<<<                   >>>

คัมภีร์
อภิธานวรรณนา


นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.


ปณามคาถา


พุทฺธปณาม
คำนอบน้อมพระพุทธเจ้า


[ก]    ตถาคโต  โย  กรุณากโร  กโร-
        ปยาต’โมสชฺช  สุขปฺปทํ  ปทํ
        อกา  ปรตฺถํ  กลิสมฺภเว  ภเว
        นมามิ  ตํ  เกวลทุกฺกรํ  กรํ.


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเปี่ยมล้น (ในกาลก่อน)ทรงสละพระนิพพานอันใกล้จะถึงความเป็นพระอรหันต์ที่ให้สันติสุข ทรงกระทำบุญกิริยาทุกประการที่บุคคลอื่นทำได้ยากยิ่งมีการบริจาคมหาทาน ๕ อย่างเป็นต้น และทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเวไนยสัตว์ ในวัฏฏสงสารที่มีความทุกข์ยากลำบาก ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระโมคคัลลานเถระกล่าวคาถานอบน้อมพระพุทธเจ้าไว้เบื้องต้นคัมภีร์ เพื่อเป็นการเจริญศรัทธา เสริมสร้างความอุตสาหะและป้องกันภยันตรายในระหว่างรจนาคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา โดยการสรรเสริญคุณพิเศษยิ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า แม้มีโอกาสบรรลุพระนิพพานเมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสในสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สละประโยชน์ส่วนตัวหันมาบำเพ็ญบารมีต่อไปอีก ๔ อสงไขย กับแสนมหากัป เพื่อให้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ นับได้ว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง จึงทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งมวล

 

เมื่อแสดงคุณพิเศษยิ่งมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นต้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึง
กล่าวสรรเสริญคุณของพระสัทธรรมต่อไป ด้วยคำว่า อปูชยุํ  ยํ  มุนิกุญฺชรา เป็นต้น

 

 

ธมฺมปณาม
คำนอบน้อมพระสัทธรรม


[ข]    อปูชยุํ  ยํ  มุนิกุญฺชรา  ชรา-
    รุชาทิมุตฺตา  ยหิมุตฺตเร  ตเร
    ฐิตา  ติวฏฺฏมฺพุนิธึ  นรานรา
    ตรึสุ  ตํ  ธมฺมมฆปฺปหํปหํ.


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เมื่อหลุดพ้นจากทุกข์มีความแก่ และความเจ็บไข้เป็นต้นแล้ว ทรงบูชาพระสัทธรรมใดอันปราศจากบาปอกุศล มวลมนุษย์และทวยเทพอาศัยสำเภาใหญ่คือพระสัทธรรมอันประเสริฐใดข้ามห้วง มหาสมุทรคือไตรวัฏถึงฝั่งพระนิพพานแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แม้พระสัทธรรมนั้น


พระโมคคัลลานเถระกล่าวคาถานอบน้อมพระสัทธรรม ๑๐ ประการ อันได้แก่ มรรค ๔  
ผล ๔  นิพพาน ๑  และปริยัติ ๑  ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว มีเนื้อความ ถูกต้อง ครบถ้วน บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วยอัตถะ ๓ อย่าง คือ โลกียัตถะ (เนื้อความที่เกี่ยวกับโลกียภูมิ ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘)  โลกุตตรัตถะ (เนื้อความที่เกี่ยวกับโลกุตตรภูมิ ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน)  และโวหารัตถะหรือบัญญัติอัตถะ (เนื้อความที่บัญญัติชึ้นสำหรับใช้เรียกสิ่งต่างๆ เช่น มนุษย์ เทวดา ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น)  และด้วยภาษาที่เป็นสภาวนิรุตติ สามารถสื่อความหมายให้ผู้ศึกษาเข้าถึงสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้


พระสัทธรรมสามารถน้อมนำจิตของมวลมนุษย์และทวยเทพผู้ปฏิบัติตามให้ถึงความหลุด พ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสาร หยั่งลงสู่แดนอมตะมหานิพพานอันให้สันติสุข


พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญพระสัทธรรมอันประเสริฐนั้นอย่างไร พระโมคคัลลานเถระก็สรรเสริญพระสัทธรรมอันประเสริฐอย่างนั้นเหมือนกัน


เมื่อแสดงความประเสริฐของพระสัทธรรมเช่นนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาสรรเสริญคุณของคณะพระอริยสงฆ์ต่อไป ด้วยคำว่า  คตํ มุนินฺโทรสสูนุตํ นุตํ เป็นต้น

 

 

สงฺฆปณาม

คำนอบน้อมพระอริยสงฆ์


[ค]    คตํ  มุนินฺโทรสสูนุตํ  นุตํ
    สุปุญฺญเขตฺตํ  ภุวเนสุ  ตํ  สุตํ
    คณมฺปิ  ปาณีกตสํวรํ  วรํ
    สทา  คุโณเฆน  นิรนฺตรนฺตรํ.


    ข้าพเจ้าขอนอบน้อมคณะพระอริยสงฆ์ ๘ จำพวก ผู้เป็นบุตรอันเกิดจากพระอุระแห่งพระจอมมุนี มนุษย์และเทวดาพากันสรรเสริญ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศของผู้ปรารถนาบุญ มีชื่อเสียงปรากฏในโลก มีปาติโมกข์สังวรศีลที่รักษาไว้ยิ่งกว่าชีวิต เป็นผู้ประเสริฐและมีจิตบริบูรณ์ด้วยศีลคุณเป็นต้น ในกาลทุกเมื่อ


พระโมคคัลลานเถระกล่าวคาถานอบน้อมคณะพระอริยสงฆ์ ๘ จำพวก ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตมรรค และพระอรหัตผล ผู้เป็นโอรสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรง คุณธรรมควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศสำหรับผู้กำลังแสวงหาบุญ มีชื่อเสียงปรากฏในโลกทั้ง ๓ คือ มนุษย์โลก เทวโลกและพรหมโลก ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีกายวาจาใจงดงามด้วยปาติโมกข์สังวรศีล ปฏิบัติตรงต่อคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลสตัณหาในวัฏฏสงสาร ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม นำพระสัทธรรมไปประกาศเผยแผ่เพื่อชี้ทางผิดแนะนำทางถูก และกระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธบริษัททั้งมวล เป็นต้น


เมื่อกล่าวคาถานอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นต้น พระสัทธรรมอันประเสริฐ และคณะพระอริยสงฆ์แล้ว ประสงค์จะแสดงสาเหตุแห่งการรจนาคัมภีร์และการตั้งชื่อคัมภีร์ จึงได้กล่าวคาถาว่า นามลิงฺเคสุ โกสลฺลมตฺถนิจฺฉยการณํ  เป็นต้น

ปฏิญฺญา
คำรับรองการรจนาคัมภีร์

 

[ฆ]    นามลิงฺเคสุ  โกสลฺล-    มตฺถนิจฺฉยการณํ
        ยโต  มหพฺพลํ  พุทฺธ-    วจเน  ปาฏวตฺถินํ.

 

[ง]    นามลิงฺคานฺย’โต พุทฺธ-    ภาสิตสฺสา’รหานฺย’หํ
        ทสฺสยนฺโต  ปกาเสสฺส-    มภิธานปฺปทีปิกํ.


    ความเป็นผู้ฉลาดในนามและลิงค์อันเป็นเหตุให้วินิจฉัยเนื้อความได้ นับว่ามีอุปการะมากต่อผู้หวังความเข้าใจในพระพุทธพจน์ เมื่อข้าพเจ้าจะแสดงนามและลิงค์ซึ่งมีใช้ในพระไตรปิฎกอันเป็นพระดำรัสของพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงได้รจนาคัมภีร์ขึ้นแล้วตั้งชื่อว่า อภิธานัปปทีปิกา


ผู้กำลังมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก ควรมีความรู้และความทรงจำคำไวพจน์ของนามที่มีความหมายเหมือนกันไว้ให้มาก เมื่อได้เห็นนามบทนั้นๆ จะสามารถทราบได้ทันทีว่ามีอรรถอย่างไรและเป็นลิงค์ใด อย่างนี้จึงนับว่ามีความรู้ มีความชำนาญแตกฉาน และมีความเข้าใจเนื้อความที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา เป็นต้น ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน เพราะเหตุนั้น พระโมคคัลลานเถระจึงกล่าวว่า จะแสดงนามศัพท์พร้อมทั้งไวพจน์ คือนำศัพท์ที่มีความหมายเดียวกันตามสมควรแก่พระพุทธพจน์มารวมไว้ในที่เดียว กันในหมวดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อนักศึกษาผู้กำลังศึกษาคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกานี้ เช่น นามศัพท์ที่มีความหมายว่า พระพุทธเจ้า ท่านก็นำมาแสดงเรียงไว้ในที่เดียวกันต่อเนื่องกันไปจนครบด้วยคาถาที่ ๑-๕ ว่า


        พุทฺโธ  ทสพโล  สตฺถา    สพฺพญฺญู  ทฺวิปทุตฺตโม 

                               ฯ เป ฯ
        สกฺยสีโห  ตถา  สกฺย-    มุนิ  จาทิจฺจพนฺธุ  จ.


ต่อจากนั้นจึงแสดงนามศัพท์ที่มีความหมายว่า พระธรรม พระอรหันต์ เทวดา บาป บุญ สถานที่ บุคคล เมือง ภูเขา แม่น้ำ สัตว์ใหญ่ สัตว์เล็ก แมลง เป็นต้น ไว้ให้ครบในหมวดนั้นๆ โดยใช้วิธีรวมนามศัพท์ที่มีอรรถเดียวกันมาไว้ด้วยกันบ้าง รวมนามศัพท์ที่มีหลายอรรถมาไว้ด้วยกันบ้าง และรวมอุปสัคกับนิบาตมาไว้ด้วยกัน เว้นกิริยาอาขยาตไม่ได้นำมาแสดงไว้

ปริภาสา
กฎเกณฑ์และคำแนะนำในการใช้คัมภีร์

 

[จ]    ภิยฺโย  รูปนฺตรา  สาห-    จริเยน  จ  กตฺถจิ
        กฺวจา’หจฺจวิธาเนน     เญยฺยํ  ถีปุนฺนปุํสกํ.


[ฉ]    อภินฺนลิงฺคานํ  เยว    ทฺวนฺโท  จ  ลิงฺควาจกา
        คาถาปาทนฺตมชฺฌฏฺฐา    ปุพฺพํ  ยนฺตฺยปเร  ปรํ.


[ช]    ปุมิตฺถิยํ  ปทํ  ทฺวีสุ    สพฺพลิงฺเค  จ  ติสฺวิติ
        อภิธานนฺตรารมฺเภ    เญยฺยํ  ตฺว’นฺต’มถาทิ จ.


[ฌ]   ภิยฺโย  ปโยค’มาคมฺม    โสคเต  อาคเม  กฺวจิ
        นิฆณฺฑุยุตฺติ’ญฺจา’นีย    นามลิงฺคํ  กถียติ.


    นักศึกษาพึงทราบความเป็นไปของอิตถีลิงค์ ปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์ ของแต่ละนามศัพท์ โดยนัย ๓ อย่าง คือ รูปันตรนัย ซึ่งมีใช้มากที่สุด สาหจริยนัย และ อาหัจจวิธานนัย ซึ่งมีใช้บ้างไม่มากนัก


    ข้าพเจ้าจะนำเฉพาะบทที่มีลิงค์เดียวกันเท่านั้นมาประกอบเข้ากัน ให้เป็นทวันทสมาส ถ้าบทกล่าวลิงค์เรียงอยู่ท้ายหรือกลางบาทคาถา แสดงว่าเป็นการระบุลิงค์ของบทข้างหน้าว่าเป็นลิงค์เดียวกัน ถ้าบทกล่าวลิงค์เรียงอยู่ต้นบาทคาถา แสดงว่าเป็นการระบุลิงค์ของบทที่เรียงอยู่ข้างหลังว่าเป็นลิงค์เดียวกัน


    บทว่า  ทฺวีสุ กล่าวว่าเป็นปุงลิงค์และอิตถีลิงค์  บทว่า  ตีสุ กล่าว ว่าเป็นได้ทั้ง ๓ ลิงค์  บทที่มี ตุ ศัพท์เรียงอยู่ข้างหลังและบทที่มี อถ ศัพท์ เรียงอยู่ข้างหน้า ให้ทราบว่าเป็นการเริ่มต้นเนื้อความอื่นจากที่กล่าวแล้ว


    ข้าพเจ้านำนามพร้อมทั้งลิงค์ที่เป็นอุทาหรณ์ในพระไตรปิฎกอันเป็นพระพุทธ พจน์ของพระสุคตมาแสดงเป็นส่วนมาก มีบางคาถาที่นำอุทาหรณ์จากคัมภีร์นิฆัณฑุมาแสดงไว้ด้วย เพราะเห็นว่าสอดคล้องกับพระพุทธพจน์


คำว่า รูปนฺตรา แสดงบทที่มีรูปพิเศษ คือมีลักษณะให้สังเกตรู้ลิงค์ที่ปรากฏชัดเจน ได้แก่บทที่มี อา อี อินี อิตถีโชตกปัจจัยอยู่ท้าย มักเป็นอิตถีลิงค์ เช่น กญฺญา ตณฺหา นที อิตฺถี ราชินี ภิกฺขุนี ยกฺขินี เป็นต้น   บทที่มี โอ อยู่ท้าย มักเป็นปุงลิงค์ เช่น พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ มนุสฺโส ปุคฺคโล เป็นต้น

บทที่มีนิคหิต ( ํ ) อยู่ท้าย มักเป็นนปุงสกลิงค์ เช่น กมฺมํ จิตฺตํ กุสลํ ปุญฺญํ ปาปํ นิพฺพานํ เป็นต้น


    คำว่า สาหจริเยน แสดงวิธีให้ทราบว่า หากลิงค์ของบทใดยังไม่ชัดเจน ก็จัดเรียงบทนั้นไว้ใกล้กับบทที่มีลิงค์ชัดเจน กล่าวคือบทที่ลงท้ายด้วยสระ อา อิ อี อุ อู มีอยู่ทั้ง ๓ ลิงค์ ยากจะสังเกตรู้ได้ จึงจัดเรียงไว้ใกล้กับบทที่มีลิงค์ชัดเจนเพื่อให้รู้ว่าศัพท์ที่อยู่ติดกันนั้นมีลิงค์เหมือนกัน เช่น สุชมฺปติ สหสฺสกฺโข   ท่านจัดเรียง สุชมฺปติ ไว้ติดกับ สหสฺสกฺโข เพื่อให้สังเกตรู้ได้ง่ายว่า สุชมฺปติ กับ สหสฺสกฺโข เป็นปุงลิงค์เหมือนกัน


คำว่า อาหจฺจ วิธาเนน แสดงวิธีพิเศษโดยการประกอบบทที่บอกลิงค์มาเรียงไว้ใกล้ๆ เพื่อให้รู้ลิงค์ของบทนั้นได้ชัดเจน บทที่บอกลิงค์ได้แก่ ปุเม อิตฺถิยํ นปุํสเก อปุเม ปุนฺนปุํสเก นิตฺถิยํ นาริยํ เป็นต้น ที่ระบุชัดว่าบทนั้นเป็นปุงลิงค์ อิตถีลิงค์ หรือนปุงสกลิงค์ เช่น


ทานวา ปุเม  ทานวนฺตุศัพท์มีใช้ในปุงลิงค์
ธิติตฺถิยํ (ธิติ+อิตฺถิยํ) ธิติศัพท์มีใช้ในอิตถีลิงค์
ชตุ นปุํสเก  ชตุศัพท์มีใช้ในนปุงสกลิงค์
อปุเม เทวตานิ  เทวตาศัพท์มีใช้ในอิตถีลิงค์และนปุงสกลิงค์
วชิรํ ปุนฺนปุํสเก  วชิรศัพท์มีใช้ในปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์
วิมาโน นิตฺถิยํ   วิมานศัพท์มีใช้ในปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์
วุฏฺฐิ นาริยํ   วุฏฺฐิศัพท์มีใช้ในอิตถีลิงค์


บทที่พระโมคคัลลานเถระย่อเข้าเป็นทวันทสมาสนั้น ส่วนมากเป็นบทที่มีลิงค์เดียวกัน
หากนักศึกษาต้องการทราบลิงค์ของบทที่ประกอบเข้าเป็นทวันทสมาส ให้สังเกตดูศัพท์ที่เรียงไว้ท้ายสุด ถ้าบทท้ายสุดของทวันทสมาสเป็นลิงค์อะไร บทที่เรียงอยู่ข้างหน้าก็เป็นลิงค์นั้นไปด้วย เช่น

 

๑. อภิธาน คาถา ๑๘       ๒. อภิธาน คาถา ๑๔      ๓. อภิธาน คาถา ๑๕๖

๔. อภิธาน คาถา ๓๐๕    ๕. อภิธาน คาถา ๑๒      ๖. อภิธาน คาถา ๒๔

๗. อภิธาน คาถา ๒๕      ๘. อภิธาน คาถา ๔๘

บททวันทสมาสว่า ธุวมนิทสฺสนากตาปโลกิตํ  บอกให้รู้ว่าทั้ง ๔ บท คือ ธุว อนิทสฺสน อกต และ อปโลกิต  เป็นนปุงสกลิงค์เหมือนกัน


บททวันทสมาสว่า วิมุตฺยสงฺขตธาตุสุทฺธินิพฺพุติโย  บอกให้รู้ว่าทั้ง ๔ บท คือ วิมุตฺติ อสงฺขตธาตุ สุทฺธิ และ นิพฺพุติ  เป็นอิตถีลิงค์เหมือนกัน


บทว่า ทฺวีสุ แปลว่า ในลิงค์ทั้ง ๒ หมายถึงมีใช้ในปุงลิงค์และอิตถีลิงค์  เช่น  อสนิ
ทฺวีสุ  อสนิ มีใช้ในลิงค์ทั้ง ๒ คือปุงลิงค์และอิตถีลิงค์


บทว่า ตีสุ หรือ ติสุ แปลว่า ในลิงค์ทั้ง ๓  หมายถึงมีใช้ในลิงค์ทั้ง ๓   เช่น  อูสวา  ตูสโร  ติสุ  อูสวนฺตุ และ อูสร มีใช้ในลิงค์ทั้ง ๓


บทว่า ตุ แปลว่า ส่วน อยู่หลังบทใด บทที่อยู่หน้า ตุ นั้น เริ่มขึ้นเนื้อความใหม่ เช่น  
ชิโน  สกฺโก  ตุ  สิทฺธิตฺโถ  สกฺกศัพท์เริ่มต้นเนื้อความใหม่ แตกต่างจาก ชินศัพท์ที่อยู่ในคาถาบาทเดียวกัน


บทที่อยู่หลัง อถศัพท์ เป็นบทขึ้นเนื้อความใหม่ เช่น  อภิโทโส ปโทโสถ สาโย สญฺฌา
ทินจฺจโย   สายศัพท์เป็นต้นไป ขึ้นต้นเนื้อความใหม่


พระโมคคัลลานเถระมีความประสงค์จะให้ทราบว่า บทที่ท่านนำมาแสดงไว้ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกานี้ส่วนมากนำมาจากพระไตรปิฎก บางบทมีใช้อยู่ในคัมภีร์อภิธานสันสกฤต
เช่น คัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์อมรโกสอภิธานเป็นต้น ที่ท่านเห็นว่าไม่ขัดต่อพระพุทธพจน์ จึงได้นำมาแสดงไว้ในที่นี้ด้วย


จ  อปิ  ปิ ศัพท์ในคาถา โดยมากมีอรรถสมุจจยะ รวมศัพท์ที่มีความหมายเหมือนกันเข้ามาไว้ในกลุ่มเดียวกัน  แปลว่า และ ด้วย อนึ่ง แม้


จ  อปิ  ปิ  ตุ  อถ ศัพท์ในบางคาถา ไม่มีเนื้อความพิเศษอะไร ท่านใส่ไว้ให้เป็นปาทปูรณะ เพื่อให้เต็มบาทคาถาและมีความไพเราะสละสลวยเท่านั้น

 

๑. อภิธาน คาถา ๗       ๒. อภิธาน คาถา ๙     ๓. อภิธาน คาถา ๒๔

๔. อภิธาน คาถา ๑๘๒    ๕. อภิธาน คาถา ๔     ๖. อภิธาน คาถา ๖๘

<<<                   >>>