และ วิคตปัจจัย กับอวิคตปัจจัย

๕. เหตุปฺปผลยุค เป็นคู่กันโดยความเป็นเหตุเป็นผล ได้แก่ นานักขณิกกัมมปัจจัย กับ วิปากปัจจัย


ปัจจัย ๒๔ ย่อมรวมลงใน ๔ ปัจจัย

มีคาถาสังคหเป็นคาถาที่ ๒๕ แสดงว่า


๒๕. อาลมฺพนูปนิสฺสย กมฺมตฺถิ ปจฺจเยสุ จ

สพฺเพเปนฺติ สโมธานํ จตุวีสติ ปจฺจยาฯ


แปลความว่า ปัจจัยแม้ทั้งหมด ๒๔ อย่าง ย่อมถึงความประชุมลงใน

อารัมมณปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย กัมมปัจจัย และ อัตถิปัจจัย

มีความหมายว่า ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งในปัจจัย ๒๔ นั้น ย่อมรวมลงได้ใน ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรือหลายปัจจัยในจำนวน ๔ ปัจจัยที่กล่าวมานี้


หน้า ๑๔๑

ถ้าถือตาม ปัจจัยที่เกิดร่วมด้วยกันได้ รวมกี่ปัจจัยของแต่ละปัจจัยดังที่ได้ กล่าวมา (คือข้อ ๘ ของทุก ๆ ปัจจัย)นั้น เป็นหลักเป็นเกณฑ์แล้ว ก็รวมลงได้ดัง ต่อไปนี้

๑. เหตุปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

๒. อารัมมณปัจจัย รวมลงได้ใน อารัมมณปัจจัย, อุปนิสสยปัจจัย (อารัมมณูปนิสสยปัจจัย) และอัตถิปัจจัย (อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย)

๓. อธิปติปัจจัย

ก. อารัมมณาธิปติปัจจัย เหมือนเลข ๒

ข. สหชาตาธิปติปัจจัย เหมือนเลข ๑

๔. อนันตรปัจจัย รวมลงได้ใน อุปนิสสยปัจจัย(อนันตรูปนิสสยปัจจัย) และ กัมมปัจจัย (นานักขณิกกัมมปัจจัย)

๕. สมนันตรปัจจัย เหมือนเลข ๔

๖. สหชาตปัจจัย เหมือนเลข ๑

๗. อัญญมัญญปัจจัย เหมือนเลข ๑

๘. นิสสยปัจจัย

ก. สหชาตนิสสยปัจจัย เหมือนเลข ๖ ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๑ ด้วย

ข. วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย เหมือนเลข ๓ ก.ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๒ ด้วย

ค. วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย เหมือนเลข ๘ ข.ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๓ ก. และเหมือนเลข ๒ ด้วย

๙. อุปนิสสยปัจจัย

ก. อารัมมณูปนิสสยปัจจัย เหมือนเลข ๓ก. ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๒ ด้วย

ข. อนันตรูปนิสสยปัจจัย เหมือนเลข ๔

ค. ปกตูปนิสสยปัจจัย รวมลงได้ใน อุปนิสสยปัจจัย (ปกตูปนิสสยปัจจัย) และ กัมมปัจจัย (นานักขณิกกัมมปัจจัย)

๑๐. ปุเรชาตปัจจัย

ก. วัตถุปุเรชาตปัจจัย เหมือนเลข ๘ ข. ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๓ ก. และ เหมือนเลข ๒ ด้วย

ข. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย เหมือนเลข ๘ ค. ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๘ ข. เหมือนเลข ๓ ก. และเหมือนเลข ๒ ด้วย


หน้า ๑๔๒

๑๑. ปัจฉาชาตปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (ปัจฉาชาตัตถิปัจจัย)

๑๒. อาเสวนปัจจัย รวมลงได้ใน อุปนิสสยปัจจัย (อนันตรูปนิสสยปัจจัย)

๑๓. กัมมปัจจัย

ก. สหชาตกัมมปัจจัย รวมลงได้ใน กัมมปัจจัย (สหชาตกัมมปัจจัย) และ อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

ข. นานักขณิกกัมมปัจจัย รวมลงได้ใน กัมมปัจจัย (นานักขณิกกัมมปัจจัย) และ อุปนิสสยปัจจัย
(อนันตรูปนิสสยปัจจัย ปกตูปนิสสยปัจจัย)

๑๔. วิปากปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

๑๕. อาหารปัจจัย

ก. รูปอาหารปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (อาหารัตถิปัจจัย)

ข. นามอาหารปัจจัย รวมลงได้ใน กัมมปัจจัย (สหชาตกัมมปัจจัย) และ อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

๑๖. อินทริยปัจจัย

ก. สหชาตินทริยปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

ข. ปุเรชาตินทริยปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย)

ค. รูปชีวิตินทริยปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (รูปชีวิตินทริยัตถิปัจจัย)

๑๗. ฌานปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

๑๘. มัคคปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

๑๙. สัมปยุตตปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

๒๐. วิปปยุตตปัจจัย

ก. สหชาตวิปปยุตตปัจจัย รวมลงได้ใน อัตถิปัจจัย (สหชาตัตถิปัจจัย)

ข. วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย เหมือนเลข ๘ ข.ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๓ ก. และเหมือนเลข ๒ ด้วย

ค. วัตถารัมมณปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย เหมือนเลข ๘ ค.

ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๘ ข. เหมือนเลข ๓ ก. และเหมือนเลข ๒ ด้วย

ง. ปัจฉาชาตวิปปยุตตปัจจัย เหมือนเลข ๑๑


หน้า ๑๔๓

๒๑. อัตถิปัจจัย

ก. สหชาตัตถิปัจจัย เหมือนเลข ๖ ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๑ ด้วย

ข. อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย เหมือนเลข ๑๐ ข.ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๘ ค. เหมือนเลข ๘ ข.
เหมือนเลข ๓ ก. และเหมือนเลข ๒ ด้วย

ค. วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย เหมือนเลข ๑๐ ก. ดังนั้นจึงเหมือนเลข ๘ ข. เหมือนเลข ๓ ก. และ
เหมือนเลข ๒ ด้วย

ง. ปัจฉาชาตปัจจัย เหมือนเลข ๑๑ จ. อาหารัตถิปัจจัย เหมือนเลข ๑๕ ก. ฉ. อินทริยัตถิปัจจัย
เหมือนเลข ๑๖ ค.

๒๒. นัตถิปัจจัย เหมือนเลข ๔

๒๓. วิคตปัจจัย เหมือนเลข ๔

๒๔. อวิคตปัจจัย เหมือนเลข ๒๑ ทุกประการ


ปัจฉิมคาถาในปัฏฐานนัย

คาถาส่งท้ายปัจจัย ๒๔ นั้นมี ๒ คาถา คือ คาถาที่ ๒๖ และ ๒๗ แสดงว่า

 

๒๖. อิติ เตกาลิกา ธมฺมา กาลมุตฺตา จ สมฺภวา

อชฺฌตฺตญฺจ พหิทฺธา จ สงฺขตาสงฺขตา ตถา ฯ

 

ธรรมทั้งหลายที่ในกาล ๓ ก็ดี พ้นจากกาล ๓ ก็ดี เป็นภายในก็ดี เป็นภาย นอกก็ดี อันมีปัจจัยปรุงแต่งก็ดี มิได้ปรุงแต่งก็ดี ตามที่เกิดขึ้นดังพรรณนามาฉะนี้

 

๒๗. ปญฺญตฺตินามรูปานํ วเสน ติวิธา ฐิตา

ปจฺจยา นาม ปฏฺฐาเน จตุวีสติ สพฺพถา ฯ

 

ล้วนตั้งอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งธรรม ๓ อย่าง อันได้แก่ บัญญัติธรรม ๑ นามธรรม ๑ รูปธรรม ๑ นั้น ชื่อว่า ปัจจัย ๒๔ ตามนัยแห่งคัมภีร์มหาปัฏฐาน โดยประการทั้งปวง ตามควรแก่ที่จะเป็นไปได้

-------------------------------------

สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา


หน้า ๑๔๔

 

บัญญัติธรรม

ได้กล่าวแล้วตั้งแต่ต้นตามนัยแห่งคาถาที่ ๒ ว่าปัจจยสังคหวิภาคนี้แสดงธรรม ๒ ส่วน คือ ปฏิจจสมุปปาทนัยส่วนหนึ่ง และปัฏฐานนัย (คือปัจจัย ๒๔) อีก ส่วนหนึ่ง เมื่อได้แสดงธรรม ๒ ส่วนนั้นแล้ว ก็ควรจะจบได้แล้ว
แต่ว่าในปัจฉิม คาถาที่ ๒ (คือคาถาที่ ๒๗) มีใจความว่า ปัจจัย ๒๔ ล้วนตั้งอยู่แล้วด้วยสามารถ แห่งบัญญัติธรรม นามธรรม และรูปธรรม

นามธรรม และรูปธรรม ได้แสดงมาแล้วมากมาย ส่วนบัญญัติธรรมได้กล่าว ถึงบ้างแต่เพียงเล็กน้อย เหตุนี้ พระอนุรุทธาจารย์ จึงแสดงบัญญัติธรรมโดยมีข้อ ความละเอียดพอประมาณ ในตอนท้ายปริจเฉทนี้ด้วยการเริ่มคาถาที่ ๒๘ และ ๒๙ ว่า

 

๒๘. ตตฺถ รูปธมฺมา รูปกฺ ขนฺโธ วาติ วิชานิยา
จิตฺตเจตสิกกฺขาตา จตุขนฺธา อรูปิโน ฯ

 

๒๙. อสงฺขตํ นิพฺพานญฺจ อิติ ปญฺจวิธํ อิทํ
อรูปนฺติ จ วเกฺยน นามนฺติ จ ปวุจฺจติ ฯ

 

แปลความว่า ธรรมเหล่านั้น(คือ บัญญัติธรรม นามธรรม รูปธรรม) รูปธรรม ทั้งหลายพึงทราบว่า เป็นรูปขันธ์อย่างเดียว อรูปขันธ์ ๔ นั้น ได้แก่ จิต เจตสิก ซึ่งเป็น สังขตธรรม

อรูปขันธ์ ๔ และรวมนิพพาน ๑ ซึ่งเป็นอสังขตธรรมเข้าไปด้วยเป็น ๕ อย่างนี้ ท่านกล่าวว่าเรียก อรูปก็ได้ เรียกนามก็ได้

คาถาทั้ง ๒ นี้ แสดงถึงรูปนาม ย้ำให้รู้ว่า รูปธรรมทั้ง ๒๘ รูปนั้นเรียกว่า รูปขันธ์อย่างเดียว ส่วนนามธรรม คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่เป็นขันธ์และเป็นฝ่ายสังขตธรรม กับนิพพาน ที่เป็นขันธวิมุตติ และเป็นฝ่ายอสังขตธรรม รวมนามธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้เรียกว่า อรูปก็ได้ เพราะนาม ธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ ไม่มีรูป ไม่ใช่รูป จึงเรียก อรูป


หน้า ๑๔๕

๓๐. อวเสสา จ ปญฺญตฺติ ตโต จ นามรูปโต
ปญฺญาปิยตฺติ ปญฺญฺตติ สรปญฺญาปนโต ตถา
ทุวิชา ปญฺญตฺติ โหติ อิติ วิญฺญูหิ จิตฺติตํ ฯ

 

แปลความว่า ส่วนธรรมที่เหลือจากรูปธรรม นามธรรมนั้น ชื่อว่า บัญญัติ บัญญัติธรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ ปญฺญาปิยตฺตาปญฺญตฺติ และ ปญฺญาปนโตปญฺญตฺติ ซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลายได้บัญญัติไว้แล้วดังนี้

หมายความว่า นอกจากสภาวธรรมอันเป็นรูปธรรม และนามธรรมแล้ว ยังมี บัญญัติธรรมอันเป็นอสภาวะ คือเป็นธรรมที่ไม่มีสภาวะ แต่เป็นธรรมที่สมมติขึ้น ตั้งขึ้น บัญญัติขึ้น เพื่อจะได้ใช้พูดจาว่าขานกันให้รู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้


บัญญัติธรรมนี้ จำแนกโดยประเภทใหญ่แล้ว มี ๒ ได้แก่ ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ หรือ อัตถบัญญัติ ๑ และ ปัญญาปนโตบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ อีก ๑

ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ ซึ่งบ้างก็เรียก อัตถบัญญัตินั้น บัญญัติขึ้น สมมติขึ้น ตั้งขึ้น เพื่อให้รู้เนื้อความแห่งรูปร่าง สัณฐาน หรือลักษณะอาการของชื่อนั้น ๆ เช่น ภูเขา ต้นไม้ บ้านเรือน ยืน เดิน เป็นต้น

ปัญญาปนโตบัญญัติ ซึ่งบ้างก็เรียกว่า สัททบัญญัตินั้น บัญญัติขึ้น สมมติขึ้น ตั้งขึ้น เพื่อให้รู้จักเสียงที่เรียกชื่อนั้น ๆ คือ รู้ด้วยเสียง รู้ด้วยคำพูด ที่หมายถึง อัตถบัญญัตินั้น เช่น ในขณะที่ไม่ได้เห็นภูเขา ไม่ได้เห็นต้นไม้ แต่เมื่อออกเสียง พูดว่า ภูเขา พูดว่า ต้นไม้ ก็รู้และเข้าใจได้ว่า ภูเขา ต้นไม้ มีรูปร่าง สัณฐานอย่างนั้น ๆ หรือพูดว่ายืน พูดว่าเดิน ก็รู้และเข้าใจได้ว่ามีกิริยาอาการอย่างนั้น ๆ


ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ

ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ หรืออัตถบัญญัตินี้ จำแนกออกได้เป็น ๖ ประเภท ตาม สิ่งที่ได้อาศัยบัญญัติขึ้น สมมติขึ้น ตั้งขึ้น เป็นชื่อนั้น ๆ คือ

๑. สัณฐานบัญญัติ เป็นการบัญญัติขึ้น สมมติขึ้น ตั้งขึ้น โดยอาศัยรูปทรง ส่วนสัด สัณฐานของวัตถุนั้น ๆ มาเรียกขานกัน เช่น ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ ทะเล จาน ชาม มีด จอบ เสียม เป็นต้น

๒. สมูหบัญญัติ เป็นการสมมติขึ้น ตั้งขึ้น โดยอาศัยความประชุมของวัตถุ ต่าง ๆ มาเรียกขานกัน เช่น เกวียน บ้าน เรือน โบสถ์ ศาลา เป็นต้น

๓. สัตตบัญญัติ เป็นการตั้งขึ้น โดยอาศัย รูปร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นขันธ์ ๕ มาเรียกขานกัน เช่น คน เป็ด ไก่ ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น


หน้า ๑๔๖

๔. ทิสากาลาทิบัญญัติ เป็นการตั้งขึ้นโดยอาศัยเวลาที่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาวต่าง ๆ หมุนเวียนไปตามทิศต่าง ๆ นั้นมาเรียกขานกัน เช่น ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก วัน เดือน ปี เป็นต้น

๕. ถูปคูหาทิบัญญัติ บ้างก็เรียก อากาสบัญญัติ เป็นการตั้งขึ้น โดยอาศัย ช่องว่างที่มหาภูตรูป ๔ ไม่ติดต่อกัน อันบุคคลไม่ได้ทำไม่ได้ขุดขึ้น แต่เป็นของเกิด ขึ้นเอง เช่น หลุม โพรง เหว ถ้ำ เป็นต้น

๖. นิมิตบัญญัติ เป็นการตั้งขึ้น โดยอาศัยเครื่องหมาย ข้อนี้มีความหมาย กว้างขวางมาก เช่น
นิมิตของกัมมัฏฐาน ก็มี บริกัมมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาค นิมิต เป็นต้น นิมิตของสัณฐาน เช่น สุภนิมิต สวย งาม น่ารัก น่าชม อสุภนิมิต ไม่สวย ไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง เป็นต้น นิมิตของกิริยาอาการ เช่น เดิน ยืน นั่ง นอน เป็นต้น

ทั้ง ๖ นี้ เป็นอัตถบัญญัติ เป็นเงาของเนื้อความ ไม่มีปรากฏโดยปรมัตถสัจจ กำหนดเปรียบเทียบเรียกเอาอย่างนั้นเอง เพื่อให้รู้อย่างเดียวกันยังกันและกันให้รู้ทั่ว ว่า สิ่งนี้ชื่อนั้น สิ่งนั้นชื่อนี้ นี่แหละจึงได้ชื่อว่าปัญญาปิยัตตาบัญญัติ คือ บัญญัติ เป็นเหตุยังกันและกันให้รู้ทั่ว


ปัญญาปนโตบัญญัติ

ปัญญาปนโตบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ หมายถึงคำพูดที่บุคคลได้ออกเสียง เรียกขาน เมื่อต้องประสงค์ในกาลภายหลัง ตามชื่อที่ตั้งไว้แต่ก่อนแล้วนั้น

ปัญญาปนโตบัญญัตินี้ มีชื่อเรียกได้ถึง ๖ ชื่อ คือ

๑. ชื่อว่า นามบัญญัติ หมายความว่า มีสภาพน้อมสู่เนื้อความ และทำให้เนื้อ ความนั้นน้อมสู่ตน เช่น คำว่า ภูเขา ก็น้อมตามเนื้อความว่าเป็นเนินที่สูงขึ้นเป็น จอมใหญ่ เมื่อพูดว่า ภูเขา ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า หมายถึงเนื้อความอย่างนั้น

๒. ชื่อว่า นามกัมมบัญญัติ หมายความว่าชื่อต่าง ๆ เหล่านั้นแหละเป็นชื่อ ที่พึงเรียกกันโดยทั่วไป

๓. ชื่อว่า นามเธยยบัญญัติ หมายความว่า ชื่อต่าง ๆ เหล่านั้น นักปราชญ์ ทั้งหลายได้ตั้งชื่อไว้ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว

๔. ชื่อว่า นิรุตติบัญญัติ หมายความว่า นักปราชญ์ได้พิจารณาคิดตั้งขึ้น สมมติขึ้น ซึ่งถ้อยคำนั้น ชื่อเหล่านั้นจึงปรากฏมีขึ้นมา


หน้า ๑๔๗

๕. ชื่อว่า พยัญชนบัญญัติ หมายความว่า เป็นถ้อยคำที่สามารถแสดงเนื้อ ความให้รู้ให้ปรากฏได้

๖. ชื่อว่า อภิลาปบัญญัติ หมายความว่า ผู้ที่พูดย่อมนึกถึงเนื้อความ คือ รูปร่างสัณฐานของวัตถุนั้น เช่น ภูเขา แล้ว จึงเปล่งเสียงพูดออกมา

รวมความว่า ไม่ว่าคำใดคำหนึ่งก็ตาม ภาษาใดภาษาหนึ่งก็ตาม เช่น คำว่า ภูเขา ก็มีชื่อเรียกได้เป็น ๖ อย่าง มี นามะ นามกัมมะ เป็นต้น ดังที่ได้กล่าวแล้วนี้

สัททบัญญัตินี้ เรียก นามบัญญัติก็ได้ อันหมายเฉพาะว่าเป็นนามบัญญัติ ดังที่กล่าวในข้อ ๑ ข้างบนนี้


สัททบัญญัติจำแนกได้เป็น ๖ ประเภท

ปัญญาปนโตบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ จำแนกได้เป็น ๖ ประเภท คือ วิชชมานบัญญัติ อวิชชมานบัญญัติ วิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ และ อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ มีความหมายโดยย่อ ดังต่อไปนี้

๑. วิชชมานบัญญัติ เป็นคำพูดที่มีคำเดียว และคำนั้นมีสภาวปรมัตถปรากฏ อยู่ เช่นคำว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิต เจตสิก นิพพาน เป็นต้น

๒. อวิชชมานบัญญัติ เป็นคำพูดที่มีอยู่คำเดียวเหมือนกัน แต่คำนั้นไม่มี สภาวปรมัตถปรากฏอยู่ เป็นโลกโวหารโดยแท้ เช่นคำว่า ภูเขา ต้นไม้ โต๊ะ เก้าอี้ แมว สุนัข เป็นต้น

๓. วิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ เป็นคำพูด ๒ คำ คำแรกเป็นปรมัตถ คำหลังเป็นโลกโวหาร เช่น อภิญญา ๖, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗

คำว่า อภิญญา พละ โพชฌงค์ เป็นคำปรมัตถ คือ วิชชมานบัญญัติและอยู่ หน้า ส่วนเลขที่บอกจำนวน ๖ , ๕ หรือ ๗ นั้นเป็นโลกโวหาร คือ อวิชชมาน บัญญัติและอยู่หลัง จึงเรียกว่า วิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ

๔. อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ เป็นคำพูด ๒ คำเหมือนกัน แต่คำแรก เป็นโลกโวหาร คำหลังเป็นปรมัตถ เช่น ฉฬภิญฺโญ ปญฺจพโล สตฺตโพชฺฌงฺโค

คำที่บอกจำนวน ฉฬ=๖,ปญฺจ=๕,สตฺต=๗ นั้นเป็นโลกโวหาร คือ อวิชชมาน และอยู่ข้างหน้า ส่วนคำว่า ภิญฺโญ=อภิญญา,พโล=พละ,โพชฺฌงฺโค=โพชฌงค์ ซึ่ง เป็นปรมัตถ คือ วิชชมาน และอยู่หลัง ดังนั้นคำบาลี ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้จึงเป็น อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ


หน้า ๑๔๘

๕. วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ เป็นคำพูด ๒ คำ ซึ่งทั้งคำแรกและคำหลัง เป็นปรมัตถด้วยกันทั้งคู่ เช่น จักขุวิญญาณ โลภจิต โลกุตตร อภิญญา เป็นต้น

๖. อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ เป็นคำพูด ๒ คำ ซึ่งทั้งคำแรกและคำ หลังเป็นโลกโวหารด้วยกันทั้งคู่ เช่น ราชบุตร ราชรถ ภรรยาเศรษฐี พี่สะใภ้ น้องเขย เป็นต้น

สรุปพอให้จำง่ายได้ดังนี้

วิชชมานบัญญัติ เป็นคำปรมัตถ

อวิชชมานบัญญัติ เป็นคำโลกโวหาร

วิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ คำปรมัตถอยู่หน้า คำโลกโวหารอยู่หลัง

อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ คำโลกโวหารอยู่หน้า คำปรมัตถอยู่หลัง

วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ คำหน้าและคำหลังเป็นปรมัตถทั้งคู่

อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ คำหน้าและคำหลังเป็นโลกโวหารทั้งคู่

คำพูดทั้งหลายเป็นบัญญัติทั้งนั้น

 

คำปรมัตถ คือ คำที่มีสภาวปรมัตถปรากฏอยู่นั้น เป็นคำที่มีลักขณาทิจตุกะ คือ ลักษณะ รสะ
ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน

คำโลกโวหาร คือ คำที่ไม่มีสภาวปรมัตถปรากฏอยู่นั้น เป็นคำที่ไม่มีลักขณาทิจตุกะ


แสดงความเป็นไปที่รู้ความหมายของสัททบัญญัติ

มีคาถาที่แสดงถึงวิถีจิตที่ให้รู้ความหมายในสัททบัญญัติ อัตถบัญญัติ และการ ตั้งชื่อให้ปรากฏแก่ชนทั้งหลาย เป็นทำนองปัจฉิมคาถาแห่งบัญญัติธรรม รวม ๒ คาถา คือ


๓๑. วจีโฆสานุสาเรน โสตวิญฺญาณวีถิยา
ปวตฺตานนฺตรุปฺปนฺน มโนทฺวา รสฺส โคจรา ฯ

 

๓๒. อตฺถา ยสฺสานุสาเรน วิญฺญายนฺติ ตโต ปรํ
สายํ ปญฺญตฺติ วิญฺเญยฺยา โลกสงฺเกต นิมฺมิตาฯ


หน้า ๑๔๙

แปลความว่า

บุคคลทั้งหลาย ได้รู้ถึง อัตถบัญญัติ คือ วัตถุสิ่งของ เรื่องราวต่าง ๆ โดยเป็น ไปตามนามบัญญัติ ภายหลังจากนามัคคหณวิถี นามบัญญัติซึ่งเป็นอารมณ์ของ นามัคคหณวิถีที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งโสตทวารวิถี และอตีตัคคหณวิถี สมูหัคคหณวิถี ซึ่งเกิดขึ้น เป็นไปตามคำพูดนั้น นักศึกษาพึงทราบนามบัญญัตินั้นว่า นักปราชญ์ทั้ง หลายย่อมตั้งขึ้นอนุโลมไปตามโวหารของโลก ทีละเล็กละน้อย

หมายความว่า เมื่อได้ยินเสียงตลอดจนรู้ความหมายนั้น วิถีจิตเกิด ๕ หรือ ๔ วิถี ซึ่งได้กล่าวแล้วใน คู่มือการศึกษาวิถีสังคหวิภาค ปริจเฉทที่ ๔ ตอน ตทนุวัตติ กมโนทวารวิถี หรือ อนุพันธกมโนทวารวิถี ขอให้ดูที่นั่นประกอบด้วย ในที่นี้จะ กล่าวซ้ำแต่เพียงโดยย่อ คือ

๑. ได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏอยู่ เป็นวิถีแรก ชื่อ โสตวิญญาณวิถี

๒. รู้เสียงดับไปแล้ว เป็นวิถีที่ ๒ ชื่อ อตีตัคคหณวิถี

๓. รวมเสียงที่ได้ยิน เป็นวิถีที่ ๓ ชื่อ สมูหัคคหณวิถี แต่ถ้าเสียงนั้นพยางค์ เดียว วิถีนี้ก็ไม่มี เพราะไม่ต้องมีการรวมเสียงแต่อย่างใด

๔. รู้นามรู้ชื่อว่าเสียงนั้นเป็นอะไร เช่นรู้ว่า เป็นเป็ด เป็นไก่ เป็นต้น เป็น วิถีที่ ๔ ชื่อ นามัคคหณวิถี

๕. รู้ความหมายแห่งรูปร่างสัณฐานว่า เป็ด ไก่ มีรูปร่างส่วนสัดเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นวิถีที่ ๕ ชื่อ อัตถัคคหณวิถี

สัททบัญญัติและอัตถบัญญัติ ที่ปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็เพราะนักปราชญ์ ทั้งหลายในอดีตและปัจจุบัน ได้บัญญัติขึ้น สมมติขึ้น ตั้งขึ้น อนุโลมไปตามโวหาร ของโลกทีละเล็กทีละน้อย แม้ต่อไปในอนาคต ก็จะต้องมีการบัญญัติขึ้นใหม่อีก เรื่อย ๆ ตลอดไป ให้สมกับที่เรียกว่า เป็นความเจริญรุ่งเรืองของชาวโลก


หน้า ๑๕๐

อวสานคาถา ปริจเฉทที่ ๘


อิจฺจานุรุทฺธรจิเต อภิธมฺมตฺถสงฺคเห
อฏฺฐโม ปริจฺเฉโทยํ สมาเสเนว นิฏฺฐิโต ฯ

 

นี่ปริจเฉทที่ ๘ ( ชื่อ ปัจจยสังคหวิภาค ) ในปกรณ์อันรวบรวม ซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม
ที่พระอนุรุทธาจารย์ รจนไว้นั้น จบแล้วโดยย่อ แต่เพียงเท่านี้แล

<<    >>