อารัมภกถา
พระสัทธรรม เป็นคำสั่งสอนอันประเสริฐสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรค่าอย่างยิ่งที่พุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จะได้ศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจ ทรงจำไว้
แล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามให้ได้รับอิฏฐผลสูงสุด
ในเบื้องต้น ควรศึกษาพระพุทธพจน์จากพระไตรปิฎกโดยตรง และศึกษาคัมภีร์อธิบายมีอรรถกถาและฎีกาเป็นต้น ตลอดถึงคัมภีร์นิรุตติศาสตร์ต่างๆ โดยเริ่มเรียนเนื้อหาธรรมอย่างละเอียด
จนมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว ทรงจำไว้ นำมาสาธยาย อยู่สม่ำเสมอเพื่อมิให้ลืมเลือน แล้วจึงแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ในท่ามกลาง
ควรประพฤติปฏิบัติตามพระสัทธรรมที่รู้แล้วนั้นจะมากหรือน้อยก็ตาม ใช้หลักธรรมดำรงชีวิตให้สมควรแก่ความรู้ความเข้าใจ อาศัยหลักปริยัติที่ได้เรียนมานั้นเป็นวิธีการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนา
ภาวนาให้เกิดปัญญารู้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในที่สุด จะได้รับอิฏฐผลคือการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นความหวังสูงสุดตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา
หวังว่าคัมภีร์อภิธานวรรณนานี้ จะเป็นคู่มือช่วยให้การศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างสะดวก ง่ายดาย ช่วยให้ผู้ศึกษามีความสามารถในการวินิจฉัยเนื้อความของคำบาลีได้อย่างถูก ต้องชัดเจน
แต่หากจะมีเนื้อความใดยังบกพร่องอยู่ ขอให้ผู้รู้จงเมตตาทักท้วง เพื่อการแก้ไขให้สมบูรณ์ต่อไป
ขอผลบุญนี้ จงอำนวยประโยชน์สุขแก่บูรพชน บูรพาจารย์ ผู้มีอุปการคุณ และจงเพิ่มพูนปัญญาของผู้ศึกษาพระสัทธรรมให้แก่กล้ายิ่งขึ้น ทุกท่านเทอญ
จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม ธมฺเม โหนฺตุ สคารวา.
ขอพระสัทธรรม จงดำรงมั่นตลอดกาล
ขอสาธุชนทั้งหลาย จงมีความเคารพในธรรม
(พระมหาสมปอง มุทิโต)
ประธานชมรมนิรุตติศึกษา
[๒]
อารัมภกถาสัญลักษณ์ของชมรมนิรุตติศึกษา
ตราดอกบัวทรงพระไตรปิฎกในหยดหยาดแห่งธรรมมีความหมายว่า
สุตฺตํ ธาตุ คโณ ณฺวาทิ นามลิงฺคานุสาสนํ
ยสฺส ติฏฺฐติ ชิวฺหคฺเค ส พฺยากรณเกสรี.*
(*โมคฺคลฺลานปญฺจิกา )
สูตรธาตุมาลาทั้ง นามลิงค์
ปัจจัยทรงสมจริง แม่นมั่น
อ้าโอษฐ์จิตแน่วดิ่ง บอกถูก ดีนา
ดุจเสียงสีหนาทลั่น ผู้นั้นปราชญ์ปรีดิ์
สุตฺตํ กฎเกณฑ์แม่บท เช่น สูตรในคัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์เป็นต้น
ธาตุ รากเหง้าของศัพท์ที่ทรงเนื้อความของศัพท์ไว้
คโณ วิธีการจำแนกสัททปทมาลาของนามและอาขยาต
ณฺวาทิ ปัจจัยที่ใช้ประกอบหลังจากธาตุและลิงค์ เพื่อเสริมเนื้อความ
นามํ ศัพท์นามต่างๆ ได้แก่ สุทธนาม สัพพนาม สมาสนาม ตัทธิตนาม
และกิตกนาม
ลิงฺคํ ลักษณะที่บ่งบอกให้รู้เพศของศัพท์ว่าเป็น ปุงลิงค์ อิตถีลิงค์ หรือ
นปุงสกลิงค์
อนุสาสนํ ความสามารถในการวินิจฉัยบททั้ง ๔ คือ นาม อุปสัค นิบาต และ
อาขยาต ได้อย่างครบถ้วนทั้งอัตถะและพยัญชนะ โดยมี ๖ อย่าง
เบื้องต้น เป็นเครื่องช่วยตัดสิน