<<<              >>>

บทนำ

ปาลิภาษา ภาษาบาลี
         
       ปาลิ แปลว่า รักษาไว้, ภาสา แปลว่า ภาษาหรือถ้อยคำสำเนียง (ศัพท์และเสียง) เมื่อรวม ๒ บทเข้าด้วยกันเป็น ปาลิภาสา จึงแปลว่า ภาษาที่รักษาไว้

        รักษาอะไรไว้

        รักษาพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกไว้ ไม่ให้เสื่อมสลายไปดังมีวิเคราะห์ศัพท์ว่า

        ติปิฏกํ พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลิ (ปาฬิ).


        ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก ชื่อว่า ปาลิ

        การศึกษาภาษาบาลี หมายถึงการศึกษาภาษาในพระไตรปิฎกอันเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคำสั่งสอนเหล่านั้น บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยอัตถะและพยัญชนะ

อัตถะ คือ เนื้อความ มี ๓ อย่าง

        ๑. โลกียัตถะ      เนื้อความที่เป็นโลกียธรรม
                                 ได้แก่ โลกียจิต ๘๑  เจตสิก ๕๒  รูป ๒๘
        ๒. โลกุตตรัตถะ  เนื้อความที่เป็นโลกุตตรธรรม
                                 ได้แก่ มรรค ๔  ผล ๔  นิพพาน
        ๓. โวหารรัตถะ   เนื้อความที่เป็นโวหารบัญญัติ
                                 ได้แก่ มนุษย์ ภูเขา แม่น้ำ วัตถุ เป็นต้น

        ผู้จะเข้าใจในอัตถะทั้ง ๓ นี้ได้อย่างถูกต้อง เพราะได้ศึกษาหลักพยัญชนะคืออักษรจนเข้าใจดีแล้ว หากไม่เข้าใจหลักพยัญชนะ จะเป็นเหตุให้เข้าใจอัตถะทั้ง ๓ นั้นผิดพลาด พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

        "เทฺวเม ภิกฺขเว ธมฺมา สทฺธมฺมสฺส สมฺโมสาย อนฺตรธานาย สํวตฺตนฺติ. กตเม เทฺว. ทุนฺนิกฺขิตฺตญฺจ ปทพฺยญฺชนํ อตฺโถ จ ทุนฺนีโต, ทุนฺนิกฺขิตฺตสฺส ภิกฺขเว ปทพฺยญฺชนสฺส อตฺโถปิ ทุนฺนโย โหติ.


        เทฺวเม ภิกฺขเว ธมฺมา สทฺธมฺมสฺส ฐิติยา อสมฺโมสาย อนนฺตรธานาย สํวตฺตนฺติ. กตเม เทฺว.  สุนิกฺขิตฺตญฺจ ปทพฺยญฺชนํ อตฺโถ จ สุนีโต, สุนิกฺขิตฺตสฺส ภิกฺขเว ปทพฺยญฺชนสฺส อตฺโถปิ สุนโย โหติ." (องฺ.ทุก. ๒๐/๒๐-๒๑/๕๘ มจร)

        "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสลาย เพื่อความอันตรธานไปแห่งพระสัทธรรม ธรรม ๒ อย่างอะไรบ้าง คือ บทพยัญชนะที่นำมาไม่ถูกต้อง และเนื้อความที่เข้าใจไม่ถูกต้อง เมื่อบทพยัญชนะนำมาไม่ถูกต้อง แม้เนื้อความก็ย่อมเข้าใจไม่ถูกต้องเช่นกัน
       ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่เสื่อมสลาย ไม่อันตรธานไปแห่งพระสัทธรรม ธรรม ๒ อย่างอะไรบ้าง คือ บทพยัญชนะที่นำมาถูกต้อง และเนื้อความที่เข้าใจถูกต้อง เมื่อบทพยัญชนะนำมาถูกต้อง แม้เนื้อความก็ย่อมเข้าใจถูกต้องเช่นกัน"

       เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรอย่างยิ่งที่ผู้ปรารถนารู้และเข้าใจเนื้อความอย่างถูกต้องครบถ้วนทั้งอัตถะและพยัญชนะ ควรศึกษาให้เข้าใจในวิธีของพยัญชนะคือหลักของภาษาก่อน ในที่นี้หมายถึง อักขรวิธี คือ วิธีการจำแนก การอ่าน และการเขียน ซึ่งอักษรภาษาบาลีถูกต้อง นั่นเอง เมื่อเข้าใจหลักภาษาดีแล้ว ย่อมเข้าใจเนื้อความได้ดี และเมื่อมีความเข้าใจเนื้อความถูกต้องดี ย่อมสามารถปฏิบัติตามได้ถูกต้องจนถึงความสิ้นทุกข์ได้ หากแม้หลักภาษาบาลียังไม่เข้าใจ จักทำให้สงสัยในเนื้อความและข้อปฏิบัตินั้น ๆ ยิ่งผู้ปรารถนาจะศึกษาค้นคว้าพระบาลีคือพระไตรปิฎกอันเป็นหลักคำสั่งสอน ยิ่งมีความสงสัยแทบทุกบทไป ดังนั้น ท่านพระโมคคัลลานมหาเถระผู้ปรีชาชาญในหลักภาษาบาลี จึงได้กล่าวไว้เป็นคาถาว่า

       โย นิรุตฺตึ น สิกฺเขยฺย    สิกฺขนฺโต ปิฏกตฺตยํ
       ปเท ปเท วิกงฺเขยฺย       วเน อนฺธคโช ยถา.
                                         (โมคฺคลฺลานปญฺจิกา) 


        บุคคลใดไม่ได้ศึกษาคัมภีร์นิรุตติอันเป็นหลักภาษาก่อน
        บุคคลนั้น เมื่อศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ย่อมสงสัย
        ทุก ๆ บท ดุจช้างไตรตาบอดเที่ยวไปในป่า ฉันนั้น

        นิรุตติบ่ขีดเขียน          หวังเพียรเรียนพระไตร
        ทุกทุกบทย่อมสงสัย    ดุจช้างไพรไร้ดวงตา

      <<<              >>>