<<    >>

คู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๑

จิตตสังคหวิภาค

คู่มือการศึกษา จิตปรมัตถ 

 พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่๑

 _______________________________

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธฺสฺส

 

ความเบื้องต้น

 

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมคำสอนตามความใน พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๑ ซึ่งพระอนุรุทธาจารย์ ได้รจนาไว้ และให้ชื่อว่า จิตตสังคหวิภาค อันมีความหมายว่า เป็นส่วนที่รวบรวมกล่าวถึง จิตปรมัตถ โดยย่อ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงให้ชื่อว่า คู่มือการศึกษา จิตปรมัตถก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องของ จิตปรมัตถ ขอกล่าวความเบื้องต้นพอให้ทราบที่มาแห่งพระอภิธัมมัตถสังคหะ และข้อความบางประการที่ควรจะทราบไว้ในชั้นต้นนี้ เพื่อจะได้สะดวกแก่การศึกษาต่อไป

 

๑. สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า นับแต่ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณแล้ว ได้ทรงสั่งสอนโปรดเวไนยสัตว์ เป็นเวลายาวนานถึง ๔๕ ปีนั้น รวมได้ถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อประมวลจัดสรรสงเคราะห์เป็นพวกเป็นหมวดเป็นหมู่ ก็จัดได้เป็น ๓ หมวด ซึ่งเรียกกันว่า พระไตรปิฎก คือ

 

พระวินัยปิฎก

พระสุตตันตปิฎก

พระอภิธรรมปิฎก

 

๒. พระวินัยปิฎก ธรรมใดที่แสดงไว้เป็นข้อบังคับ เป็นระเบียบแบบแผนให้ประพฤติปฏิบัติ โดยมีข้อกำหนดโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามไว้เป็นชั้นๆ ตามโทษานุโทษนั้น เรียกว่า พระวินัยปิฎก มี ๒๑๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระวินัยนี้เป็นพื้นฐานในอันที่จะสร้าง สรรค์ให้รูปร่างงดงาม มีสง่าราศี และกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย พระวินัยปิฎก ซึ่งมี ๒๑๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ จำแนกเป็น ๕ คัมภีร์มีชื่อว่า คัมภีร์อาทิกรรม คัมภีร์ปาจิตตีย คัมภีร์มหาวัคค คัมภีร์จุลลวัค และ คัมภีร์ปริวาร เพื่อให้สะดวกแก่การจดจำรำลึก ท่านโบราณาจารย์จึงได้ยกพยางค์หน้าแห่งคัมภีร์นั้นๆ มาเป็นเครื่องจดจำ คือ อา ปา มะ จุ ปะ ต่อมาก็เลยถือกันว่า อา ปา มะ จุ ปะ นี้คือหัวใจของพระวินัย

 

๓. พระสุตตันตปิฎก ธรรมใดที่แสดงไว้ โดยยกบุคคลขึ้นเป็นตัวอย่าง ทั้งในทางชอบและทางชั่ว มุ่งหมายที่จะให้เวไนยชนได้รู้สมมติสัจจะ คือ รู้ความจริงตามโวหารของโลกนั้น เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า พระสูตร มี ๒๑๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสูตรนี้เป็นพื้นฐานในอันที่จะสร้างสรรค์ให้อัธยาศัยสงบ และมีจิตใจแน่วแน่มั่นคง

พระสุตตันตปิฎก หรือ พระสูตร ซึ่งมี ๒๑๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้จำแนกเป็น ๕ นิกาย มีชื่อว่า ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตรนิกาย และขุทกนิกาย เพื่อให้สะดวกแก่การจดจำรำลึก ท่านโบราณาจารย์จึงได้ยกพยางค์หน้าแห่งนิกายนั้น ๆ มาเป็นเครื่องจดจำ คือ ที มะ สัง อัง ขุ ต่อมาก็เลยถือกันว่า ที มะ สัง อัง ขุ นี้คือหัวใจของพระสูตร

 

๔. พระอภิธรรมปิฎก ธรรมใดที่แสดงไว้เป็นส่วน ล้วนแต่เป็นปรมัตถสัจจะ คือ ตามความเป็นจริงอันมีเนื้อความไม่เปลี่ยนแปลงผันแปร เพื่อจะได้เห็นแจ้งในสภาวธรรมนั้นๆ โดยไม่กล่าวอ้างบุคลมาเป็นสำคัญนั้น เรียกว่าพระอภิธรรมปิฎกมี ๔๒๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระอภิธรรมนี้เป็นพื้นฐาน ในอันที่จะสร้างสรรค์ให้มีสติว่องไว มั่นคง และมีปัญญาหลักแหลมพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งมี ๔๒๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ จำแนกเป็น ๗ คัมภีร์มีชื่อว่า ธัมมสังคณี วิภังค ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และมหาปัฏฐาน เพื่อให้สะดวกแก่การจดจำรำลึก ท่านโบราณาจารย์จึงได้ยกพยางค์หน้าแห่งคัมภีร์นั้นๆ มาเป็นเครื่องจดจำ คือ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ต่อมาก็เลยถือกันว่า สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ นี้คือ หัวใจของพระอภิธรรม

คัมภีร์ ธัมมสังคณี ว่าด้วย หมวดแห่งปรมัตถธรรม

คัมภีร์ วิภังค ว่าด้วย การจำแนกปรมัตถธรรม

คัมภีร์ ธาตุกถา ว่าด้วย ธาตุแห่งปรมัตถธรรม

คัมภีร์ ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วย บัญญัติ บุคคล และปรมัตถ

คัมภีร์ กถาวัตถุ ว่าด้วย การถามและตอบในปรมัตถธรรม

คัมภีร ยมก ว่าด้วย การแสดงปรมัตถธรรมเป็นคู่ๆ

คัมภีร์ มหาปัฏฐาน ว่าด้วย ปัจจัยของปรมัตถธรรม

 

๕. พระอภิธรรมมัตถสังคหะ มาจากคำว่า อภิธมฺม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐยิ่ง หมายความว่า เป็นธรรมที่มีอยู่จริง เป็นธรรมที่เป็นจริงได้แก่ พระอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์ อตฺถ แปลว่า เนื้อความ หมายความว่า เป็นเนื้อหาหรือเป็นหัวข้อแห่งพระอภิธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ สํ แปลว่า โดยย่อ คห แปลว่า รวบรวม เมื่อประมวลความหมายแห่งคำเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้วก็มีความหมายว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์นั้นได้ รวบรวมมาแสดงโดยย่อในปกรณ์นี้ พระอภิธัมมัตถสังคหะนี้ เป็นชื่อของปรณ์ ที่พระอนุรุทธาจารย์ได้รวบรวมอธิบายความโดยย่อแห่ง พระอภิธรรมปิฎก

 

๖. พระอนุรุทธาจารย์ เป็นพระเถระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นชาวเมืองกาวิลกัญจิ อยู่ในแคว้นมัททราฐ ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย ได้ไปศึกษาพระอภิธรรมปิฎกที่ อนุราธบุรี ในประเทศลังกา จนมีนามอุโฆษ ว่าเชี่ยวชาญและแตกฉานในพระอภิธรรม สำนักอยู่ ณ วัดตุมูลโสมาราม นัมพอุบาสก ผู้เป็นทายก จึงได้อาราธนาขอให้รวบรวมพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งมากนั้น ให้สั้นและง่ายเพื่อสะดวกแก่การศึกษาและจดจำ ด้วยความมุ่งหมายให้เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาพระอภิธรรมทั้งหลายในอนาคต พระอนุรุทธาจารย์จึงได้อาศัยบาลี อรรกถา ฎีกา และอนุฎีกาเป็นหลักในการรวบรวม แล้วรจนาขึ้นโดยย่อ และให้ชื่อว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ เมื่อประมาณพุทธศักราช ๙๐๐ พระอนุรุทธาจารย์ ผู้รจนาพระอภิธัมมัตถสังคหะนี้ได้รับความยกย่องนับถือ ว่าเป็นพระเถระเจ้าชั้น คันถรจนาจารย์

 

๗. บาลี หมายถึงพระพุทธพจน์ คือถ้อยคำที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโดยตรง

 

๘. อรรถกถา แปลตามศัพท์ว่า กล่าวเนื้อความ อรรถ (อัตถ = เนื้อความ) + กถา (กล่าวถ้อยคำ) มีความหมายว่า อรรถกถา กล่าวแก้เนื้อความในบาลี มิได้หมายความว่าเนื้อความในบาลีนั้นผิด ท่านอรรถกถาจารย์จึงมาแก้ให้ถูก แต่หมายความว่า เนื้อความในบาลีนั้น ไม่ได้อธิบายขยายความโดยละเอียด อาจจะเกิดข้อสงสัยขึ้นได้ ท่านอรรถกาจารย์จึงได้อธิบายขยายความให้ละเอียดกระจ่างแจ้ง เป็นการแก้ข้อสงสัยที่จะพึงมีในธรรมข้อนั้น ผู้ที่แสดงอรรถกถานั้น ได้รับความยกย่องว่าเป็นอาจารย์จึงเรียกว่าอรรถกถาจารย์ อรรถกถานั้นได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูง รองมาจากบาลี

 

๙. ฎีกา คือ คำกล่าวแก้อรรถกถาอีกชั้นหนึ่ง หมายความว่า อรรถกถานั้นอาจมีข้อความที่น่าสงสัย ไม่แจ่มแจ้งพอ ท่านฎีกาจารย์จึงอธิบายขยายความเพื่อแก้ข้อสงสัยในธรรมส่วนนั้นๆ อีกต่อหนึ่ง ฎีกานี้ ได้รับความเชื่อถือรองลงมาจากอรรถกถา นอกจากอรรถกถาจารย์และฎีกาจารย์แล้ว ยังมีอนุฎีกาจารย์และเกจิอาจารย์อีก

 

๑๐. อนุฎีกาจารย์ คือ ผู้ที่กล่าวแก้ข้อสงสัยอันจะพึงมีในฎีกา เกจิอาจารย์ คือ อาจารย์อื่นๆ ที่แสดงความเห็นในข้อธรรม หรืออธิบายขยายความในข้อธรรมทั่วๆไป อนุฎีกาจารย์ก็ดี เกจิอาจารย์ก็ดี ได้รับความเชื่อถือลดหลั่นรองลงมาจากฎีกาอีก ดังจะเห็นได้ว่าไม่ใคร่จะได้ถูกยกมากล่าวอ้างบ่อยนัก

 

๑๑. พระอภิธรรม กล่าวถึงธรรม ๒ ประการ คือ ปรมัตถธรรม ๑ และ บัญญัติธรรม ๑ ปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีเนื้อความอันไม่วิปริตผันแปรเปลี่ยนแปลงเลย ปรมัตถธรรมนั้นมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ส่วนบัญญัติธรรมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีเอง เป็นเอง แต่เป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้น สมมติขึ้น เพื่อเรียกขานกันตามโวหารของชาวโลก ตามความนิยมเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่า ธรรมที่มีเนื้อความอันไม่วิปริตผันแปรเปลี่ยนแปลงคือ ปรมัตถธรรมนี้ย่อมต้องมีสภาวะ หรือ สภาพ หรือลักษณะ ๒ ประการ คือ สามัญญลักษณะและวิเสสลักษณะ

 

๑๒. สามัญญลักษณะ เป็นลักษณะสามัญทั่วๆ ไป เป็นลักษณะตามธรรมดาตามธรรมชาติ ตามปกติที่ ปรมัตถธรรมจะต้องมีเหมือนๆ กันอยู่ ๓ อย่าง คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืนอยู่ได้ตลอดกาล ทุกขลักษณะ เป็นลักษณะที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องดับ ต้องเสื่อมสลายหายสูญไป อนัตตลักษณะ เป็นลักษณะที่ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ ที่จะให้เป็นไปตามใจชอบหาได้ไม่ เพราะเหตุว่า สามัญญลักษณะนี้มี ๓ ประการดังกล่าวมานี้จึงได้ชื่อว่า ไตรลักษณ์ จิต เจตสิก และรูป มีไตรลักษณ์ หรือ สามัญญลักษณะครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการ แต่นิพพาน มี สามัญญลักษณะเพียง ๑ คือ อนัตตลักษณะเท่านั้น ส่วนบัญญัติธรรม หามีสามัญญลักษณะ ๓ ประการ คือ ไตรลักษณ์นี้ แต่อย่างใดไม่ เพราะบัญญัติธรรมไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติธรรมคือ สมมติสัจจะ ที่สมมติขึ้นหรือบัญญัติขึ้นตามโวหารของโลกเท่านั้น หาใช่สิ่งที่มีเองเป็นเอง แต่อย่างใดไม่

 

๑๓. วิเสสลักษณะ เป็นลักษณะพิเศษประจำตัว เป็นลักษณะพิเศษจำเพาะตัว ของปรมัตถธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ เหมือนกันเลย แต่ผิดแผกแตกต่างกันทั้งนั้น วิเสสลักษณะนี้มี ๔ ประการ คือ ลักษณะ รสะ ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน ลักษณะ คือ คุณภาพ หรือ เครื่องแสดง หรือสภาพโดยเฉพาะที่มีประจำตัวของธรรมนั้น ๆ รสะ คือกิจการงานหรือหน้าที่ ที่ธรรมนั้นๆ พึงกระทำตามลักษณะของตน รสะ นี้ยังแบ่งได้อีกเป็น ๒ คือ กิจจรส และสัมปัตติรส กิจจรส เช่นความร้อนของไฟ มีหน้าที่ทำให้สิ่งของต่างๆสุก สัมปัตติรส เช่นแสงของไฟ มีหน้าที่การงานทำให้สว่าง ปัจจุปัฏฐาน คือ ผลของรสะ หรืออาการปรากฏที่เกิดจากธรรมนั้นๆ ได้ทำกิจการงานแล้ว ปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ ที่ทำให้ธรรมนั้นๆเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า วิเสสลักษณะนี้มี ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ จึงได้ชื่อว่า ลักขณาทิจตุกะ แปลว่า ธรรมที่มีองค์ ๔ อันมีลักษณะ เป็นต้น

 

จิตเจตสิก และรูป มีวิเสสลักษณะ หรือลักขณาทิจตุกะ ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ แต่นิพพาน มีลักขณาทิจตุกะ หรือวิเสสลักษณะเพียง ๓ ประการเท่านั้น คือ ไม่มี ปทัฏฐาน เหตุใกล้ให้เกิด เพราะนิพพานเป็นธรรมที่พ้นจากเหตุจากปัจจัยทั้งปวงส่วนบัญญัติธรรมนั้น ไม่มีวิเสสลักษณะเลย เพราะเป็นการบัญญัติขึ้นตามความนิยมของชาวโลกเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่า ดังจะเห็นได้ว่า ของเหมือนกัน ก็เรียกต่างกัน และบางอย่างออกเสียงเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน

 

๑๔. พระอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งพระอนุรุทธาจารย์ได้รจนาขึ้นนั้นพอจะเปรียบได้ว่าเป็น "แบบเรียนเร็วพระอภิธรรม" ท่านได้แบ่งเป็น ๙ ปริจเฉท คือ

 

ปริจเฉทที่ ๑ ชื่อว่า จิตตสังคหวิภาค รวบรวมแสดงจิตปรมัตถ

ปริจเฉทที่ ๒ ชื่อว่า เจตสิกสังคหวิภาค รวบรวมแสดงเจตสิกปรมัตถ

ปริจเฉทที่ ๓ ชื่อว่า ปกิณณกสังคหวิภาค รวบรวมแสดงธรรมต่างๆ ๖ หมวด คือ เวทนา เหตุ ทวาร กิจ อารมณ์ และวัตถุ

ปริจเฉทที่ ๔ ชื่อว่า วิถีสังคหวิภาค รวบรวมแสดงวิถีจิต

ปริจเฉทที่ ๕ ชื่อว่า วิถีมุตตสังคหวิภาค รวบรวมแสดงจิตที่พ้นวิถีและธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับจิตที่พ้นวิถี

ปริจเฉทที่ ๖ ชื่อว่า รูปสังคหวิภาค รวบรวมแสดงรูปปรมัตถและนิพพาน

ปริจเฉทที่ ๗ ชื่อว่า สมุจจยสังคหวิภาค รวบรวมแสดงธรรมที่สงเคราะห์เข้าเป็นหมวดเดียวกันได้

ปริจเฉทที่ ๘ ชื่อว่า ปัจจยสังคหวิภาค รวบรวมแสดงธรรมที่อุปการะซึ่งกันและกัน และแสดงบัญญัติธรรมด้วย

ปริจเฉทที่ ๙ ชื่อว่า กัมมัฏฐานสังคหวิภาค รวบรวมแสดงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ คือ สมถะ และ วิปัสสนา

 

๑๕. เพื่อสะดวกแก่การศึกษา ขอแสดงจำนวนจิตและประเภทของจิตทั้งหมดให้ทราบก่อน ดังต่อไปนี้

 

ผังนี้เป็นการแสดงจำนวนจิตโดยย่อ ๘๙ ดวง ส่วนรายละเอียดตลอดจนชื่อของจิตแต่ละดวงนั้นจะปรากฎต่อไปตามลำดับ ขอกล่าวข้อความเบื้องต้นแต่เพียงนี้ บัดนี้จะได้ดำเนินความตามเรื่องของ จิตตปรมัตถ ต่อไป

 


จิตตสังคหวิภาค

 

พระอภิธัมมัตถสังคหปริจเฉทที่ ๑ ซึ่งชื่อว่าจิตตสังคหวิภาคนี้ พระอนุรุทธาจารย์ได้ประพันธ์เป็นคาถาสังคหะ รวม ๒๑ คาถา คาถาที่ ๑ ประพันธ์ว่า

 

๑. สมฺมาสมฺพุทฺธมตุลํ สสทฺธมฺมคณุตฺตมํ

  อภิวาทิย ภาสิสฺสํ อภิธมฺมตฺถสงฺคหํ ฯ

 

แปลความว่า ข้าพระพุทธเจ้า (พระอนุรุทธาจารย์) ขอถวายอภิวาท สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงอุดมด้วยสีลาทิคุณ หาผู้เสมอเหมือนมิได้พร้อมด้วยพระสัทธรรมและหมู่พระอริยสงฆเจ้า แล้วจะกล่าวคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังหะต่อไป

 

๒. ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต

จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมีติ สพฺพถา ฯ

 

แปลความว่า เนื้อความแห่งพระอภิธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนานั้นคือ ปรมัตถธรรม ๔ ประการ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เท่านี้

 

จิตคืออะไร

 

จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่ง รู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้ สิ่งที่จิตรู้นั้นเป็นอารมณ์ จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นแหละคืออารมณ์

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า จิตคือธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ รับ จำ คิด รู้ ซึ่งอารมณ์ จิตต้องมีอารมณ์ และต้องรับ อารมณ์จึงจะรู้ และจำ แล้วก็คิดต่อไปสมตามนัยขยายความตามบาลีว่า

 

จิตฺเตตีติ จิตฺตํ อารมฺมณํ วิชานาตีติ อตฺโถ ฯ

 

ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต มีอรรถว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์คือ จิต

 

ในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวัคค แสดงว่าจิตนี้มีชื่อที่เรียกใช้เรียกขานกันตั้ง ๑๐ ชื่อ แต่ละชื่อก็แสดงให้รู้ ความหมายว่าจิตคืออะไร ดังต่อไปนี้

 

ยํ จิตฺตํ มโน หทยํ มานสํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทฺริยํ วิญฺญาณํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ ตชฺชา มโนวิญฺญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ ฯ

 

ซึ่ง อัฏฐสาลินีอรรถกถา อธิบายว่า

๑. ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต

๒. ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า มโน

๓. จิตนั่นแหล่ะได้รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน ดังนั้นจึงชื่อว่า หทัย

๔. ธรรมชาติคือ ฉันทะที่มีในใจนั่นเอง ชื่อว่า มานัส

๕. จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า ปัณฑระ

๖. มนะนั่นเองเป็นอายตนะ คือเป็นเครื่องต่อ จึงชื่อว่า มนายตนะ

๗. มนะอีกนั่นแหละที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า มนินทรีย์

๘. ธรรมชาติใดที่รู้แจ้งอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิญญาณ

๙. วิญญาณนั่นแหละเป็นขันธ์ จึงชื่อว่า วิญญาณขันธ์

๑๐. มนะนั่นเองเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ จึงชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ

 

 

สภาพหรือลักษณะของจิต

 

จิตเป็นปรมัตถธรรม ดังนั้น จิตจึงมีสภาวะ หรือสภาพ หรือลักษณะทั้ง ๒ อย่างคือ ทั้งสามัญลักษณะ และวิเสสลักษณะ

สามัญญลัษณะ หรือไตรลักษณ์ของจิต มีครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการคือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ

จิตนี้เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง ไม่มั่นคง หมายถึงว่า ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้งอยู่ได้ตลอดกาล

จิตนี้เป็นทุกขัง คือทนอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ทนอยู่ไม่ได้ตลอดกาล จึงมีอาการเกิดดับ เกิดดับ อยู่ร่ำไป

จิตนี้เป็นอนัตตา คือเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาให้ยั่งยืน ให้ทนอยู่ไม่ให้เกิดดับ ก็ไม่ได้เลย

และเพราะเหตุว่าจิตนี้ เกิดดับ เกิดดับ สืบต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วเหลือประมาณ จนปุถุชนคน ธรรมดาเข้าใจไปว่า จิตนี้ไม่มีการเกิดดับ แต่ว่ายั่งยืนอยู่จนตลอดชีวิตจึงดับไปก็เหมือนกับเข้าใจว่า กระแสไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ซึ่งกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเราเห็นหลอดไฟสว่างอยู่ตลอดเวลา ก็เข้าใจว่ากระแสไฟฟ้าไม่ได้ไหลไปแล้วกลับฉะนั้น

ส่วนวิเสสลักษณะหรือ

 

ลักขณาทิจตุกะของจิต ก็มีครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการคือ

 

วิชานน ลกฺขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ

ปุพฺพงฺคม รสํ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ

สนฺธาน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการเกิดต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฎ

นามรูป ปทฺฏฐานํ มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

 

ในธรรมบท ภาค ๒ มีคาถากล่าวถึงเรื่องการระวังสังวรจิต และมีความกล่าวถึง ลักษณะหรือสภาพของจิตด้วย จึงขอนำมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

 

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสริรํ คูหาสยํ

เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ฯ

 

แปลความว่า ชนทั้งหลายใด จักระวังจิต ซึ่งไปไกล ไปเดี่ยว ไม่มีสรีระ (รูปร่าง) มีคูหาเป็นที่อาศัย ไว้ได้ ชนทั้งหลายจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร

 

อนึ่ง จิตเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้เกิดขึ้น ทำให้เป็นไปได้ คือทำให้วิจิตรได้ถึง ๖ ประการ

๑. วิจิตรในการกระทำ คือทำให้งดงาม แปลก น่าพิศวง พิลึกกึกกือ เช่น สิ่งของต่างๆที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ย่อมมีทั้งที่งดงาม แปลกตาน่าพิศวง ตลอดจนน่าเกลียด น่าสยดสยองสพรึงกลัว

๒. วิจิตรด้วยตนเอง คือ ตัวจิตเองก็แปลก น่าพิศวง มีประการต่างๆ นานา เช่น จิตดีก็มี ชั่วก็มี จิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่สงบ จิตเบาปัญญา จิตที่มากด้วยปัญญา จิตที่มีความจำเลอะเลือน จิตที่มีความจำเป็นเลิศ สุดที่จะพรรณนา

๓. วิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส ก็น่าแปลกที่จิตนั่นแหละเป็นตัวที่ก่อกรรมทำเข็ญ และก็จิตนั่นแหละเป็นตัวสะสมกรรมและกิเลสที่ตัวนั้นทำไว้เอง น่าแปลก น่าพิศวงยิ่งขึ้น ก็ตรงที่ว่า กรรมอะไรที่ไม่ดีที่ตัวทำ เอง ก็ไม่น่าจะเก็บสิ่งที่ไม่ดีนั้นไว้ แต่ก็จำต้องเก็บต้องสั่งสมไว้

๔. วิจิตรในการรักษาไว้ ซึ่งวิบากที่กรรมและกิเลสได้สั่งสมไว้ หมายความว่ากรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่จิตเป็นตัวการก่อให้เกิดขึ้นนั้น จะไม่สูญหาย
ไปไหนเลย แม้จะช้านานปานใด ก็ไม่มีการเสื่อมคลายไป เมื่อได้ช่องสบโอกาสเหมาะเมื่อใด เป็นต้องได้รับผลของกรรมเมื่อนั้นจนได้

๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานของตนเอง หมายถึงว่าการกระทำกรรมอย่างใดๆ ก็ตาม ถ้ากระทำอยู่บ่อยๆ ทำอยู่เสมอๆ เป็นเนืองนิจ ก็ติดฝังในนิสสัยสันดานให้ชอบกระทำ ชอบพฤติกรรมอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ไป

๖. วิจิตรด้วยอารมณ์ต่างๆ หมายถึงว่าจิตนี้รับอารมณ์ได้ต่างๆ นานาไม่มีที่จำกัดแต่น่าแปลก น่าพิศวงที่มักจะรับอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ชั่วได้ง่ายดาย

 

จำแนกจิตเป็น ๔ ประเภท

เมื่อกล่าวตาม สภาพ คือกล่าวตามลักษณะของจิตแล้ว จิตนี้มีเพียง ๑ เพราะจิตมีสภาวะ มีสภาพ มีลักษณะ รับรู้อารมณ์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

แต่เมื่อกล่าวตามอารมณ์ที่รู้ ตามประเภทที่รู้ กล่าวคือ รู้ในเรื่องกามที่เป็นบุญเป็นบาปรู้เรื่องรูปฌาณ รู้ในเรื่องอรูปฌาณ รู้ในเรื่องนิพพานเหล่านี้แล้ว จิตก็มีจำนวนนับอย่างพิศดารได้ถึง ๑๒๑ ดวง หรือ ๑๒๑ อย่าง ๑๒๑ ชนิด และจำแนกได้เป็นประเภทตามอาการที่รู้นั้นได้เป็น ๔ ประเภท คือ

๑. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง

๒. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง

๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

๔. โลกุตตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐ ดวง

รวมเป็น ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง

 

๑. กามาวจรจิต เป็นจิตประเภทที่ข้องอยู่ ที่ติดอยู่ ที่หลงอยู่ ที่เจืออยู่ในกามตัณหา หรือเป็นจิตที่ส่วนมากท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามภูมิ จิตประเภทนี้เรียกสั้นๆ ว่า กามจิต มีจำนวน ๕๔ ดวง

๒. รูปาวจรจิต เป็นจิตที่ถึงซึ่งรูปฌาณ พอใจที่จะเป็นรูปพรหม หรือเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภูมิ จิตประเภทนี้มีจำนวน ๑๕ ดวง

๓. อรูปาวจรจิต เป็นจิตประเภทที่เข้าถึงซึ่งอรูปฌาณ พอใจที่จะเป็นอรูปพรหมหรือ เป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ใน อรูปภูมิ จิตประเภทนี้มีจำนวน ๑๒ ดวง

๔. โลกุตตรจิต เป็นจิตประเภทที่กำลังพ้นและพ้นแล้วจากโลกทั้ง ๓ คือ พ้นจาก กามโลก (กามภูมิ), จากรูปโลก (รูปภูมิ) และจากอรูปโลก (อรูปภูมิ) จิตประเภทนี้มีจำนวน

เพียง ๘ ดวง ถ้าจิต ๘ ดวงนี้ประกอบด้วยฌาณด้วยแล้ว จิตแต่ละดวงก็แจกได้เป็น ๕ ตามชั้นตามประเภทของฌาณ ซึ่งมี ๕ ชั้น จึงเป็นจิตพิศดาร ๔๐ ดวง ดังนั้น จิตทั้งหมด นับโดยย่อก็เป็น ๕๔ ดวง และนับโดยพิศดารก็เป็น ๑๒๑ ดวงที่นับอย่างพิศดารนั้น จำนวนที่เพิ่มขึ้น ก็เพิ่มที่โลกุตตรกุศลจิตประเภทเดียวเท่านั้น

 

 

 

กามาวจรจิต

กามาวจรจิต หรือ กามจิต ซึ่งมีจำนวน ๕๔ ดวงนั้น จำแนกได้เป็น ๓ จำพวก คือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ กามาวจรโสภณจิต ๒๔

 

อกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ฉลาด ไม่ดี ไม่งาม เป็นจิตที่ทราม ที่ชั่ว ที่หยาบ ที่เป็นบาป ที่มีโทษ และให้ผลเป็นทุกข์ ที่ท่านแสดงอกุศลจิตก่อน ก็เพื่อจะให้รู้จักสิ่งชั่ว จะได้ไม่ประพฤติต่ำช้า อันจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่น อุปมาว่าเราจักต้องรู้จักผู้ร้ายก่อน จะได้หลบหนีให้ห่างไกล จึงจะพ้นความเดือดร้อนวุ่นวาย เมื่อไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ก็จะปกติสุข มีความสงบเป็นโอกาสที่จะประกอบกรรมดีได้โดยสะดวก

 

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป เพราะไม่มีเหตุบุญหรือเหตุบาปมาร่วมประกอบด้วย เป็นจิตที่มีประจำอยู่แล้วทั่วทุกตัวคนและเกิดขึ้นเป็นนิจ แทบไม่มีเว้นว่าง เป็นจิตที่ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาปก็จริง แต่ทว่าเป็นจิตที่เป็นสื่อหรือเป็นทางน้อมนำมาซึ่งบาปและบุญอยู่แทบทุกขณะ ท่านจึงแสดงอเหตุกจิตเป็นอันดัยสอง รองต่อมาจากอกุศลจิต ทั้งนั้เพื่อจะได้ระมัดระวังสังวรไว้ มิให้ตกไปในทางอกุศล อันเป็นทางที่ต่ำทราม

 

กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่ดี ที่งาม ที่ฉลาด ที่สะอาด ไม่ก่อความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่นเลย เป็นจิตที่ปราศจากโทษและให้ผลเป็นสุข ตามควรแก่วิสัยของบุคคลที่ยังต้องอยู่ในโลก

 

รวมความว่า กามจิตนี้ แสดงให้รู้ว่า จิตอะไรเป็นจิตที่ชั่ว ซึ่งจะทำให้คนตกต่ำไปเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน การแสดงอกุศลจิตก็เปรียบได้ว่า สอนคนไม่ให้เป็นสัตว์

แสดงให้รู้ว่า จิตอะไรที่มีประจำอยู่เป็นนิจ อันเป็นทางน้อมนำซึ่งบาปและบุญ จะได้สังวรระวังไว้ไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว การแสดงอเหตุกจิต ก็เปรียบได้ว่าสอนคนให้รู้ตัวว่าเป็นคน

แสดงให้รู้ว่า จิตอะไรบ้างที่ดีงาม เป็นบุญเป็นกุศล อันจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งไม่เป็นทุกข์โทษภัยแก่ใครๆ ด้วย ก็เปรียบได้ว่า สอนคนให้เป็นมนุษย์สอนคนให้เป็นเทวดา

ขอกล่าวถึง รูปาวรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิตเสียตรงนี้ด้วยเลย

การแสดง รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิต เป็นการสอนมนุษย์ให้เป็นเทวดาให้เป็นพรหม

การแสดง โลกุตตรจิต เป็นการสอน มนุษย์ เทวดา และพรหม ให้หลุดพ้นจากทุกข์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

 

อกุศลจิต


อกุศลจิต แม้จะเป็นจิตที่ชั่วที่เป็นบาปและให้ผลเป็นทุกข์ แต่ส่วนมากมักเกิดได้ง่าย และเกิดได้บ่อย ทั้งนี้เพราะเหตุว่าเมื่อจิตได้รับอารมณ์ใดแล้ว ส่วนมากก็ไม่ได้พิจารณาให้แยบคาย คือไม่พิจารณาให้ซึ่งถึงสภาพความเป็นจริงของอารมณ์ที่ประสบนั้น การไม่ใส่ใจพิจารณาอารมณ์ด้วยดีนี้เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ เมื่อมี อโยนิโสมนสิการ อกุศลจิตย่อมเกิดและอโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑. ปุพฺเพ อกตปุญฺญตา ไม่ได้สร้างสม บุญไว้แต่ปางก่อน

๒. อปฺปฏิรูปเทสวาส อยู่ในประเทศที่ไม่สมควร (คือไม่มีสัปบุรุษ)

๓. อสปฺปุริสูปนิสฺสย ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ

๔. อสทฺธมฺมสฺสวน ไม่ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ

๕. อตฺตมิจฉาปณิธิ ตั้งตนไว้ผิด

เหตุให้เกิด อโยนิโสมนสิการ ๕ ประการนี้ ประการที่ ๑ เป็นอดีตกรรมส่วนที่เหลือ อีก ๔ ประการ เป็นปัจจุบันกรรม


อกุศลจิต ซึ่งมีจำนวน ๑๒ ดวงนั้น มีคาถาสังคหะ เป็นคาถาที่ ๓ แสดงว่า


๓. อฏฺฐธา โลภมูลานิ โทสมูลานิ จ ทฺวิธา

โมหมูลานิ จ เทวฺติ ทฺวาทสากุสลา สิยุํ ฯ


แปลความว่า อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง ได้แก่

โลภมูลจิต ๘

โทสมูลจิต ๒

โมหมูลจิต ๒


โลภมูลจิต เป็นจิตที่มีรากเง้าเค้ามูลเกิดมาจาก ความอยากได้ ความต้องการ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความติดใจ ความชอบใจในอารมณ์ รวมความว่าจิตจำพวกนี้ มีโลภะเป็นตัวนำ


โทสมูลจิต เป็นจิตที่มีรากเง้าเค้ามูลเกิดมาจาก ความไม่ชอบใจ เสียใจ กลุ้มใจ รำคาญใจ หงุดหงิด โกรธ เกลียด กลัว ประทุษร้าย ทำลาย รวมความว่าไม่อยากได้ในอารมณ์นั้น มีโทสะเป็นตัวนำ


โมหมูลจิต เป็นจิตที่มีรากเง้าเค้ามูลเกิดมาจาก ความหลง ความงมงาย ความไม่รู้เหตุผลต้นปลาย มีโมหะเป็นตัวนำ


โลภมูลจิต

โลภมูลจิต เป็นจิตที่มีความอยากได้เป็นมูลเหตุ หรือเป็นจิตที่มีโลภะเป็นตัวนำ หรือ จะเรียกว่า โลภสหคตจิต คือ จิตที่เกิดพร้อมด้วยโลภะก็ได้ เหตุให้เกิดโลภะมี ๔ ประการได้แก่

๑. โลภปริวารกมฺมปฏิสนฺธิกตา ปฏิสนธิมาด้วยกรรมที่มีโลภะเป็นบริวาร

๒. โลภอุสฺสนฺนภวโต จวนตา จุติมาจากภพที่มีโลภะมาก

๓. อิฏฐารมฺมณสมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีๆ อยู่เนืองๆ

๔. อสฺสาททสฺสนํ ได้เห็นสิ่งที่เป็นที่ชอบใจ

 


โลภมูลจิต หรือโลภสหคตจิต ซึ่งมีจำนวน ๘ ดวง คือ


๑. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

จิตโลภที่เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวน


๒. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

จิตโลภที่เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน


๓. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

จิตโลภที่เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวน


๔. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

จิตโลภที่เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน


๕. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

จิตโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวน


๖. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

จิตโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน


๗. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

จิตโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวน


๘. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

จิตโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน

 

 

โลภสหคตจิต ๘ ดวงนี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจอยู่ ๓ คู่ คือ

คู่ที่ ๑ โสมนสฺสสคตํ แปลว่า เกิดพร้อมด้วยความดีใจนั้นต้องถึงกับมีปีติ คือ ความอิ่มเอิบใจด้วย

อุเปกขาสหคตํ แปลว่า เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ มีความหมายว่าดีใจเพียงนิดหน่อยเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับปลื้มปีติอิ่มเอิบใจด้วยเลย

ทั้งโสมนัสและอุเบกขา เป็นเวทนา ซึ่งเวทนาทั้งหมดนั้นมี ๕ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา แต่ในโลภมูลจิตนี้ มีเวทนาได้เพียง ๒ คือ โสมนัสและอุเบกขาเท่านั้น


คู่ที่ ๒ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ กับ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ

คำว่า ทิฏฺฐิ แปลตามพยัญชนะ คือ ตามศัพท์ ก็แปลว่า ความเห็น ไม่เจาะจงว่าเป็นความเห็นผิดหรือความเห็นที่ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง แต่โดยอรรถ คือตามความหมายแห่งธรรมแล้ว ถ้าใช้ลอยๆ ว่า ทิฏฐิ เฉยๆ ก็หมายถึงว่าเป็น มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดเสมอไป เว้นไว้แต่ในที่ใดบ่งบอกว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ 
หรือ ทิฏฐิวิสุทธิ จึงมีความหมายว่าเป็นความเห็นชอบ เห็นถูกต้องตามสภาพแห่งความเป็นจริง

ทิฏฐิคตสัมปยุตต ในโลภมูลจิตนี้ จึงหมายถึงว่าประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิโดยตรงทีดียว เช่นเห็นผิดว่า บาปไม่มี ผลแห่งการทำบาปไม่มี ลักทรัพย์เขา ปล้นทรัพย์เขา ถ้าไม่ถูกจับติดคุก ก็ไม่ต้องตกนรกหมกไหม้ที่ไหนเลย ดังนี้เป็นต้น มีโมหะคือไม่รู้ว่าทำเช่นนั้นจะต้องตกนรกแล้ว ยังมีทิฏฐิคือ อวดรู้ว่า ไม่มีนรกที่จะต้องตกไปอีกด้วย ผู้ที่เห็นผิดเช่นนี้ย่อมได้รับทุกข์รับโทษหนักมากเป็นธรรมดา เพราะย่อมกระทำลงด้วยความมาดหมายและมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจประการใดๆ เลย บางทีก็ถึงกับทำเย้ยให้ดูว่านี่ไงล่ะ ไม่เห็นตกนรกด้วยซ้ำไป

ส่วน ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺต หมายเพียงว่า ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเท่านั้น จะต้องมีความเห็นถูกด้วยหรือไม่นั้น ไม่ได้กล่าวถึง กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าทำไปโดยไม่รู้ แต่ไม่ถึงกับอวดรู้อีกด้วย โทษทัณฑ์ก็ย่อมเบาหน่อย


คู่ที่ ๓ อสงฺขาริกํ แปลว่า เกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งชักชวน ส่วน สสงฺขารกํ แปลว่า เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน

สิ่งชักชวน ชักนำ ชักจูง นั้น คือ สังขาร ที่แปลกันจนคุ้นหูว่า ปรุงแต่งนั่นเอง สังขารในที่นี้หมายถึง กายปโยค วจีปโยค และ มโนปโยค


กายปโยค การชักชวน ชักนำ ชักจูง ด้วยกาย เช่น จูงมือไป กวักมือชี้มือ พยักหน้า ขยิบตา ทำท่าทางตบตี เป็นต้น

วจีปโยค การชักชวน ชักนำ ชักจูง ด้วยวาจา เช่นพูดเกลี้ยกล่อม ยกย่อง ยุยง กระทบกระเทียบ แดกดัน เป็นต้น

มโนปโยค การชักชวน ชักนำ ชักจูง ด้วยใจ เป็นการนึกคิดทางใจก่อน เช่นคิดถึงเรื่องสนุกสนานเพลิดเพลิน แล้วเกิดจิตโลภขึ้น หรือคิอถึงเรื่องไม่ดีไม่งามไม่ชอบใจต่างๆ ก็บันดาลโทสะขึ้น เป็นต้น


อสงฺขาริกํ เป็นการเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวน จึงเป็นจิตที่มีกำลังเข้มแข็ง (ติกฺข) ส่วน สสงฺขาริกํ นั้น เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน จึงเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนไม่เข้มแข็ง (มนฺท)

เกิดขึ้นโดยอาศัยสิ่งชักชวนของตนเอง ก็มีปโยคได้ทั้ง ๓ คือ ทั้งกายปโยค วจีปโยค และมโนปโยค แต่ถ้าเกิดขึ้นโดยอาศัยสิ่งชักชวนของผู้อื่น ก็มีปโยคเพียง ๒ คือ กายปโยค และวจีโยคเท่านั้น


เหตุให้เกิดโสมนัสในโลภมูลจิต

๑. โสมนัสฺสปฏิสนฺธิกตา มีปฏิสนธิจิตเป็นโสมนัส

๒. อคฺมภีรปกติตา ไม่มีความสุขุมคัมภีรภาพ มีความคิดตื้นเป็นปกติ คือ ไม่มีความคิดนึกลึกซึ้ง

๓. อิฏฺฐารมฺมณสมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดี

๔. พฺยสนมุตฺติ พ้นจากความพินาศ ๕ ประการ

ความพินาศ ๕ ประการ คือ ญาติพฺยสน ความพินาศแห่งญาติ, โภคพฺยสน ความพินาศแห่งทร้พย์สมบัติ, โรคพฺยสน ความพินาศเพราะโรคภัยเบียดเบียน, ทิฏฺฐิพฺยสน ความพินาศด้วยเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม และ สีลพฺยสน ความพินาศด้วยประพฤติผิดศีลธรรม


เหตุให้เกิดอุเบกขาในโลภมูลจิต

๑. อุเปกฺขาปฏิสนฺธิกตา มีปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขา

๒. คมฺภีรปกติตา มีความสุขุมคัมภีรภาพ มีความลึกซึ้งเป็นปกติ

๓. มชฺฌตฺตารมฺมณสมโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ปานกลาง

๔. พฺยสนมุตฺติ พ้นจากความพินาศ ๕ ประการ

๕. มูคธาตุกตา มีสันดานเป็นคนใบ้


เหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต

๑. ทิฏฐิชฺฌาสยตา มีมิจฉาทิฏฐิเป็นจริตอัธยาศัย

๒. ทิฏฺฐิวิปปนฺนปุคฺคลเสวนตา ชอบคบหากับผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ

๓. สทฺธมฺมวิมุขตา ไม่ได้ศึกษาพระสัทธรรม

๔. มิจฺฉาวิตกฺกพหุลตา ชอบนึกคิดแต่เรื่องที่ผิดๆ

๕. อโยนิโส อุมฺมุชฺชนํ จมอยู่ในความพิจารณาที่ไม่แยบคาย


เหตุให้เกิดทิฏฐิคตวิปปยุตต

๑. สสฺสตอุจเฉททิฏฺฐิอนชฺฌาสยตา ไม่มีสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิเป็นจริตอัธยาศัย คือ ไม่เป็นคนทิฏฐิจริต

๒. ทิฏฺฐิวิปฺปนฺนปุคฺคลอเสวน ไม่คบหาสมาคมกับคนมิจฉาทิฏฐิ

๓. สทฺธมฺมสมฺมุขตา มุ่งหน้าเข้าหาพระสัทธรรม

๔. สมฺมาวิตกฺกพหุลตา มากไปด้วยความคิดถูกคิดชอบ

๕. อโยนิโส น อุมฺมุชฺชนํ ไม่จมอยู่ในความพิจารณาที่ไม่แยบคาย


เหตุให้เกิดอกุสลอสังขาริก

๑. อสงฺขาริกฺกมฺมชนิตปฏิสนฺธิกตา มีปฏิสนธิจิตเกิดจากอสังขาริก

๒. กลลกายจิตฺตตา มีความสุขกายสบายใจ (แข็งแรง)

๓. สีตุณฺหาทีนํ ขมนพหุลตา มีความอดทนต่อความเย็นและร้อนเป็นต้น จนเคยชิน

๔. กตฺตพฺพกมฺเมสุ ทิฏฺฐานิสํสตา เห็นผลในการงานที่จะพึงกระทำ

๕. กมฺเมสุ จิณฺณวสิตา มีความชำนาญในการงานที่ทำ

๖. อุตุโภชนาทิสปฺปายลาโภ ได้รับอากาศดีและอาหารดี เป็นต้น

ส่วนเหตุให้เกิด อกุสลสสังขาริก ก็มี ๖ ประการ และมีนัยตรงกันข้ามกับอกุสลอสังขาริกที่แสดงแล้วนี้

 


โทสมูลจิต

โทสมูลจิต เป็นจิตทีมีความโกรธความเกลียดเป็นมูลเหตุ หรือเป็นจิตที่มีโทสะเป็นตัวนำ หรือจะเรียกว่า ปฏิฆจิต คือจิตที่กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบก็ได้ และเหตุให้เกิดโทสะหรืปฏิฆะ มี ๕ ประการ ได้แก่

๑. โทสชฺฌาสยตา มีอัธยาศัยเป็นคนมักโกรธ

๒. อคมฺภีรปกติตา มีความคิดไม่สุขุม

๓. อปฺปสุตตา มีการศึกษาน้อย

๔. อนิฏฺฐารมฺมณสมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดี

๕. อาฆาตวตฺถุสมาโยโค ได้ประสบอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ


อาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ คือ

๑. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้ทำ ความเสื่อมเสียแก่เรา

๒. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำ ความเสื่อมเสียแก่เรา

๓. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จักทำ ความเสื่อมเสียแก่เรา

๔. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้ทำ ความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารักเราชอบ

๕. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำ ความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารักเราชอบ

๖. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จักทำ ความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารักเราชอบ

๗. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้ทำ ทำคุณทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดเราชัง

๘. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำ ทำคุณทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดเราชัง

๙. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จักทำ ทำคุณทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดเราชัง

๑๐. ความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร เช่นเกิดโกรธขึ้นเมื่อสะดุดตอไม้หรือเหยียบหนาม เป็นต้น


โทสมูลจิต หรือ ปฏิฆจิต ซึ่งมี ๒ ดวง คือ


๑. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเสียใจ ประกอบด้วยความโกรธ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวน


๒. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเสียใจ ประกอบด้วยความโกรธ เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน


โทสจิต ๒ ดวงนี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจบางประการ คือ

โทมนสฺสสหคตํ แปลว่า เกิดพร้อมด้วยความเสียใจ ความเสียใจ คือ โทมนัสนี้เป็นเวทนา ชื่อว่า โทมนัสเวทนา เป็นเวทนา ๑ ในเวทนา ๕ โทมนัสเวทนานี้ เกิดได้พร้อมกับโทสจิต ๒ ดวงนี้เท่านั้นเอง จะเกิดพร้อมกับจิตอื่นใดหาได้ไม่


ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ แปลว่า ประกอบด้วยความโกรธ ปฏิฆะ ความโกรธนั้นองค์ธรรม (ส่วนของธรรม) ก็ได้แก่ โทสเจตสิก ปฏิฆะ หรือ โทสะนี้จะต้องเกิดพร้อมกับโทมนัสเวทนาจะเกิดพร้อมกับเวทนาอื่นใด หาได้ไม่

ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า โทมนัสเป็นเวทนาเจตสิกมีลักษณะเสวยอารมณ์ที่ไม่ดีกล่าวโดยขันธ์ ๕ ก็เป็นเวทนาขันธ์ ส่วนปฏิฆะเป็นโทสเจตสิกมีลักษณะดุร้าย หยาบคาย กล่าวโดยขันธ์ ๕ ก็เป็น สังขารขันธ์ ซึ่งแตกต่างกันอยู่ ถึงกระนั้นโทมนัสเวทนาก็จะต้องเกิดกับปฏิฆะเสมอ เพราะเป็นธรรมที่จะต้องเกิดร่วมกัน


ส่วน อสังขาริก และสสังขาริก แห่งปฏิฆจิตนี้ ก็มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันกับ อสังขาริก และสสังขาริก แห่งโลภมูลจิตนั่นเอง


อนึ่ง ที่โทสจิตไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุตต คือไม่มีความเห็นผิดประกอบด้วยนั้น เพราะโทสจิตมี

อารมณ์อันไม่พึงใจไม่ชอบใจ แต่ทิฏฐิความเห็นผิดนั้นเป็นที่พอใจติดใจในอารมณ์นั้น ความไม่พึงใจไม่ชอบใจ จะเกิดพร้อมกับความติดใจชอบใจ ในขณะเดียวกันไม่ได้ ดังนั้นโทสจิตจึงไม่มีทิฏฐิประกอบด้วย

 


โมหมูลจิต

โมหะมูลจิต เป็นจิตที่ไม่มีความรู้ ความหลงเป็นมูลเหตุ หรือเป็นจิตที่มีโมหะเป็นตัวนำ จิตนี้เรียกว่า โมมูหจิต คือจิตที่ประกอบด้วยความหลงก็ได้ โมหะ หรือ อวิชชา มีความหมายอย่างเดียวกัน ในวิสุทธิมัคคกล่าวว่า โมหะนี้เป็นรากเหง้าแห่งบาปอกุศลทั้งมวล

เหตุให้เกิดโมหะนั้นได้แก่ อโยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาไม่แยบคาย พิจารณาไม่ละเอียดลึกซึ้งให้ถึงสภาพแห่งอารมณ์นั้นๆ ดังที่ได้กล่าวแล้วตอนเหตุให้เกิดอกุศลจิต ( ที่หน้า๑๓ ) ขอให้ดูตอนนั้นประกอบด้วย


โมหมูลจิต หรือ โมมูหจิต ซึ่งมีจำนวน ๒ ดวงนั้น คือ


๑. อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ

จิตหลงเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความสงสัย


๒. อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ

จิตหลงเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน


โมหจิต ๒ ดวงนี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจบางประการดังต่อไปนี้ คือ


คำว่า อุเปกฺขาสหคตํ ในที่นี้ เป็นคำเดียวกับ อุเปกฺขาสหคตํ ในโลภสหคตจิต ซึ่งแปลว่า เกิดพร้อมกับความเฉยๆ เหมือนกันแต่มีความหมายแตกต่างกัน เฉยในโลภมูลจิตนั้นเฉยเพราะมีความยินดีเล็กน้อย ไม่ถึงกับมีปีติเกิดความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจ ส่วนเฉยในโมหมูลจิตนี้เฉยเพราะไม่รู้


คำว่า วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ แปลว่า ประกอบด้วยความสงสัยลังเลไม่แน่ใจ ตัดสินลงไปไม่ได้ และ หมายเฉพาะความสงสัยในธรรม ๘ ประการที่กล่าวต่อไปนี้เท่านั้น คือ


๑. สงสัยในพระพุทธเจ้า ได้แก่สงสัยในพระสรีระ ( ว่าเห็นจะไม่มีตัวจริง น่าจะสมมติขึ้น ) หรือสงสัยในพระคุณ ( พระพุทธคุณ๙ )

๒. สงสัยในพระธรรมว่า มัคค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มีจริงหรือ และพระธรรมนี้ นำให้ออกจากทุกข์ได้จริงหรือ

๓. สงสัยในพระสงฆ์ ว่าสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในมัคค ๔ ผล ๔ มีจริงหรือ สงฆ์ที่ปฏิบัติดีมีจริงหรือ ผลแห่งทานที่ถวายแก่สงฆ์มีจริงหรือ

๔. สงสัยในสิกขา ๓ ( ศีล สมาธิ ปัญญา ) ว่ามีจริงหรือ ผลานิสงส์ แห่งการศึกษาปฏิบัติในสิกขา ๓ มีจริงหรือ

๕. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นส่วนอดีตมีจริงหรือ คือสงสัยว่าชาติก่อนมีจริงหรือ (อเหตุกทิฏฐิ)

๖. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นส่วนอนาคตมีจริงหรือ คือสงสัยว่าชาติหน้ามีจริงหรือ ( อุจเฉททิฏฐิ )

๗. สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นส่วนอดีตและอนาคตนั้นมีจริงหรือ คือสงสัยทั้งชาตินี้และชาติหน้ามีจริงหรือ ( อกริยทิฏฐิ )

๘. สงสัยใน ปฏิจจสมุปบาทธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิดขึ้น ต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสายเลยนั้น มีจริงหรือ ( อัตตาทิฏฐิ )


ส่วนความสงสัยอย่างอื่น ที่ไม่ใช่สงสัยในธรรม ๘ ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ เช่น สงสัยในเรื่องสมมติเรื่องบัญญัติ เป็นต้นนั้น เรียกว่า ปฏิรูปกวิจิกิจฉา ไม่เป็นกิเลส

โมหมูลจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉานี้ เรียกว่า วิจิกิจฉาสหคตจิต หรือวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต หรือวิจิกิจฉาจิต ก็ได้


คำว่า อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ แปลว่า ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน มีความหมายว่า จิตนั้นคิดฟุ้งซ่านไป เลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่สงบหรือไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว คิดมากมายไปหลายอย่าง และที่คิดนั้นก็คิดเฉยๆ คิดไปเรื่อยๆ ไม่มุ่งมั่นอย่างจริงจังในสิ่งที่คิดนั้นเท่าใดนัก

โมมูหจิตที่ประกอบด้วยอุทธัจจะนี้ เรียกว่า อุทธัจจสหคตจิต หรืออุทธัจจสัมปยุตตจิต หรือ อุทธัจจจิต ก็ได้

สังขารเภท คือ ประเภทแห่งสังขาร อันได้แก่ อสังขาริก และสสังขาริกในโมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ ตามบาลีหาได้ระบุไว้ด้วยไม่


ในวิสุทธิมัคค และในอภิธัมมัตถวิภาวนีฎีกา กล่าวว่าจิตที่สงสัยลังเลไม่แน่ใจก็ดี จิตที่ฟุ้งซ่านก็ดี เป็นจิตที่เว้นจากความกำหนัด เว้นจากความขัดเคือง ซึ่งปราศจากความเข้มแข็งและขาดความอุสาหะในกิจการงานใดๆ จึงไม่มีความแตกต่างแห่งสังขารเภท

เท่าที่ได้ศึกษามา ได้สงเคราะห์โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ว่าเป็น อสังขาริกสงสัยเองฟุ้งซ่านเอง

อนึ่ง โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ไม่มีทิฏฐิความเห็นผิด และปฏิฆะ ความโกรธแต่อย่างใดอย่างหนึ่งประกอบด้วยเลย ก็เพราะเหตุว่าโมหมูลจิตเป็นจิตที่ เว้นจากความกำหนัด และเว้นจากความขัดเคืองดังกล่าวแล้วข้างบนนี้ 
มีแต่ความไม่รู้ คือ โมหะ เป็นมูลแต่อย่างเดียวเท่านั้น จึงไม่มีทิฏฐิ หรือ ปฏิฆะสัมปยุตตด้วย

สัมปยุตตในอกุศลจิต


ในอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงนี้ มีสัมปยุตตรวม ๔ ประการ คือ

๑. ทิฏฐิคตสัมปยุตต ในโลภจิตที่สัมปยุตตด้วยทิฏฐิรวม ๔ ดวง

๒. ปฏิฆสัมปยุตต ในโทสจิตทั้ง ๒ ดวง

๓. วิจิกิจฉาสัมปยุตต ในโมหจิตดวงที่ ๑

๔. อุทธัจจสัมปยุตต เฉพาะอย่างยิ่งในโมหจิตดวงที่ ๒


สงเคราะห์อกุศลกรรมบถกับอกุศลจิต

อกุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งการกระทำบาปมี ๑๐ เรียกอกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ ทุจริต ๑๐ ได้แก่

๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์

๒. อทินนาทาน ลักทรัพย์

๓. กาเมสุมิจฉาจาร ล่วงประเวณี

ทุจริต ๓ ประการนี้ ย่อมเกิดทางกายทวาร เป็นกายกรรม ๓ หรือกายทุจริต ๓

๔. มุสาวาท พูดปด

๕. ปิสุณาวาท พูดส่อเสียด

๖. ผรุสวาท พูดคำหยาบ

๗. สัมผัปปลาป พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ

ทุจริต ๔ ประการนี้ ย่อมเกิดทางวจีทวาร เป็นวจีกรรม ๔ หรือ วจีทุจริต ๔

๘. อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้

๙. พยาบาท คิดปองร้ายเขา

๑๐. มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด

ทุจริต ๓ ประการนี้ ย่อมเกิดทางมโนทวาร เป็นมโนกรรม ๓ หรือ มโนทุจริต ๓

อกุศลกรรมบถ ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต ผรุสวาท และพยาบาท เกิดขึ้นโดยโทสมูลจิต อันมีโทสะเป็นมูลเหตุตัวนำ

กาเมสุมิจฉาจาร อภิชฌา และมิจฉาทิฏฐิ รวม ๓ ประการเกิดขึ้นโดยโลภมูลจิต อันมีโลภะเป็นมูลเหตุตัวนำ

อทินนาทาน มุสาวาท ปิสุณาวาท และสัมผัปปลาป รวม ๔ ประการนี้ บางครั้งก็เกิดขึ้นโดยโลภมูลจิต อันมีโลภะเป็นมูลเหตุตัวนำ บางครั้งก็เกิดขึ้นโดยโทสมูลจิต อันมีโทสะเป็นมูลเหตุตัวนำ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ ไม่ได้เกิดโดยโมหมูลจิตเลย แต่เกิดขึ้นโดยโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต แต่ถ้ากล่าวโดยมูลเหตุแล้ว โมหะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมบถได้ทั้ง ๑๐ ประการ เพราะเมื่อโลภมูลจิต
เกิดขึ้นก็มีโมหะเกิดขึ้นด้วยและเมื่อโทสจิตเกิดขึ้น ก็มีโมหะเกิดด้วยเหมือนกัน เพราะโมหะเป็นรากเหง้า
แห่งบาปอกุศลทั้งมวลดังกล่าวแล้ว กล่าวคือ

โลภจิต เกิด มีโลภเป็นเหตุนำ มีโมหะเป็นเหตุหนุน

โทสจิต เกิด มีโทสะเป็นเหตุนำ มีโมหะเป็นเหตุหนุน

โมหจิต เกิด มีโมหะเป็นตัวนำ ไม่มีอะไรเป็นเหตุหนุนเลย


ผลแห่งโลภะโทสะโมหะ

อกุศลจิต จิตที่เป็นบาปนี้ กล่าวโดย เยภุยยนัย คือ กล่าวโดยส่วนมากแล้วเป็นเหตุให้ได้รับผลดังนี้


เยภุยฺเยน หิ สตฺตา ตณฺหาย เปตฺติวิสยํ อุปฺปชฺชนฺติ ฯ


สัตว์ทั้งหลายโดยมากย่อมไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ด้วยอำนาจแห่งโลภะ อันมีความอยากได้เป็นมูลฐาน


โทเสน หิ จณฺฆชาตตาย โทสสทิสํ นิรยํ อุปฺปชฺชนฺติ ฯ


สัตว์ทั้งหลายย่อมไปเกิดในนรก ด้วยอำนาจแห่งโทสะ อันเป็นที่ทรมานสัตว์ให้เร่าร้อนเช่นเดียวกับสภาวะของโทสะที่ดุร้าย ทำลาย อันทรมานเผาไหม้หัวใจอยู่ทุกขณะ


โมเหน หิ นิจฺจสมฺมุฬฺหํ ติรจฺฉานโยนิยํ อุปฺปชฺชนฺติ ฯ


สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไปเกิดเป็นดิรัฉาน ด้วยอำนาจแห่งโมหมูลจิต

เพราะเป็นสภาพที่ยังสัตว์ให้ลุ่มหลงงมงายอยู่เป็นนิจ


อีกนัยหนึ่งแสดงว่า

สมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโลภะ สมัยนั้นก็เกิด ทุพฺภิกฺขนฺตราย อันตรายที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง เป็นเหตุให้อดอยากล้มหายตายจากกันไปเป็นอันมาก

สมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโทสะ สมัยนั้นก็เกิด สตฺถนฺตราย อันตรายที่เกิดจากศัตราวุธต่างๆ เป็นเหตุให้ฆ่าฟันกันล้มหายตายจากกันไปเป็นอันมาก

สมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโมหะ สมัยนั้นก็เกิด โรคนฺตราย อันตรายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเหตุให้เป็นโรคระบาดล้มหายตายจากกันไปเป็นอันมาก


อกุศลจิตเป็นธรรมที่ควรละ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า อกุศลจิต เป็นจิตที่ชั่ว ที่บาป ที่ มีโทษและให้ผลเป็นทุกข์ จึงเป็นธรรมที่ควรละโดยแท้


โลภมูลจิต เป็นจิตที่เกิดจากความโลภ ความอยากได้ ถ้าไม่ระมัดระวังไว้บ้างแล้วก็ จะอยากจนหาประมาณที่สุดมิได้เลย จะละด้วย สนฺตุฏฺฐี คือ สันโดษ ความพอใจเท่าที่มีอยู่ ความพอใจเท่าที่กำลังของตนจะหาได้ ความพอใจเท่าที่จะพึงหาได้โดยชอบธรรม เพียง ๓ ประการเท่านี้ ก็นับว่าประเสริฐพอประมาณแล้ว


โทสมูลจิต เป็นจิตที่เกิดจากความเกลียด โกรธ ประทุษร้าย ทำลาย อันมีแต่จะวู่วามก่อให้เกิดโทษนั้นเอง จงละด้วยเมตตา โดยการพิจารณาเป็นเนืองนิจว่า ตนเกลียดทุกข์ประสงค์สุขฉันใด ผู้อื่นสัตว์อื่นก็เกลียดทุกข์แสวงสุขเหมือนตนฉันนั้น เช่นนี้ก็จะผ่อนคลายความเบียดเบียนซึ่งกันและกันลงไปได้อย่างมาก ในสติปัฏฐานอรรถกถา แสดงเหตุที่ประหารโทสะไว้ ๖ ประการ คือ

๑. เมตฺตานิมิตฺตสฺส อุคฺคโห ศึกษาในเมตตานิมิต

๒. เมตฺตาภาวนานุโยโค ประกอบภาวนาในเมตตาเนืองๆ

๓. กมฺมสกตา ปจฺจเวกฺขณ พิจารณาว่าเป็นกรรมของตน

๔. ปฏิสงฺขาย พหุลีกตา ทำให้มากด้วยปัญญา

๕. กลฺยาณมิตฺตตา มีมิตรที่ดี ( ที่มีเมตตา )

๖. สปฺปายกถา ได้ฟังถ้อยคำที่สบาย ( เมตตากถา )


โมหมูลจิต แม้จะไม่ประจักษ์โทษโดยเด่นชัด แต่ก็มีโทษหาน้อยไม่เปรียบเสมือนสนิมเหล็กที่กัดกินเนื้อเหล็กให้กร่อนลงทีละน้อย จนขาดผุไปอย่างไม่รู้ตัว ในสติปัฏฐานอรรถกถาจึงแสดงเหตุที่ประหารโมหะไว้ดังนี้ คือ


เหตุที่ประหารวิจิกิจฉา ๖ ประการ

๑. พหุสฺสุตตา เป็นพหูสูต ได้ยินได้ฟังมามาก

๒. ปริปุจฺฉกตา หมั่นสอบสวนทวนความ

๓.วินเยปกตญฺญุตา รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในวินัย

๔. อธิโมกฺขพหุลตา มากด้วยการตัดสินใจเชื่อ

๕. กลฺยาณมิตฺตตา มีมิตรที่ดี

๖. สปฺปายกถา ได้ฟังถ้อยคำอันเป็นที่สบาย


เหตุที่ประหารอุทธัจจะ ๖ ประการ

เหตุที่ประหารอุทัธจจะ นี้ก็เหมือนกับเหตุที่ประหารวิจิกิจฉา นั้นเว้นแต่ข้อ ๔ เป็นดังนี้

๔. พุทฺธเสวิตา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ

ส่วนข้ออื่นๆ มีข้อความเหมือนกันหมด


จำแนกอกุศลจิตโดยประเภทต่าง ๆ มีชาติเภทเป็นต้น

ในบรรดาจิตทั้งหมดนั้น ยังจำแนกเป็นประเภทต่างๆมีชาติเภทเป็นต้นอีกตั้ง ๙ ประเภท คือ ๑. ชาติเภท 
๒. ภูมิเภท ๓. เวทนาเภท ๔. เหตุเภท ๕. สังขารเภท ๖. สัมปยุตตเภท ๗. โสภณเภท ๘. โลกเภท ๙. ฌานเภท

แต่ละประเภทมีความหมายอย่างใด จะได้กล่าวต่อไปนี้ พร้อมกับแสดงประเภทต่างๆ แห่งอกุศลจิตนั้นเลยทีเดียว


๑. ชาติเภท จำแนกจิตโดยประเภทแห่งชาติ คือจิตทั้งหมดเมื่อกล่าวโดยชาติแล้ว ก็มี ๔ ชาติ ได้แก่ ก. อกุศลชาติ ข. กุศลชาติ ค. วิบากชาติ และ ง. กิริยาชาติ

ก. อกุศลชาติ หรือ ชาติอกุศล หมายถึง อกุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่มีโทษให้ผลเป็นทุกข์

ข. กุศลชาติ หรือ ชาติกุศล หมายถึง กุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่ปราศจากโทษ ให้ผลเป็นสุข
ค. วิบากชาติ หรือ ชาติวิบาก หมายถึงวิบากจิต ซึ่งเป็นจิตที่เป็นผลของอกุศล เรียกว่า อกุศลวิบากจิต จิตที่เป็นผลของกุศล เรียกว่า กุศลวิบากจิต
ง. กิริยาชาติ หรือ ชาติกิริยา หมายถึง กิริยาจิต ซึ่งเป็นจิตที่ไม่ใช่ผลของอกุศล ไม่ใช่ผลของกุศล ไม่ใช่จิตที่เป็นอกุศล ไม่ใช่จิตที่เป็นกุศลและเป็นจิตที่ไม่ก่อให้เกิดอกุศลวิบาก หรือกุศลวิบากแต่อย่างใดเลย เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำเท่านั้นเอง

อนึ่ง วิบากชาติ กับกิริยาชาติ รวมเรียกว่า ชาติอพยาตก ซึ่งมีความหมายแต่เพียงว่า อพยากตชาติเป็นชาติที่ไม่ใช่บุญและไม่ใช่บาปเท่านั้น

สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นชาติอกุศลทั้ง ๑๒ ดวง


๒. ภูมิเภท จำแนกจิตโดยประเภทแห่งภูมิ คำว่า ภูมิในที่นี้หมายถึงชั้นของจิตพื้นเพของจิต ซึ่งจำแนกเป็น ๔ ภูมิ หรือ ๔ ชั้นด้วยกัน คือ ก. กามาวจรภูมิ ข. รูปาวจรภูมิ ค. อรูปาวจรภูมิ และ ง. โลกุตตรภูมิ
ก. กามาวจรภูมิ หมายถึงชั้นกามาวจร จิตชั้นกาม พื้นเพของจิตติดอยู่ในกามคุณ ในบรรดาจิตทั้งหมดนั้น ถือว่าจิตนี้มีพื้นเพต่ำกว่าเพื่อนถึงจัดว่าเป็น หินะ คือ เป็นจิตชั้นต่ำ
ข. รูปาวจรภูมิ หมายถึงจิตชั้นรูปาวจร จิตชั้นรูปฌาน พื้นเพของจิตสูงถึงชั้นรูปพรหม ดำรงอยู่ในพรหมวิหารธรรม จัดเป็นชั้น อุกกัฏฐะ ชั้นอุกฤษฏ์ ชั้นสูง
ค. อรูปาวจรภูมิ หมายถึงจิตชั้นอรูปาวจร จิตชั้นอรูปพรหม พื้นเพของจิตละเอียดอ่อนถึงชั้นอรูปพรหม จัดเป็นชั้น อุกกัฏฐตระ ชั้นอุกฤษฏ์ยิ่ง ชั้นสูงยิ่ง บรรดาโลกียจิตคือจิตที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะแล้ว จิตชั้นนี้เป็นชั้นสูงยิ่ง ประเสริฐยิ่งกว่าในฝ่ายโลกีย
ง. โลกุตตรภูมิ หมายถึงจิตชั้นโลกุตตร จิตชั้นที่ให้พ้นจากโลกให้พ้นจากทุกข์ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปเลย ในบรรดาจิตทั้งหมดไม่มีจิตชั้นในจะประเสริฐสุดเท่าจิตชั้นนี้ได้เลย จัดเป็นชั้น อุกกัฏฐตมะ อันเป็นชั้นประเสริฐสุดยอด ซึ่งไม่มีจิตใดจะประเสริฐเท่าเทียมถึงเลย

สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นกามาวจรภูมิ คือเป็นจิตในชั้นกามทั้ง ๑๒ ดวง 


๓. เวทนาเภท โดยประเภทแห่งเวทนา คือการเสวยอารมณ์ ในที่นี้จำแนกจิตโดยเวทนา ๕ อันได้แก่ สุขเวทนา เป็นความสุขทางกาย ๑. ทุกขเวทนา เป็นความทุกข์ทางกาย ๑

โสมนัสเวทนา เป็นความสุขทางใจ ๑ โทมนัสเวทนา เป็นความทุกข์ทางใจ ๑ และอุเบกขาเวทนา ไม่ทุกข์ไม่สุบเป็นความเฉยๆ ๑

สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เกิดพร้อมกับเวทนาถึง ๓ อย่าง คือ โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา มีรายละเอียดดังนี้
โสมนัสเวทนา เกิดแก่โลภมูลจิตที่เป็นโสมนัส ๔ ดวง
โทมนัสเวทนา เกิดแก่โทสมูลจิต ๒ ดวง
อุเบกขาเวทนา เกิดแก่โลภมูลจิตที่เป็นอุเบกขา ๔ ดวง และโมหมูลจิตอีกทั้ง ๒ ดวง

อนึ่ง มีข้อที่ควรสังเกตว่า จิตทุก ๆ ดวง ( เว้นแต่โลกุตตรจิต ๘ ดวง เท่านั้น ) ชื่อของจิตแต่ละดวงได้ระบุบอกเวทนาไว้ด้วยแล้ว ทำให้สะดวกแก่การค้นหาและจดจำ


๔. เหตุเภท โดยประเภทแห่งเหตุ จำแนกได้เป็น ๒ คือ อเหตุกและสเหตุก

อเหตุก หมายว่า ไม่มีสัมปยุตตเหตุ คือไม่มีเหตุประกอบ และเหตุในที่นี้ก็หมายเฉพาะ เหตุ ๖ อันได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ ดังนั้นอเหตุกจึง มีความหมายว่า เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ นี้ประกอบเลยแม้แต่เหตุเดียว

สเหตุก มีความหมายว่า เป็นจิตที่เป็นสัมปยุตตเหตุ เป็นจิตที่มีเหตุ ๖ นั้นประกอบด้วย แม้ว่าจะมีเหตุ ๖ เพียงเหตุเดียวประกอบ ก็ได้ชื่อว่า สเหตุก
สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นสเหตุกจิตทั้ง ๑๒ ดวง มีรายละเอียดดังนี้
โลภมูลจิต ๘ ดวง มีสัมปยุตตเหตุ ๒ เหตุ คือ โลภเหตุกับโมหเหตุ
โทสมูลจิต ๒ ดวง มีสัมปยุตตเหตุ ๒ เหตุ คือ โทสเหตุกับโมหเหตุ
โมหมูลจิต ๒ ดวง มีสัมปยุตตเหตุเพียงเหตุเดียว คือ โมหเหตุเท่านั้น
อนึ่ง มีข้อที่ควรทราบว่าสเหตุจิตนั้น จิตแต่ละดวงมีสัมปยุตตเหตุอย่างน้อยเพียงเหตุเดียว แต่อย่างมากไม่เกิน ๓ เหตุ


๕. สังขารเภท โดยประเภทแห่งสังขาร จำแนกได้เป็น ๒ คือ อสังขาริก และสสังขาริก

อสังขาริก เป็นจิตที่เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีสิ่งชักชวน
สสังขาริก เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะมีสิ่งชักชวน
สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็น อสังขาริก ๗ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นอสังขาริก ๔ ดวง โทสมูลจิตที่เป็นอสังขาริก ๑ ดวง และโมหมูลจิตอีก ๒ ดวง ซึ่งจัดเป็นอสังขาริกด้วย

เป็นสสังขาริก ๕ ดวง โลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ๔ ดวง และโทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ๑ ดวง


๖. สัมปยุตตเภท โดยประเภทแห่งสัมปยุตต จำแนกได้เป็น ๒ คือ สัมปยุตต และ วิปปยุตต
สัมปยุตตเภท ( ไม่ใช่สัมปยุตตเหตุ ) ในจิตทั้งหมดนั้น มีสัมปยุตต ๕ ประการ คือ
ก. ทิฏฐิสัมปยุตต ประกอบด้วยความเห็นผิด
ข. ปฏิฆสัมปยุตต ประกอบด้วยความโกรธ
ค. วิจิกิจฉาสัมปยุตต ประกอบด้วยความลังเลสงสัย
ง. อุทธัจจสัมปยุตต ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน
จ. ญาณสัมปยุตต ประกอบด้วยปัญญา
ส่วนวิปปยุตตนั้นถ้าไม่ประกอบด้วยสัมปยุตต ก็เรียกว่าวิปปยุตต
สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นทิฏฐิสัมปยุตต ๔ ดวง ได้แก่โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต ๔ ดวง
เป็นทิฏฐิวิปยุตต ๔ ดวง ได้แก่โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปยุตต ๔ ดวง
เป็นปฏิฆสัมปยุตต ๒ ดวง ได้แก่โทสมูลจิตทั้ง ๒ ดวง
เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต ๑ ดวง ได้แก่โมหมูลจิตดวงที่ ๑
เป็นอุทธัจจสัมปยุตต ๑ ดวง ได้แก่โมหมูลจิตดวงที่ ๒


๗. โสภณเภท โดยประเภทแห่งโสภณะ จำแนกได้เป็น ๒ คือ โสภณะ และอโสภณะ
โสภณะ เป็นจิตที่ดีงาม มีโสภณเจตสิกประกอบ
อโสภณะ ไม่ได้หมายว่าเป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม แต่หมายเพียงว่าเป็นจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบด้วยเท่านั้นเอง
สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอโสภณะ เพราะไม่มีโสภณเจตสิกประกอบด้วยเลยทั้ง ๑๒ ดวง


๘. โลกเภท โดยประเภทแห่งโลก จำแนกได้เป็น ๒ คือ โลกียะและโลกุตตระ
โลกียะ หมายถึงจิตที่ยังข้องอยู่ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก ซึ่งยังต้องวนเวียนอยู่ใน กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ คือไม่พ้นไปจากโลกทั้ง ๓ หรือภูมิทั้ง ๓ ได้
โลกุตตระ หมายถึงจิตที่พ้นจากความข้องความติดอยู่ในโลกทั้ง ๓ นั้นแล้ว ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในโลกทั้ง ๓ ในภูมิทั้ง ๓ นั้นอีกต่อแไปแล้ว
สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นโลกียจิตทั้ง ๑๒ ดวง เพราะยังไม่พ้นไปจากโลกทั้ง ๓

หรือ ภูมิทั้ง ๓ เลย

 

๙. ฌานเภท โดยประเภทแห่งฌาน จำแนกได้เป็น ๒ คือ ฌาน และ อฌาน
ฌาน หมายถึงจิตที่มีฌาน จิตที่ได้ฌาน จิตที่ถึงฌาน
อฌาน หมายถึงจิตที่ไม่ได้ฌาน
สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นจิตที่ไม่ใช่ฌานจิตทั้ง ๑๒ ดวง

 

อเหตุกจิต


อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ หมายความว่า จิตจำพวกนี้ไม่มีเหตุบาป คือ อกุศลเหตุอันได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ และไม่มีเหตุบุญ คือ กุศลเหตุ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ รวม ๖ เหตุนี้มาสัมปยุตต คือมาประกอบด้วยเลยแม้แต่เหตุเดียว หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า อเหตุจิตเป็นจิตที่ไม่มีสัมปยุตต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ ประกอบเลย

อเหตุกจิต ซึ่งมีจำนวน ๑๘ ดวงนี้ แบ่งออกได้เป็น ๓ จำพวก ดังมีคาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๔ แสดงว่า


๔. สตฺตากุสลปากานิ ปุญฺญปากานิ อฏฺฐธา
กฺริยจิตฺตานิ ตีณีติ อฏฺฐารส อเหตุกา ฯ


แปลความว่า อเหตุกจิต มี ๑๘ ดวง ได้แก่
อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง
อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง
อเหตุกกริยาจิต ๓ ดวง


อกุศลวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม เป็นผลของฝ่ายชั่วฝ่ายบาปอกุศล ที่ได้สั่งสมที่ได้กระทำมาแล้วแต่อดีต จึงต้องมาได้รับผลเป็นอกุศลวิบากจิต อันเป็นผลที่ไม่ดี ๗ ดวงนี้


อเหตุกกุศลวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม เป็นผลของฝ่ายดีฝ่ายบุญกุศล ที่ได้สั่งสมที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต จึงมาได้รับผลเป็นอเหตุกุกศลวิบากจิต อันเป็นผลที่ดี ๘ ดวง


จิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม เรียก อกุศลวิบากจิต เท่านั้น แต่จิตที่เป็นผลของกุศลกรรมเรียก อเหตุกกุศลวิบากจิต ที่แตกต่างกันเพราะอกุศลวิบากจิตมีแต่ในประเภทอเหตุกจิต ซึ่งเป็นจิตที่ไม่มีสัมปยุตตแห่งเดียวเท่านั้น อกุศลวิบากจิตที่มีสัมปยุตตนั้นไม่มีเลย

ซึ่งผิดกับกุศลวิบากเหตุ เพราะกุศลวิบากจิตที่เป็นอเหตุก คือเป็นจิตไม่มีสัมปยุตตเหตุ เช่นที่กำลังกล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ก็มี และกุศลวิบากจิตที่มีสัมปยุตตเหตุ ซึ่งเรียกว่า สเหตุจิตดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้านี้ก็มีอีก ดังนั้นจึงต้องเติมอเหตุกไว้ด้วย เพื่อจะได้ทราบโดยแจ้งชัดว่าเป็นกุศลวิบากที่ประกอบด้วยเหตุหรือหาไม่


อเหตุกกริยาจิต เป็นจิตไม่ใช่ผลของบาปอกุศลหรือบุญกุศลแต่อย่างใด ทั้งไม่ใช่เป็นจิตที่เป็นตัวกุศลหรืออกุศลด้วย เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำไปตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้นเอง จึงไม่สามารถจะก่อให้เกิดผลบุญหรือบาปต่อไปด้วย

อเหตุกกริยาจิต ก็มีทั้งไม่ประกอบด้วยเหตุ ดังที่กล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ และมีทั้งที่ประกอบด้วยเหตุ คือ สเหตุกซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้าอีกด้วย ดังนั้นจึงต้องเรียกให้ชัดเจนเพื่อจะได้ไม่ปะปนกัน ทำนองเดียวกับ
กุศลวิบากจิต

อกุศลวิบากจิต


อกุศลวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของบาปอกุศล ซึ่งมีจำนวน ๗ ดวงนั้น ได้แก่


๑. อุเปกฺขาสหคตํ อกุศลวิปากํ จกฺขุวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล เห็นรูปที่ไม่ดี


๒. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ โสตวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล ได้ยินเสียงที่ไม่ดี


๓. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ฆานวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล ได้กลิ่นที่ไม่ดี


๔. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล ได้รสที่ไม่ดี


๕. ทุกฺขสหคตํ อกุศลวิปากํ กายวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนา เป็นผลของอกุศล กายถูกต้องสิ่งที่ไม่ดี


๖. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ สมฺปฏิจฺฉนจิตฺตํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล รับอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ไม่ดี


๗. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ สนฺตีรณจิตฺตํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ไม่ดี


อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง นี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจในชั้นต้นนี้บางประการ คือ
จักขุวิญญาณ จิตรู้ทางนัยน์ตา คือเห็น
โสตวิญญาณ จิตรู้ทางหู คือได้ยิน
ฆานวิญญาณ จิตรู้ทางจมูก คือได้กลิ่น
ชิวหาวิญญาณ จิตรู้ทางลิ้น คือรู้รส
ทั้ง ๔ นี้เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา คือ ความเฉยๆ อย่างเดียว เฉยเพราะไม่รู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุข เพราะจิตเหล่านี้เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างอุปาทยรูปกับอุปายทายรูป เปรียบเหมือนสำลีกระทบสำลีมีกำลังน้อย จึงไม่ก่อเกิดเป็นทุกข์เป็นสุขหรือเสียใจ ดีใจแต่อย่างใดเลย
ส่วนกายวิญญาณ จิตรู้การสัมผัสถูกต้องทางกายนั้นสำหรับฝ่ายอกุศลวิบากที่กำลังกล่าวถึงขณะนี้ เกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เพราะกายวิญญาณนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างมหาภูตรูป ( คือความแข็งความร้อน ) กับอุปาทายรูป ( คือกายปสาท ) เปรียบเหมือนเอาค้อนตีสำลีที่วางอยู่บนทั่ง ย่อมมีกำลังแรง จึงก่อให้เกิดทุกข์


อเหตุกกุศลวิบากจิต

อเหตุกกุศลวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของบุญกุศล ซึ่งมีจำนวน ๘ ดวงนั้น ได้แก่


๑. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ จกฺขุวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล เห็นรูปที่ดี 


๒. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ โสตวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้ยินเสียงที่ดี 


๓. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ ฆานวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้กลิ่นที่ดี 


๔. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้รสที่ดี 


๕. สุขสหคตํ กุสลวิปากํ กายวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา เป็นผลของกุศล กายได้สัมผัสถูกต้องสิ่งที่ดี


๖. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ สมฺปฏิจฺฉนจิตฺตํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล รับอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี 


๗. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ สนฺตีรณจิตฺตํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี 


๘. โสมนสฺสสหคตํ กุสลวิปากํ สนฺตีรณจิตฺตํ

จิตเกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา เป็นผลของกุศล พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดียิ่ง


อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวงนี้ ก็มีนัยทำนองเดียวกับอกุศลวิบากจิต ๗ ดวงที่กล่าวแล้วนั้น แต่ว่าจิตจำพวกนี้เป็นผลของฝ่ายดีฝ่ายบุญกุศลเท่านั้นเอง
อนึ่ง อเหตุกกุศลวิบากจิต มีมากกว่า อกุศลวิบากจิต ๑ ดวง คือ โสมนัสสันตีรณจิตซึ่งทางฝ่ายอกุศลวิบากจิตไม่มีโทมนัสสันตีรณจิตเป็นคู่กันเหมือน ๗ คู่ข้างต้นนั้น ทั้งนี้ก็เป็นดังที่กล่าวมาแล้วตอนอกุศลจิตว่า โทมนัสเวทนานี้เกิดได้กับโทสจิตโดยเฉพาะเท่านั้น จะเกิดกับจิตอื่นใดอีกไม่ได้เลย ถ้าเมื่อใดถึงกับโทมนัสแล้ว ก็เป็นโทสจิตเมื่อนั้น และเมื่อเป็นโทสจิตแล้วก็ไม่ใช่อเหตุกจิต เพราะโทสจิตเป็นสเหตุกจิต คือเป็นจิตที่มีเหตุ และมีถึง ๒ เหตุ คือ มีโทสเหตุเป็นเหตุนำ มีโมหเหตุเป็นเหตุหนุน ด้วยเหตุผลนี้จึงไม่มีโทมนัสสันตีรณจิตในอกุศลวิบากจิต


อเหตุกกิริยาจิต

อเหตุกกิริยาจิต เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำ ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ เป็นจิตที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป และไม่ใช่ผลของบุญหรือผลของบาปด้วยมีจำนวน ๓ ดวง ได้แก่


๑. อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจทฺวาราวชฺชนจิตฺตํ

จิตที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางทวารทั้ง ๕
มีความหมายว่า เป็นจิตที่พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบนั้นว่าเป็นอารมณ์ทางทวารไหน จะได้เป็นปัจจัยให้สัญญาณแก่วิญญาณจิตทางทวารนั้นรับอารมณ์ อุปมาเหมือนนายทวารที่รักษาประตูพระราชวัง คอยเปิดให้เข้าตามฐานะของบุคคลนั้นๆ


๒. อุเปกฺขาสหคตํ มโนทฺวาราวชฺชนจิตฺตํ

จิตที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวาร
มีความหมายว่า จิตนี้ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ทั้ง ๕ ทางทวาร ๕ และมีหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๖ ที่เกิดทางมโนทวารคือทางใจนึกคิดโดยตรงด้วย


๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปฺปาทจิตฺตํ

จิตที่ยิ้มแย้มของพระอรหันต์ เกิดพร้อมด้วยความโสมนัส
มีความหมายว่า จิตดวงนี้เป็นจิตยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายโดยเฉพาะ บุคลลอื่นที่มิใช่พระอรหันต์ ไม่ได้ยิ้มแย้มด้วยจิตดวงนี้ แต่ยิ้มและหัวเราะด้วยจิตดวงอื่น ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อเมื่อได้แสดงกามจิตครบจำนวนหมดทั้ง ๕๔ ดวงแล้ว


หสิตุปปาทจิต นี้บางแห่งก็เรียกว่า หสนจิต


สังขารเภทแห่งอเหตุกจิต

ในอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงนี้ หาได้บ่งบอกหรือระบุไว้ว่าเป็นอสังขาริกหรือ สสังขาริกแต่อย่างใดไม่ จึงมีวาทะที่เกี่ยวกับสังขารเภทแห่งอเหตุกจิตนี้รวมได้เป็น ๓ นัยคือ

ก. ในมูลฎีกา และในวิภาวนีฎีกา กล่าวว่าเป็นสังขารวิมุตติทั้ง ๑๘ ดวง ทั้งนี้เพราะบาลีไม่ได้ระบุไว้เลยว่าเป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก เมื่อไม่ได้แสดงไว้เลยเช่นนี้แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นสังขารวิมุตติ พ้นจากความเป็นอสังขาริก หรือ สสังขาริก
ข. ในปรมัตถทีปนีฎีกา กล่าวว่าเป็นสังขารได้ทั้ง ๒ อย่าง ทั้ง ๑๘ ดวง เช่นในเวลาที่จะตาย อาจจะมีผู้หนึ่งผู้ใดชักจูงแนะนำให้ดูพระพุทธรูปเป็นต้นก็ได้
ค. ส่วนโบราณจารย์กล่าวว่า เป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ ดวง เพราะเห็นเองได้ยินเอง
เท่าที่ได้ศึกษามา ได้สงเคราะห์อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงนี้ว่าเป็น อสังขาริกเห็นจะเป็นด้วยเหตุว่า เมื่อมีอุปัตติเหตุแล้ว อเหตุกจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นเอง แม้จะมีผู้ใดชักจูงแนะนำชี้ชวนให้ดู แต่ถ้าอุปัตติเหตุมีไม่ครบองค์ก็หาเห็นไม่


อุปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต มีดังต่อไปนี้


อุปปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย แต่ว่า อเหตุกจิตเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเหตุ เหตุที่ให้เกิดขึ้นนี้มีชื่อว่า อุปัตติเหตุ ที่เราเรียกกันว่า อุบัติเหตุ ไม่ใช่เหตุ ๖ แต่เป็นเหตุให้เกิด อุบัติเหตุนั้นมีดังนี้


อุปปัตติเหตุให้เกิด จักขุวิญญาณจิต

๑. จักขุปสาท มีประสาทตาดี มีนัยน์ตาดี
๒. รูปารมณ์ มีรูป คือสีต่างๆ
๓. อาโลกะ มีแสงสว่าง
๔. มนสิการ มีความสนใจ ( ปัญจทวารวัชชนะ )

อุปปัตติเหตุให้เกิด โสตวิญญาณจิต

๑ โสตปสาท มีประสาทหูดี
๒. สัททารมณ์ มีเสียง
๓. วิวรากาส มีช่องว่างของหู ( มีอากาศ )
๔. มนสิการ มีความสนใจ ( ปัญจทวาราวัชชนะ )

อุปปัตติเหตุให้เกิด ฆานวิญญาณจิต

๑. ฆานปสาท มีประสาทจมูกดี
๒. คันธารมณ์ มีกลิ่น
๓. วาโยธาตุ มีธาตุลม
๔. มนสิการ มีความสนใจ ( ปัญจทวาราวัชชนะ )

อุปปัตติเหตุให้เกิด ชิวหาวิญญาณจิต

๑. ชิวหาปสาท มีประสาทลิ้นดี
๒. รสารมณ์ มีรส
๓. อาโปธาตุ มีธาตุน้ำ
๔. มนสิการ มีความสนใจ ( ปัญจทวารวัชชนะ )

อุปปัตติเหตุให้เกิด กายวิญญาณจิต

๑. กายปสาท มีประสาทกายดี
๒. โผฏฐัพพารมณ์ มีแข็ง อ่อน ร้อน เย็น หย่อน ตึง

๓. ถัทธปฐวี มีปฐวีธาตุที่มีลักษณะแข็ง
๔. มนสิการ มีความสนใจ ( ปัญจทวาราวัชชนะ )

๑. อุเปกฺขาสหคตํ อกุศลวิปากํ จกฺขุวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล เห็นรูปที่ไม่ดี


๒. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ จกฺขุวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล เห็นรูปที่ดี


๓. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ โสตวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล ได้ยินเสียงที่ไม่ดี


๔. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ โสตวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้ยินเสียงที่ดี


๕. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ฆานวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล ได้กลิ่นที่ไม่ดี


๖. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ ฆานวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้กลิ่นที่ดี


๗. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของอกุศล ได้รสที่ไม่ดี


๘. อุเปกฺขาสหคตํ กุสลวิปากํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้รสที่ดี


๙. ทุกฺขสหคตํ อกุศลวิปากํ กายวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนา เป็นผลของอกุศล กายถูกต้องสิ่งที่ไม่ดี


๑๐. สุขสหคตํ กุสลวิปากํ กายวิญฺญาณํ

จิตเกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา เป็นผลของกุศล กายได้สัมผัสถูกต้องสิ่งที่ดี )


จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และกายวิญญาณจิต ๒ ดวง รวมจิต ๑๐ ดวงนี้เรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ


อุปัตติเหตุให้เกิด มโนธาตุ

๑. ปัญจทวาร ได้แก่ทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย
๒. ปัญจารมณ์ ได้แก่อารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ
๓. หทยวัตถุ ได้แก่ หทยวัตถุรูป อันเป็นที่อาศัยเกิดแห่งจิตและเจตสิก
๔. มนสิการ มีความสนใจ
มโนธาตุ หมายถึงจิต ๓ ดวง อันได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง


อุปปัติเหตุให้เกิด มโนวิญญาณธาตุ

๑. มโนทวาร ได้แก่ ภวังคจิต ๑๙ ดวง
๒. อารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธัมมารมณ์
๓. หทยวัตถุ ได้แก่ หทยวัตถุ หรือไม่มีหทยวัตถุรูปก็ได้
๔. มนสิการ มีความสนใจ

มโนวิญญาณธาตุ กล่าวเฉพาะในอเหตุกจิตนี้ ก็หมายถึงจิต ๕ ดวง อันได้แก่ สันตีรณจิต ๓ ดวง มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และ หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง
อนึ่ง เพื่อกันความสงสัย จิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น เมื่อหักทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และ มโนธาตุ ๓ รวม ๑๓ ดวงออกแล้ว จะเหลือ ๗๖ ดวง หรือ ๑๐๘ ดวง จิตที่เหลือทั้งหมดนี้เรียกว่า มโนวิญญาณธาตุทั้งนั้น


อุบัติเหตุ คือเหตุให้เกิดจิตต่างๆ ที่กล่าวมานี้ แต่ละจิตก็ต้องมีอุบัติเหตุครบทั้ง ๔ อย่าง จิตนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าขาดไปอย่างใดแม้แต่สักอย่างเดียว จิตนั้นๆ ก็จะเกิดไม่ได้เลย
ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา และในวิสุทธิมัคค ได้อุปมาวิญญาณทั้ง ๖ ไว้ว่า
ตา เหมือนงู ชองซอกซอนไปในที่ลี้ลับ นัยน์ตาก็ชอบสอดส่ายอยากเห็นสิ่งที่ปกปิด
หู เหมือนจระเข้ ชอบวังน้ำวนที่เย็นๆ หูก็ชองฟังถ้อยคำที่อ่อนหวาน
จมูก เหมือนนก ชอบโบยบินไปในอากาศ จมูกชอบสูดชอบดมกลิ่นที่ลอยลมโชยมา
ลิ้น เหมือนสุนัข ชอบน้ำลายไหลเสมอ ลิ้นก็อยากลิ้มรสอยู่ทุกเมื่อ
กาย เหมือนสุนัขจิ้งจอก ชอบอบอุ่น
ใจ เหมือนลิง ชอบอยู่มาสุข ซุกซนอยู่เรื่อย

ทวารของอเหตุกจิต

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง จักขุทวาร
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง โสตทวาร
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ฆานทวาร
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ชิวหาทวาร
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง กายทวาร
ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง รวมจิต ๓ ดวงนี้อาศัยเกิดทางปัญจทวาร คือ ทางทวาร ๕ ได้แก่ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร และกายทวาร
มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง และ หสิตุปาทจิต ๑ ดวง รวม ๕ ดวงนี้ อาศัยเกิดทางทวาร ๖ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร


วัตถุของอเหตุกจิต

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ จักขุวัตถุ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ โสตวัตถุ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ฆานวัตถุ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ชิวหาวัตถุ
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ กายวัตถุ
จิตที่เหลืออีก ๘ ดวง ได้แก่ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง อเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง นั้น อาศัย หทยวัตถุเกิด


อารมณ์ของอเหตุกจิต

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้อารมณ์คือ รูปารมณ์ รูปต่างๆ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้อารมณ์คือ สัททารมณ์ เสียงต่างๆ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้อารมณ์คือ คันธารมณ์ กลิ่นต่างๆ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้อารมณ์คือ รสารมณ์ รสต่างๆ
กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้อารมณ์คือ โผฏฐัพพารมณ์ แข็ง อ่อน ร้อน เย็น
ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง รวม ๓ ดวงนี้ รู้ปัญจารมณ์ คือ รู้อารมณ์ ๕ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง และหสิตุปาท ๑ ดวง รวมจิต ๕ ดวงนี้ รู้อารมณ์ ๖ คือ รู้ปัญจารมณ์ และธัมมารมณ์ ธรรมต่างๆ


แสดงอเหตุกจิต ๑๘ โดยวิถีจิต


๑. อตีตภวังค
๒. ภวังคจลนะ
๓. ภวังคุปัจเฉทะ

 

ภวังคเก่า
ภวังคไหว
ภวังคขาด

รวม ๓ ดวงนี้ เป็นภวังคจิตและเป็นวิบาก

๔.ปัญจทวาราวัชชนะ

เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบ

 

๕. ปัญจวิญญาณ

เป็นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งตามควร
แก่การรับรู้อารมณ์ที่มากระทบนั้น

 

๖. สัมปฏิจฉนะ

เป็นสัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งรับ
อารมณ์ที่ปัญจวิญญาณรู้แล้วนั้น ตกทอดให้แก่สันตีรณะ

 

๗. สันตีรณะ

เป็นสันตีรณะจิต ๓ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งไต่สวน
อารมณ์ว่าชั่วหรือด

 

๘. โวฏฐัพพนะ

เป็นมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ตัดสิน
อารมณ์และกำหนดให้เป็น อกุศล กุศล หรือกิริยา

 

๙. ชวนะ 
๑๐. ชวนะ 
๑๑. ชวนะ
๑๒. ชวนะ 
๑๓. ชวนะ 
๑๔. ชวนะ 
๑๕. ชวนะ

จิตที่เสพอารมณ์ คือ สำเร็จกิจเป็นอกุศล กุศล หรือ
กิริยา กล่าวโดยเฉพาะในอเหุตกจิตนี้ ชวนะ ก็ได้แก่
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง เป็นผู้เสพอารมณ์ให้สำเร็จกิจ
เป็นกิริยา

 

๑๖. ตทาลัมพณะ 
๑๗. ตทาลัมพณะ

เป็นสันตีรณจิต ๓ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง 
รับรู้อารมณ์ที่เหลือจากชวนะ

 

 

 

ครบ ๑๗ แล้ว จิตก็เป็นภวังค ต่อไปใหม่อีก


วิถีจิตนี้มีแสดงโดยละเอียดในปริจเฉทที่ ๔ ในที่นี้ยกมากล่าวโดยย่อพอให้รู้เค้า เพื่อจะได้เข้าใจ อเหตุกจิต ดีขึ้นอีกบ้าง


จำแนกอเหตุกจิตโดยประเภทต่างๆ มีชาติเภทเป็นต้น

 

๑. ชาติเภท โดยประเภทแห่งชาติ อเหตุกจิตมี ๒ ชาติ คือ อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง รวมจิต ๑๕ ดวงนี้ เป็นชาติวิบาก อเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง เป็นชาติกิริยา

๒. ภูมิเภท โดยประเภทแห่งภูมิ อเหตุกจิตเป็นกามาวจรภูมิอย่างเดียวทั้ง ๑๘ ดวง

๓. เวทนาเภท โดยประเภทแห่งเวทนา อเหตุกจิต ๑๘ ดวง มีเวทนาถึง ๔ อย่างคือ

สุขเวทนา ได้แก่สุขกาย ๑ ดวง คือ สุขสหคตํ กุสลวิปากํ กายวิญญาณํ

ทุกขเวทนา ได้แก่ทุกข์กาย ๑ ดวง คือ ทุกฺขสหคตํ อกุสลวิปากํ กายวิญญาณํ

โสมนัสเวทนา ได้แก่ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง ( คือ โสมนัสสหคตํ กุสลวิปากํ สนฺตีรณจิตฺตํ ) และ หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง รวม ๒ ดวง

อุเบกขาเวทนา ได้แก่จิตที่เหลืออีก ๑๔ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๘ ( เว้นกายวิญญาณ ๒ ), สัมปฏิจฉนจิต ๒, อุเบกขาสันตีรณจิต ๒, ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และมโนทวาราวัชชจิต ๑

๔. เหตุเภท โดยประเภทแห่งเหตุ อเหตุกจิตนี้เป็นจิตที่ไม่มีสัมปยุตตเหตุ นั้น ๑๘ ดวงจึงได้ชื่อว่า อเหตุกจิต

๕. สังขารเภท โดยประเภทแห่งสังขาร อเหตุกจิตสงเคราะห์ว่าเป็นอสังขาริก ทั้ง ๑๘ ดวง

๖. สัมปยุตตเภท โดยประเภทแห่งสัมปยุตต อเหตุกจิตเป็นวิปปยุตตทั้ง ๑๘ ดวงเพราะไม่มี ทิฏฐิ ปฏิฆะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ หรือญาณมาสัมปยุตตด้วยเลย

๗. โสภณเภท โดยประเภทแห่งโสภณะ อเหตุกจิตเป็นอโสภณะทั้ง ๑๘ ดวง เพราะอเหตุกจิตไม่มีโสภณเจตสิกประกอบด้วยเลย

๘. โลกเภท โดยประเภทแห่งโลก อเหตุกจิตเป็นโลกียะ ทั้ง ๑๘ ดวง

๙. ฌานเภท โดยประเภทแห่งฌาน อเหตุกจิตเป็นอฌานทั้ง ๑๘ ดวง

 

กามาวจรโสภณจิต


กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่แม้ว่ายังต้องท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามภูมิ แต่ก็เป็นไปในฝ่ายที่ดีงาม ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น มีคาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๖ แสดงว่า


๖. เวทนาญาณสงฺขาร เภเทน จตุวีสติ
สเหตุกามาวจร ปุญฺญปากกฺริยา มตา ฯ


แปลความว่า จิต ๒๔ ดวง กล่าวโดยประเภทแห่ง เวทนา ญาณ และ สังขาร นั้นเรียกว่า สเหตุกกามาวจรกุศลจิต สเหตุกกามาวจรวิบากจิตและสเหตุกกามาวจรกิริยาจิต


มีความหมายว่า กล่าวโดยเวทนาเภท โดยประเภทเวทนานั้น ทางฝ่ายโสภณจิตทั้งปวง มีเวทนาได้เพียง ๒ คือ โสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา เท่านั้น
กล่าวโดยญาณเภท โดยประเภทแห่งญาณ คือปัญญาแล้ว ก็มีเพียง ๒ ได้แก่ ญาณสัมปยุตต หมายว่าจิตนั้นประกอบด้วยปัญญา หรือมีปัญญา ส่วนญาณวิปปยุต หมายว่า จิตนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือจิตนั้นไม่ได้ใช้ปัญญา 
กล่าวโดยสังขารเภท โดยประเภทแห่งสังขาร ก็หมายในที่นี้ว่าเป็นอสังขาริก ไม่มีสิ่งชักชวน และสสังขาริก มีสิ่งชักชวน
สเหตุกมีความหมายว่ามีสัมปยุตตเหตุ คือ มีเหตุประกอบ สเหตุกจิตที่เป็นฝ่านโสภณก็มี อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ประกอบตามควรแก่ที่จะประกอบได้ ดังจะได้กล่าวต่อไป 
สเหตุกกามาวจรกุศลจิต เรียกว่า กามกุศลจิต หรือ มหากุศลจิตก็ได้
สเหตุกกามาวจรวิบากจิต เรียกว่า กามวิบากจิต หรือ มหาวิบากจิตก็ได้
สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต เรียกว่า กามกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิตก็ได้


มหากุศลจิต


มหากุศลจิต เรียกว่า มหากุศลเฉยๆ ก็ได้ ที่ว่าเป็นมหากุศล เพราะ

ก. เป็นกุศลจิตที่กว้างขวางมากมายมีได้ทั่วไป กล่าวคือสัตว์ในอบาย ( สัตว์นรก สัตว์เปรต สัตว์อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ) มนุษย์ เทวดา ตลอดจนรูปพรหม อรูปพรหม สามารถที่จะมีมหากุศล หรือประกอบกรรมอันเป็นมหากุศลนี้ได้
ข. เป็นที่ตั้งของกุศลทั้งปวง และยังเป็นปัจจัยก่อให้เกิดกุศลฌานจิต มัคคจิต ผลจิต ทั้งเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระนิพพานได้ด้วย


มหากุศลมี ๘ ดวง ได้แก่


๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหากุศลดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากุศลดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เป็นสสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากุศลดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากุศลดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นสสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากุศลดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากุศลดวงที่ ๖ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็นสสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากุศลดวงที่ ๗ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากุศลดวงที่ ๘ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นสสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


อรรถแห่งกุศล

กุศลจิต เป็นจิตที่ไม่เศร้าหมอง ไม่เร่าร้อน เป็นจิตที่ดีงาม ที่ฉลาด ที่สะอาด ที่ปราศจากโทษ และให้ผลเป็นสุข มีอรรถ ๕ ประการ คือ
๑. อาโรคยตฺถ ไม่มีโรค คือไม่มีราคะเป็นต้น ราคะ โทสะ โมหะ นี้เรียกว่า โรคเพราะเสียดแทงจิตตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย 
๒. สุนฺทรตฺถ ดีงาม คือ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย 
๓. เฉกตฺถ ฉลาด เรียบร้อย คือผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศลย่อมมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย
๔. อนวชฺชตฺถ ไม่มีโทษอันพึงติเตียนได้
๕. สุขวิปากตฺถ ให้ผลอันเป็นสุขพึงปรารถนา


เหตุให้เกิดกุศล

เหตุให้กุศลจิตเกิดขึ้นก็ได้แก่ โยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาโดยแยบคาย พิจารณาให้ซึ้งถึงสภาพแห่งความเป็นจริงในอารมณ์นั้นๆ โยนิโสมนสิการนี้ย่อมเกิดโดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา เคยทำบุญไว้แต่ปางก่อน
๒. ปฏิรูปเทสวาส อยู่ในประเทศที่สมควร คือประเทศที่มีสัปบุรุษ
๓. สปฺปุริสูปนิสฺสย คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ
๔. สทฺธมฺมสฺสวน ฟังธรรมของสัปบุรุษ
๕. อตฺตาสมฺนาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการ ๕ ประการนี้ ประการที่ ๑ เป็นอดีตกรรม ส่วนอีก ๔ ประการที่เหลือ เป็นปัจจุบันกรรม


บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า ความดีที่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดีให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ให้บุญเป็นกุศล บุญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ได้แก่

๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน คือการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ได้รับ

๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล คือรักษากายวาจาใจให้เป็นปกติ ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คือการอบรมจิตใจให้กุศลอันประเสริฐ
เกิดขึ้นและให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย

๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ คือการแสดงคารวะและอ่อนน้อมแก่ผู้ที่เจริญด้วย ชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ

๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบคือสงเคราะห์ช่วยเหลือกิจการ
ที่เกี่ยวแก่ปริยัติ และปฏิบัติ

๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้อื่น คือ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้มีคุณตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญของผู้อื่น คือ การเห็นดีเห็น
ชอบและคล้อยตามด้วยความอิ่มใจในส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้นั้น

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม คือ ตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา แม้ฟังการสั่งสอนวิชาทางโลกที่ไม่มีโทษ ก็สงเคราะห์เข้าข้อนี้

๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง คือ การแสดงธรรมแก่ผู้ที่
ประสงค์ฟังธรรม แม้การสั่งสอนวิชาทางโลกที่ไม่มีโทษก็สงเคราะห์เข้าในข้อนี้

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม การทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงอย่างน้อยก็ต้องถึง กัมมัสสกตาปัญญา คือรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น


บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ เมื่อสงเคระห์ลงในประเภท ทาน ศีล ภาวนาแล้ว ก็ได้ดังนี้ 
ปัตติทานมัย กับปัตตานุโมทนามัย สงเคราะห์ลงในทานมัย

อปจายนมัย กับ เวยยาวัจจมัย สงเคราะห์ลงใน สีลมัย
ธัมมัสสวนมัย ธัมมเทสนามัย และ ทิฏฐุชุกัมม สงเคราะห์ลงในภาวนามัย 
อีกนัยหนึ่ง ตามนัยแห่งพุทธภาษิตอรรถกถาแสดงว่าธัมมัสสวนมัย กับธัมมเทศนามัย สงเคราะห์ลงในทานก็ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมย่อมชำนะการให้ทั้งปวง

ส่วน ทิฏฐุชุกัมม นั้น มีแสดงไว้ใน สังคีติสูตร แห่งปาฏิกวรรคอรรถกถาว่า ทิฏฺฐุชุกมฺมํ สพฺเพสํ
นิยมลกฺขณํ ทิฏฐุชุกัมมนี้ เป็นเครื่องหมายแห่งความสมบูรณ์ของบุญกิริยาวัตถุทั้งปวง หมายความว่า สงเคราะห์ทิฏฐุชุกัมมลงในทานมัย สีลมัย และภาวนามัย ได้ทั้งหมด เพราะทิฏฐุชุกัมมก็คือปัญญาที่เห็นตรงตามความเป็นจริง ถ้าการบริจาคทานการรักษาศีลการเจริญภาวนาโดยไม่มีทิฏฐุชุกัมมประกอบด้วยแล้ว การให้ผลของ ทาน ศีล ภาวนา เหล่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ มีการขาดตกบกพร่อง แม้จะให้ผลไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดาก็จะเป็นมนุษย์เป็นเทวดาชั้นต่ำ มีอวัยวะขาดตกบกพร่องหรือโง่เขลาเบาปัญญา ทรัพย์สมบัติไม่อุดมสมบูรณ์ มีความเดือดร้อน ไม่ใคร่มีความสุขความสบาย


เหตุให้เกิดโสมนัสกุศล ๖ ประการ

๑. โสมนสฺสปฏิสนฺธิกตา มีปฏิสนธิจิตเป็นโสมนัส
๒. สทฺธาพหุลตา มีศรัทธามาก
๓. วิสุทฺธทิฏฺฐิตา มีความเห็นถูกต้องหมดมลทิน
๔. อานิสํสทสฺสาวิตา เห็นอานิสงส์แห่งกุศลกรรมนั้นๆ
๕. อิฏฺฐารมฺมณสมาโยโค ได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ คือได้ไทยธรรมและปฏิคาหกที่พึงพอใจ
๖. กสฺสจิปิฬาภาโว ไม่มีอุปสรรคขัดข้องใดๆ


เหตุให้เกิดอุเบกขากุศล ๖ ประการ

๑. อุเปกฺขาปฏิสนฺธิกตา มีปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขา
๒. อปฺปสทฺธตา มีศรัทธาน้อย
๓. อวิสุทฺธทิฏฺฐิตา มีความเห็นไม่บริสุทธิ์นัก มีมลทินเจือบ้าง
๔. อานิสํสอทสฺสาวิตา ไม่เห็นหรือไม่เข้าใจในอานิสงส์ แห่งกุศลกรรมนั้นๆ

๕. มชฺฌตฺตารมฺมณาสมาโยโค ประสบกับอารมณ์ปานกลาง คือ ได้ไทยธรรมและปฏิคาหกพอปานกลาง
๖. กสฺสจิปีฬิกตา มีอุปสรรคขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง


มีข้อสังเกตในเรื่องโสมนัสอกุศลกับโสมนัสกุศล และอุเบกขาอกุศลกับอุเบกขากุศล ดังต่อไปนี้
โสมนัสกุศล ซึ่งมีแต่เฉพาะโสมนัสโลภมูลจิตเท่านั้น เป็นการมีปิติยินดีในสิ่งที่ชั่ว ย่อมชั่วมากเป็นบาปมาก โสมนัสกุศล เป็นการปิติยินดีในสิ่งที่ดี ก็ย่อมดีมากเป็นบุญมาก
แต่ว่า อุเบกขาอกุศลนั้น ความเฉยในโลภมูลจิต หมายว่ายินดีเล็กน้อยจึงเฉยๆ ไม่ถึงกับปีติ ปลาบปลื้ม ความเฉยในโมหมูลจิตนั้น เฉยไปเพราะไม่รู้ ส่วนอุเบกขา ความเฉยในกามกุศลนี้ เฉยเพราะศรัทธาน้อย เฉยเพราะประสบกับอารมณ์ปานกลาง เป็นความเฉยเพราะความปีติความยินดีไม่เกิด ขอกล่าวล่วงหน้าว่า อุเบกขาในฌานนั้น เฉยเพราะละความยินดีปีติยินดีปลาบปลื้มใจได้แล้ว โดยเห็นว่าเป็นของหยาบกว่าอุเบกขา
ดังนั้น อุเบกขาในอกุศล เฉยต่อสิ่งชั่ว ย่อมมีบาปน้อย อุเบกขาในกามกุศล เฉยเพราะศรัทธามีน้อย ก็ย่อมได้บุญน้อย แต่ว่า อุเบกขาในฌานกุศล อานิสงส์มากกว่า โสมนัสในฌานกุศล เพราะละความโสมนัสอันเป็นสิง่ที่หยาบเสียได้


ญาณสัมปยุตต

ญาณสมฺปยุตฺตํ แปลว่า ประกอบด้วยปัญญา คือ มีความรู้เห็นถูกต้องตรงความเป็นจริง ในกามกุศลนี้หมายถึงเพียงว่ามีกัมมสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญา ก็เป็นญาณสัมปยุตตแล้ว
กัมมัสสกตาปัญญา ปัญญามีรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นสมบัติของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว 
วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้ขันธ์ ๕ คือ รูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ปัญญาที่รู้เห็นว่าสัตว์มีกรรมเป็นสมบัติของตน อันเรียกว่า กัมมัสสกตาปัญญานี้ มี ๑๐ ประการ คือ


 

๑. อตฺถิทินฺนํ

ปัญญารู้เห็นว่า การให้ทานย่อมมีผล

๒. อตฺถิยิฏฺฐํ

ปัญญารู้เห็นว่า การบูชาย่อมมีผล

๓. อตฺถิหุตํ

ปัญญารู้เห็นว่า การบวงสรวงเทวดาย่อมมีผล

๔. อตฺถิกมฺมานํ ผลํวิปาโก

ปัญญารู้เห็นว่า ผลวิบากกรรมดีกรรมและชั่วมีอยู่ ( ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทั้งทางตรงและทางอ้อม )

๕. อตฺถิอยํโลโก

ปัญญารู้เห็นว่า โลกนี้มีอยู่ ( ผู้จะมาเกิดนั้น มี )

๖. อตฺถิปโรโลโก

ปัญญารู้เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่ ( ผู้จะไปเกิดนั้น มี )

๗. อตฺถิมาตา

ปัญญารู้เห็นว่า มารดามีอยู่ ( การทำดี ทำชั่วต่อมารดา ย่อมจะได้รับผล )

๘. อตฺถิปิตา

ปัญญารู้เห็นว่าบิดามีอยู่ ( การทำดี ทำชั่ว ต่อบิดาย่อมจะได้รับผล)

๙. อตฺถสตฺตโอปปาติกา

ปัญญารู้เห็นว่า โอปปาติกสัตว์นั้นมีอยู่ ( สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม นั้นมี )

๑๐. อตฺถิโลเกสมณพฺราหฺณา สมฺมาปฏิปนฺนา

ปัญญารู้เห็นว่า สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัตติดีปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยความรู้ยิ่ง เห็นจริงประจักษ์แจ้งซึ่งโลกนี้ และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้นั้นมีอยู่ในโลกนี้

 

 

เหตุให้เกิดญาณสัมปยุตตธรรม มี ๔ ประการ

๑. ปญฺญาสํวตฺตนิกกมฺมุปนิสฺสยตา ปฏิสนธิมาโดยอาศัยกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา
๒. อพฺยาปชฺชโลกูปปตฺติยา เกิดในชาติที่หมดความกังวลห่วงใยปราศจากความพยาบาท มีโอกาสได้เขาวัดฟังธรรม
๓. กิเลสทูรตา ห่างไกลจากกิเลส ไม่สนใจในการแสวงหากิเลสธรรม
๔. อินฺทฺริยปริปากตา มีปัญญินทรีย์แก่กล้า คือ มีอายุระหว่าง ๔๐ ถึง ๕๐ ปี ที่เรียกว่าปัญญาทสกะ อันเป็นวัยที่มีปัญญาพินิจพิจารณาโดยรอบคอบถึงเหตุผล


เหตุให้เกิดญาณสัมปยุตตธรรม อีกนัยหนึ่ง มี ๗ ประการ

๑. ปริปุจฺฉกตา ชอบไต่ถามปัญหาธรรมต่างๆ
๒. วตฺถุวิสุทฺธกิริยา ชอบสะอาดทั้งกายใจ ตลอดจนวัตถุเครื่องใช้สอย

๓. อินฺทฺริยสมตฺตปฏิปาทนา ชอบรักษาอินทรีย์ ๕ มี ศรัทธา เป็นต้น ให้ทรงไว้โดยสม่ำเสมอกัน
๔. ทุปฺปญฺญปุคฺคปริวชฺชนา ชอบหลีกเลี่ยงให้พ้นจากบุคคลผู้ไม่มีปัญญา
๕. ปญฺญวนฺตปุคฺคลเสวนา ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้เป็นบัณฑิต
๖. คมฺภีรญาณจริยปจฺจเวกฺขณา ชอบพิจารณาธรรมที่ลึกซึ้ง
๗. ตทธิมุตฺตตา ชอบในการน้อมจิตแสวงหารสแห่งธรรมที่ต้องตรึกตรองอันทำให้เกิดปัญญา


เหตุให้เกิดญาณวิปปยุตตธรรม ๔ ประการ

๑. ปญฺญาอสํวตฺตนิกกมฺมุปนิสฺสยตา
๒. สพฺยาปชฺชโลกูปปตฺติยา
๓. กิเลสาทูรตา
๔. อินฺทฺริยอปริปากตา

ส่วนความหมายทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็มีนัยตรงกันข้ามกับเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตตธรรม ๔ ข้อข้างบนนั้น


เหตุให้เกิด ญาณวิปปยุตตธรรม อีกนัยหนึ่งมี ๗ ประการ

๑. อปริปุจฺฉกตา
๒. วตฺถุอวิสทตา
๓. อินฺทฺริยอสมตฺตปฏิปาทนา
๔. ทุปฺปญฺญปุคฺคลาเสวนา
๕. ปญฺญาวนฺตปุคฺคลาปริวชฺชนา
๖. คมฺภีรญาณจริยอปจฺจเวกฺขณา
๗. อตทธิมุตฺตตา
ส่วนความหมายทั้ง ๗ ข้อนี้ ก็มีนัยตรงกันข้ามกับเหตุให้เกิดญาณ สัมปยุตตธรรม ๗ ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น


ส่วน สังขารเภทในมหากุศลนี้ ซึ่งมี อสังขาริก ๔ ดวง และ สสังขาริก ๔ ดวงนั้น มีความหมายว่า จิตดวงนั้นเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งชักจูง ตามนัยดังที่ได้

กล่าวแล้วในโลภมูลจิตข้างต้นนั้น

 


มหาวิบากจิต

มหาวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของมหากุศล ทำบุญทำกุศลด้วยมหากุศลจิตอย่างใด ก็ได้มหาวิบากจิตอย่างนั้น มหากุศลจิตเป็นเหตุ ย่อมให้ผลเป็นมหาวิบากจิตที่ตรงกันเสมอ กล่าวคือ

มหากุศลจิตเป็น โสมนัส ให้ผลเป็นมหาวิบาก โสมนัส
          "            อุเบกขา             "                อุเบกขา
          "        ญาณสัมปยุตต        "            ญาณสัมปยุตต
          "         ญาณวิปยุตต          "            ญาณวิปยุตต
          "            อสังขาริก            "              อสังขาริก
          "            สสังขาริก            "               สสังขาริก
ดังนั้น มหาวิบากจิต จึงมีจำนวนเท่ากันกับมหากุศลจิต คือ ๘ ดวง ได้แก่


ดวงที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหาวิบากดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เป็น อสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๒ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหาวิบากดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เป็น สสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหาวิบากดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็น อสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหาวิบากดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็น สสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๕ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหาวิบากดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็น อสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๖ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหาวิบากดวงที่ ๖ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็น สสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๗ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหาวิบากดวงที่ ๗ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็น อสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๘ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหาวิบากดวงที่ ๘ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็น สสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


สมังคิตา ๕

การบำเพ็ญกุศลก็ดี การกระทำอกุศลก็ดี ย่อมมีสมังคิตา ( ย่อมต้องประกอบพร้อมหรือ
พร้อมมูลด้วยธรรม ) ๕ ประการ คือ
๑. อายุหนสมงฺคิตา ได้แก่ความเพียรในการกระทำกุศลหรืออกุศลนั้น
๒. เจตนาสมงฺคิตา ได้แก่เจตนา ๓ ประการในการทำกุศลหรืออกุศล คือ เจตนาก่อนทำ เจตนาขณะที่กำลังทำและเจตนาเมื่อทำเสร็จแล้ว
๓. กมฺมสมงฺคิตา ได้แก่กุศลกรรม หรืออกุศลกรรม หมายว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นกุศล หรืออกุศลที่สำเร็จมาจากความเพียร
๔. อุปฏฺฐานสมงฺคิตา ได้แก่กรรมอารมณ์กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ 
ซึ่งจะปรากฎขึ้นเวลาใกล้จะตาย
๕. วิปากสมงฺคิตา ได้แก่ผลที่ต้องได้รับจากการกระทำกุศลหรืออกุศลนั้นๆ แล้วคือ ผลของสมังคิตาทั้ง ๔ ข้างต้นนั้น

 


มหากิริยาจิต

มหากิริยาจิต เป็นจิตที่ให้สำเร็จในการคิด การทำ การพูดของพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสทั้งปวงโดยสิ้นเชิงแล้ว การคิด การทำ การพูด เหล่านั้นจึงหาก่อให้เกิดผลในอนาคตไม่มีความหมายว่า มหากุศลนั้น ถ้าเกิดแก่บุคคลอื่นที่มิใช่พระอรหันต์ ก็คงเรียกว่า มหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดแก่พระอรหันต์โดยเฉพาะแล้ว เรียกว่า มหากิริยาจิต
ที่เรียกว่า มหากุศลจิต เพราะจะต้องให้ผลในภายหน้า แต่เรียกว่ามหากิริยาจิต เพราะจิตที่ปราศจากผลในอนาคต


มหากิริยาจิตก็มีจำนวนเท่ากันกับมหากุศลจิต คือ ๘ ดวง ได้แก่


ดวงที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหากิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เป็น อสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๒ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหากิริยาดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เป็น สสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหากิริยาดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็น อสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหากิริยาดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็น สสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๕ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหากิริยาดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็น อสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๖ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหากิริยาดวงที่ ๖ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็น สสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๗ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

มหากิริยาดวงที่ ๗ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็น อสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง


ดวงที่ ๘ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

มหากิริยาดวงที่ ๘ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็น สสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง


จำแนกกามาวจรโสภณจิตโดยชาติเภทเป็นต้น

๑. ชาติเภท โดยประเภทแห่งชาติกามาวจรกุศลโสภณจิต หรือกามโสภณจิต ๒๔ ดวงนี้ มี ๓ ชาติ คือ
มหากุศลจิต ๘ ดวง เป็นชาติกุศล
มหาวิบากจิต ๘ ดวง เป็นชาติวิบาก
มหากิริยาจิต ๘ ดวง เป็นชาติกิริยา
๒. ภูมิเภท โดยประเภทแห่งภูมิ กามโสภณจิตทั้ง ๒๔ ดวง เป็นกามาวจรภูมิ คือ เป็นจิตชั้นกามาวจรอย่างเดียว
๓. เวทนาเภท โดยประเภทแห่งเวทนา กามโสภณจิต ๒๔ ดวง มีเวทนา ๒ อย่างคือ โสมนัสเวทนา ๑๒ ดวง อุเบกขาเวทนา ๑๒ ดวง ซึ่งตามรายชื่อของจิตก็ได้ระบุบอกไว้แล้วว่าดวงเป็นเป็นเวทนาอะไร จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก
๔. เหตุเภท โดยประเภทแห่งเหตุ กามโสภณจิตทั้ง ๒๔ ดวง เป็น สเหตุกจิตทั้งนั้น

ที่เป็นญาณสัมปยุตต ๑๒ ดวงนั้น เป็นสเหตุกจิตที่มี ๓ เหตุ คือ มี อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหะเหตุ ประกอบ ที่เป็นญาณวิปยุตต ๑๒ ดวง เป็นสเหตุกจิตที่มีสัมปยุตตเหตุเพียง ๒ คือ มี อโลภเหตุ อโทสเหตุ ประกอบเท่านั้น
๕. สังขารเภท โดยประเภทแห่งสังขาร กามโสภณจิต เป็นอสังขาริก ๑๒ ดวง เป็นสสังขาริก ๑๒ ดวง ซึ่งตามรายชื่อก็บอกไว้แล้วว่าดวงไหนเป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก
๖. สัมปยุตตเภท โดยประเภทแห่งสัมปยุตต กามโสภณจิตเป็นญาณสัมปยุตต ๑๒ ดวง เป็นญาณวิปยุตต ๑๒ ดวง ตามรายชื่อก็บอกไว้แล้วเหมือนกัน
๗. โสภณเภท โดยประเภทแห่งโสภณะ กามโสภณจิตทั้ง ๒๔ ดวง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นโสภณจิต เป็นจิตที่ดีงามทั้งนั้นและเป็นจิตที่มีโสภณเจตสิกประกอบด้วย
๘. โลกเภท โดยประเภทแห่งโลก กามโสภณจิต ๒๔ ดวง เป็นโลกียจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต
๙. ฌาณเภท โดยประเภทแห่งฌาน กามโสภณจิตเป็น อฌานทั้ง ๒๔ ดวง

 


การยิ้มและหัวเราะ


การยิ้มแย้มและการหัวเราะนั้น ในคัมภีร์อลังการ ได้จำแนกไว้เป็น ๖ อย่าง คือ 
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้า ไม่เห็นไรฟัน
๒. หสิตะ ยิ้มแย้มพอเห็นไรฟัน
๓. วิหสิตะ หัวเราะเบาๆ
๔. อุปหสิตะ หัวเราะจนกายไหว
๕. อปหสิตะ หัวเราะจนน้ำตาไหล
๖. อติหสิตะ หัวเราะจนสั่นพริ้วและโยกโคลงไปทั้งตัว
สิตะ และ หสิตะ เป็นการยิ้มแย้มของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่เรียกว่าหสิตุปปาทจิต แม้จะโสมนัสด้วยมหากิริยาก็เพียงแต่ยิ้มหรือแย้มเท่านั้น ไม่ถึงกับหัวเราะจนมีเสียง ส่วนพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน

ตลอดจนปุถุชนทั่วๆ ไป เพียงแต่ยิ้มแย้ม ไม่ถึงกับหัวเราะก็มีได้ แต่ไม่เรียกว่ายิ้มแย้มด้วยหสิตุปปาทจิต
วิหสิตะ และ อุปหสิตะ เป็นการหัวเราะของพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน กัลยาณชน ตลอดจนปุถุชนทั่วๆ ไป
อปหสิตะ และ อติหสิตะ เป็นการหัวเราะของบุคคลชั้นต่ำ พาลบุคคล


ในปรมัตทีปนีฏีกา แสดงจิตที่ทำให้การยิ้มแย้มและการหัวเราะเกิดขึ้นนั้น ได้แก่จิต ๑๓ ดวง คือ
โสมนัส โลภมูลจิต ๔
โสมนัส หสิตุปปาทะ ๑
โสมนัส มหากุศล ๔
โสมนัส มหากิริยา ๔
ปุถุชนยิ้มและหัวเราะด้วยจิต ๘ ดวง คือ
โสมนัส โลภมูลิจต ๔
โสมนัส มหากุศล ๔
พระเสกขบุคคล ๓ ยิ้มและหัวเราะด้วยจิต ๖ ดวง คือ
โสมนัส โลภมูลทิฏฐิคตวิปยุตตจิต ๒
โสมนัส มหากุศล ๔
พระอเสกขบุคคล ยิ้มแย้มด้วยจิต ๕ ดวง คือ
โสมนัส หสิตุปาทะ ๑
โสมนัส มหากิริยา ๔
การยิ้มแย้มของพระอรหันต์นั้น ถ้าอารมณ์เป็น อโนฬาริกะ คือเป็นอารมณ์ละเอียดอันบุคคลธรรมดาไม่สามารถรู้ ขณะนั้นยิ้มแย้มด้วย หสิตุปปาทจิต ( หสิตุปปาทจิตนี้ เรียกว่า หสนจิตก็ได้ )
ถ้าอารมณ์เป็น โอฬาริกะ คือเป็นอารมณ์ที่หยาบ หมายความว่าเป็นอารมณ์ธรรมดาที่บุคคลทั่วๆ ไปสามารถรู้ได้นั้น ขณะนั้นยิ้มแย้มด้วย โสมนัสมหากิริยา


แสดงชาติแห่งกามาวจรจิต

มีคาถาสังคหะ แสดงชาติแห่งกามาวจรจิต คือ กามจิต เป็นคาถาที่ ๗ ว่า


๗. กาเม เตวีส ปากานิ ปุญฺญาปุญฺญานิ วีสติ
เอกทส กฺริยา เจติ จตุปญฺญาส สพฺพถา ฯ


แปลความว่า วิบากจิต ๒๓ กุศลจิตอกุศลจิต ๒๐ กิริยาจิต ๑๑ รวมเป็นกามจิต ๕๔ เท่านี้เอง


ขยายความว่า จิตทั้งหมดซึ่งมีจำนวน นัยโดยย่อ ๘๙ ดวง หรือนับอย่างพิสดาร ๑๒๑ ดวงนั้น กล่าวโดยชาติก็มี ๔ ชาติเท่านั้น คือ ชาติอกุศล ชาติกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยา
เฉพาะใน กามจิต คือ กามาวจรจิต ซึ่งเป็นจิตที่โดยมากท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมินั้น มีครบทั้ง ๔ ชาติ ได้แก่ อกุศล ๑๒ กามกุศล ๘ รวม ๒๐ กามวิบาก ๒๓ และ กามกิริยา ๑๑
ที่ต้องเรียกว่า กามกุศล กามวิบาก กามกิริยา เพราะว่า จิตที่เป็นชาติกุศลนั้น มีทั้งกามกุศล ซึ่งกล่าวถึงอยู่บัดนี้ และ มหัคคตกุศล โลกุตตรกุศล ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
จิตที่เป็นชาติวิบาก ก็มีทั้ง กามวิบาก ซึ่งกล่าวถึงอยู่ในบัดนี้ และมหัคคตวิบาก โลกุตตรวิบาก ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
จิตที่เป็นชาติกิริยา ก็มีทั้ง กามกิริยา ซึ่งกล่าวถึงอยู่ในบัดนี้ และ มหัคคตกิริยา ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
ส่วนจิตที่เป็นชาติอกุศลนั้น มีกามจิตแต่แห่งเดียว จิตที่เป็นชาติอกุศลไม่มีในมหัคคตจิตและโลกุตตรจิตเลย จึงไม่ต้องใช้ว่า กามอกุศล
อกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นชาติอกุศล
มหากุศลจิต ๘ ดวง เป็นชาติกุศล เพื่อให้ชัดแจ้ง จึงเรียกว่า กามกุศล
อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง อเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง และ มหาวิบากจิต ๘ ดวง รวมจิต ๒๓ ดวงนี้ เป็นชาติวิบาก เพื่อให้ชัดแจ้งจึงเรียกว่า กามวิบาก
อเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง และมหากิริยาจิต ๘ ดวง รวมจิต ๑๑ ดวงนี้เป็นชาติกิริยา เพื่อให้ชัดแจ้งจึงเรียกว่า กามกิริยา


แสดงอย่างแบบบัญชีต่อไปนี้ บางทีจะทำให้เห็นชัดขึ้น


จิต

ชาติอกุศล

ชาติกุศล

ชาติวิบาก

ชาติกิริยา

อกุศลจิต ๑๒

       

โลภมูลจิต ๘

     

โทสมูลจิต ๒

     

โมหมูลจิต ๒

     

อเหตุกจิต ๑๘

       

อกุศลวิบากจิต ๗

   

 

อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘

   

 

อเหตุกกิริยาจิต ๓

     

กามาวจรโสภณจิต ๒๔

       

มหากุศลจิต ๘

 

   

มหาวิบากจิต ๘

   

 

มหากิริยาจิต ๘

     

รวมกามจิต ๕๔

๑๒

๒๓

๑๑

 

 

รูปาวจรจิต

 

รูปาวจรจิต เป็นจิตที่ถึงซึ่งรูปฌาน หรือเป็นจิตที่โดยมากท่องเที่ยวอยู่ในรูปภูมิ มีคาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๘ แสดงว่า


๘. ปญฺจธา ฌานเภเทน รูปาวจรมานสํ
ปุญฺญปากกริยาเภทา ตํ ปญฺจทสธา ภเว ฯ


แปลความว่า รูปาวจรจิต กล่าวโดยประเภทแห่งฌานมี ๕ แล้ว จำแนกตามประเภท กุศล วิบาก กิริยา อีก จึงเป็น ๑๕ ดวง


อธิบายว่า รูปาวจรจิตนั้น กล่าวโดยฌานเภท คือ โดยประเภทแห่งฌานแล้ว ก็มี ๕ ได้แก่

รูปาวจรปฐมฌานจิต

รูปาวจรทุติยฌานจิต

รูปาวจรตติยฌานจิต

รูปาวจรจตุตถฌานจิต และ

รูปาวจรปัญจมฌานจิต

ซึ่งมักเรียกกันสั้นๆ แต่เพียงว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน


ฌานทั้ง ๕ นี้ เมื่อกล่าวโดยชาติเภท คือโดยประเภทแห่งชาติ ( ประเภทของจิตนั่นเอง ) อีก ๓ ได้แก่ กุศล วิบาก กิริยา แล้ว ก็เป็นรูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ และรูปาวจรกิริยาจิต ๕ จึงรวมเป็น ๑๕ ดวง 


รูปาวจรกุศลจิต ๕ นั้นได้แก่ รูปาวจรปฐมฌานกุศลจิต รูปาวจรทุติยฌานกุศลจิต รูปาวจรตติยฌานกุศลจิต รูปาวจรจตุตถฌานกุศลจิต และ รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต
รูปาวจรวิบากจิต ๕ และ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ก็แจกทำนองเดียวกันนี้


ฌานคืออะไร

คำว่า ฌาน นี้ อัฏฐสาลินีอรรถกถา แสดงว่า

อารมฺมณูปนิชฺฌานโต ปจฺจนิกฌาปนโต วา ฌานํ

แปลความว่า ธรรมชาติที่เพ่งอารมณ์ ( อันมีกสิณ เป็นต้น ) ก็ดี หรือธรรมชาติที่เผาธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ ( มีนิวรณ์เป็นต้น ) ก็ดี ธรรมชาตินั้นเรียกว่า ฌาน


ในปรมัตถทีปนีฎีกาแสดงว่า

ฌาเนน สมฺปยุตฺตํ จิตฺตนฺติ ฌานจิตฺตํ

แปลความว่า จิตใดที่ประกอบด้วยฌาน จิตนั้นเรียกว่า ฌานจิต 


ฌานจิตนี้ทั้งเพ่งอารมณ์และเผาปฏิปักษ์ธรรมไปพร้อมกันในขณะเดียวกันด้วย ปฏิปักษ์ธรรมที่ทำลายการเพ่งอารมณ์ จนไม่สามารถที่จะให้เกิดฌานจิตได้นั้น เรียกว่า นิวรณ์ อันมีความหมายว่าเป็น เครื่องกั้น เครื่องกีดกัน เครื่องกีดขวางการกระทำความดี ในที่นี้ก็หมายความว่า ขัดขวางไม่ให้ทำจนถึงฌานได้


นิวรณ์ของฌาน

นิวรณ์อันเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้เกิดฌานได้นั้น มี ๕ ประการ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ และ วิจิกิจฉานิวรณ์
๑. กามฉันทนิวรณ์ คือความติดใจในกามคุณอารมณ์ อันมี รูป เสียง กลิ่น รส และการสัมผัสถูกต้อง ซึ่งเปรียบไว้ว่าเหมือนน้ำที่ระคนด้วยสี ถ้ามัวไปเพลิดเพลินติดใจในสิ่งเหล่านี้ เป็นไม่ได้ฌานแน่ ต้องใช้เอกัคคตา เผากามฉันทนิวรณ์อันเป็นปฏิปักษ์นี้เสีย
๒. พยาปาทนิวรณ์ ความมุ่งจะปองร้ายผู้อื่น ซึ่งเปรียบไว้ว่าเหมือนน้ำที่เดือดพล่าน ถ้ามัวแต่ครุ่นคิดปองร้ายใครๆ อยู่ ฌานจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องใช้ปิติเผาพยาปาทนิวรณ์อันเป็นปฏิปักษ์นี้เสีย
๓. ถีนมิทธนิวรณ์ ความหดหู่ ความท้อถอยไม่ใส่ใจเป็นอันดีต่ออารมณ์ที่เพ่งนั้น ซึ่งเปรียบไว้ว่าเหมือนน้ำที่มีจอกแหนปิดบังอยู่ ถ้าลงใจท้อถอยคลายความใส่ใจในอารมณ์ที่เพ่งนั้นแล้ว ย่อมไม่เกิดผลให้ถึงฌานได้ ต้องใช้วิตก เผาถีนมิทธนิวรณ์อันเป็นปฏิปักษ์นี้เสีย
๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ซึ่งเปรียบไว้ว่า เหมือนน้ำที่ถูกลมพัดกระเพื่อมอยู่เสมอ ถ้าจิตใจเลื่อนลอยซัดส่ายอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ไม่เป็นฌานจิต ต้องใช้สุขเผาอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ อันเป็นปฏิปักษ์นี้เสีย
๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ความลังเลไม่แน่ใจ ซึ่งเปรียบไว้ว่าเหมือนน้ำที่ขุ่นเป็นตม หรือน้ำที่ตั้งอยู่ในที่มืด ถ้าเกิดลังเลไม่แน่ใจอยู่ตราบใด ก็เป็นอันว่าไม่ทำถึงฌานอยู่ตราบนั้น ต้องใช้วิจารเผาวิจิกิจฉานิวรณ์ อันเป็นปฏิปักษ์เสีย


การเผานิวรณ์

การเผา การข่ม การทำลายหรือการประหารนิวรณ์นี้ กล่าวสรุปอย่างสั้นๆ ก็ว่าต้องใช้
วิตก เผา ถีนมิทธนิวรณ์
วิจาร เผา วิจิกิจฉานิวรณ์
ปีติ เผา พยาปาทนิวรณ์
สุข เผา อุทัธจจกุกกุจจนิวรณ์
เอกัคคตา เผา กามฉันทนิวรณ์
ต่อเมื่อเผาหรือข่มนิวรณ์ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ธรรมอันเป็นเครื่องขัดขวางมิให้เกิดฌานนี้ได้เมื่อใดฌานจิตจึงจะเกิดขึ้นได้เมื่อนั้น ถ้านิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ยังคงอยู่แม้แต่อย่างเดียว ฌานจิตก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
เหตุนี้ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดฌานจิต ดังนั้นจึงเรียกธรรม ๕ ประการ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นี้ว่าเป็น องค์ฌาน เพราะ

เป็นองค์สำคัญที่ทำให้เกิดฌานจิต
การข่มนิวรณ์ด้วยอำนาจแห่งฌานนี้ เรียกว่า วิกขัมภนปหาน เป็นการประหารไว้ได้นานตราบเท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม ซึ่งเปรียบไว้ว่าประดุจหินทับหญ้า ถ้าไม่ยกหินออก หญ้าก็ขึ้นไม่ได้ฉันใด ถ้าฌานยังไม่เสื่อม นิวรณ์ก็ไม่มีโอกาสจะกำเริบขึ้นได้ฉันนั้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า นิวรณ์กำเริบขึ้นได้เมื่อใด ฌานก็เสื่อมไปเมื่อนั้น


องค์ฌาน ๕ เผานิวรณ์ ๕ ประการใดนั้น มีอธิบายไว้ดังต่อไปนี้


๑. วิตก คือการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เรื่มแรกทำฌานต้องมีสิ่งสำหรับเพ่ง เป็นต้นว่า ใช้ดินมาทำเป็นดวงกสิณ ต้องยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ คือ ดวงกสิณนี้หมายความว่า ต้องเพ่งดวงกสิณ ไม่ให้จิตใจไปคิดอะไรอื่น ถ้าไปคิดอะไรอื่นก็หมายความว่ามี ถีนมิทธะ คือจิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่ง คลายความใส่ใจในอารมณ์ที่เพ่ง เป็นจิตที่ตกไปจากดวงกสิณแล้ว ต้องยกจิตให้กลับมาสู่ดวงกสิณใหม่ คือให้เพ่งดวงกสิณอีก จนไม่คลาดไปจากดวงกสิณเลยเช่นนี้ เป็นอันว่ามีวิตกโดยสมบูรณ์ เมื่อจิตมีวิตกอยู่เฉพาะดวงกสิณ ก็ได้ว่าชื่อว่าเผาหรือข่มถีนมิทธะ ได้แล้ว เพราะจิตใจไม่ท้อถอยคลาดคลายไปจากดวงกสิณเลย


๒. วิจาร คือการประคองจิตให้มั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง เมื่อวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่เพ่งแล้ว วิจารก็ประคองไม่ให้ตกไปจากอารมณ์ที่เพ่ง ไม่ไห้มีการลังเลใจว่า เพ่งเช่นนี้จะได้ฌานละหรือ ถ้าเกิดลังเลใจขึ้น ก็จะหน่ายในการประคองจิต จิตก็จะตกไปจากอารมณ์ที่เพ่ง ความลังเลใจเช่นนี้ก็คือ วิจิกิจฉา เมื่อประคองจิตไม่ตกไปจากอารมณ์ที่เพ่งโดยปราศจากความลังเลใจ ก็ได้ชื่อว่ามี วิจาร โดยสมบูรณ์ เผาหรือข่มวิจิกิจฉาได้แล้ว


๓. ปีติ คือความปลาบปลื้มใจ อิ่มเอิบใจในการเพ่งอารมณ์ เมื่อได้ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ประคองจิตให้มั่นอยู่ในอารมณ์ โดยปราศจากการท้อถอยและลังเลใจแล้ว ย่อมเกิดความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจในการกระทำเช่นนั้น ขณะที่จิตมีปีติปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจอยู่ ขณะนั้นจิตก็ไม่ได้คิดไปถึงความพยาบาทมุ่งมาดจะทำร้ายขุ่นเคืองใคร จึงได้ชื่อว่าปีตินี้ เผาหรือข่มพยาบาทนิวรณ์ได้แล้ว

ปีติ ความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจนี้มีถึง ๕ ประการ คือ
ก. ขุทฺทกาปีติ ปลาบปลื้มใจ เล็กน้อย พอรู้สึกขนลุก
ข. ขณิกาปีติ ปลาบปลื้มใจ ชั่วขณะ เกิดขึ้นบ่อยๆ
ค. โอกฺกนฺติกาปีติ ปลาบปลื้มใจ ถึงกับตัวโยกตัวโคลง

ง. อุพฺเพงฺคาปีติ ปลาบปลื้มใจ จนตัวลอย
จ. ผรณาปีติ ปลาบปลื้มใจ จนอิ่มอาบซาบซ่านไปทั่วทั้งกายและใจ
ปีติที่เป็นองค์ฌาน สามารถเผาหรือข่มพยาปาทนิวรณ์ได้นั้น ต้องถึง ผรณาปีติ ส่วนปีติอีก ๔ ไม่นับว่าเป็นองค์ฌาน เพราะยังเป็นของหยาบและมีกำลังน้อยอยู่


๔. สุข ในองค์ฌานนี้หมายถึงความสุขใจ คือ โสมนัสเวทนานั้นเอง เมื่อยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ประคองจิตจนตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ ถึงกับเกิดปีติเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นสุขใจยิ่งนัก ความสุขก็คือความสงบ ปราศจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจเป็นธรรมดา จึงได้ชื่อว่าสุขนี้เผาหรือข่ม อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ได้แล้ว 


๕. เอกัคคตา คือจิตที่มีสมาธิแน่วแน่ในอารมณ์เดียว เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งดังที่กล่าวมาเป็นลำดับเช่นนี้แล้ว ขณะนั้นจิตใจก็ไม่ได้มีอารมณ์อื่นใดอีกเลย หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้คำนึงถึง รูป เสียง กลิ่น รส หรือการสัมผัสถูกต้องแต่ประการใดๆ ทั้งสิ้น แน่วแน่แต่อารมณ์ที่เพ่งอย่างเดียวเท่านั้น จึงได้ชื่อว่า เอกัคคตา นี้เผาหรือข่มกามฉันทนิวรณ์ได้แล้ว


ประเภทแห่งฌาน ๕

ตามนัยแห่งพระอภิธรรม จำแนกประเภทแห่งฌาน ( คือฌานเภท ) ว่ามี ๕ ฌาน เรียกชื่อว่า ฌานปัญจกนัย ฌาน ๕ นี้ได้แก่ 

 

ปฐมฌาน

 มีองค์ฌาน    คือ

วิตก

วิจาร

ปีติ

สุข

เอกัคตตา

ทุติยฌาน

"

"

_

วิจาร

ปีติ

สุข

เอกัคตตา

ตติยฌาน

"

"

_

_

ปีติ

สุข

เอกัคตตา

จตุตถฌาน

"

"

_

_

_

สุข

เอกัคตตา

ปัญจมฌาน

"

"

_

_

_

อุเบกขา

เอกัคตตา

 

 

 

มีข้อที่ควรสังเกตว่า จตุตตถฌานก็มีองค์ฌาน ๒ และปัญจมฌานก็มีองค์ฌาน ๒ ซึ่งจำนวนนั้นเท่ากัน แต่ว่าชนิดขององค์ฌานนั้นไม่เหมือนกัน


๑. ปฐมฌาน ต้องมีองค์ฌานครบทั้ง ๕ เพื่อเป็นเครื่องทำลาย เครื่องประหาร เครื่องเผา เครื่องข่ม ปฏิปักษ์ธรรม คือ นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนั้น ปฐมฌานกุศลจิตจึงจะเกิดได้
อนึ่ง ในขณะที่ปฐมฌานจิตเกิดนั้น เกิดพร้อมกับองค์ฌานทั้ง ๕ นี้ ในขณะเดียวกันด้วย

และในขณะนั้นเอง องค์ฌานทั้ง ๕ ก็เผาหรือข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ไปพร้อมกันในขณะเดียวกันนั้นอีกด้วย หาใช่ว่าองค์ฌานเกิดทีละองค์ เผานิวรณ์ทีละอย่างไม่ แม้ในฌานจิตชั้นอื่นๆ ก็เป็นเช่นที่กล่าวนี้


๒. ทุติยฌาน มีองค์ฌานเพียง ๔ โดยละ วิตก ซึ่งเป็นองค์ฌานองค์แรกได้ ที่ละวิตกเสียได้เพราะ ปฐมฌานลาภีบุคคล คือผู้ที่ได้ปฐมฌาน จะต้องหัดเข้าปฐมฌานจนชำนิชำนาญแคล่วคล่องว่องไวถึง ๕ ประการ ที่เรียกว่ามี วสี ๕ แล้ว จึงจะเริ่มทำทุติยฌานได้ เมื่อจะขึ้นทุติยฌานนั้น เห็นว่าวิตกที่เป็นองค์ฌานนี้มีสภาพที่หยาบกว่าองค์ฌานอีก ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จึงละเสีย แล้วเริ่มต้นด้วยการเพ่งปฏิภาคนิมิตเลยทีเดียว เพ่งปฏิภาคนิมิตตามวิธีการจนทุติยฌานเกิด วสี ๕ และวิธีการเจริญสมถภาวนาจนฌานจิตเกิดนั้น มีแสดงอยู่ในปริเฉทที่ ๙ จึงของดไม่กล่าวในที่นี้


อนึ่ง การละวิตกเพราะว่าเป็นของหยาบตามหลักที่กล่าวแล้วนั้น ยังเห็นว่าน่าจะเป็นดังต่อไปนี้ด้วย
ก. เพราะความชำนาญ มีวสีในปฐมฌานนั้นเอง จึงเริ่มทำทุติยฌานด้วยการเพ่งปฏิภาคนิมิตเลยทีเดียว ไม่ต้องเพ่งดวงกสิณเหมือนเมื่อเริ่มทำปฐมฌาน นี่ก็หมายความว่า ไม่ต้องใช้วิตกยกจิตขึ้นเพ่งดวงกสิณ ถ้าจะเปรียบก็เห็นจะเปรียบได้ว่า เหมือนเด็กที่เริ่มเรียนเลขบวกว่า ๔ กับ ๓ บวกกันได้เท่าใด ซึ่งอาจจะต้องทำพิธีคิด คือยกมือซ้ายชูขึ้น ๔ นิ้ว ยกมือขวาชูขึ้นอีก ๓ นิ้ว แล้วนับจึงจะตอบได้ว่าเป็น ๗ นี่แปลว่าต้องมีพิธีในการคิด คือมีวิตก ถ้าหากว่าเรียนมาคล่องแคล่วชำนาญแล้ว ก็ตอบได้ในทันทีที่ถาม ว่าเป็น ๗ โดยไม่ต้องชูนิ้ว ไม่ต้องนับ เท่ากับว่าไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้วิตก
ข. ผู้เข้าปฐมฌานจนถึงมีวสีแล้ว ย่อมไม่มีความหดหู่ท้อถอย ไม่หย่อนคลายความใส่ใจเป็นอันดีต่ออารมณ์นั้นแล้ว คือปราศจากถีนมิทธะแล้ว จึงไม่ต้องอาศัยวิตกหรือไม่ต้องใช้วิตกมาเผา มาข่มถีนมิทธะอีก เพราะปฐมฌานได้ข่มถีนมิทธะจนอยู่มือแล้ว


๓. ตติยฌาน มีองค์ฌานเพียง ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา โดยละวิจาร ซึ่งเป็นองค์ฌานองค์ที่ ๒ ได้อีกองค์ ที่ละวิจารได้อีก เพราะทุติยฌานลาภีบุคคล จะต้องมีวสีในทุติยฌานนั้นแล้ว จึงจะเริ่มทำตติยฌานได้ เมื่อจะขึ้นตติยฌาน ก็เห็นโทษของวิจารว่ามีสภาพที่หยาบกว่า ปีติ สุข เอกัคคตา จึงละวิจารอันเป็น องค์ฌานที่มีสภาพหยาบนั้นเสีย ให้สมกับตติยฌานอันเป็นฌานที่ประณีตกว่าทุติยฌาน จึงเริ่มต้นด้วยการเพ่งปฏิภาคนิมิตจนกว่าตติยฌานจิตจะเกิดที่ตติยฌานละวิจารได้ นอกจากหลักที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ น่าจะเป็นดังนี้ด้วยคือ ปฐมฌานได้เผาได้ข่มความลังเลใจคือวิจิกิจฉามาแล้ว และทุติยฌานก็ได้เผาได้ข่มซ้ำอีกต่อหนึ่งด้วย ข่มวิจิกิจฉาเสียจนอยู่มือแล้ว ในการทำตติยฌานจึงไม่ต้องอาศัยวิจารมาเผาข่มวิจิกิจฉานิวรณ์นี้อีก


๔. จตุตถฌาน มีองค์ฌานเพียง ๒ เท่านั้น โดยละ ปีติ ได้อีก คงเหลือแต่ สุข กับ เอกัคคตา ตติยฌานลาภีบุคคลผู้มีวสีในตติยฌานแล้ว ก็พิจารณาเห็นว่าปีติที่เป็นองค์ฌานองค์หนึ่งนั้น เป็นความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจจนซาบซ่านไปทั่วทั้งกายและใจนี้ มีอาการโน้มเอียงไปในทางที่มีความลิงโลดใจอยู่ นับได้ว่ามีสภาพเป็นของหยาบอยู่ เมื่อต้องการฌานที่ประณีตขึ้นไปอีกก็ไม่ควรที่จะติดใจในของหยาบเช่นนี้ในเวลาที่เจริญเพื่อขึ้นจตุตถฌาน จึงละปีติเสีย ดังนั้น เมื่อจตุตถฌานจิตเกิด จึงเหลือองค์ฌานเพียง ๒ องค์ คือ สุขกับเอกัคคตา


๕. ปัญจมฌาน มีองค์ฌานเพียง ๒ เท่ากันกับจตุตถฌาน แต่ไม่เหมือกันกับจตุตถฌาน กล่าวคือ จตุตถฌานมีสุขกับเอกัคคตาเป็นองค์ฌาน ส่วนปัญจมฌานนี้มีอุเบกขากับเอกัคคตาเป็นองค์ฌาน

สุขที่เป็นองค์ฌานนี้ หมายถึงสุขใจ คือ โสมนัสเวทนานั่นเอง ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าโสมนัสเวทนาในฌานเป็นของหยาบกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่าอุเบกขาเวทนาในฌาน เมื่อจตุตถฌานลาภีบุคคลมีวสีในจตุตถฌานแล้ว พิจารณาเห็นว่าปัญจมฌานเป็นฌานที่ประณีตกว่าจตุตถฌาน จึงได้ละสุขเสีย มาตั้งอยู่ในความวางเฉยต่อความสุข คืออุเบกขา ดังนั้นขณะที่เกิดปัญจมฌานจิตจึงพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขากับเอกัคคตา
ดังนี้จะเห็นได้ว่า ประเภทแห่งฌาน ๕ หรือ รูปาวจรจิตมี ๕ ฌานนั้นแตกต่างกันที่องค์ฌานแต่ละฌานแต่ละชั้น ซึ่งมีจำนวนมากน้อยลดหลั่นกันเป็นข้อสำคัญ ส่วนอารมณ์นั้นอาจจะเป็นอารมณ์อย่างเดียวกัน ไม่แตกต่างกันก็ได้


อารมณ์ที่ให้เกิดฌาน

อารมณ์ที่ใช้เพ่งให้เกิดฌานจิตนั้น เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน แสดงไว้โดยละเอียดในปริจเฉทที่ ๙ ในที่นี้ขอยกมากล่าว โดยย่อพอเป็นเค้าที่เกี่ยวแก่ฌานจิตนี้ คือ
ปฐมฌาน มีอารมณ์ได้ ๒๕ อย่าง ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ และ พรหมวิหาร ๓ ( พรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา )
ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน มีอารมณ์ได้ ๑๔ อย่าง ได้แก่ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ และ พรหมวิหาร ๓
ปัญจมฌาน มีอารมณ์ได้ ๑๒ อย่าง ได้แก่ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ และอุเบกขาพรหมวิหาร ๑


ฌานจตุกนัย

ตามที่กล่าวมาแล้วเป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระอภิธรรม ซึ่งจำแนกประเภทแห่งฌานออกเป็นฌาน ๕ เรียกว่า ฌานปัญจกนัย
แต่ตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฎก คือตามแนวแห่งพระสูตร จำแนกประเภทแห่งฌานออกเป็นฌาน ๔ เรียกว่า ฌานจตุกนัย ดังนี้

 

ปฐมฌาน

มีองค์ฌาน

คือ

วิตก

วิจาร

ปีติ

สุข

เอกัคคตา

ทุติยฌาน

"

"

_

_

ปีติ

สุข

เอกัคคตา

ตติยฌาน

"

"

_

_

_

สุข

เอกัคคตา

จตุตถฌาน

"

"

_

_

_

อุเบกขา

เอกัคคตา

 


น้อยกว่าตามนัยแห่งพระอภิธรรม ๑ ฌาน โดยทุติยฌาน ละได้ทั้งวิตกและวิจารพร้อมกันเลย เท่ากับรวมทุติยฌานกับตติยฌาน ทางปัญจกนัย ๒ ฌาน รวมกันเป็นฌานเดียว ซึ่งทางจตุกนัยจัดเป็นทุติยฌานเท่านั้นเอง ฌานอื่นๆ นอกนั้นก็ทำนองเดียวกัน
ส่วนทางพระอภิธรรมที่จำแนกฌานเป็นปัญจกนัย ก็เพื่อให้ตรงตามสภาวะ ตรงตามประเภทจิต และตรงตามจำนวนของจิตที่มีอยู่ และที่ทุติยฌานละได้แต่เพียงวิตกอย่างเดียว ต่อเมื่อตติยฌานจึงจะละวิจารได้อีกนั้นก็เพราะเป็น มันทบุคคล คือผู้รู้ช้า จึงละได้เพียงฌานละหนึ่งองค์ฌานเท่านั้น แต่ถ้าเป็น ติกขบุคคล คือผู้รู้เร็ว 
ก็ละได้ทีเดียวทั้งวิตก วิจาร เหมือนกัน

 

 

เหตุนี้ทางพระสูตรจึงแสดงว่า รูปฌานมี ๔ อรูปฌานมี ๔ รวมเป็นฌาน ๘ และเมื่อกล่าวถึงการเข้าฌานสมาบัติจึง กล่าวว่าสมาบัติ ๘
ทางพระอภิธรรมแสดงว่า รูปฌานมี ๕ อรูปฌานมี ๔ รวมเป็นฌาน ๙ สมาบัติ ๙
ฌานปัญจกนัยตามแนวแห่งพระอภิธรรมที่กล่าวถึงอยู่นี้ มีฌาน ๕ และเมื่อจำแนกโดยชาติเภท คือตามประเภทแห่งชาติ มี กุศล วิบาก กิริยา แล้ว ก็มี รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ รวม ๑๕ ดวง มีรายละเอียดดังต่อ ไปนี้


 

รูปาวจรกุศลจิต


รูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่บำเพ็ญจนถึงรูปฌาน เป็นจิตที่ตกแต่งบุญกุศลไว้เพื่อรับสมบัติ คือ เป็นรูปพรหมในพรหมโลก มีจำนวน ๕ ดวง คือ


๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ปฐมฌานกุสลจิตฺตํ

รูปาวจรกุศลดวงที่ ๑ จิตเกิดพร้อมด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌานกุศล


๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ทุติยฌานกุสลจิตฺตํ

รูปาวจรกุศลดวงที่ ๒ จิตเกิดพร้อมด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌานกุศล


๓. ปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ตติยฌานกุสลจิตฺตํ

รูปาวจจรกุศลดวงที่ ๓ จิตเกิดพร้อมด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นตติยฌานกุศล


๔. สุเขกคฺคตา สหิตํ จตุตฺถฌานกุศลจิตฺตํ

รูปาวจรกุศลดวงที่ ๔ จิตเกิดพร้อมด้วย สุข เอกัคคตา เป็นจตุตถฌานกุศล 


๕. อุเปกฺเขกคฺคตา สหิตํ ปญฺจมฌานกุสลจิตฺตํ

รูปาวจรกุศลดวงที่ ๕ จิตเกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นปัญจมฌานกุศล

 


รูปาวจรวิบากจิต


รูปาวจรวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เสวยสมบัติซึ่งรูปาวจรกุศลจิตได้ตกแต่งมาให้ เป็นจิตของรูปพรหมในพรหมโลกจำนวน ๕ ดวง อันเป็นจำนวนที่เท่ากันกับรูปาวจรกุศลจิต

 

รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง คือ


๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ปฐมฌานวิปากจิตฺตํ

รูปาวจรวิบากดวงที่ ๑ จิตเกิดพร้อมด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌานวิบาก


๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ทุติยฌานวิปากจิตฺตํ

รูปาวจรวิบากดวงที่ ๒ จิตเกิดพร้อมด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌานวิบาก


๓. ปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ตติยฌานวิปากจิตฺตํ

รูปาวจจรวิบากดวงที่ ๓ จิตเกิดพร้อมด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นตติยฌานวิบาก


๔. สุเขกคฺคตา สหิตํ จตุตฺถฌานวิปากจิตฺตํ

รูปาวจรวิบากดวงที่ ๔ จิตเกิดพร้อมด้วย สุข เอกัคคตา เป็นจตุตถฌานวิบาก 


๕. อุเปกฺเขกคฺคตา สหิตํ ปญฺจมฌานวิปากจิตฺตํ

รูปาวจรวิบากดวงที่ ๕ จิตเกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นปัญจมฌานวิบาก

 


รูปาวจรกิริยาจิต


รูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตโดยเฉพาะของพระอรหันต์ที่เข้ารูปฌานตามสำนวนเก่าอธิบายว่า รูปาวจรกุศลกับรูปาวจร- กิริยาก็เหมือนกัน ต่างแต่ที่เกิด รูปาวจรกุศลเกิดในสันดานปุถุชนและเสกขบุคคล ( เสกขบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ) ส่วนรูปาวจรกิริยาเกิดในสันดาน พระขีณาสพ ( พระขีณาสพ หรือ อเสกขบุคคล คือ พระอรหันต์ ) รูปาวจรกิริยาจิต มีจำนวน ๕ ดวง คือ


๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ปฐมฌานกิริยาจิตฺตํ

รูปาวจรกิริยาดวงที่ ๑ จิตเกิดพร้อมด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌานกิริยา


๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ทุติยฌานกิริยาจิตฺตํ

รูปาวจรกิริยาดวงที่ ๒ จิตเกิดพร้อมด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌานกิริยา


๓. ปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ตติยฌานกิริยาจิตฺตํ

รูปาวจจรกิริยาดวงที่ ๓ จิตเกิดพร้อมด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นตติยฌานกิริยา


๔. สุเขกคฺคตา สหิตํ จตุตฺถฌานกิริยาจิตฺตํ

รูปาวจรกิริยาดวงที่ ๔ จิตเกิดพร้อมด้วย สุข เอกัคคตา เป็นจตุตถฌานกิริยา 


๕. อุเปกฺเขกคฺคตา สหิตํ ปญฺจมฌานกิริยาจิตฺตํ

รูปาวจรกิริยาดวงที่ ๕ จิตเกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นปัญจมฌานกิริยา

 


อรูปาวจรจิต

อรูปาวจรจิต เป็นจิตที่ถึงซึ่งอรูปฌาน เป็นจิตที่โดยมากท่องเที่ยว อยู่ในอรูปภูมิ มี

คาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๙ แสดงว่า


๙. อาลมฺพนปฺปเภเทน จตุธารุปฺปมานสํ
ปุญฺญปากฺริยาเภทา ปุน ทฺวามสธา ฐิตํ ฯ


แปลความว่า อรูปาวจรจิตนั้น กล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์ ก็มี ๔ แล้วจำแนกตามประเภทแห่งชาติ 
กุศล วิบาก กิริยา อีก จึงเป็น ๑๒ ดวง


มีคำอธิบายว่า อรูปาวจรจิต กล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์แล้วมี ๔ คือ
๑. มี กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นอารมณ์ หมายถึงอากาศที่เพิกกสิณแล้ว เป็นอากาศที่ว่างเปล่าไม่มีที่สิ้นสุดเป็น อารมณ์ โดยบริกรรมว่า อากาโส อนนฺโต อากาศไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยมี กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นอารมณ์นี้ชื่อว่า อากาสานัญจายตนฌาน บางทีเรียกว่า ปฐมารูปจิต คือ ปฐมอรูปจิต เป็นอรูปาวจรจิตชั้นต้น
๒. มี อากาสานัญจายตนจิต เป็นอารมณ์ หมายถึงวิญญาณคือตัวรู้ หน่วงเอาตัวที่รู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดนั้นแหละ เป็นอารมณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า เพ่งหรือหน่วงเอาปฐมารูปจิตเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า วิญฺญาณํ อนนฺตํ วิญญาณ ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยมาอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌาน บางทีก็เรียกว่า ทุติยารูปจิต คือ ทุติยอรูปจิต เป็น อรูปาวจรชั้นที่ ๒
๓. มี นัถติภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์ คือสภาพที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ มีความหมายว่า เมื่อได้เจริญวิญญาณัญจายตนฌานบ่อยๆ จนชำนาญ ก็จะรู้สึกขึ้นมาว่า วิญญาณ คือตัวรู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดก็ดี แม้แต่อากาศที่ไม่มีที่ สิ้นสุดนั้นเองก็ดี จะมีอะไรแม้แต่สักหน่อยหนึ่งก็หาไม่ จึงได้มาเพ่งถึงความไม่มี โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นิดหนึ่งก็ไม่มีหน่อย หนึ่งก็ไม่มีจนกว่าฌานจะเกิดขึ้น ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยมี นัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า อากิญจัญญายตนฌาน บางทีก็เรียกว่า ตติยารูปจิต คือ ตติยอรูปจิต เป็นอรูปาวจรจิตชั้นที่ ๓
๔. มี อากิญจัญญายตนจิต เป็นอารมณ์ คือหน่วงเอาตติยารูปจิต เป็นอารมณ์กำหนดเอาความปราณีตละเอียดของตติยรูปจิตเป็นอารมณ์โดยความรู้สึกว่า สัญญาคือจิตที่รู้นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มีนั้นจะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ เพราะยังมีตัว รู้ว่าไม่มีอยู่ จะว่ามีก็ไม่เชิง เพราะสัญญานั้นปราณีตละเอียดอ่อนและสงบมากเหลือเกิน จนแทบจะไม่รู้ว่ามี ดังนั้นจึงกำหนด เพ่งธรรมชาติที่สงบที่ปราณีต โดยบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ สงบหนอ ประณีตหนอ จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยอากิญจัญญายตนจิตเป็นอารมณ์เช่นนี้ ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งแปลว่าฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาละเอียด หรือ ฌานที่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่ามีสัญญาก็ไม่เชิง บางทีเรียกฌานนี้ว่าจตุตถารูปจิต คือจตุตถอรูปจิตเป็นอรูปาวจรจิตชั้นที่ ๔ อันเป็นชั้นสูงสุดเพียงนี้


อรูปาวจรจิต อรูปจิต อรูปฌาน ซึ่งมี ๔ ชั้นหรือ ๔ ฌานนี้ แตกต่างกันด้วยประเภทแห่งอารมณ์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ไม่ใช่ต่างกันด้วยองค์แห่งฌาน เพราะองค์ฌานของอรูปฌานนี้ คงมีองค์ฌานเพียง ๒ คือ อุเบกขา กับ เอกัคคตา เท่ากัน และเหมือนกันทั้ง ๔ ชั้น
อนึ่ง องค์ฌานของอรูปฌานนี้ ก็เท่ากันและเหมือนกันกับองค์ฌานของรูปาวจรปัญจมฌานด้วย ดังนั้นจึงจัดว่าหรือนับว่า อรูปฌานเป็นปัญจมฌาน เพราะองค์ฌานเท่ากันและเหมือนกันนั่นเอง


การจำแนกอรูปฌาน ๔ โดยชาติ คือ อรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรวิบากจิต และ อรูปาวจรกิริยาจิต ก็มีอย่างละ ๔ คือ

 


อรูปาวจรกุศลจิต

 

อรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่บำเพ็ญจนถึงอรูปฌาน เป็นจิตที่ตกแต่งบุญกุศลไว้เพื่อรับสมบัติ ก็มีอย่างละ ๔ คือ
๑. อากาสานัญจายตนกุศลจิต
๒. วิญญาณัญจายตนกุศลจิต
๓. อากิญจัญญายตนกุศลจิต
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต

 


อรูปาวจรจิตวิบากจิต

 

อรูปาวจรวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เสวยสมบัติซึ่งอรูปาวจรกุศลจิตได้ตกแต่งมาให้ เป็นจิตของอรูปพรหมในพรหมโลก มีจำนวน ๔ ดวง อันเป็นจำนวนที่เท่ากันกับอรูปาวจรกุศลจิต 

อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง คือ

๑. อากาสานัญจายตนวิบากจิต

๒. วิญญาณัญจายตนวิบากจิต
๓. อากิญจัญญายตนวิบากจิต
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิต

 


อรูปาวจรกิริยาจิต

 

อรูปาวจกิริยาจิต เป็นจิตโดยเฉพาะของพระอรหันต์ที่เข้าอรูปฌานมีสำนวนเก่าอธิบายว่า อรูปาวจรกุศลกับอรูปาวจรกิริยานั้นเหมือนกันต่างแต่ที่เกิด อรูปาวจรกุศลเกิดในสันดานปุถุชน และเสกขบุคคล ส่วนอรูปาวจรกิริยาเกิดในสันดาน อเสกขบุคคล (คือ พระอรหันต์)

อรูปาวจรกิริยาจิต มีจำนวน ๔ ดวง คือ
๑. อากาสานัญจายตนกิริยาจิต
๒. วิญญาณัญจายตนกิริยาจิต
๓. อากิญจัญญายตนกิริยาจิต
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต

 
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า รูปาวจรจิตนั้น อารมณ์อาจจะเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่องค์ฌาน กล่าวคือ องค์ฌานไม่เท่ากัน
ส่วนอรูปาวจรจิตนั้น องค์ฌานเท่ากัน และเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่อารมณ์ไม่เหมือนกัน

 


มหัคคตจิต


ใน อัฐสาลินีอรรถกถา แสดงว่า


มหนฺตภาวํ คตาติ มหคฺคตา

แปลเป็นใจความว่า ธรรมชาติที่ถึงซึ่งความเป็นใหญ่นั้น เรียกว่า มหัคคตะ

 
ที่ว่า ถึงซึ่งความเป็นใหญ่ นั้น มีอรรถาธิบายว่า 
ก. ข่มกิเลสไว้ได้นาน ชนิดที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
ข. มีผลอันไพบูลย์ คือมีพรหมวิหารธรรม ได้เสวยสมบัติในพรหมโลก
ค. เกิดขึ้นสืบต่อกันได้เป็นเวลานาน เป็นรูปพรหม อรูปพรหมที่อายุยืนยาวกว่าสัตว์อื่นทั้งหลาย
จิตที่ประกอบด้วยมหัคคตธรรมนี้เรียกว่า มหัคคตจิต มี ๒๗ ดวง คือ รูปาวจรจิต ๑๕ และ อรูปาวจรจิต ๑๒


จำแนกมหัคคตจิตโดยชาติเภทเป็นต้น

๑. ชาติเภท มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง เป็นชาติกุศล
มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง เป็นชาติวิบาก
มหัคคตกิริยาจิต ๙ ดวง เป็นชาติกิริยา
๒. ภูมิเภท มหัคคตจิต ๒๗ ดวงนั้น รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง เป็นรูปาวจรภูมิ คือเป็นจิตชั้นรูปาวจร อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง เป็นอรูปาวจรภูมิ คือเป็นจิตชั้นอรูปาวจร
๓. เวทนาเภท มหัคคตจิต ๒๗ ดวง มีเวทนา ๒ อย่าง คือ รูปาวจรปฐมฌาน ๓ ดวง รูปาวจรทุติยฌาน ๓ ดวง รูปาวจรตติยฌาน ๓ ดวง รูปาวรจตุตถฌาน ๓ ดวง รวมรูปาวจรจิต ๑๒ ดวงนี้ เป็นโสมนัสเวทนา
รูปาวจรปัญจมฌาน ๓ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง รวมจิต ๑๕ ดวงนี้เป็นอุเบกขาเวทนา
๔. เหตุเภท มหัคคตจิตทั้ง ๒๗ ดวง เป็นสเหตุกจิต เป็นจิตที่มีสัมปยุตตเหตุ มีเหตุประกอบทั้ง ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
๕. สังขารเภท มหัคคตจิต ๒๗ ดวง เป็นสสังขาริก เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยสิ่งชักจูง กล่าวคือ
ต้องเจริญสมถภาวนาด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ฌานจิตจึงจะเกิด จึงถือว่ามหากุศลญาณสัมปยุตตจิตนั่นแหละ เป็นสิ่งชักจูงให้เกิดกุศลฌานจิต
กุศลฌานจิต ซึ่งเกิดขึ้นในมรณาสันนวิถี คือวิถีจิตที่จะตาย เป็นสิ่งชักจูงให้เกิดวิบากฌานจิต
มหากิริยาญาณสัมปยุตต เป็นสิ่งที่ชักจูงให้กิริยาฌานจิตเกิด ทำนองเดียวกับมหากุศลญาณสัมปยุตตชักจูงให้เกิด กุศลฌานจิต
๖. สัมปยุตตเภท มหัคคตจิตทั้ง ๒๗ ดวง เป็นญาณสัมปยุตต เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา
๗. โสภณเภท มหัคคตจิตทั้ง ๒๗ ดวง เป็นโสภณจิต
๘. โลกเภท มหัคคตจิตทั้ง ๒๗ ดวง ก็ยังเป็นโลกียจิต หาใช่โลกุตตรจิตไม่

๙. ฌานเภท มหัคคตจิตทั้ง ๒๗ ดวง เป็นฌานจิต เป็นจิตที่เป็นฌานที่ได้ฌานที่ถึงฌาน

 

โลกุตตรจิต


โลกุตตรจิต มาจากคำว่า โลก + อุตตร + จิต
โลก หมายถึงโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก ( กามภูมิ ) รูปโลก ( รูปภูมิ ) และ อรูปโลก(อรูปภูมิ) ก็ได้ อีกนัยหนึ่ง คำว่า โลก หมายถึงการเกิดดับ ก็ได้
อุตตร มีความหมายว่า เหนือ หรือ พ้น

ดังนั้นโลกุตตรจิตจึงเป็นจิตที่เหนือโลกทั้ง ๓ เป็นจิตที่พ้นจากโลกทั้ง ๓ ซึ่งมิได้หมายความว่า จิตนี้อยู่เหนือโลกหรือ จิตนี้พ้นไปจากโลก แต่หมายความว่าจิตนี้มีอารมณ์ที่เหนือโลกมีอารมณ์พ้นไปจากโลก คือโลกุตตรจิตนี้มีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งนิพพานเป็นธรรมที่พ้นจากโลกเป็นธรรมที่เหนือโลก
โลกุตตรจิตเป็นจิตที่พ้นจากการเกิดดับ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจิตนี้ไม่ได้เกิดดับ จิตนี้คงเกิดดับตามสภาพของจิตแต่เป็นจิตที่มีอารมณ์อันพ้นจากการเกิดดับ อารมณ์นั้นคือนิพพาน ซึ่งนิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีการเกิดดับ ธรรมทั้งหลายในโลกทั้ง ๓ ย่อมเกิดดับทั้งสิ้น แต่นิพพานเป็นธรรมที่ไม่เกิดดับเป็นธรรมที่พ้นจากการเกิดดับ นิพพานจึงเป็นธรรมที่พ้นจากโลก เป็นธรรมที่เหนือโลก
อีกนัยหนึ่ง โลกุตตรจิตมีความหมายว่าเป็นจิตที่กำลังประหารและประหารแล้วซึ่งกิเลส หมายความว่าโลกุตตรจิตหรือ มัคคจิตนั้นกำลังทำการประหารกิเลสอยู่ โลกุตตรวิบากจิตหรือผลจิต เป็นจิตที่เสวยผลที่มัคคจิตได้ประหารกิเลสนั้นแล้ว เป็นการประหารได้อย่างเด็ดขาด อันทำให้กิเลสนั้นๆ หมดสิ้นสูญเชื้อไปโดยสิ้นเชิง จนไม่สามารถที่จะเกิดมาก่อความเศร้าหมอง เร่าร้อนอีกต่อไปได้เลย การประหารเช่นนี้แหละที่เรียกว่าสมุจเฉทปหาน
มีคาถาสังคหะ เป็นคาถาที่ ๑๐ แสดงจำนวนละประเภทของโลกุตตรจิตไว้ดังนี้


๑๐. จตุมคฺคปฺปเภเทน จตุธา กุสลนฺตถา
ปากนฺตสฺส ผลตฺตาติ อฏฺฐธานุตฺตรํ มตํฯ


แปลความว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า โลกุตตรอันประเสริฐยิ่งนั้นมี ๘ คือ โลกุตตรกุศลจิต ซึ่งเป็นประเภท อริยมัคค ๔ และ โลกุตตรวิบาก ซึ่งเป็นผลของ


โลกุตตรกุศลจิต อีก ๔
อธิบายว่า โลกุตตรจิตนั้นมี ๒ ชาติ คือ
ชาติกุศล เรียกว่า โลกุตตรกุศลจิต ซึ่งเป็นประเภทอริยมัคค จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มัคคจิต มีจำนวน ๔ ดวง
ชาติวิบาก เรียกว่า โลกุตตรวิบากจิต อันเป็นผลของโลกุตตรกุศลจิตจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ผลจิต มีจำนวน ๔ ดวงเหมือนกัน จึงรวมเป็น โลกุตตรจิต ๘ ดวง 
จำง่ายๆ สั้นๆ ว่า มัคคคือกุศล ผลคือวิบาก ซึ่งหมายความว่า มัคคจิตนั้นเป็นชาติกุศล ผลจิตนั้นเป็นชาติวิบาก 
มีข้อควรสังเกตอยู่ว่า โลกุตตรจิตนี้มีแต่โลกุตตรกุศลและโลกุตตรวิบาก ไม่มีโลกุตตรกิริยา ด้วยเลย ที่โลกุตตรจิตไม่มี โลกุตตรกิริยานั้น เพราะโลกุตตรกิริยาถ้ามีก็คือมีโลกุตตรกุศลอันเกิดในสันดานพระอรหันต์ทำนองเดียวกับมหากิริยา และมหัคคตกิริยาก็คือ มหากุศลและมหัคคตกุศล อันเกิดในสันดานพระอรหันต์นั่นเอง


อันว่า มหากุศล หรือ มหัคคตกุศลนั้น สามารกเกิดได้บ่อยๆ เกิดได้เนืองๆ ดังนั้นจึงเกิดในสันดานพระอรหันต์ได้เสมอ เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นมหากิริยาหรือมหัคคตกิริยาไป ไม่เหมือนกับมัคคจิตซึ่ง เกิดได้เพียงมัคคละครั้งเดียว คือ โสดาปัตติมัคคก็เกิด ได้ครั้งเดียว สกาทาคามิมัคค อนาคามิมัคค ตลอดจนอรหัตตมัคค ก็เกิดได้มัคคละครั้งเดียวเท่านั้น เพราะมัคคจิตนั้นเกิดขึ้น เพื่อประหารกิเลสและประหารเป็นสมุจเฉทเสียด้วย 
เมื่อได้เป็นพระอรหันต์ซึ่งได้ประหารกิเลสจนหมดจดสิ้นเชิง ไม่มีกิเลส เหลือเลยแม้แต่น้อยแล้ว ก็ไม่ต้องมีมัคคจิตเกิดขึ้นมาประหารอะไรอีก ดั่งนี้จึงไม่มีโลกุตตรกิริยาจิต


การประหารกิเลส

กิเลส คือ ธรรมที่เศร้าหมองและเร่าร้อน เมื่อกิเลสเกิดพร้อมกับจิตใดหรือประกอบกับจิตใดแล้ว ก็ทำให้จิตนั้นเศร้า หมองและเร่าร้อนไปด้วย กิเลสนี้ประกอบเฉพาะอกุศลจิตเท่านั้น ดังนั้นการประหารกิเลสก็เท่ากับประหารอกุศลจิตนั่นเอง
ในพระอภิธัมมัตถสังคหะปริเฉทที่ ๗ จำแนกกิเลสออกเป็นถึง ๙ กอง โดยนัยต่างๆ กัน จะกล่าวในที่นี้ก็จะสับสนไป ในชั้นนี้พึงทราบแต่เพียงว่ากิเลสนี้แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ

ก. วิติกกมกิเลส ได้แก่กิเลสที่เกิดขึ้นชั้นนอก หมายความว่ากิเลสจำพวกนี้ได้ล่วงออกมาแล้วถึงกายทวารหรือวจีทวาร คือถึงกับลงมือกระทำการทุจริตทางกายหรือทางวาจาแล้ว กิเลสชนิดนี้ระงับไว้ได้ด้วยศีลเป็นการระงับไว้ได้ชั่วคราวชั่วขณะ ที่ยังรักษาศีลอยู่ การระงับ การข่ม หรือการประหารเช่นนี้เรียกว่า ตทังคปหาน หมายความว่าขณะใดที่จิตเป็นมหากุศลอยู่ กิเลสเหล่านี้ก็สงบระงับไปชั่วคราวชั่วขณะ ไม่สามารถประกอบกับจิตก่อให้เกิดกายทุจริตหรือวจีทุจริตได้ในชั่วขณะนั้น
ข. ปริยุฏฐานกิเลส ได้แก่กิเลสที่อยู่ภายใน หมายความว่ากิเลสจำพวกนี้เกิดอยู่ในมโนทวาร คือคิดอยู่ในใจเท่านั้น ไม่ถึงกับแสดงออกทางกายหรือทางวาจา ตัวเองรู้ได้ ผู้อื่นบางทีก็รู้บางทีก็ไม่รู้ กิเลสชนิดนี้ข่มไว้ได้ด้วยสมาธิ คือ ฌาน ข่มไว้หรือระงับไว้ได้เป็นเวลานาน เรียกว่า วิกขัมภนปหาน ข่มไว้ได้นานตราบเท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม
ค. อนุสยกิเลส ได้แก่กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดาน ซึ่งตนเองและผู้อื่นก็ไม่สามารถรู้ได้ กิเลสจำพวกนี้ต้องประหาร ด้วยปัญญา อันหมายถึงมัคคจิต ซึ่งมัคคจิตสามารถประหาร
ได้จนหมดสิ้นสูญเชื้อโดยสิ้นเชิงที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน


สรุปได้ว่า
วิติกกมกิเลส ประหารด้วยมหากุศลจิต เป็นตทังคปาน
ปริยุฏฐสนกิเลส ประหารด้วยมหัคคตกุศลจิต เป็นวิกขัมภนปหาน
อนุสยกิเลส ประหารด้วยมัคคจิต เป็นสมุจเฉทปหาน

 


โลกุตตรกุศลจิต หรือ มัคคจิต

โลกุตตรกุศลจิต หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า มัคคจิต เป็นจิตที่กำลังพ้นจากโลก เป็นจิตที่กำลังประหารกิเลส มีจำนวน ๔ ดวง คือ
๑. โสดาปัตติมัคคจิต
๒. สกทาคามิมัคคจิต
๓. อนาคามิมัคคจิต
๔. อรหันตตมัคคจิต

 

โลกุตตรวิบากจิต หรือ ผลจิต

โลกุตตรวิบากจิต หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ผลจิต เป็นจิตที่เป็นผลแห่งโลกุตตรกุศลจิต

เป็นจิตที่พ้นแล้วจากโลก เป็นจิตที่ได้ประหารแล้วซึ่งกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน

เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นและดับแล้ว ผลจิตก็จะเกิดติดต่อกันในทันทีทันใดนั้นเอง โดยไม่มีระหว่างคั่น คือไม่มีจิตใดมาคั่นเลย ดังนั้นจึงเรียกมัคคจิตว่า อกาลิโก เพราะเป็นเหตุให้ผลจิตเกิดขึ้นในปัจจุบันทันที ไม่ต้องรอกาลรอเวลาเลย
ผลจิตมีจำนวน ๔ ดวง คือ
๑. โสดาปัตติผลจิต
๒. สกทาคามิผลจิต
๓. อนาคามิผลจิต
๔. อรหัตตผลจิต


โสดาปัตติมัคคจิต คู่กับ โสดาปัตติผลจิต

โสดาปัตติมัคคจิต มาจากคำว่า โสต ( กระแส คือ ไหล ) + อาปัตติ ( ถึงครั้งแรก ) + มัคค ( ทาง ) + จิต รวมแปล ความว่า จิตที่ถึงครั้งแรกซึ่งทางอันเป็นกระแสแห่งพระนิพพาน หมายความว่าตกกระแสที่ไหลไปสู่พระนิพพานเหมือนดังกระแส น้ำไหลสู่มหาสมุทร
วจนตฺถ คือ เนื้อความของคำ หมายถึงคำจำกัดความ หรือความหมายของคำนั้น วะจะนัตตถะของโสดาปัตติมัคคจิตมีว่า


๑. อริยมคฺคโสตสฺส อาทิโต ปชฺชนํ เอตสฺสาติ โสตาปตฺติ ฯ

การถึงกระแสอริยมัคคอันไหลไปสู่พระนิพพานครั้งแรก ของบุคคลนั้นมีอยู่ ดังนั้นชื่อว่า โสตาปัตติ


๒. ตสฺส มคฺโค โสตาปตฺติมคฺโค ฯ

มัคคแห่งบุคคลผู้ถึงกระแสอริยมัคค อันไหลไปสู่พระนิพพานครั้งแรก ชื่อ โสตาปัตติมัคค


๓. เตน สมฺปยุตฺตํ จิตฺตํ โสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ ฯ

จิตที่สัมปยุตตด้วยโสดาปัตติมัคคนั้น ชื่อว่า โสดาปัตติมัคคจิต


โสดาปัตติมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าโสดาปัตติมัคคบุคคล
โสดาปัตติผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าโสดาปัตติผลจิต
โสดาปัตติผลบุคคลนี่แหละเรียกว่า พระโสดาบัน ได้ชื่อว่า เสกขบุคคลเป็นบุคคลที่

จะต้องศึกษากันอีกต่อไป หมายความว่า จะต้องปฏิบัติต่อไปจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ จึงจะไม่ต้องศึกษาต่อไปอีกแล้วจึงได้ ชื่อว่า อเสกขบุคคล
โสดาปัตติมัคคจิต เป็นจิตที่พ้นจากกามโลกเฉพาะส่วนที่เป็นอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย และดิรัจฉาน
โสดาปัตติผลจิต เป็นจิตที่พ้นแล้วจากอบายภูมิโดยเด็ดขาด หมายความว่า พระโสดาบันเมื่อจุติแล้ว จะไม่ปฏิสนธิในอบายภูมิอีกเลย เพราะประหารจิตชั่วจิตบาปที่เป็นเหตุให้ต้องเกิดในอบายได้แล้ว
โสดาปัตติมัคคจิต เป็นจิตที่ประหารกิเลส ได้กล่าวมาแล้วว่า กิเลสเป็นตัวการที่มาประกอบและก่อให้เกิดอกุศลจิต ดังนั้นในที่นี้จะได้กล่าวถึงอกุศลจิตที่ถูกประหารนั้นเลยทีเดียว คือโสดาปัตติมัคคจิตกำลังประหารจิตโลภที่เป็นทิฏฐิสัมปยุตต ๔ ดวง และโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต ๑ ดวง รวมกำลังประหาร
อกุศลจิต ๕ ดวง โสดาปัตติผลจิต เป็นจิตที่ประหารแล้วซึ่งอกุศลจิต ๕ ดวงนั้นได้โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน
กล่าวโดยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ โสดาปัตติมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังประหารอกุศลกรรมบถ ๕ ประการ คือ ปาณาติบาต ๑, อทินนาทาน ๑, กาเมสุมิจฉาจาร ๑, มุสาวาท ๑ และ มิจฉาทิฏฐิ ๑
โสดาปัตติผลจิต เป็นจิตที่ประหารแล้วซึ่งอกุศลกรรมบถ ๕ ประการนั้นได้โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน


พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้โดยตรงว่า พระโสดาบันนั้นจำแนกได้เป็น ๓ จำพวก คือ
๑. เอกพิชีโสดาบัน เป็นพระโสดาบันที่มีพืชกำเนิดอีกเพียงหนึ่งหมายความว่า พระโสดาบันผู้นั้นจะต้องปฏิสนธิเป็น มนุษย์หรือเทวดาอีกชาติเดียวก็บรรลุอรหัตตผล

๒. โกลังโกลโสดาบัน คือพระโสดาบันผู้ต้องปฏิสนธิเป็นมนุษย์หรือเทวดาอีกในระหว่าง ๒ ถึง ๖ ชาติ จึงจะบรรลุ อรหัตตผล
๓. สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือพระโสดาบันผู้ต้องปฏิสนธิอีกถึง ๗ ชาติ จึงจะบรรลุอรหัตตผลที่แตกต่างกันเช่นนี้ เป็นเพราะอินทรีย์แก่กล้ายิ่งหน่อยกว่ากัน จึงทำให้ความมุ่งมั่น

ในการบรรลุอรหัตตมัคคอรหัตตผลนั้นเนิ่นนานกว่ากันไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี พระโสดาบันก็ไม่ต้องปฏิสนธิในชาติที่ ๘ เพราะ แม้จะเป็นผู้เพลิดเพลินมีความประมาทอยู่บ้าง ก็ต้องบรรลุอรหัตตผลในชาติที่ ๗ แน่นอน


สกทาคามิมัคคจิต คู่กับ สกทาคามิผลจิต

สกทาคามิมัคคจิต มาจากคำว่า สกึ ( ครั้งเดียว ) + อนาคามี ( กลับมา ) + มัคค ( ทาง ) + จิต รวมแปลความว่า จิตที่ถึงซึ่งทางที่จะกลับมาอีกครั้งเดียวมีความหมายว่า เป็นผู้ที่จะกลับมาปฏิสนธิในกามภูมิอีกครั้งเดียวเท่านั้น
วะจะนัตถะ ของ สกาทาคามิมัคคจิต มีว่า


๑. สกึ เอกวารํ ปฏิสนฺธิวเสน อิมํ มนุสฺสโลกํ อาคจฺฉตีติ สกทาคามี ฯ

พระอริยบุคคลที่กลับมาสู่มนุษย์โลกนี้ด้วยอำนาจ ปฏิสนธิครั้งเดียวชื่อว่า สกทาคามี


๒. ตสฺส มคฺโค สกทาคามิมคฺโค ฯ

มัคคของพระสกทาคามีนั้นชื่อว่า สกทาคามิมัคค


๓. เตน สมฺปยุตฺตํ จิตฺตํ สกทาคามิมคฺคจิตฺตํ ฯ

จิตที่สัมปยุตตด้วยสกทาคามิมัคคนั้นชื่อว่า สกทาคามิมัคคจิต
สกทาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคลลนั้นได้ชื่อว่า สกทาคามิมัคคบุคคล
สกทาคามิผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่า สกาทาคามิผลบุคคล
สกทาคามิผลบุคคลนี่แหละที่เรียกว่า พระสกทาคามี บางทีเรียกว่า พระสกิทาคามี เป็นเสกขบุคคลเหมือนกัน เพราะยังต้องศึกษา คือปฏิบัติให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ต่อไป
เมื่อกล่าวโดยการพ้นโลกแล้ว สกาทาคามิมัคคจิตไม่ได้พ้นโลกเพิ่มขึ้นอีกเพียงแต่พ้นกามโลกอันเป็นส่วนอบายภูมิโดย อำนาจแห่งโสดาปัตติมัคคจิตเท่านั้น
เมื่อกล่าวโดยการประหารกิเลสแล้ว สกทาคามิมัคคจิตก็หาได้ประหารกิเลสเป็นสมุจเฉทเพิ่มขึ้นอีกแต่อยางใดไม่ เป็นแต่เพียงทำให้กิเลสที่เหลือจากโสดาบันปัตติมัคคจิตได้ประหารมาแล้วนั้น ให้เบาบางลง อันเรียกว่า ตนุกรปหาน เท่านั้น
แม้กล่าวโดยการประหารอกุศลกรรมบถ สกทาคามิมัคคจิตก็ไม่ได้ประหารเพิ่มขึ้นเป็นแต่เพียงทำให้เบาบางลงเช่นกัน


ในวิสุทธิมัคคมหาฎีกาแสดงว่า พระสกทาคามี นี้ มี ๕ จำพวก คือ
๑. อิธ ปตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี ฯ

เป็นพระสกทาคามี ที่บรรลุสกทาคามิผลในมนุษย์โลก และปรินิพพานในมนุษย์โลกนี้
๒. ตตฺถ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพฺพายี

เป็นพระสกทาคามี ที่บรรลุสกทาคามิผลในเทวโลก และปรินิพพานในเทวโลก นั้นแหละ
๓. อิธ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพฺพายี

สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในมนุษย์โลกนี้ แต่ปรินิพพานในเทวโลกโน้น
๔. ตตฺถ ปตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี

สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในเทวโลกโน้น มาปรินิพพานในมนุษย์โลกนี้
๕. อิธ ปตฺวา ตตฺถ นิพฺพตฺติตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี

สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในมนุษย์โลกนี้ ไปบังเกิดในเทวโลกโน้นแล้วกลับมาปรินิพพานในมนุษย์โลกนี้


อนาคามิมัคคจิต คู่กับ อนาคามิผลจิต

อนาคามิมัคคจิต มาจากคำว่า น ( ไม่ ) + อาคามี ( กลับมา ) + มัคค ( ทาง ) + จิต รวมแปลความว่า จิตถึงซึ่งทางที่ไม่กลับมาอีก มีความหมายว่าเป็นผู้ไม่กลับมาปฏิสนธิในกามโลกอีก คือจะต้องไปเกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกแน่นอน


วะจะนัตถะ ของอนาคามิมัคคจิต มีว่า
๑. ปฏิสนฺธิวเสน อิมํ กามธาตุ น อาคจฺฉตีติ อนาคามี ฯ

พระอริยบุคคลผู้ไม่กลับมาเกิดมาสู่กามโลกนี้อีก ด้วยอำนาจปฏิสนธิ ชื่อว่า อนาคามี
๒. ตสฺส มคฺโค อนาคามิมคฺโค ฯ

มัคคแห่งพระอริยบุคคลผู้อนาคามีนั้น ชื่อว่า อนาคามิมัคค
๓. เตน สมฺปยุตฺตํ จิตฺตํ อนาคามิมคฺคจิตฺตํ ฯ

จิตที่สัมปยุตตด้วยอนาคามิมัคคนั้น ชื่อว่า อนาคามิมัคคจิต
อนาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคลลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าอนาคามิมัคคบุคคล
อนาคามิผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าอนาคามิผลบุคคล
อนาคามิผลบุคคลนี้แหละเรียกว่า พระอนาคามี ยังเป็นเสกขบุคคลเหมือนกัน เพราะ

ยังจะต้องศึกษาคือปฏิบัติต่อไปให้บรรลุอรหัตตผล
อนาคามิมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังพ้นจากกามโลกในส่วนที่เป็นมนุษย์โลกและเทวโลกอีก
อนาคามิผลจิต เป็นจิตที่พ้นแล้วจากกามโลกโดยเด็ดขาด หมายความว่า พระอนาคามีเมื่อจุติแล้ว จะไม่มาปฏิสนธิใน กามโลก อีกเลย แต่จะไปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกแน่นอน
อนาคามิมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังประหารกิเลส กล่าวโดยจิตก็ประหารโทสมูลจิต ๒ ดวง
อนาคามิผลจิต เป็นจิตที่ประหารแล้วซึ่งโทสจิต ๒ ดวง โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน
กล่าวโดยอกุศลกรรมบถ ๑๐ อนาคามิมัคคจิตเป็นจิตที่กำลังประหารอกุศลกรรมบถเพิ่มขึ้นอีก ๓ คือ ปิสุณาวาจา ผรุสวาท และ พยาบาท
อนาคามิผลจิต เป็นจิตที่ประหารแล้วซึ่งกิเลสเพิ่มขึ้นอีก ๓ ประการนั้นโดยเด็ดขาดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน


พระอนาคามี มี ๕ จำพวก คือ
๑. อนฺตรปรินิพฺพายี ฯ พระอนาคามีผู้ถึงซึ่งปรินิพพานในกึ่งแรกแห่งอายุกาลในภูมินั้น
๒. อุปหจฺจปรินิพฺพายี ฯ พระอนาคามีผู้ถึงซึ่งปรินิพพานในกึ่งหลังแห่งอายุกาลในภูมินั้น
๓. อสงฺขารปรินิพฺพายี ฯ พระอนาคามีผู้ไม่ต้องใช้ความเพียรแรงกล้า ก็ถึงซึ่งปรินิพพาน
๔. สสงฺขารปรินิพฺพายี ฯ พระอนาคามีผู้ต้องขะมักเขม้นพากเพียรอย่างแรงกล้า จึงจะถึงซึ่งปรินิพพาน
๕. อุทฺธํโสตอกนิฏฺฐคามี ฯ พระอนาคามี ผู้มีกระแสไปถึงอกนิฏฐภูมิ จึงจะถึงซึ่งปรินิพพาน


อรหัตตมัคคจิต คู่กับ อรหัตตผลจิต

อรหัตมัคคจิต มาจากคำว่า อรหัตต ( ผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง ) + มัคค ( ทาง ) + จิต รวมแปลว่า จิตถึงทางที่เป็นผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง

วะจะนัตถะ ของ อรหัตตมัคคจิต มีว่า
๑. อคฺคทกฺขิเณยฺยภาเวน ปูชาวิเสสํ อรหาตีติ อรหา ฯ

พระอริยบุคคลผู้ควรแก่การบูชาอันวิเศษ เพราะเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาอันเลิศนั้น ชื่อว่า อรหันต์
๒. ตสฺส ภาโว อรหตฺตํ จตุตฺถผลสฺสเสตํ อธิวจนํ ฯ

ความเป็นแห่งพระอริยบุคคลผู้ควรแก่การอันวิเศษนั้น ชื่อว่า อรหัตต คำว่า อรหัตตนี้เป็นชื่อแห่ง อรหัตตผล 
๓. ตสฺส อาคมนภูโต มคฺโค อรหตฺตมคฺโค ฯ

มัคคเป็นที่มาแห่งอรหัตตผลนั้น ชื่อว่า อรหัตตมัคค
๔. เตน สมฺปยุตฺตํ จิตฺตํ อรหตฺตมคฺคจิตฺตํ ฯ

จิตที่สัมปยุตตด้วยอรหัตตมัคคนั้น ชื่อว่า อรหัตตมัคคจิต
อรหัตตมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าอรหัตตมัคคบุคคล
อรหัตตผลจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าอรหัตตผลบุคคล
อรหัตตผลบุคคลนี่แหละ เรียกว่า พระอรหันต์ เป็นพระ ขีณาสพ คือผู้ที่สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว เป็น อเสกขบุคคล คือบุคคลที่ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องปฏิบัติอีกแล้ว เพราะบริสุทธิหมดจดจนสิ้นเชิงแล้ว
อรหัตตมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังพ้นจากรูปโลกและอรูปโลก ( อนาคามีพ้นจากกามโลกแล้ว นี่กำลังพ้นจากรูปโลกและ อรูปโลกอีก )
อรหัตตผลจิต เป็นจิตที่พ้นแล้วจากรูปโลกและอรูปโลกโดยเด็ดขาดหมายความว่า พระอรหันต์เมื่อปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องปฏิสนธิอีกเลย เป็นอันสิ้นภพสิ้นชาติ พ้นจากสังสารวัฏฏ์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
อรหัตตมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังประหารกิเลส กล่าวโดยจิต ก็กำลังประหารอกุศลจิตที่เหลืออีก ๕ ดวง คือ โลภมูลจิต ที่เป็นทิฏฐิวิปปยุตต ๔ ดวง และโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต ๑ ดวง
อรหัตตผล เป็นจิตที่ประหารแล้วซึ่งอกุศลจิตที่เหลือ ๕ ดวงที่กล่าวแล้วข้างต้นข้างบนนั้นได้โดยเด็ดขาดเป็น สมุจเฉทปหาน เป็นอันว่าพระอรหันต์ไม่มีจิตที่เป็นอกุศลทั้ง ๑๒ ดวงเกิดในสันดานอีกเลย
กล่าวโดยอกุศลกรรมบถ ๑๐ อรหัตตมัคคจิต เป็นจิตที่กำลังประหารอกุศลกรรมบถที่เหลืออีก ๒ คือ สัมผัปปลาป ๑ และ อภิชฌา ๑

อรหัตตผลจิต เป็นจิตที่ประหารแล้วซึ่งอกุศลกรรมบถที่เหลือ ๒ ประการที่กล่าวแล้วนั้นได้โดยเด็ดขาดเป็น สมุจเฉทปหาน เป็นอันว่าพระอรหันต์ไม่มีอกุศลกรรมบถ ๑๐ เกิดในสันดานอีกเลย


พระอรหันต์มีหลายประเภท

พระอรหันต์ บางทีเรียกว่า พระขีณาสพ บางทีเรียกว่า อเสกขบุคคลที่เรียกว่าพระอรหันต์หมายความว่า เป็นบุคคล ที่ควรสักการะบูชายิ่ง ที่เรียกว่าพระขีณาสพหมายความว่าเป็นบุคคลที่สิ้นอาสวกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วและที่เรียกว่า พระอเสกขบุคคลนั้นหมายถึงว่า เป็นผู้ที่ไม่ต้องศึกษาต่อไปอีกแล้ว เพราะมีศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา โดยบริบูรณ์ บริสุทธิ์แล้ว พระอรหันต์นี้จัดได้ว่ามี ๓ ประเภท คือ
๑. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยพระองค์เองและสามารถโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์คือให้ถึง อริยมัคคอริยผลได้ด้วย เพราะทรงเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วย อาสยานุสยญาณ ญาณที่สามารถรู้อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ประการหนึ่ง อินทริยปโรปริยัตติญาณ ญาณที่สามารถรู้อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่ายิ่งหรือหย่อนเพียงใด ประการหนึ่ง และ สัพพัญญุตตญาณ ญาณที่สามารถรอบรู้สิ้นซึ่งปวงสังขตธรรมและอสังขตธรรมอีกประการหนึ่งจึงได้ชื่อว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า คือที่ขนานพระนามกันว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเหมือนกัน แต่ไม่สามารถโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ เพราะไม่ถึงพร้อมด้วยญาณ ๓ ประการ ดังกล่าวแล้วในข้อ ๑ นั้น พระอรหันต์ประเภทนี้ได้ชื่อว่า พระอรหันต์ปัจเจกพุทธเจ้า หรือ พระปัจเจกพุทธเจ้า
อยากจะกล่าวโดย อัตโนมัติว่า ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่สามารถโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้นั้นเป็นด้วยเหตุอีกประการหนึ่ง คือ ในยุคนั้นไม่มีผู้มีบารมีแก่กล้าพอที่จะเข้าถึงธรรมอันประเสริฐถึงชั้นนั้นได้ เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าบังเกิดมีได้เฉพาะใน ยุคที่ว่างพระพุทธศาสนาเท่านั้น ก็ในกาลที่ว่างพระพุทธศาสนาเช่นนั้น บุคคลทั้งหลายย่อมปราศจากศีลธรรมประกอบแต่กรรม อันเป็นอกุศล ใครเล่าจะสามารถสั่งสอนผู้ที่ไร้ศีลธรรมให้บรรลุถึงธรรมอันประเสริฐยิ่งปานนั้นได้ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงพระมหากรุณาได้เฉพาะผู้ที่ทรงโปรดได้เท่านั้น ไม่ใช่โปรดได้ทั่วไปทั้งหมด
๓. พระอรหันต์ที่ตรัสรู้อรหัตตมัคคอรหัตตผลตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัม-

พุทธเจ้า ( คือไม่ได้ตรัสรู้เอง ) นั้น ได้ชื่อว่า พระอรหันต์ ได้แก่ พระอรหันต์ ได้แก่ พระอรหันต์ทั่วๆ ไป ที่นอกจากพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอรหันตปัจเจกพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั่วๆ ไปนี้ยังจำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ปัญญาวิมุตติ และ เจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติ หมายถึงพระอรหันต์ผู้ไม่ได้ฌานเลย กล่าวคือไม่ได้เจริญสมถภาวนาไม่ได้ทำฌาน เป็นแต่เจริญวิปัสสนาภาวนาแต่อย่างเดียวจนบรรลุอรหัตตมัคคอรหัตตผล พระอรหันต์ผู้ที่ไม่ได้ฌานนี้เรียกว่า สุกขวิปัสสก พระอรหันต์
ส่วน เจโตวิมุตติ หมายถึงพระอรหันต์ผู้ที่ได้ฌานด้วย ( ผู้ที่ได้ฌานเรียกว่า ฌานลาภีบุคคล )

การได้ฌานก็สามารถได้มาด้วย ๒ ประการ คือ 
ก. เป็นผู้เจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน เช่นนี้เรียกว่า ปฏิปทาสิทธิฌาน ได้ฌานด้วยการปฏิบัติ แล้วก็มาเจริญวิปัสสนา ภาวนาตามลำดับ จนบรรลุพระอรหันต์
ข. เป็นผู้ที่แม้จะไม่ได้เจริญสมถภาวนามาก่อนก็ตาม แต่ว่าเมื่อได้เจริญวิปัสสนาภาวนามาตามลำดับจนบรรลุอรหัตตมัคค อรหัตตผล ด้วยผลแห่งบุญญาธิการแต่ปางก่อน เมื่อบรรลุอรหัตตผล ก็ถึงพร้อมซึ่งฌานด้วยเช่นนี้เรียกว่า มัคคสิทธิฌาน ได้ฌานด้วยอำนาจแห่งมัคค จนถึงได้อภิญญาด้วยก็มี เช่น พระจุฬปัณถก เมือสำเร็จเป็น
พระอรหันต์ก็มีอภิญญา ด้วยคือมีอิทธิฤทธิถึงสำแดงปาฏิหารย์ เป็นพระภิกษุหลายรูปจนเต็มพระเชตวัน รวมความว่า พระอรหันต์ประเภทปัญญาวิมุตติ ไมได้ฌานด้วยเรียกว่า สุกขวิปัสสกพระอรหันต์ พระอรหันต์ประเภท เจโตวิมุตตินั้นเป็นผู้ได้ฌานด้วย เรียกว่าพระอรหันตฌานลาภีบุคคล
พระอรหันต์ผู้เป็นฌานลาภีบุคคลนั้น ได้ฌานจนถึงได้อภิญญาด้วยก็มี ได้ฌานก็จริงแต่ไม่ถึงได้อภิญญาด้วยก็มี
ฌานลาภีอรหัตตบุคคลนั้นที่ได้ถึงอภิญญาด้วยนั้น บางองค์ก็ได้เพียง อภิญญา ๓ บางองค์ก็ได้ถึง

 

 

อภิญญา ๖

 
อภิญญา ๓ หรือบางทีก็เรียกว่า วิชา ๓ นั้นได้แก่
( ๑ ) ปุพเพนิวาสนุสติญาณ ระลึกชาติได้
( ๒ ) ทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ ตาทิพย์ รู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย
( ๓ ) อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลสและอาสวะ

เฉพาะอภิญญาข้อ ๓ นี้ จะเป็นสุกขวิปัสสกพระอรหันต์ก็ตาม หรือฌานลาภีอรหัตตบุคคลได้ถึงอภิญญาด้วยหรือไม่ก็ตาม ต้องมีอภิญญาข้อ ๓ นี้ด้วยทุกๆ องค์
อภิญญา ๖ หรือบางทีก็เรียกว่า วิชา ๖ นั้น คือวิชา ๓ นั่นเอง และเพิ่มขึ้นอีก ๓ คือ
( ๔ ) ปรจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ รู้จิตใจผู้อื่น
( ๕ ) ทิพพโสตญาณ หูทิพย์
( ๖ ) อิทธิวิธี สำแดงฤทธิ์ได้

 


อีกนัยหนึ่งนั้น จำแนกพระอรหันต์เป็น ๒ ประเภท โดยจำแนกเป็นพระอรหันต์ผู้มี ปฏิสัมภิทาญาณ และพระอรหันต์ ผู้ไม่มี ปฏิสัมภิทาญาณ
ปฏิสัมภิทาญาณ คือ ถึงพร้อมด้วยความรู้อันแตกฉาน แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉาน ปฏิสัมภิทาญาณ มี ๔ ประการคือ
๑. อตฺถปฏิสมฺภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในผลทั้งปวง อันบังเกิดจากเหตุ ชื่อว่า อัตถะปฏิสัมภิทาญาณ
อัตถะ หรือ ผล นั้นได้แก่ธรรม ๕ ประการ คือ
ก. ยํ กิญฺจิ ปจฺจยสมฺภูตํ คือรูปธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นโดยมีปัจจัยประชุมปรุงแต่ง
ข. นิพฺพานํ คือพระนิพพาน
ค. ภาสิตตฺโถ คืออรรถที่กล่าวแก้ให้รู้วิบากขันธ์ ๓๒ ดวง
ง. กิริยาจิตฺตํ คือกิริยาจิต ๒๐ ดวง
จ. ผลจิตฺตํ คือผลจิต ๔ ดวง
๒. ธมฺมปฏิสมฺภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในเหตุที่ทำให้บังเกิดผลชื่อว่า ธัมมาปฏิสัมภิทาญาณ
ธรรม หรือ เหตุ นั้นได้แก่ธรรม ๕ ประการ คือ
ก. โย โกจิ ผลนิพฺพตฺตโก เหตุ คือเหตุทั้งปวงบรรดาที่ยังผลให้เกิดขึ้น
ข. อริยมคฺโค คือมัคคจิตทั้ง ๔
ค. ภาสิตํ คือพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎก
ง. กุสลจิตฺตํ คือกุศลจิต ๑๗ ดวง

จ. อกุศลจิตฺตํ คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง
๓. นิรุตฺติปฏิสมฺภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในภาษา คือบัญญัติแห่งอัตถะปฏิสัมภิทาและธัมมะปฏิสัมภิทา
ย่อมมีด้วย นิรุตติใด ความรู้แตกฉานในอันกล่าว ธมฺมนิรุตฺติ นั้น ชื่อว่า นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ หมายความว่ารู้จักถ้อยคำหรือภาษาอัน เป็นบัญญัติที่เรียกว่า โวหารในการอธิบายขยายความแห่งอัตถปฏิสัมภิทา
และธัมมปฏิสัมภิทา ให้ผู้สดับตรับฟังรู้และเข้าใจได้แจ่มแจ้งลึกซึ้งโดยถ้วนถี่ เช่นนี้เป็นต้น
๔. ปฏิภาณปฏิสมฺภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ คือมีปัญญาว่องไว ไหวพริบ เฉียบแหลม คมคาย ในการตอบโต้อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา และนิรุตติปฏิสัมภิทา ทั้ง ๓ นั้น ได้อย่างถูกต้อง คล่องแคล่วชัดแจ้ง โดยฉับ พลันทันที ความรู้แตกฉานเช่นนี้แหละชื่อว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

 


โลกุตตรจิตอย่างพิสดาร

โลกุตตรจิตอย่างพิสดารนั้น คือโลกุตตรจิตอย่างย่อ ๘ ดวงนั่นเองแจกไปตามฌานที่ได้ที่ถึง ซึ่งมีอยู่ ๕ ฌานนั้น เช่น โสดาปัตติมัคคจิต ๑ ดวง ก็มีได้ทั้งที่ได้ปฐมฌาน ๑, ที่ได้ทุติยฌาน ๑, ที่ได้ตติยฌาน ๑, จตุตถฌาน ๑ และปัญจมฌาน ๑ รวม เป็น ๕ ฌาน หรือ ๕ ชั้น ดังนี้ โสดาปัตติมัคคจิตที่ประกอบด้วยฌาน ก็มี ๕ ดวง
มัคคจิตโดยย่อ ๔ ดวง ประกอบด้วยฌาน ๕ ชั้น จึงมีมัคคจิตโดยพิสดารเป็น ๒๐ ดวง
เฉพาะมัคคจิตโดยย่อ ๔ ดวง ซึ่งแม้จะมิใช่จิตที่ประกอบด้วยฌาน แต่ที่ถือว่าเป็นปฐมฌาน ด้วย ดังมีคาถาสังคหะที่ ๑๕ กล่าวไว้ ดังจะเห็นได้ในเมื่อกล่าวถึงคาถาสังคหะนั้น


อนึ่ง มัคคจิตก็ไม่ได้แจกไปตามอรูปฌานอีก ๔ ฌานนั้นด้วยก็เพราะเหตุว่า อรูปฌานทั้ง ๔ นั้นนับเป็นปัญจมฌาน ด้วยว่ามีองค์ฌานเพียง ๒ คือ อุเบกขากับเอกัคคตาเท่ากันและเหมือนกันกับรูปาวจรปัญจมฌาน เป็นแต่อารมณ์ต่างกันเท่า นั้นเอง ส่วนองค์ฌานคงเท่ากัน ดังนั้นจึงนับว่าฌานทั้ง ๙ ฌานมีเพียง ๕ ชั้น ด้วยเหตุนี้มัคคจิต ๔ ดวง จำแนกไปตามฌาน ๕ ชั้นจึงเป็น ๒๐ ดวง
โดยทำนองเดียวกัน ผลจิตโดยย่อ ๔ ดวง เมื่อจำแนกไปตามฌานที่ได้ที่ถึง ซึ่งมี ๕ ชั้น จึงเป็นผลจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ดวง รวม มัคคจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ดวง กับผลจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ดวง จึงเป็นโลกุตตรจิตอย่างพิสดาร ๔๐ ดวง


โลกุตตรกุศลจิต หรือ มัคคจิต อย่างพิสดาร ๒๐ ดวงนั้น ได้แก่


๑. วิตกฺวิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ปฐมฌานโสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ

โสดาปัตติมัคคจิต เกิดพร้อมด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌาน


๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ทุติยฌานโสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ

โสดาปัตติมัคคจิต เกิดพร้อมด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌาน


๓. ปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ตติยฌานโสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ

โสดาปัตติมัคคจิต เกิดพร้อมด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นตติยฌาน


๔. สุเขกคฺคตา สหิตํ จตุตฺถฌานโสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ

โสดาปัตติมัคคจิต เกิดพร้อมด้วย สุข เอกัคคตา เป็นจตุตถฌาน


๕. อุเปกฺเขกคฺคตา สหิตํ ปญฺจมฌานโสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ

โสดาปัตติมัคคจิต เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นปัญจมฌาน
สกทาคามิมัคคจิต ที่ประกอบด้วยฌาน เป็น ๕ ดวง อนาคามิมัคคจิต ที่ประกอบด้วยฌาน เป็น ๕ ดวง และ อรหัตตมัคคจิต ที่ประกอบด้วยฌานเป็น ๕ ดวง ก็มีนัยเป็นทำนองเดียวกันนี้


โลกุตตรวิบากจิต หรือ ผลจิต อย่างพิสดาร ๒๐ ดวงนั้นได้แก่

 
๑. วิตกฺวิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ปฐมฌานโสตาปตฺติผลจิตฺตํ

โสดาปัตติผลจิต เกิดพร้อมด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌาน


๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ทุติยฌานโสตาปตฺติผลจิตฺตํ

โสดาปัตติผลจิต เกิดพร้อมด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌาน


๓. ปีติสุเขกคฺคตา สหิตํ ตติยฌานโสตาปตฺติผลจิตฺตํ

โสดาปัตติผลจิต เกิดพร้อมด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นตติยฌาน


๔. สุเขกคฺคตา สหิตํ จตุตฺถฌานโสตาปตฺติผลจิตฺตํ

โสดาปัตติผลจิต เกิดพร้อมด้วย สุข เอกัคคตา เป็นจตุตถฌาน


๕. อุเปกฺเขกคฺคตา สหิตํ ปญฺจมฌานโสตาปตฺติผลจิตฺตํ

โสดาปัตติผลจิต เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นปัญจมฌาน


สกทาคามิผลจิต ที่ประกอบด้วยฌาน เป็น ๕ ดวง อนาคามิผลจิตที่ประกอบด้วยฌาน เป็น ๕ ดวง และ อรหัตตผลจิต ที่ประกอบด้วยฌานเป็น ๕ ดวง ก็มีนัยทำนองเดียวกันนี้

 


จำแนกโลกุตตรจิตโดยชาติเภทเป็นต้น

๑. ชาติเภท โลกุตตรจิตโดยย่อ ๘ ดวงก็ดี โลกุตตรจิตโดยพิสดาร ๔๐ ดวงก็ดี จำแนกโดยชาติได้ ๒ คือ
โลกุตตรกุศลจิต หรือ มัคคจิต โดยย่อ ๔ ดวงก็ดี โดยพิสดาร ๒๐ ดวงก็ดี เป็นชาติกุศล
โลกุตตรวิบากจิต หรือ ผลจิต โดยย่อ ๔ ดวงก็ดี โดยพิสดาร ๒๐ ดวงก็ดี เป็นชาติวิบาก
ดังนั้นจึงเรียกกันสั้นๆ ว่า มัคคเป็นกุศล ผลเป็นวิบาก
๒. ภูมิเภท โลกุตตรจิตเป็นโลกุตตรภูมิ คือเป็นจิตชั้นที่เหนือยิ่งกว่าจิตชั้นใดๆ ทั้งสิ้น
๓. เวทนาเภท โลกุตตรจิตโดยย่อ ๘ ดวงนั้น ถ้ามหากุศลญาณสัมปยุตตจิตที่เจริญวิปัสสนาภาวนาเป็น โสมนัสเวทนา จนโลกุตตรจิตเกิด โลกุตตรจิตที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นโสมนัสเวทนาเช่นเดียวกัน
ถ้ามหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ที่เจริญวิปัสสนาภาวนานั้นเป็นอุเบกขาเวทนาจนโลกุตตรจิตเกิด โลกุตตรจิตที่เกิดขึ้นนั้น ก็เป็นอุเบกขาเวทนาเช่นเดียวกัน
ส่วนโลกุตตรจิตโดยพิสดาร ๔๐ ดวงนั้น เป็นโลกุตตรจิตที่ประกอบด้วยฌาน ซึ่งฌานที่ประกอบกับโลกุตตรจิตนั้นมี เวทนาอย่างใด โลกุตตรจิตนั้นก็มีเวทนาอย่างนั้น กล่าวคือ
โลกุตตรจิตที่ประกอบด้วยปฐมฌานก็ดี ทุติยฌานก็ดี ตติยฌานก็ดี แม้จตุตถฌานก็ดี เหล่านี้ย่อมเป็นโสมนัสเวทนา เพราะฌานเหล่านั้นที่ประกอบโลกุตตรจิตเหล่านี้ เป็นฌานที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา
โลกุตตรจิตที่ประกอบด้วยปัญจมฌาน ย่อมเป็นอุเบกขาเวทนา เพราะเป็นปัญจมฌานนั้น เป็นฌานที่เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา

๔. เหตุเภท โลกุตตรจิตเป็นสเหตุกจิต เป็นจิตที่มีสัมปยุตตเหตุและเหตุที่ประกอบก็ครบทั้ง ๓ เหตุเต็มที่ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ
๕. สังขารเภท โลกุตตรจิตโดยย่อ ๘ ดวงก็ดี โดยพิสดาร ๔๐ ดวงก็ดี เป็นสสังขาริกจิต ทั้งสิ้น เพราะโลกุตตรจิตจะเกิด ได้ก็โดยอาศัยมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต เจริญวิปัสสนาภาวนามาก่อน จึงต้องถือว่ามหากุศลญาณสัมปยุตตจิตนั่นแหละ เป็นสิ่งที่ชักจูงให้โลกุตตรจิตเกิดขึ้น
๖. สัมปยุตตเหตุ โลกุตตรจิตเป็นญาณสัมปยุตต เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีปัญญา ถ้าเป็นจิตที่ไม่มีปัญญา เป็นจิตญาณวิปปยุตต ไม่ใช้ปัญญาประกอบด้วยแล้ว โลกุตตรจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด
๗. โสภณเภท โลกุตตรจิตเป็นโสภณจิต เป็นจิตที่ประเสริฐยิ่งกว่าจิตใดๆ ทั้งปวง ไม่มีจิตใดจะประเสริฐเทียบเทียมได้เลย
๘. โลกเภท โลกุตตรจิตประเภทเดียวเท่านี้แหละเป็นโลกุตตระ หาใช่โลกียะไม่ นอกจากโลกุตตรจิตนี้แล้ว จิตอื่นๆ นั้น เป็นโลกียจิตทั้งหมด
๙. ฌานเภท โลกุตตรจิตโดยย่อ ๘ ดวงเป็นจิตที่ไม่มีฌานจิตประกอบด้วย จึงเป็นอฌานจิต แต่อย่างไรก็ดี โลกุตตรจิตโดยย่อ ๘ ดวงที่ไม่ได้ฌานด้วยนี้ ก็ถือว่าเป็นปฐมฌาน ถึงซึ่งปฐมฌานด้วย ดังที่จะเห็นได้ ตามคาถาสังคหะที่ ๑๕ ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้านี้ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นโดยอัตโนมัติว่า โลกุตตรจิตโดยย่อ ๘ ดวงนี้ควรจัดเป็น ฌานจิตได้ด้วย
ส่วนโลกุตตรจิตโดยพิสดาร ๔๐ ดวงนั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยฌานโดยแท้ จึงเป็นฌานจิต อย่างไม่มีปัญหา

 

จำแนกจิตทั้ง ๘๙ โดยชาติเภท


คาถาสังคหะ ๑๑ แสดงว่า


๑๑. ทฺวาทสากุสลาเนวํ กุสลาเนกวีสติ
ฉตฺตีเสว วิปากานิ กฺริยาจิตฺตานิ วีสติ ฯ


แปลความว่า อกุศล ๑๒ กุศล ๒๑ วิบาก ๓๖ กิริยา ๒๐ อย่างนี้


หมายความว่า จิตทั้งหมดซึ่งมีจำนวนโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยชาติเภทนัยแล้ว ก็มี ๔ ชาติ คือ
ชาติอกุศล ชาติกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยา


ชาติอกุศล ได้แก่จิต ๑๒ ดวง ล้วนแต่เป็นจิตที่เป็นโทษ และให้ผลเป็นทุกข์ คือ
อกุศลจิต ๑๒ ดวง


ชาติกุศล ได้แก่จิต ๒๑ ดวง ล้วนแต่เป็นจิตที่ปราศจากโทษและให้ผลเป็นสุข คือ
มหากุศลจิต ๘ ดวง
มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง
โลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวง


ชาติวิบาก ได้แก่จิต ๓๖ ดวง ล้วนแต่เป็นจิตที่เป็นผลบาปและผลของบุญ คือ
อกุศลวิบาก ๗ ดวง
อเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง
มหาวิบาก ๘ ดวง
มหัคคตวิบาก ๙ ดวง
โลกุตตรวิบาก ๔ ดวง


ชาติกิริยา ได้แก่จิต ๒๐ ดวง ล้วนแต่เป็นจิตที่ไม่เป็นบุญและไม่เป็นบาป ทั้งไม่ใช่ผลของบาปหรือผลของบุญด้วย เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำเท่านั้นเอง คือ
อเหตุกกิริยา ๓ ดวง
มหากิริยา ๘ ดวง
มหัคคตกิริยา ๙ ดวง


ชาติวิบากและชาติกิริยานี้รวมเรียกว่า ชาติอพยากตะ หมายแต่เพียงว่าชาติของจิตเหล่านั้นไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล ด้วยทั้ง ๒ อย่าง


จำแนกจิต ๘๙ โดยภูมิเภท

คาถาสังคหะที่ ๑๒ แสดงว่า


๑๒. จตุปญฺญาสธา กาเม รูเป ปนฺนรสีริเย
จิตฺตานิ ทฺวาทสารูเป อฏฺฐธานุตฺตเร ตถา ฯ


แปลความว่า กามาวจร ๕๔ รูปาวจร ๑๕ อรูปาวจร ๑๒ โลกุตตร ๘ อย่างนั้น


มีอธิบายว่า จิตทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยภูมิเภทนัยแล้ว
กามาวจรจิต ๕๔ ดวง เป็นกามาวจรภูมิ
รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง เป็นรูปาวจรภูมิ
อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง เป็นอรูปาวจรภูมิ
โลกุตตรจิต ๘ ดวง เป็นโลกุตตรภูมิ
อนึ่ง คำว่า ภูมิ นี้แปลว่า แผ่นดิน ที่ดิน ที่อยู่อาศัย ก็ได้ หรือ แปลว่า ชั้น พื้นเพ ก็ได้ ในที่นี้แปลว่า ชั้น
กามาวจรภูมิ หมายถึง จิตชั้นกามาวจร ชั้นกามโลก
รูปาวจรภูมิ หมายถึง จิตชั้นรูปาวจร ชั้นรูปโลก
อรูปาวจรภูมิ หมายถึง จิตชั้นอรูปาวจร ชั้นอรูปโลก
โลกุตตรภูมิ หมายถึง จิตชั้นโลกุตตร คือจิตชั้นที่เหนือโลกที่พ้นจากโลก ทั้ง ๓ นั้น


จำแนกจิตโดยย่อและจิตอย่างพิสดาร

คาถาสังคหะที่ ๑๓ แสดงว่า


๑๓. อิตฺถเมกูนนวุติปฺ ปเภทํ ปน มานสํ
เอกวีสสตํ วาถ วิภชนฺติ วิจกฺขณา ฯ


แปลความว่า บัณฑิตพึงจำแนกจิตด้วยประการฉะนี้ว่า มีประเภท ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง


หมายความว่า จิตทั้งหมด เมื่อจำแนกประเภทโดยย่อ ก็มี ๘๙ ดวง แต่ถ้าจำแนกโดยพิสดารแล้ว มีถึง ๑๒๑ ดวง
ที่มากขึ้นหรือที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็มากขึ้นหรือเพิ่มขึ้นที่โลกุตตรจิตแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนกามาวจรจิตก็ดี รูปาวจรจิตก็ดี อรูปาวจรจิตก็ดี จำนวนคงที่ไม่มีการเพิ่มให้มากขึ้นแต่อย่างใด


จำแนกจิต ๘๙ โดยเวทนาเภท

จิตโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น จำแนกโดยย่อประเภทแห่งเวทนาแล้ว ได้ดังนี้

สุขเวทนา มี ๑ คือ สุขกาย
ทุกขเวทนา มี ๑ คือ ทุกข์กาย
โสมนัสเวทนา มี ๓๐ คือ กามโสมนัส ๑๘ , ฌานโสมนัส ๑๒ ( กามโสมนัส ๑๘ ได้แก่ โสมนัสโลภมูลจิต ๔ , โสมนัส สันตีรณะ ๑ , โสมนัสหสิตุปปาทะ ๑ , โสมนัสมหากุศล ๔ , โสมนัสมหาวิบาก ๔ , โสมนัสมหากิริยา ๔ ส่วนฌานโสมนัส ๑๒ นั้น ได้แก่ รูปาวจรปฐมฌาน ๓ , รูปาวจรทุติยฌาน ๓ , รูปาวจรตติยฌาน ๓ และ รูปาวจรจตุตถฌาน ๓ )
โทมนัสเวทนา มี ๒ คือ โทสมูลจิตทั้ง ๒ ดวง
อุเบกขาเวทนา มี ๕๕ คือ อุเบกขาโลภมูลจิต ๔ , อุเบกขาโมหมูลจิต ๒ , อุเบกขาอเหตุกจิต ๑๔ , อุเบกขามหากุศล ๔ , อุเบกขามหาวิบาก ๔ ,อุเบกขามหากิริยา ๔ , รูปาวจรปัญจมฌาน ๓ , อรูปาวจรจิต ๑๒ และ โลกุตตรจิต ๘


เฉพาะโลกุตตรจิตนั้น ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้ามหากุศลฌานสัมปยุตตจิต ที่เจริญวิปัสสนาภาวนานั้นเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาจนเกิดโลกุตตรจิต โลกุตตรจิตที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นโสมนัสเวทนา หากว่ามหากุศลฌานสัมปยุตตจิตที่เจริญวิปัสสนานั้นเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา จนเกิดโลกุตตรจิตแล้ว โลกุตตรจิต ที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นอุเบกขาเวทนา
แต่ตามปกติที่จำแนกจิตโดยเวทนาแล้ว ส่วนมากมักจัดโลกุตตรจิต ๘ ดวงไว้ในอุเบกขาเวทนา ดังนั้นในที่นี้จึงจัด โลกุตตรจิต ๘ ดวงอยู่ในอุเบกขาเวทนาเช่นเดียวกัน
อนึ่ง ถ้าจำแนกจิตอย่างพิสดาร ๑๒๑ ดวงโดยประเภทแห่งเวทนาแล้วก็มีดังนี้
สุขเวทนา มี ๑ คือ สุขกาย
ทุกขเวทนา มี ๑ คือ ทุกข์กาย
โสมนัสเวทนา มี ๖๒ คือ กามโสมนัส ๑๘ , รูปฌานโสมนัส ๑๒ และโลกุตตรที่ประกอบด้วยปฐมฌาน ๘ , โลกุตตรที่ ประกอบด้วยทุติยฌาน ๘ , โลกุตตรที่ประกอบด้วยตติยฌาน ๘ , โลกุตตรที่ประกอบด้วยจตุตถฌาน ๘
โทมนัสเวทนา มี ๒ คือ โทสมูลจิต ๒ ดวง
อุเบกขาเวทนา มี ๕๕ คือ กามอุเบกขา ๓๒ , รูปาวจรปัญจมฌาน ๓ , อรูปาวจรจิต ๑๒ และ โลกุตตรจิตที่ประกอบด้วยปัญจมฌาน ๘
( กามอุเบกขา ๓๒ ได้แก่ อุเบกขาในอกุศลจิต ๖ , อุเบกขาอเหตุกจิต ๑๔ และอุเบกขาในกามาวจรโสภณจิต ๑๒ )


จำแนกจิต ๘๙ โดยเหตุเภท

จิตโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น จำแนกโดยประเภทแห่งเหตุแล้วได้ดังนี้
เป็น อเหตุก คือเป็นจิตที่ไม่มีเหตุนั้น มี ๑๘ ดวง ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ ดวงเท่านั้นเอง
เป็น สเหตุก คือเป็นจิตที่มีสัมปยุตตนั้น มี ๗๑ ดวง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
เป็นสเหตุกจิตที่มีเหตุเดียว เรียกว่า เอกเหตุจิต นั้นมี ๒ ดวง คือโมหมูลจิต ๒ โมหมูลจิตนี้เป็นจิตที่มีโมหเหตุเพียงเหตุเดียวเท่านั้น
เป็นสเหตุกจิตที่มีเหตุ ๒ เรียกว่า ทวิเหตุกจิต นั้น มีอยู่ ๒๒ ดวง คือ
โลภมูลจิต ๘ มีโลภเหตุกับโมหเหตุ
โทสมูลจิต ๒ มีโทสมูลจิตกับโมหเหตุ
กามาวจรโสภณจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต ๑๒ ดวง มี อโลภเหตุกับอโทสเหตุ
เป็นสเหตุกจิตที่มีเหตุ ๓ เรียกว่า ติเหตุกจิต คือ มีทั้ง อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ นั้นมี ๔๗ ดวง คือ
กามาวจรโสภณจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต ๑๒ ดวง
มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
โลกุตตรจิต ๘ ดวง


จำแนกจิต ๘๙ โดยสังขารเภท

จิตโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น จำแนกโดยประเภทแห่งสังขารแล้ว ได้ดังนี้
เป็น อสังขาริก มี ๓๗ ดวง คือ อกุศลจิตที่เป็นอสังขาริก ๗, อเหตุกจิตซึ่งจัดเป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ และ กามโสภณจิต ที่เป็น อสังขาริก ๑๒
เป็น สสังขาริก มี ๕๒ ดวง คือ อกุศลจิตที่เป็นสสังขาริก ๕ กามโสภณจิตที่เป็นสสังขาริก ๑๒ มหัคคจิต ๒๗ และ โลกุตตรจิต ๘


จำแนกจิต ๘๙ โดยสัมปยุตตเภท

จิตโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น จำแนกโดยประเภทสัมปยุตตแล้ว ได้ดังนี้
เป็น ทิฏฐิสัมปยุตต มี ๔ คือ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต ๔ ดวง

เป็น ปฏิฆสัมปยุตต มี ๒ คือ โทสมูลจิตทั้ง ๒ ดวง
เป็น วิจิกิจฉาสัมปยุตต มี ๑ คือ โมหมูลจิตดวงที่ ๑
เป็น อุทธัจจสัมปยุตต มี ๑ คือ โมหมูลจิตดวงที่ ๒
เป็น ญาณสัมปยุตต มี ๔๗ คือ กามโสภณญาณสัมปยุตตจิต ๑๒ มหัคคจิต ๒๗ และ โลกุตตรจิต ๘
เป็น ทิฏฐิวิปปยุตต มี ๔ คือ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต ๔ ดวง
เป็น ญาณวิปปยุตต มี ๑๒ คือ กามโสภณญาณวิปยุตตจิต ๑๒ ดวง
เป็น วิปปยุตตจิต มี ๑๘ คือ อเหตุกจิต ๑๘ ซึ่งไม่มีทิฏฐิ ปฏิฆะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ หรือ ญาณ (ปัญญา) มาสัมปยุตต ด้วยเลยแม้แต่อย่างเดียว


จำแนกจิต ๘๙ โดยโสภณเภท

จิตโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น จำแนกโดยประเภทแห่งโสภณะแล้ว ได้ดังนี้
เป็น โสภณะ ๕๙ ดวง คือ กามโสภณจิต ๒๔ , มหัคคตจิต ๒๗ และโลกุตตรจิต ๘
เป็น อโสภณะ ๓๐ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ และ อเหตุกจิต ๑๘


จำแนกจิต ๘๙ โดยโลกเภท

จิตโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น จำแนกโดยประเภทแห่งโลกแล้ว ได้ดังนี้
เป็น โลกียะ ๘๑ ดวง คือ กามจิต ๕๔ และ มหัคคตจิต ๒๗
เป็น โลกุตตระ ๘ ดวง คือ โลกุตตรจิต ๘


จำแนกจิต ๘๙ โดยฌานเภท

จิตโดยย่อ ๘๙ ดวงนั้น จำแนกโดยประเภทแห่งฌานแล้ว ได้ดังนี้
เป็น ฌานจิต ๒๗ ดวง คือ มหัคคตจิต ๒๗
เป็น อฌานจิต ๖๒ คือ อกุศลจิต ๑๒ , กามโสภณจิต ๒๔ และ โลกุตตรจิต ๘


จำแนกโลกุตตรจิตโดยองค์ฌาน

คาถาสังคหะที่ ๑๔ แสดงว่า


๑๔. ฌานงฺคโยคเภเทน กเตฺวเกกนฺตุ ปญฺจธา
วุจฺจตานุตฺตรํ จิตฺตํ จตฺตาฬิสวธรฺติ จ ฯ


แปลความว่า โลกุตตรจิตนั้นท่านกล่าวว่ามี ๔๐ เพราะจำแนกออกไป ๕ ประเภทตามจำนวนองค์ฌานที่ประกอบ


มีความหมายว่า โลกุตตรจิต ๘ ดวงนั้น เมื่อจำแนกออกไปตามจำนวนองค์ฌานที่ประกอบแล้ว ก็ได้ ๕ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ โลกุตตรจิต ๘ ดวง มีองค์ฌานประกอบ ๕ องค์ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ( คือ โลกุตตรจิต ที่ประกอบด้วยปฐมฌาน )
ประเภทที่ ๒ โลกุตตรจิต ๘ ดวง มีองค์ฌานประกอบ ๔ องค์ ได้แก่ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ( คือ โลกุตตรจิต ที่ประกอบด้วยทุติยฌาน )
ประเภทที่ ๓ โลกุตตรจิต ๘ ดวง มีองค์ฌานประกอบ ๓ องค์ ได้แก่ ปีติ สุข เอกัคคตา ( คือ โลกุตตรจิต ที่ประกอบด้วยตติยฌาน )
ประเภทที่ ๔ โลกุตตรจิต ๘ ดวง มีองค์ฌานประกอบ ๒ องค์ ได้แก่ สุข เอกัคคตา ( คือ โลกุตตรจิต ที่ประกอบด้วยจตุตถฌาน )
ประเภทที่ ๕ โลกุตตรจิต ๘ ดวง มีองค์ฌานประกอบ ๒ องค์ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา ( คือ โลกุตตรจิต ที่ประกอบด้วยปัญจมฌาน )
มีข้อควรสังเกตว่า ประเภทที่ ๔ กับประเภทที่ ๕ แม้ว่าจะมีองค์ฌาน ๒ องค์เท่ากันก็จริง แต่ว่าชนิดขององค์ฌาน นั้นไม่เหมือนกัน จึงต้องแยกเป็นคนละประเภท
รวมเป็น ๕ ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีโลกุตตรจิต ๘ ดวง หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โลกุตตรจิต ๘ ดวงนั้น แต่ละดวงก็มี ๕ ประเภท ด้วยเหตุนี้โลกุตตรจิตอย่างพิสดารจึงมี ๔๐ ดวง
อนึ่ง คาถาสังคหะนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า โลกุตตรจิตโดยพิสดารนั้นแบ่งเพียง ๕ ประเภทตามอำนาจแห่งองค์ฌาน ไม่ได้แบ่งเป็น ๙ ประเภทตามจำนวนฌาน คือ รูปฌาน ๕ อรูปฌาน ๔ นั้นเลย


ฌาน กับ มัคคผล

คาถาสังคหะที่ ๑๕ แสดงว่า


๑๕. ยถา จ รูปาวจรํ คยฺหตานุตฺตรํ ตถา
ปฐมาทิชฺฌานเภเท อารุปฺปญฺจาปี ปญฺจเม ฯ


แปลความว่า โลกุตตรจิตถือเหมือนว่าปฐมฌานเป็นต้นฉันใด แม้อรูปาวจรฌานก็ถือเหมือนว่าปัญจมฌานฉันนั้น


มีอธิบายไว้ว่า โลกุตตรจิตของพระอริยบุคคลที่ไม่ได้ทำฌานมาก่อนเมื่อสำเร็จมัคคผลย่อมมีปฐมฌานเข้าประกอบด้วย จึงจัดโลกุตตรจิตเข้าไว้ในปฐมฌานด้วย
ส่วนบุคคลที่ได้ฌานมาก่อนแค่ฌานใด ตั้งแต่ปฐมฌานถึงปัญจมฌานเมื่อสำเร็จมัคคผล ก็เกิดพร้อมองค์ฌานนั้นๆ ด้วย คือ
ผู้ได้ ปฐมฌาน สำเร็จมัคคผลประกอบด้วย ปฐมฌาน
ผู้ได้ ทุติยฌาน สำเร็จมัคคผลประกอบด้วย ทุติยฌาน
ผู้ได้ ตติยฌาน สำเร็จมัคคผลประกอบด้วย ตติยฌาน
ผู้ได้ จตุตถฌาน สำเร็จมัคคผลประกอบด้วย จตุตถฌาน
ผู้ได้ ปัญจมฌาน สำเร็จมัคคผลประกอบด้วย ปัญจมฌาน
แม้ใน อรูปฌานทั้งหมด ก็จัดเข้าเป็นปัญจมฌาน


ฌานจิต ๖๗

คาถาสังคหะที่ ๑๖ แสดงว่า


๑๖. เอกาทสวิธํ ตสฺมา ปฐมาทิกมีริตํ
ฌานเมเกกมนฺเต ตุ เตวีสติวิธํ ภเว ฯ


แปลความว่า ปฐมฌานเป็นต้น ท่านกล่าวว่าแต่ละฌานมี ๑๑ ดวง ที่สุดคือปัญจมฌานนั้น มี ๒๓ ดวง


ปฐมฌาน ๑๑ ได้แก่ โลกียจิต ๓ โลกุตตรจิต ๘
ทุติยฌาน ๑๑ ได้แก่ โลกียจิต ๓ โลกุตตรจิต ๘
ตติยฌาน ๑๑ ได้แก่ โลกียจิต ๓ โลกุตตรจิต ๘
จตุตถฌาน ๑๑ ได้แก่ โลกียจิต ๓ โลกุตตรจิต ๘
ปัญจมฌาน ๒๓ ได้แก่ โลกียจิต ๑๕ โลกุตตรจิต ๘
รวมเป็นฌานจิต ๖๗ นั่นก็คือ มหัคคจิต ๒๗ ดวง และ โลกุตตรจิต พิสดาร ๔๐ ดวง
ที่ว่า ปฐมฌาน ๑๑ ได้แก่ โลกียจิต ๓ คือ รูปาวจรปฐมฌานกุศลจิต ๑, รูปาวจรปฐมวิบากจิต ๑, รูปาวจรกิริยาจิต ๑และ โลกุตตรจิต ๘ คือ โสดาปัตติมัคคจิต ๑ ผลจิต ๑, สกาทาคามิมัคคจิต ๑ ผลจิต ๑, อนาคามิมัคคจิต ๑ ผลจิต ๑, อรหัตตมัคคจิต ๑ ผลจิต ๑ ซึ่งได้  
*ปัญจมฌาน* (*ต้นฉบับน่าจะพิมพ์ผิด? ที่ถูกควรเป็นปฐมฌาน ?)

ทุติยฌาน ๑๑, ตติยฌาน ๑๑, จตุตถฌาน ๑๑ ก็มีนัยทำนองเดียวกันนี้
ส่วน ปัญจมฌาน ๒๓ นั้นได้แก่ โลกียจิต ๑๕ คือ รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต ๑, รูปาวจรปัญจมฌานวิบากจิต ๑, รูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิต ๑, อรูปาวจรกุศลจิต ๔, อรูปาวจรวิบากจิต ๔, อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ และ โลกุตตรจิต ๘ ซึ่งได้ปัญจมฌาน


จำนวนกุศลจิตและวิบากจิตโดยพิสดาร

คาถาสังตหะที่ ๑๗ แสดงว่า


๑๗. สตฺตตีสวิธํ ปุญฺญํ ทฺวิปญฺญาสวิธนฺตถา
ปากมิจฺจาหุ จิตฺตานิ เอกวีสสตมฺพุธา ฯ


แปลความว่า กุศลจิต ๓๗ และ วิบากจิต ๕๒ อย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านกล่าวอย่างพิสดาร


อธิบายว่า ได้แสดงมาแล้วว่า กุศลจิตมี ๒๑ และ วิบากจิตมี ๓๖ นั้น เป็นการจำแนกของจิตโดยย่อ ๘๙ ดวงตาม ความในคาถาสังคหะที่ ๑๑
แต่ในที่นี้ เป็นการจำแนกจิตโดยพิสดาร ๑๒๑ ดวง ดังนั้นกุศลจิตจึงมีถึง ๓๗ ดวง และวิบากจิตมี ๕๒ ดวง
กุศลจิต ๓๗ ดวงนั้น ได้แก่
มหากุศล ๘

มหัคคตกุศล ๙
โลกุตตรกุศล ๒๐ ( ซึ่งโดยย่อมีเพียง ๔ ดวง )
วิบากจิต ๕๒ ดวงนั้น ได้แก่
อกุศลวิบาก ๗
อเหตุกกุศลวิบาก ๘
มหาวิบาก ๘
มหัคคตวิบาก ๙
โลกุตตรวิบาก ๒๐ ( ซึ่งโดยย่อมีเพียง ๔ ดวง )


อวสานคาถา


อิจฺจานุรุทฺธรจิเต อภิธมฺมตฺถสงฺคเห
ปฐโม ปริจฺเฉโทยํ สมาเสเนว นิฏฺฐิโต ฯ


นี่ปริจเฉทที่ ๑ ( ชื่อ จิตตสังคหวิภาค ) ในปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม

ที่พระอนุรุทธาจารย์รจนาไว้ จบแล้วโดยย่อเพียงเท่านี้แล

 

<<    >>